จบ
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระภาวนาวิริยคุณ
ผลชาดก
:: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::
.....ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เจ้าของสวนผลไม้ซึ่งมีฐานะดีคนหนึ่ง ได้กราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ ให้เสด็จไปฉันภัตตาหารที่สวนของตน พระบรมศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเสด็จนำพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ไปยังบ้านของชาวสวนผู้นั้น เมื่อไปถึงแล้ว เจ้าของบ้านให้พระพุทธองค์ประทับภายในเรือนของตน ส่วนพระภิกษุที่ตามเสด็จ ได้แยกจัดอาสนะไว้ภายในสวนผลไม้อันร่มรื่นด้านหนึ่ง พร้อมทั้งสั่งคนสวนว่า เมื่อพระภิกษุฉันภัตตาหารแล้ว ให้นำท่านเดินชมสวนและเก็บผลไม้งามๆ ถวายพระภิกษุตามสมควรด้วย
..... ดังนั้น เมื่อพระภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว คนสวนจึงนิมนต์ให้ออกเดินชมสวน ซึ่งอุดมด้วยผลไม้นานาชนิด ล้วนน่าดูน่าชมยิ่งนัก พระภิกษุทั้งหลายรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ออกปากชมและไต่ถามถึง้พันธุ์ไม้อยู่ไม่ขาด คนสวนผู้นี้ นอกจากจะมีความสามารถในการทำสวนแล้ว ยังมีความชำนาญเป็นเลิศในการดูผลไม้ ไม่ว่าผลไม้ชนิดใด จะอยู่ใกล้แค่มือเอื้อม หรืออยู่บนยอดสูง เพียงยืนมองดูห่างๆ เขาก็สามารถบอกได้ว่า ผลใดแก่พอดีเก็บกินได้ ผลใดห่าม ผลใดเนื้อบาง เนื้อหนา รสชาติเอร็ดอร่อยอย่างไร เมื่อเก็บลงมาถวายให้พระภิกษุขบฉัน ก็เป็นอย่างเขากล่าวทุกประการ
.....พระภิกษุทั้งหลายต่างอัศจรรย์ในความสามารถของเขา กล่าวชมไม่ขาดปาก กระทั่งเมื่อกลับไปยังวัดพระเชตวันแล้วยังอดพูดถึงไม่ได้ ทั้งยังกราบทูลให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบอีกด้วย พระพุทธองค์จึงทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า “ ในอดีต มีคนที่สามารถในการดูผลไม้เหมือนกัน เก่งถึงขนาดนำชีวิตของคนจำนวนมากให้รอดพ้นความตายมาได้ทีเดียว” แล้วทรงนำ ผลชาดก มาตรัสเล่า
:: ข้อคิดจากชาดก ::
.....๑. คนที่ฝึกตนเองจนมีจิตใจผ่องใสเป็นประจำ ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น มักจะจับจุดสังเกตได้ เพราะธรรมชาติของคนที่มีจิตใจผ่องใสนั้น จะมีความละเอียดอ่อนอยู่ในอารมณ์เป็นนิจ เมื่อกระทบสิ่งชั่วร้ายที่เป็นความหยาบย่อมรู้ได้ทันที แต่ถ้ามีจิตใจไม่ผ่องใส มีความหยาบเป็นปกติ เมื่อไปกระทบความชั่วร้ายที่เป็นความหยาบด้วยกัน จึงแยกไม่ออก แม้อันตรายอยู่ตรงหน้าก็ไม่รู้ คนที่ได้ชื่อว่าใจใสจริงๆ ท่านว่าให้เอาคุณธรรม ๒ ประการ เป็นเครื่องวัด คือ
๑. เมื่อถูกด่า แล้วไม่โกรธตอบ
๒. เมื่อได้รับคำชมแล้ว ไม่ยิ้ม กลับตรองตามความเป็นจริงด้วยใจสงบ
.....๒. คนบางคนสภาพจิตยังอ่อนแอ ยังต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยตักเตือนบ้าง ยอดกัลยาณมิตรของทุกคนคือ
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึง คำสอนของพระพุทธองค์
๒. พ่อแม่ที่ประพฤติตนดี
๓. ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรม