Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน เหตุแห่งทุกข์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า
ปิยโต ชายตี โสโก ปิยโต ชายตี ภยํ
ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.
ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้องได้จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ไหน.
ที่ท่านกล่าวว่าความโศกหรือว่าภัยมีมาแต่ของที่รักนั้น หมายถึงวัตถุอันเป็นที่รักสองอย่าง คือ สัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก รวมถึงมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย เช่น การที่เรามีความรักต่อบิดามารดา ญาติพี่น้องและมิตรสหาย หรือสัตว์เลี้ยงต่างๆเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตและก็มีวิญญาณครอง
ส่วนสังขารอันเป็นที่รักก็คือ เครื่องปรุงแต่ง อันได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เรารักใคร่ชอบใจ ทั้งที่มีวิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครอง อย่างเช่น เห็นรูปสวยก็เกิดความรักความชอบใจในรูปนั้น หรือใครที่ชอบฟังเสียงเพลงแบบไหนก็อยากฟังเรื่อยไป เป็นต้น
คนส่วนใหญ่ต่างก็มีความรักในสัตว์และสังขารเหล่านี้ เพราะความรักและยึดมั่นถือมั่นในสัตว์และสังขารเหล่านี้ จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงว่า วัตถุอันเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป บางครั้งก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งของอันเป็นที่รักนั้น
ในปัจจุบันนั้น การที่มนุษย์เกิดการทะเลาะวิวาทกัน จนเกิดเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต ก็เพราะปรารถนาวัตถุอันเป็นที่รัก ซึ่งมีกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ชักใยอยู่เบื้องหลัง หากเราไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้น
ซึ่งผู้ที่สามารถข้ามพ้นความรักที่เจือด้วยกิเลสเหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิงก็คือพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น จากกิเลสอาสวะแล้วเท่านั้น ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงตักเตือนให้พุทธบริษัททั้ง 4 ได้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อจะได้เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงภายใน ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุขอย่างเดียว จะได้ไม่ต้องมาแก่งแย่งของภายนอกกัน ซึ่งหาสาระแก่นสารไม่ได้
เรื่องต่อไปนี้เป็นแนวความคิดของที่ยังไม่เข้าใจพุทธโอวาส จึงได้แสดงความเห็นของตนว่า แม้ความสุขหรือความปิติโสมนัสก็เกิดจากสิ่งที่ตนเองรักเหมือนกัน เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเข้า ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคฤหบดีท่านหนึ่งได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทำให้คฤหบดีเศร้าโศก เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่สามารถทำใจให้ยอมรับกับความพลัดพรากที่เกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นจึงไม่ยอมทำการงานใดๆ เอาแต่เดินเทียวไปเทียวมาในป่าช้าเป็นประจำทุกวัน และก็นั่งร้องไห้ คร่ำครวญถึงลูกชายว่า “ลูกรักของพ่อ ลูกไปอยู่ที่ไหน เจ้าทอดทิ้งพ่อไปอยู่ที่ไหนเสียแล้ว”
พอตกเย็นก็กลับบ้าน มานอนระทมใจ แม้คนในบ้านจะช่วยกันปลอบโยนให้คลายจากความโศก แต่ก็ไม่อาจบรรเทาความโศกที่เกิดจากการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักไปได้ ด้วยความที่ตนเองคิดถึงลูกมาก จึงคิดว่ามีเพียงพระบรมศาสดาเท่านั้นที่จะทำให้ตนได้พบกับลูกชายสุดที่รักได้
จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ถวายบังคมและก็นั่งซึมเซา เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสนทนาว่า “ดูก่อนคฤหบดี อินทรีย์ของท่านดูเศร้าหมองไป ท่านมีความในใจอะไรอยากจะบอกตถาคต ก็จงบอกมาเถิด”
คฤหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อินทรีย์ของข้าพระองค์หมองคล้ำเพราะบุตรที่รักยิ่งของข้าพระองค์ได้เสียชีวิตกะทันหัน การงานจึงไม่เป็นอันทำ อาหารก็ไม่เป็นอันบริโภค ข้าพระองค์ไปป่าช้า คร่ำครวญถึงบุตรชาย ขอพระองค์ได้โปรดชี้แนะวิธีการที่จะทำให้ข้าพระองค์คลายจากความโศกด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนว่า “ดูก่อนคฤหบดี โสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัสหรืออุปายาส ซึ่งเป็นความคับแค้นใจ ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รักทั้งนั้น ดูก่อนคฤหบดี ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย ล้วนเกิดแต่ความรัก ล้วนมีความรักเป็นแรงเกิดทั้งนั้น ความโศกย่อมเกิดแต่สิ่งที่รัก ความสุขย่อมเกิดแต่ความรัก”
คฤหบดีได้ฟังแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเชื่อตามนั้นเลย แต่กลับมีมุมมองที่แตกต่างจกาพุทธดำรัสอย่างสิ้นเชิง เพราะทูลแย้งว่า “ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้เจริญ การที่โสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รักเป็นมาแต่ของที่รักนั้นจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์คิดว่าอันที่จริงความยินดีและความโสมนัสย่อมเกิดแต่ของที่รักเป็นมาแต่ของที่รักต่างหาก” เมื่อแสดงความคิดเห็นของตนดังนี้แล้ว ก็ลุกจากที่นั่งและก็เดินจากไป
ในสมัยนั้นมีพวกนักเลงสกา กำลังเล่นสกาอย่างสนุกสนาน ไม่ไกลจากที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเข้า คฤหบดีจึงเข้าไปหานักเลงเหล่านั้น และเล่าเรื่องที่ตนเองได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ได้ฟัง พวกนักเลงสกาก็ได้กล่าวว่า “ท่านคฤหบดี ท่านกล่าวถูกแล้ว เพราะว่าความยินดีและความโสมนัสย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก ความทุกข์จะเกิดจากของที่ตัวเองรักได้อย่างไร”
คฤหบดีคิดว่าความเห็นของตนเองเข้ากันได้กับพวกนักเลงสกา ก็ดีใจว่าตนเองเป็นผู้มีปัญญา เมื่อเดินไปที่ไหนก็เที่ยวป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีวาทะเข้าท่ากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางคนฟังแล้วก็เห็นดีเห็นงามไปกับคฤหบดีท่านนี้ด้วย
แต่บางคนมีวินิจฉัยที่ถูกต้อง ก็เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความจริง เมื่อตรัสวาจาอย่างไรแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ต่อมาเรื่องที่พูดกันนี้ได้แพร่เข้าไปถึงในพระราชวัง พระเจ้าเกษมธิโกศล ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้ม เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระราชาได้ตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวี อัครมเหสีว่า “ดูก่อนมัลลิกา คำว่าโสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รักนั้น พระสมณะโคดมของเธอตรัสหรือ”
พระนางมัลลิกาเทวีกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นจริง ก็ต้องเป็นอย่างนั้น” พระเจ้าเกษมธิโกศลตรัสสัพยอกว่า “ดูก่อนมัลลิกา เธอมัวแต่อนุโลมตามพระดำรัสที่พระสมณะโคดมตรัสเท่านั้น ไม่ยอมพิจารณาตามความเป็นจริงเอาเสียเลย เปรียบเสมือนศิษย์อนุโลมตามคำที่อาจารย์กล่าว คืออาจารย์ว่าอย่างไร จะผิดหรือถูกก็เห็นดีเห็นงามตามด้วย เธอจงออกไปก่อน อย่าอยู่ให้เราเห็นหน้าเลย”
พระนางมัลลิการู้ว่าพระราชาทรงหงุดหงิด แต่ด้วยความที่พระนางเป็นผู้ฉลาด และมั่นใจว่าพุทธวนจะที่ตรัสนั้นต้องเป็นจริงตามนั้น