ขนบธรรมเนียมประเพณีของบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม

วันที่ 13 ตค. พ.ศ.2558

ขนบธรรมเนียมประเพณีของบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม


ขนบธรรมเนียมประเพณีและความถือดีเนื่องจากกลุ่มคนทั้ง 4 มีความคิดเห็นในด้านต่างๆ แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา รสนิยมความมั่นใจ ความต้องการ รวมทั้งเป้าหมายก็ต่างกัน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความแตกต่างกันของกลุ่มบุคคลต่างๆ ไว้ใน ขัตติยาธิปปายสูตร ดังนี้


"กษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหารต้องการในการได้แผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุดพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุดคฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด...สมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติโสรัจจะ นิยมปัญญา มั่นใจในศีล
ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพานเป็นที่สุด"


            จากพระสูตรดังกล่าวข้างต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงความแตกต่างของกลุ่มบุคคลต่างๆไว้ ทั้งในเรื่องของความปรารถนา รสนิยม ความมั่นใจ ความต้องการ รวมทั้งการมีเป้าหมายที่ต่างกัน ซึ่งความต่างกันเหล่านี้มีผลให้ขนบธรรมเนียมประเพณี จริต อัธยาศัย และความถือดีของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันตามไปด้วย
หากจะกล่าวถึงความถือดีของบริษัทหรือคน 4 กลุ่ม อันได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และสมณะแล้ว มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาล ที่จะยกมากล่าวดังต่อไปนี้

1) ความถือดีของกลุ่มกษัตริย์
ว่าด้วยความถือดี มีทิฏฐิมานะ ที่มีในกษัตริย์ นอกจากเรื่องทรัพย์ ปัญญา กำลังทหาร การครอบครองแผ่นดินเพื่อความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีเรื่องความมีอิทธิพล อำนาจและชาติตระกูลอีกด้วย กษัตริย์แม้ยังทรงพระเยาว์ก็มิอาจดูหมิ่นได้ เพราะให้คุณให้โทษได้ง่ายเหลือเกิน

 

2) ความถือดีของกลุ่มพราหมณ์
พราหมณ์ถือเป็นผู้มีความรู้ จึงอาศัยความรู้นั้นมาเป็นผู้นำทางความคิด ซึ่งจะมีอิทธิพลชี้นำต่อความรู้ความเข้าใจของผู้อื่นตามไปด้วย อย่างเช่นในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ใน ถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน ก็มีผลต่อความคิดของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในสมัยพุทธกาล นอกจากพราหมณ์จะเป็นผู้นำทางความคิดแล้ว บางครั้งยังมีบทบาทในฐานะของนักปกครอง จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลต่อการเผยแผ่พระศาสนา ที่พระภิกษุจะต้องเอาใจใส่ และวางตัวกับบุคคลในกลุ่มนี้ให้เหมาะสม เพราะเป็นเสมือนดาบ2 คม คือให้คุณให้โทษคล้ายกลุ่มของกษัตริย์เช่นกัน ซึ่งความเป็นผู้ถือดีนั้น

 

3) ความถือดีของคฤหบดี
ว่าด้วยทิฏฐิมานะ ความถือดีของคฤหบดี ผู้มีความประสงค์ในโภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด คฤหบดีเป็นผู้มีทรัพย์เป็นอาวุธ จึงถือดีในทรัพย์สินที่มีนั้นซึ่งการใช้ทรัพย์มีด้วยกัน 2 ทางคือ หากใช้ถูกทางด้วยการให้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ต่อตนเองและพระพุทธศาสนาแต่หากหวงแหนไว้ ทรัพย์นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย

 

4) ความถือดีของสมณะ
สมณะชื่อว่ามีทิฏฐิ คือถือดีในความเชื่อของตน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ และมีอิทธิพลไปทำให้บุคคลอื่นเชื่อตามไปได้ด้วย เมื่อนักบวชมีความเชื่อหรือความเห็นเป็นอย่างไร ก็มักมีวัตรปฏิบัติไปในทางเคร่งครัดต่อความเห็นนั้น เช่น บางพวกเห็นว่าการทรมานตนเองดี ก็จะทรมานตนเองด้วยวิธีต่างๆอย่างเข้มงวดจริงจัง หรือบางพวกเห็นว่าการบูชาไฟสามารถทำให้หมดกิเลสได้ ก็จะบูชาไฟกันอย่างจริงจังเป็นต้น ดังนั้นไม่ว่านักบวชจะเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิก็ตาม ก็อาจน้อมนำใจของคนผู้ที่มีจริตอัธยาศัยหรือมีความเห็นไปในทางเดียวกันให้คล้อยตามกันไปได้ง่าย นักบวชจึงเป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้คนเป็นอันมาก ซึ่งจะมีผลต่อการเผยแผ่พระศาสนาได้เหมือนกัน

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022596315542857 Mins