วิชชาและจรณะ

วันที่ 25 เมย. พ.ศ.2548

phramongkol1.jpg

.....คำว่า “ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” แปลว่า พระองค์ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คุณวิเศษของพระองค์ในที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑ วิชชา ๒ จรณะ อะไรเรียกว่า วิชชา วิชชาในที่นี้หมายเอา ความรู้ที่กำจัดความมืดเสียได้ มืดคืออะไร ในที่นี้หมายเอาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงกันข้ามกับ อวิชชา ที่แปลว่า ไม่รู้ คือ ไม่รู้ถูกรู้ผิด เพราะว่าเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน จึงมืดมน ไม่รู้ไม่เห็นของจริงคือนิพพาน ข้อสำคัญอยู่ที่อุปาทาน ซึ่งแปลว่า ยึดมั่น คือยึดมั่นในขันธ์ ๕ ถ้ายังตัดอุปาทานไม่ได้ตราบใด ก็คงมืดตื้ออยู่อย่างนั้น ตัดอุปาทานได้มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หรือพูดให้ฟังง่ายกว่านี้ก็ว่า เมื่อตัดอุปาทานเสียได้ จะมองเห็นนิพพานอยู่ข้างหน้า อวิชชา ที่แปลว่าไม่รู้นั้น ได้แก่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท และ อริยสัจจะ

ขันธ์ ๕ เป็นชื่อของอุปาทาน ถ้าปล่อยขันธ์ ๕ หรือวางขันธ์ ๕ ไม่ได้ ก็พ้นจากภพไม่ได้ คงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เอง มืดมนวนอยู่ในที่มืด คือโลกนี้เอง ได้ในคำว่า อนฺธภูโต อยํ โลโก ซึ่งแปลว่า โลกนี้น่ะมืด ผู้แสวงหาโมกขธรรม ถ้ายังติดขันธ์ ๕ อยู่แล้ว ยังจะพบโมกขธรรมไม่ได้เป็นอันขาด กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เหล่านี้อยู่ในพวกขันธ์ ๕ กล่าวคือ มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม เหล่านี้อยู่ในพวกมีขันธ์ ๕ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรกก็พวกมีขันธ์ ๕ ยิ่งในโลกันตนรก เรียกว่า มืดใหญ่ทีเดียว

วิชชาที่ว่านี้หมายเอา วิชชา ๓ คือ ๑ วิปัสสนาวิชชา ๒ มโนมยิทธิวิชชา ๓ อิทธิวิชชา แต่ถ้านับรวมตลอดถึงอภิญญาซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของวิชชาเข้าด้วยกันแล้วรวมกันเป็น ๘ คือ ๔ ทิพยจักขุวิชชา ๕ ทิพพโสตวิชชา ๖ ปรจิตตวิชา ๗ ปุพเพนิวาสวิชชา ๘ อาสวักขยวิชชา

ส่วนจรณะ นั้นมี ๑๕ คือ ๑ ศีลสังวร ๒ อินทรีย์สังวร ๓ โภชเน มัตตัญญุตา ๔ ชาคริยานุโยค ๕ สัทธา ๖ สติ ๗ หิริ ๘ โอตตัปปะ ๙ พาหุสัจจะ ๑๐ อุปักกโม ๑๑ ปัญญา กับรูปฌาน ๔ จึงรวมเป็น ๑๕

วิปัสสนา ต่อไปนี้จักแสดงถึงวิชชา และจะยกเอา วิปัสสนาวิชชา ขึ้นแสดงก่อน “ วิปัสสนา” คำนี้ แปลตามศัพท์ เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หรือนัยหนึ่งว่าเห็นต่างๆ เห็นอะไร ? แจ้งโดยสามัญลักษณะว่าเป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และเป็นอนัตตา ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา มีข้อสำคัญที่ว่า เห็นอย่างไร? เป็นเรื่องแสดงยากอยู่ เห็นด้วยตาเรานี่หรือว่าเห็นด้วยอะไร? ตามนุษย์ไม่เห็น ต้องหลับตาของมนุษย์เสีย ส่งใจไปจดจ่ออยู่ที่ศูนย์ดวงปฐมมรรค เห็น จำ คิด รู้ มีอยู่ในดวงปฐมมรรคนั้น ตากายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมไม่เห็น ก็เพราะว่าพวกเหล่านี้ยังไม่พ้นโลก เสมือนลูกไก่อยู่ในกระเปาะไข่ จะให้แลลอดออกไปเห็นข้างนอกย่อมไม่ได้ เพราะอยู่ในกระเปาะของตัว เพราะโลกมันบัง ด้วยเหตุว่าโลกมันมืดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พวกเหล่านี้จึงไม่สามารถจะเห็น กล่าวคือ พวกที่บำเพ็ญได้จนถึงรูปฌาน และอรูปฌาน ก็ยังอยู่ในกระเปาะภพของตัว ยังอยู่ในจำพวกโลก หรือที่เรียกกันว่า ฌานโลกีย์ ยังเรียกวิปัสสนาไม่ได้ เรียกสมถะได้ แต่อย่างไรก็ดี วิปัสสนาก็ต้องอาศัยทางสมถะเป็นรากฐานก่อนจึงจะก้าวขึ้นสู่ชั้นวิปัสสนาได้

การบำเพ็ญสมถะนั้น ส่งจิตเพ่งดวงปฐมมรรคตรงศูนย์ คือ กึ่งกลางกายภายในตรงกลางพอดี ไม่เหลื่อมซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วเลื่อนสูงขึ้น ๒ นิ้ว เมื่อถูกส่วนก็จะเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ภายในตามลำดับจากกายมนุษย์เข้าไป พิจารณาประกอบธาตุธรรมถูกส่วน รูปจะกะเทาะล่อนออกจากกัน เห็นตามลำดับเข้าไป กายมนุษย์กะเทาะออกเห็นกายทิพย์ กายทิพย์กะเทาะออกเห็นกายรูปพรหม กายรูปพรหมกะเทาะออกเห็นกายอรูปพรหม ในเมื่อประกอบธาตุธรรมถูกส่วน วอกแวกไม่เห็น นิ่งหยุดจึงเห็น หยาบไม่เห็น ละเอียดจึงเห็น

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0023758172988892 Mins