ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายในศาสนา

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
นิกายในศาสนา

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายในศาสนา

     นิกายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอยู่มากมายด้วยกันหลายนิกาย แต่ที่จะได้กล่าวถึงในที่นี้จะพูดเฉพาะนิกายใหญ่ๆ ที่มีผู้นับถืออยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 3 นิกายคือ นิกาย ไวษณวะ (Vaisnavism) นิกายไศวะ (Saivism) และนิกายศักติ (Saktism) ดังมีรายละเอียดพอเป็นสังเขป ดังนี้

1. นิกายไวษณวะ

      นิกายไวษณวะ หรือไวษณพ เชื่อในการอวตารของพระนารายณ์ว่า พระนารายณ์อวตาร 24 ครั้ง เพื่อช่วยมนุษยโลกในคราวทุกข์เข็ญ นิกายนี้เคารพบูชาพระราม พระกฤษณะ หนุมาน และพระพุทธเจ้า โดยอ้างว่าเป็นอวตารปางที่ 5 ของพระนารายณ์ นิกายนี้ไม่เน้นพิธีกรรม เรียกตนเองว่า เป็นศาสนาฮินดู เคารพบูชาเทพเจ้าต่างๆ และคตินิยมสร้างเทวรูปไว้บูชาแบบพหุนิยม

     นิกายไวษณวะนี้จะมีรอยเจิมหน้าผากเป็น 3 จุด เป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพ พระวิษณุ นิกายนี้มีอิทธิพลมากที่สุดในอินเดียภาคเหนือ และบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของนครบอมเบย์ การเคารพพระวิษณุมีแนวปฏิบัติตามลัทธิภักดี (การเสียสละ) มากกว่าการเข้าฌาน

       คัมภีร์สำคัญของนิกายไวษณวะ ได้แก่ คัมภีร์สังหิตา (ประมวลบทสวดสดุดีเทพเจ้าในพิธีบูชายัญ) คัมภีร์รามายณะและภควัทคีตา

คัมภีร์ภควัทคีตา มีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

    1. สดุดีพระกฤษณะ ในฐานะทรงเป็นองค์บรมพราหมณ์ เป็นผู้ที่ฤาษีทั้งปวงมุ่งเจริญภาวนาเพื่อเข้าถึงพระองค์ สำหรับประชาชนอาจเข้าถึงพระองค์ได้ด้วยการบูชาและสวดอ้อนวอน

     2. หลักกรรมโยคะ คือสอนให้มนุษย์ซึ่งมีความประสงค์จะเป็นฆราวาส ประกอบความเพียร กำจัดความปรารถนาดิ้นรนอันเป็นต้นเหตุของกรรม ก็จะสามารถบรรลุความหลุดพ้นได้เช่นกัน

คณาจารย์ที่สำคัญที่ทำให้มีนิกายไวษณวะมั่นคง และรุ่งเรืองในภาคใต้ของอินเดีย ได้แก่

1) นาถมุนี ผู้นำคนแรกของนิกายไวษณวะ

2) อาลวาร คือ คณาจารย์ 12 คน ผู้ให้กำเนิดคัมภีร์พระเวทภาษาทมิฬ

3) รามานุช ศิษย์คนหนึ่งของคณาจารย์อาลวาร

      นิกายไวษณวะ ภายหลังได้แตกแยกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายฝ่ายเหนือ เรียกว่า วัทคไล และนิกายฝ่ายใต้ เรียกว่า เตนคไล

 

2. นิกายไศวะ

       นิกายไศวะ หรือนิกายที่นับถือพระศิวะ นิยมใช้มูลเถ้าสีขาวหรือสีเทา เขียนเป็นเส้นนอนตรงซ้อนกัน 3 เส้นที่หน้าผาก จุดหมายสูงสุดของผู้นับถือนิกายไศวะ คือ โมกษะ หรือ การบรรลุความหลุดพ้นโดยการเข้าถึงความเป็นเอกภาพกับพระศิวะ นิกายนี้ประพฤติตนตามแบบอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยทดลองปฏิบัติมาแล้ว

    พระศิวะ เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย และเทพเจ้าแห่งการสืบพันธุ์ด้วยรูปศิวลึงค์ เป็นรูปอวัยวะเพศของผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิด มีรูปศิวลึงค์ทำด้วยหินตั้งอยู่ในโบสถ์เป็นที่นิยมเคารพสักการะ มีเรื่องกล่าวว่าจากรูปร่างเช่นลึงค์นี้เอง องค์พระศิวะจึงปรากฏออกมาพร้อมกับพระพรหม และพระวิษณุ เทพเจ้าทั้ง 3 องค์ออกมาจากสภาพสูงสุด คือ พระพรหม หรือปรมาตมัน

     นิกายไศวะ ยังแบ่งออกไปอีก เป็นนิกายย่อยๆ เช่น นิกายตรีทันหิน (นิกายนี้ยังแบ่งย่อยออกไปอีกถึง 10 นิกาย) และนิกายทศมาน พวกนับถือนิกายนี้ล้วนเป็นนักพรต

คัมภีร์สำคัญของนิกายไศวะ มีดังนี้

1) คัมภีร์อาตมะ (บทสวดเป็นคาถาอาคม บทโต้ตอบระหว่างพระศิวะกับพระอุมา)

2) คัมภีร์โตลกาปปิลัม (ภาษาทมิฬ)

3) คัมภีร์มหาภารตะ และเศวตัศวตา อุปนิษัท (ภาษาสันสกฤต)

นิกายไศวะนี้ ภายหลังแตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ 2 นิกาย ดังนี้

       1)    นิกายฝ่ายเหนือ เรียกว่า กัษมีไศวะ ผู้นำชื่อ วสุคุปตะ นิกายนี้เชื่อว่าพระศิวะเป็น เทพเจ้าสูงสุดองค์เดียว และทรงแฝงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

        2)    นิกายฝ่ายใต้ เรียกชื่อว่า สิงคายัต ผู้นำชื่อ ลกุลีตะ นิกายนี้นับถืออวตารของพระศิวะ เชื่อว่าผู้นำของเขา คือ อวตารของพระศิวะ

 

3. นิกายศักติ

       นิกายศักติ นิกายนี้นับถือมเหสีของจอมเทพ 3 องค์ คือ พระนางสุรัสวดี มเหสีของพระพรหม พระนางอุมา มเหสีของพระศิวะ และพระนางลักษมี มเหสีของพระวิษณุ คำว่าศักติ แปลว่า อำนาจ หรือสมรรถนะ หรือ พลัง หมายถึงพลังที่จะนำความสำเร็จดังประสงค์มาให้ผู้ที่นับถือศักติ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกล้วนแต่มีของคู่กัน เช่น มีร้อนก็มีหนาว มืด-สว่าง สุข-ทุกข์ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีเทพฝ่ายชายก็จะต้องมีเทพฝ่ายหญิงเป็นของคู่กัน เทพฝ่ายชายจะเก่งกล้าสามารถ หรือสูงส่งเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับมเหสีของเทพองค์นั้นสนับสนุนด้วย อีกประการหนึ่งการที่จะอ้อนวอนเทพฝ่ายชายให้ช่วยเหลือดังความปรารถนาของตนนั้นสำเร็จได้ยาก เพราะโดยทั่วไปผู้ชายมักจะใจแข็งมากกว่าผู้หญิง จึงควรเข้าทางมเหสีของเทพองค์นั้นๆ จะดีกว่า ง่ายกว่า เรียกว่ามีความหวังมากกว่า จึงเป็นเหตุให้เกิดนิกายศักติขึ้นมา แต่ผู้ที่นับถือนิกายนี้ก็ไม่จำต้องนับถือมเหสีของเทพทุกองค์พร้อมกันไป จะนับถือมเหสีของเทพองค์ใดก็ได้ตามที่ตนนับถือ เช่น นิกายไศวะก็นับถือพระนางอุมาเป็นศักติ นิกายไวษณวะ ก็ยกพระนางลักษมีเป็นศักติ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะนับถือพระนางอุมายิ่งกว่าเทพีองค์อื่นๆ เพราะพระนางเป็นมเหสีของพระศิวะ เทพเจ้าที่คนกลัวเกรงดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นพระนางอุมาจึงมีพระนามหลายอย่าง คู่กับพระศิวะ เช่น มหาเทวี คู่กับมหาเทพ โยคินี คู่กับมหาโยคี ชคันมาตรี (มารดาของโลก) คู่กับอิศวร ทุรคา หรือไภรวี คู่กับไภรวะ (ผู้น่ากลัว) กาลี (ผู้ทำลาย) คู่กับมหากาล เป็นต้น

     การบูชาของนิกายศักติ ก็แปลกกว่าการบูชานิกายอื่นๆ เช่น ตัดคอแพะบูชาเจ้าแม่กาลี หรือการประกอบพิธีกรรมด้วยปัญจมการ หรือ มŽ 5 ประการ คือ มัทยะ หรือมฑิรา น้ำเมา มางสะ เนื้อสัตว์ ตลอดทั้งมัตสยะ เนื้อปลา มันตระพร่ำบทที่จะทำให้เกิดความกำหนัด มุทระแสดงท่ายั่วยวน และไมถุน เสพเมถุน ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อกันว่าเจ้าแม่กาลีทรงโปรดการบูชายัญและการเสพเมถุน ดังนั้นการประกอบกิจดังกล่าวจึงทำให้พระนางพอพระทัย และอีกจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อให้เบื่อหน่ายในกาม โดยสนองความต้องการให้เต็มที่ก็จะมาถึงจุดเบื่อหน่าย แบบหนามยอกเอาหนามบ่ง ส่วนผู้ที่นับถือเจ้าแม่องค์อื่นก็นำไปปฏิบัติเช่นกัน จะได้ไม่น้อยหน้า พวกที่ปฏิบัติแบบลามกเรียกว่า พวกวามาจารี ส่วนพวกปฏิบัติอย่างสุภาพไม่ลามกก็เรียกว่า พวกทักษิณาจารี

 


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0045451005299886 Mins