มงคลหมู่ที่ 5 บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

วันที่ 26 ตค. พ.ศ.2559

มงคลหมู่ที่ 5 บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

พระสงฆ์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง , GB 102 , มงคลหมู่ที่ 2 สร้างความพร้อมในการฝึกตนเอง

1. มงคลหมู่ที่ 5 บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

มงคลที่ 15 บำเพ็ญทาน
มงคลที่ 16 ประพฤติธรรม
มงคลที่ 17 สงเคราะห์ญาติ
มงคลที่ 18 ทำงานไม่มีโทษ

      เมื่อเราสร้างครอบครัวให้มีความสุข มีความอบอุ่น มีฐานะมั่นคงเป็นปึกแผ่นแล้ว การพัฒนาตนเองขั้นต่อไปของเรา เพื่อเป็นการขยายความสามารถในการทำความดีออกไป ให้กว้างขวาง เราทุกคนยังมีหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ช่วยเหลือส่วนรวม ให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขโดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

      1. บำเพ็ญทาน คือการให้ รู้จักสละทรัพย์สิ่งของที่เหมาะสมของตนแก่ผู้ที่สมควรได้รับ เป็นการกำจัดความตระหนี่สร้างสมบุญกุศล ทำให้ใจของเราสูงขึ้นและเป็นการสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ

    2. ประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดีตามธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน พร้อมทั้งฝึกฝนอบรมตนตามหลักกุศลกรรมบถ 10 ให้มีคุณธรรมในตัวสูงขึ้นประณีตขึ้นตามลำดับสมกับที่เกิดเป็นมนุษย์ และให้มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง

      3. สงเคราะห์ญาติ คือช่วยเหลือทั้งญาติสายโลหิตเดียวกัน ทั้งพี่ ป้า น้า อา ลุง หลาน ฯลฯ รวมทั้งผู้รู้จักคุ้นเคยกัน ญาติร่วมจังหวัด ญาติร่วมประเทศ ญาติร่วมโลก ซึ่งเราต้องมีหลักในการสงเคราะห์ โดยไม่ให้เสียศีลธรรมประจำใจของเรา การ สงเคราะห์นี้เป็นการสร้างเสริมความสามัคคีความเป็นปึกแผ่นของสังคมให้เกิดขึ้น

      4. ทำงานไม่มีโทษ หมายถึงทำงานที่สุจริต ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณีไม่ผิดศีลธรรม ไม่เบียดเบียนใคร รวมทั้งงานที่มีประโยชน์แก่ตนและต่อส่วนรวม เช่น งานสาธารณกุศลงานสาธารณประโยชน์และงานสังคม สงเคราะห์ต่างๆ งานไม่มีโทษนี้เป็นงานที่ทำเพื่อเพิ่มพูนคุณธรรมความดีของเราให้เจริญก้าวหน้า

 

2. มงคลที่ 15 บำเพ็ญทาน

ต้นไม้ที่ให้ผลและร่มเงา
นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นไม้มีประโยชน์แล้ว
ย่อมได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยพรวนดินยิ่งๆ ขึ้นไปอีกฉันใด
ผู้ที่รู้จักให้ทาน นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีประโยชน์แล้ว
ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ ช่วยเหลือสนับสนุน จากคนทั้งหลายอีกฉันนั้น


2.1 ทาน คืออะไร

      ทาน แปลว่า การให้ หมายถึง การสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยนช์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจการให้ทาน เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสีย มิได้ในการจรรโลงสันติสุข พ่อแม่ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่เลี้ยงเรามา เราเองก็ตายเสียตั้งแต่เกิดแล้วสามีภรรยา หาทรัพย์มาได้ไม่ปันกันใช้ ก็บ้านแตกครูอาจารย์ ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่ถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เราเราก็โง่ดักดาน คนเรา ถ้าโกรธแล้วไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค ชีวิตของคนเราจึงดำรงอยู่ได้ด้วยทาน เราโตมาได้ก็เพราะทาน เรามีความรู้ในด้านต่างๆ ก็เพราะทาน โลกนี้จะมีสันติสุขได้ ก็เพราะทาน การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ


2.2 ประเภทของทาน

      1. อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน

     2. ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือการให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เช่น สอนศิลปวิทยาการต่างๆ ให้ เรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอนให้ละชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรมเรียกว่า ธรรมทาน

     3. อภัยทาน คือการ ละอารมณ์โกรธเป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร ละอารมณ์โกรธพยาบาทให้ขาดออกจากใจการให้ธรรมะเป็นทาน ถือว่าเป็นการให้ทานที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่า กว่าการให้ทานทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก เท่าทันกิเลสสามารถนำไปใช้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไปส่วนทานชนิดอื่นๆ ผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็หมดสิ้นไป

พฺพทาน ธมฺมทาน ชินาติ
การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง

ขุ. ธ. 25/34/63


2.3 จุดมุ่งหมายของการให้ทาน

     1. ให้เพื่อทำคุณ เป็นการให้เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ให้เพื่อให้ผู้รับนิยมชมชอบในตัวผู้ให้ไม่ได้มุ่งเพื่อเป็นบุญ เช่น คนที่ มัครผู้แทนฯ ถึงเวลา หาเสียงทีก็เอากฐิน ผ้าป่า ไปทอด 10 วัด 20 วัด ไปสร้างสะพานสร้างถนน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าตนเป็นคนใจบุญ จะได้ลงคะแนนเสียงให้ตน หรือบางคนรักพี่สาวเขา ก็เลยเอาขนมไปฝากน้องชาย การให้อย่างนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ เพื่อให้ผู้รับรักตัวผู้ให้ การทำเช่นนี้ถ้าถามว่าได้บุญไหม ก็เห็นจะต้องตอบว่า ได้เหมือนกันแต่น้อยเหลือเกิน ได้ไม่เต็มที่การให้ที่จะได้บุญ มากนั้น ต้องให้เพื่ออนุเคราะห์ และสูงขึ้นไปอีกคือให้เพื่อบูชาคุณ

      2. ให้เพื่ออนุเคราะห์ เป็นการอุดหนุนเอื้อเฟอกัน ให้ด้วยความเมตตากรุณา เช่น พ่อแม่ให้อาหารแก่ลูก ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์ ผู้มีทรัพย์บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน เป็นต้น

       3. ให้เพื่อบูชาคุณ เมื่อมีผู้ปรารถนาดีต่อเรา เมตตากรุณา ช่วยเหลือ อุปการะเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เราก็แสดงความเคารพนบนอบท่านด้วย กาย วาจา ใจ บูชาคุณท่านด้วยทรัพย์สินตามกำลังยามท่านเจ็บป่วยก็ช่วย พยาบาลรักษา ไม่ละทิ้งท่านทั้งในยามสุขและยามทุกข์ นอกจากนี้บุคคลที่ควรบูชาคุณ คือพระภิกษุสามเณรผู้ทรงคุณธรรม เป็นผู้ชี้ทางสันติสุขแก่โลก ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นธุระคอยสั่งสอนอบรมแนะนำประชาชนให้พ้นทุกข์ จึงควรบูชาท่านด้วยปัจจัยสี่ เพื่อให้ท่านมีกำลังบำเพ็ญพรต และบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ตามสมณวิสัยได้เต็มที่


ข้อเตือนใจ

      คนเราเมื่อตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ วิธีเดียวเท่านั้นที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปได้ คือการนำทรัพย์นั้นไปทำทาน

      ทานเป็นประโยชน์แก่ผู้มีชรา (ความแก่) พยาธิ (ความเจ็บ) มรณะ (ความตาย) เผาผลาญอยู่ถ้ารู้จักขนทรัพย์ออกด้วยทาน ทรัพย์นั้นย่อม เป็นประโยชน์แก่เขาได้ ทรัพย์ที่บำเพ็ญทานแล้วชื่อว่าขนออกแล้ว ดูเถอะ เจ้าของเรือนที่ถูกไฟไหม้ ทรัพย์ใดที่ขนออกได้ก็เป็นประโยชน์แก่เขาส่วนทรัพย์ใดที่ขนออกไม่ได้ก็ต้องถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั่นเอง


2.4 ทานที่ให้แล้วได้บุญ

1. ให้สุรายาเสพย์ติด เช่น บุหรี่ เหล้า ฝิน กัญชา ยาม้า ฯลฯ
2. ให้อาวุธ เช่น เขากำลังทะเลาะกัน ยื่นปน ยื่นมีดให้
3. ให้มหรสพ เช่น พาไปดูหนังดูละคร ฟังดนตรี เพราะทำให้กามกำเริบ
4. ให้สัตว์เพศตรงข้าม เช่น หาสุนัขตัวเมียไปให้ตัวผู้ หาสาวๆ ไป ให้เจ้านาย ฯลฯ
5. ให้ภาพลามก รวมถึงหนังสือลามกและสิ่งยั่วยุกามารมณ์ทั้งหลาย


2.5 วิธีทำทานให้ได้บุญมาก

       การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ

     1. วัตถุบริสุทธิ์ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยสุจริตชอบธรรม ไม่ได้คดโกงหรือเบียดเบียนใครมาให้ทานด้วยน้ำพริกผักต้มที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้กุศลมากกว่าให้อาหารโต๊ะจีนราคาตั้งพันด้วย เงินทองที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์

    2. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ของตน ทำเพื่อเอาบุญ ไม่ใช่เอาหน้าเอาชื่อเสียงไม่ใช่เอาความเด่นความดังความรัก จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะ คือ

- ก่อนให้ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาเป็นทุนเดิม เต็มใจที่จะทำบุญนั้น
- ขณะให้ก็ตั้งใจให้ ให้ด้วยใจเบิกบาน
- หลังจากให้ก็มีใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้ว

      3. บุคคลบริสุทธิ์ คือเลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความ งบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรมโดยทั่วไปแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ถึงกระนั้นก็ทรงสอนให้เลือกถ้าจะนิมนต์พระภิกษุเฉพาะเจาะจง ก็ให้นิมนต์พระที่เคร่งครัดในสิกขาวินัยน่าเลื่อมใสถ้าจะนิมนต์พระไม่เฉพาะเจาะจง ให้ มภารจัดให้ ก็ให้เลือกนิมนต์จากหมู่สงฆ์ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัดสำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเองก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ จึงจะได้บุญมาก จะเห็นว่าทุกครั้งที่เราจะถวายสังฆทาน พระท่านจะให้ศีลก่อนเพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นเรายังมีศีล 5 ครบ จะได้เกิดบุญกุศลเต็มที


2.6 ผลของทาน

       การให้ทานเป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอย่อมมีใจผ่องใสเยือกเย็น หมู่ชนที่นิยมการให้ทานย่อมไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากต่างคนต่างมีอัธยาศัยไมตรีถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอนึ่งใจของคนเรานี้มีอำนาจมีพลังสามารถดึงดูดทรัพย์ได้ ถ้าใครสั่งสมการให้และการเสียสละมามากจะมีพลังดูดทรัพย์มาก ถ้าใครมีใจตระหนี่มีความโลภมาก จะมีพลังดูดทรัพย์น้อย โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่าคนทำทานมามากจะทำให้รวย แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังทรงยกย่องทานไว้หลายลักษณะ ดังนี้

คนควรให้ในสิ่งที่ควรให้
การเลือกให้ทานพระสุคตสรรเสริญ
คนพาลเท่านั้นที่ไม่ รรเสริญการให้ทาน
เมื่อมีจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทานหาชื่อว่าเป็นของน้อยไม่
บุญของผู้ให้ย่อมเจริญก้าวหน้า
ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
ผู้มีปัญญาให้ความสุขย่อมได้รับความสุข

ขุ. ชา. ตฺตก. 27/1012/217, ขุ. ชา. อฏก. 27/1184/249,
ขุ. ธ. 25/23/38, ขุ. วิ. 26/47/82, ขุ. อุ. 25/168/215,
สํ. ส. 15/845/316, องฺ. ปฺจก. 22/35/43,  22/37/45

ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง
ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ
ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข
ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ
ผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ผู้ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมฤตธรรม

(กินททสูตร) . . 15/138/44

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ
ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี
ผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
นระใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ
นระนั้นจะเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ณ ที่นั้นๆ

(มนาปทายีสูตร) องฺ. ปฺจก. 22/44/56


2.7 อานิสงส์การบำเพ็ญทาน

1. เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย
2. เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง
3. ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข
4. ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
5. ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
6. ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์
7. ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี
8. ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว
9. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน
10. ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี
11. แม้ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์
ฯลฯ

 

3 มงคลที่ 16 ประพฤติธรรม

ไม้จันทร์แม้แห้ง ยังไม่สิ้นกลิ่นหอม
อ้อยแม้ถูกหีบ ยังไม่สิ้นรสหวาน
เกลือแม้ถูกสะตุ ยังไม่สิ้นรสเค็ม
บัณฑิตแม้ตกทุกข์ ยังไม่เลิกประพฤติธรรม


3.1 การประพฤติธิธรรมคือออะไร

      การประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง

        เราจะเห็นได้ว่า การประพฤติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นมงคลที่ 16 ก่อนมงคลที่ 17 และ 18 คือการสงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ

       เหตุที่พระองค์ทรงวางลำดับมงคลว่าด้วยการประพฤติธรรมไว้ตรงนี้ ก็เพราะในการ สงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราต้องมีการทำงานติดต่อกับคนจำนวนมากซึ่งมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีแล้ว โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันก็มีมาก โอกาสที่เราจะทำให้งานเสียเพราะขาดความเป็นธรรมก็มีมากเช่นกัน

         ดังนั้น ก่อนทำงานเพื่อส่วนรวมจึงต้องประพฤติธรรม เพื่อเป็นการปรับปรุงตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุก ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งได้แก่การประพฤติปฏิบัติตน 2 ลักษณะควบคู่กันไป ได้แก่

1. ประพฤติเป็นธรรม
2. ประพฤติตามธรรม

       ประพฤติเป็นธรรม คือมีความเที่ยงธรรม มีความยุติธรรม ความมั่นคงและความ งบเรียบร้อยของสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับหลักธรรมอย่างหนึ่งคือ ความยุติธรรมสังคมใดก็ตามแม้จะมีข้าวปลาอาหาร มบูรณ์มั่งคั่งบริบูรณ์ แต่ถ้าขาดความยุติธรรม เสียอย่างเดียวสังคมนั้นก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะขาดความยุติธรรม ครอบครัวจึงแตกสลาย เพราะขาดความยุติธรรม บ้านเมืองจึงเกิดปฏิวัติรัฐประหาร เพราะขาดความยุติธรรม งครามระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้น

     ความยุติธรรม คือการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผล จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกหนทุกแห่งมีบางคนเข้าใจว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องมาจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ให้ ตนเป็นผู้รับ ความเข้าใจเช่นนี้ผิดอันที่จริงความยุติธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องให้แก่กัน

        เราจึงต้องฝึกตนเองให้เป็นคนที่ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างชอบด้วยเหตุผล มีความยุติธรรมไม่ลำเอียงเพราะอคติ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

       1. ไม่ลำเอียงเพราะรัก เช่น ถึงจะรักนาย ก มากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้า ไม่มีผลงานดีเด่น ก็ต้องยกย่องคนอื่นที่มีความสามารถดีกว่าขึ้นมา ไม่เห็นแก่หน้า ข้อนี้รวมถึงการไม่เป็นคนโลภ ไม่รักทรัพย์สมบัติมากจนยอมเสียความเป็นธรรม

     2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง คือถึงจะเกลียดหรือไม่ชอบใครเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ไม่นำมาปนกับงานซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม หากเขาทำความดีก็ต้องปูนบำเหน็จรางวัลให้เช่นเดียวกับคนอื่น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

       3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง คือเป็นคนมีปัญญา หูตากว้างไกล รู้เท่าทันคน ไม่โง่ ใครๆ ไม่สามารถหลอกลวงได้ ไม่เป็นผู้ใหญ่ชนิดลงโทษผู้น้อยโดยที่ไม่ได้ไต่สวนความผิดให้ชัดเจนก่อน เป็นต้น

      4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัวภัย คือมีใจอาจหาญไม่หวั่นไหว ไม่เกรงอิทธิพลมืดใดๆ ถึงจะถูกขู่ทำร้ายก็ไม่ยอมเสียความเป็นธรรม เพราะมีความรักธรรมยิ่งกว่าชีวิต

      คุณสมบัติทั้ง 4 ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องมี มิฉะนั้นโลกนี้ก็จะวุ่นวาย โดยเฉพาะผู้นำทุกท่านจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตนจนเต็มที

ผู้ใดไม่ละเมิดความยุติธรรม
เพราะความรัก ความชัง ความโง่เขลา และความกลัวของผู้นั้น
ย่อมเด่นดุจดวงจันทร์ เปล่งแสงสว่างในข้างขึ้นทุกค่ำคืน

(อคติสูตร) องฺ. จตุกฺก. 21/18/23

      ประพฤติตามธรรม คือการประพฤติปฏิบัติตนตามธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนฝึกฝนอบรมตนเองให้คุณธรรมในตัวสูงขึ้นประณีต ขึ้นตามลำดับ ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ 10 ประการ ดังนี้

       1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่น ๆ เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมองและตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไป เป็นการแก้ปัญหาซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น ต้องคอยหวาดระแวงว่าญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบ

        2. เว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต เช่น

ลัก - ขโมยเอาลับหลัง
ฉก - ชิงเอาซึ่งหน้า
กรรโชก - ขู่เอา
ปล้น - รวมหัวกันแย่งเอา
ตู่ - เถียงเอา
ฉ้อ - โกงเอา
หลอก - ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์
ลวง - เบี่ยงบ่ายลวงเขา
ปลอม - ทำของที่ไม่จริง
ตระบัด - ปฏิเสธ
เบียดบัง - ซุกซ่อนเอาบางส่วน
สับเปลี่ยน - แอบเปลี่ยนของ
ลักลอบ - แอบนำเข้าหรือออก
ยักยอก - เบียดบังเอาของในหน้าที่ตน

      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่มไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน

       3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่กระทำผิดในทางเพศ ไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีจิตใจสูง เคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

      4. เว้นจากการพูดเท็จ คือต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อรวม 7 วิธีด้วยกัน คือ

พูดปด - โกหกซึ่งๆ หน้า
ทนสาบาน - ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
ทำเล่ห์กระเท่ห์ - ทำทีอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของตนเกินเหตุ
มารยา - เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก
ทำเลศ - ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
เสริมความ - เรื่องนิดเดียวทำให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่
อำความ - เรื่องใหญ่ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย

      การเว้นจากพูดเท็จต่างๆ เหล่านี้ หมายถึง

       - ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึงตนจึงโกหก

    - ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น รักเขาอยากให้เขาได้ประโยชน์จึงโกหก หรือเพราะเกลียดเขาอยากให้เขาเสียประโยชน์จึงโกหก

     - ไม่ยอมพูดเท็จเพราะเห็นแก่อามิสินบน เช่น อยากได้ทรัพย์สิน เงินทองสิ่งของ จึงโกหกเจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริงกล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ

      5. เว้นจากการพูดส่อเสียด คือไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน ควรกล่าวแต่ถ้อยคำอันแสดงคุณค่าของความสามัคคีเจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอไม่เป็นบ่างช่างยุ ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี

       6. เว้นจากการพูดคำหยาบ คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความ ระคายใจ ครูดหู และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่

คำด่า - พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ
คำประชด - พูดกระแทกแดกดัน
คำกระทบ - พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด
คำแดกดัน - พูดกระแทกกระทั้น
คำสบถ - พูดแช่งชักหักกระดูก
คำหยาบโลน - พูดคำที่สังคมรังเกียจ
คำอาฆาต - พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย

      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตนไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด

      7. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อยๆสักแต่ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ควรฝังไว้ในใจ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์ เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน

    8. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่น ในทางทุจริตเจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่นมีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้วมีความเอื้อเฟอเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

       9. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีใจเบิกบานแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสะจริต เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรารู้จักให้อภัยทาน ไม่คิดทำลาย ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้วเกิดความคิดสร้างสรรค์

      10. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม คือไม่คิดแย้งกับหลักธรรม ได้แก่ มีความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ 8 ประการ คือ

1. เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ
2. เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ควรทำ
3. เห็นว่าการต้อนรับแขกดีจริง ควรทำ
4. เห็นว่ากฎแห่งกรรมมีจริง
5. เห็นว่าโลกนี้โลกหน้ามีจริง
6. เห็นว่าบิดามารดามีพระคุณต่อเราจริง
7. เห็นว่านรก สวรรค์มีจริง
8. เห็นว่า มณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง

      เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นใจดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้องยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูก มีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้องส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่นถูกต้องตามไปด้วย

เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง
ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น
หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย

องฺ. เอก. 20/182/40

      คุณธรรมทั้ง 10 ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตน โดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุคคลใด หวังความสุข หวังความเป็นใหญ่ หวังความก้าวหน้าต้องประพฤติธรรม


3.2 อานิสงส์ก์การประพฤติธิธรรม

1. เป็นมหากุศล
2. เป็นผู้ไม่ประมาท
3. เป็นผู้รักษาสัทธรรม
4. เป็นผู้นำพระพุทธศา นาให้เจริญ
5. เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
6. ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใครๆ
7. เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์
8. เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาของนักปราชญ์
9. สร้างความเจริญความสงบสุขแก่ตนเองและส่วนรวม
10. เป็นผู้สร้างทางมนุษย์สวรรค์ พรหม นิพพาน ฯลฯ

ธมฺมจารี สุขํ เสติ
การประพฤติธรรม นำสุขมาให้

ขุ. ธ. 25/23/37

 

4. มงคลที่ 17 สงเคราะห์ญาติ

ต้นไม้ที่เกิดรวมกันเป็นป่าดง
แต่ละต้นย่อมช่วยปะทะลมพายุให้แก่กัน จึงยืนต้นอยู่ได้นาน
ผิดจากต้นไม้ที่เกิดอยู่โดดเดี่ยว แม้จะเป็นไม้เจ้าป่าสูงใหญ่ก็ตาม
เมื่อโต้พายุตามลำพัง ย่อมหักโค่นลงโดยง่าย
เช่นกัน คนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้า ก็ย่อมมีผู้คอยช่วยเหลือ
(ต้านทาน)ปะทะมรสุมชีวิตให้ผ่อนหนักเป็นเบา
เมื่อเราทำดีมีสุข มีทางเจริญก้าวหน้า ก็มีคนให้ความสนับสนุน


4.1 ญาติคือใคร

        ญาติ แปลว่า คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด หมายถึง บุคคลที่คุ้นเคยและวางใจกันได้ มี 2 ประเภท ได้แก่

1. ญาติทางโลก แบ่งได้เป็น 2 พวก คือ

- ญาติโดยสายโลหิต เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง หลาน เหลน ฯลฯ (สำหรับพ่อแม่ ลูก ภรรยาสามี ถือว่าเป็นคนใกล้ชิดเรามากที่สุด ขอให้ยกไว้ต่างหาก เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ต่างกันออกไป)

- ญาติโดยความใกล้ชิดคุ้นเคย เช่น เป็นเพื่อนสนิทสนมกับเราโดยตรงหรือสนิท สนมกับญาติทางสายโลหิตของเรา

2. ญาติทางธรรม หมายถึง ผู้เป็นญาติเพราะเหตุ 4 ประการ คือ

- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นภิกษุ
- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นสามเณร
- เป็นญาติเพราะให้นิสัย
- เป็นญาติเพราะสอนธรรมะให้

 

4.2 วิธีร่อนหาญาติแท้
        คนรู้จักกันที่เรียกว่าญาตินั้น ไม่ใช่เพียงรู้จักตัว ไม่ใช่เพียงรู้จักว่า เวลานี้เขาจะช่วยอะไรเราบ้างแต่จะต้องมีใจผูกพันกับผู้ที่ตนถือว่าเป็นญาติเสมอ แม้แยกย้ายกันไปก็อยากรู้ข่าวคราวว่าผู้นั้นทุกข์หรือสุขหากเดือดร้อนก็พร้อมจะช่วยสงเคราะห์ อย่างนี้เรียกว่าญาติ ญาติที่แท้ต้องมีใจผูกพันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้ารู้จักกันเพียงผิวเผินจากไปแล้วก็แล้วกันไป อย่างนี้ไม่นับเป็นญาติ ยิ่งถ้าคนรู้จักมักคุ้นกันนั้นดีกับเราเฉพาะยามเราเจริญ คำก็พี่สองคำก็น้อง แต่พอเราเพลี่ยงพล้ำลง ชักหันมาเล่นแง่ จะแล่เอาเนื้อจะเถือเอาหนัง คนอย่างนี้ไม่ใช่ญาติแน่นอน วิธีพิจารณาว่าใครเป็นญาติทำได้ง่ายๆ คือ ใครก็ตามที่เมื่อเราเจ็บป่วย แล้วพอรู้ข่าวคราวก็มาเยี่ยมเยือนในยามที่เราปราศจากลาภ ยศ ตำแหน่งหน้าที่การงานอันมีเกียรติ แล้วยังปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อเรา หรือถ้าเราตายก็พร้อมจะไปเผาศพเรา นั่นแหละจึงนับว่าเป็นญาติ


4.3 ลักษณะของญาติที่ควรสงเคราะห์

     1. เป็นคนที่พยายามช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เอะอะ มีอะไรก็วิ่งมาหาท่าเดียวงอมืองอเท้า ไม่ยอมช่วยตนเอง

       2. รู้จักทำตัวให้น่าช่วย มีความประพฤติดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจโอบอ้อมอารี


4.4 เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ

1. เมื่อยากจนหาที่พึ่งไม่ได้
2. เมื่อขาดทุนทรัพย์ค้าขาย
3. เมื่อขาดยานพาหนะ
4. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน
5. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
6. เมื่อคราวมีธุระการงาน
7. เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี

      เรื่องการสงเคราะห์ญาติ จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ครั้นจะว่ายากก็เหมือนง่าย คนทิ้งญาติพี่น้องจนตัวเองเสียผู้เสียคนไปก็มี คนที่เอาพี่เอาน้องจนตัวเองแทบตายทั้งเป็นก็มาก เรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขตมีวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรให้ญาติแล้วจะดีเสมอไป


4.5 วิธีสงเคราะห์ญาติทางโลก

       ความมุ่งหมายของการสงเคราะห์ญาติ อยู่ที่การผูกสามัคคีรวมน้ำใจญาติให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ดังนี้

     1. ทาน หมายถึง การเอื้อเฟอแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ให้ของฝากยามเยี่ยมเยียน ให้ของขวัญยามมงคลให้ของกินของใช้ยามตรุษยามสารท ตลอดจน ให้ทุนรอนทำมาหากิน โดยควรจะตั้งงบกลางไว้สำหรับสงเคราะห์ญาติโดยเฉพาะและเมื่อแบ่งปันให้ญาติไปแล้วก็ไม่คิดจะทวงคืน แต่ถ้าเขานำมาคืนเองก็ควรเก็บสำรองไว้ในงบกลางนี้อีกสำหรับ งเคราะห์ญาติคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนต่อไป

     2. ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพอ่อนโยน เรียก รรพนามตามศักดิ์ เช่น เรียกลุง ป้า น้า อา อันเป็นภาษาของคนรักใคร่เคารพนับถือกัน ถึงจะโกรธเคืองขัดใจก็ไม่แช่งชักหักกระดูกหรือนินทาว่าร้าย

       3. อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือช่วยเหลือเมื่อมีธุระการงาน เช่น แต่งงาน บวชนาคเจ็บป่วย เป็นความ งานศพ และอื่นๆ อย่างน้อยก็ให้กำลังใจ

     4. มานัตตตา วางตัวกับญาติให้เหมาะ มกับฐานะ ตำแหน่ง เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเคารพญาติผู้ใหญ่ เอ็นดูญาติผู้น้อย เสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ทอดทิ้งกัน


4.6 วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม

    คือชักชวนญาติให้รู้จักประกอบการบุญการกุศล ชักนำให้ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้ตั้งอยู่ในศรัทธาสอนธรรมะให้ ชักนำให้บวช ชักนำให้ปฏิบัติธรรม


ข้อเตือนใจ

     การสงเคราะห์ญาติเป็นความดี เป็นมงคลแก่ผู้ทำ แต่ทั้งนี้ต้องทำตามวิถีทางที่ถูกต้องคือต้องไม่เอาการช่วยเหลือญาติพี่น้องมาทำให้เสียความเป็นธรรมในหน้าที่ของตน

      ทางฝ่ายญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือ ยิ่งต้องคิดให้มาก ถ้ารักกันจริงแล้ว ไม่สมควรที่จะไปขอร้องญาติพี่น้องที่มีบุญวาสนา มีอำนาจหน้าที่ให้เขาทำผิด ให้ช่วยเหลือเราในทางที่ไม่เป็นธรรมอย่าขอร้องหรือแม้แต่จะทำให้เขาต้องกังวลใจที่จะมาทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของเรา การขอร้องญาตินั้นไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม และไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า อย่าขอให้เขาทำผิดเพื่อเราก็แล้วกัน

        จะเห็นได้ว่ามงคลที่ 11, 12, 13 เป็นการสงเคราะห์บิดามารดา บุตร ภรรยา แต่การ สงเคราะห์ญาติ แทนที่จะอยู่ต่อมาเป็นมงคลที่ 14 กลับเป็นมงคลที่ 17 โดยต้องฝึกทำงานเป็นในมงคลที่ 14 บำเพ็ญทานในมงคลที่ 15 และประพฤติธรรมมีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียงในมงคลที่ 16 ก่อน จึงจะสงเคราะห์ญาติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกให้เสียธรรม


4.7 อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ

1. เป็นฐานป้องกันภัย
2. เป็นฐานอำนาจ
3. เป็นบุญกุศล
4. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
5. ทำให้ นิท นมคุ้นเคยกัน
6. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน
7. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน
8. เป็นเหตุแห่งสันติสุขไปทั่วโลก
9. เป็นประเพณีอันดีงามของนักปราชญ์
10. ทำให้ตระกูลใหญ่โต มั่นคง
11. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ
12. เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
13. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น
ฯลฯ

     ตระกูลใดที่หมู่ญาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงวงศ์วาน ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จะเป็นที่เกรงขามแก่บุคคลทั้งหลาย แม้ผู้มุ่งร้ายก็ไม่กล้ามาเบียดเบียน ประดุจความหนาทึบแห่งกอไผ่ ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้าง ย่อมไม่มีใครเข้าไปตัดได้ง่ายๆ หรือเหมือนดังกอบัวที่เจริญงอกงามอยู่ในสระ ย่อมเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น

 

5. มงคลที่ 18 ทำงานไม่มีโทษ

โรงงานที่ดีมีประสิทธิภาพ
ไม่ใช่เพียงเพราะผลิตผลงานได้มากเท่านั้น
แต่จะต้องผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ด้วย

เช่นกัน คนเราจะเจริญก้าวหน้า
ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้
ไม่ใช่เพียงเพราะทำงานได้มากเท่านั้น
แต่จะต้องเลือกทำเฉพาะงานที่ไม่มีโทษด้วย


5.1 งานไม่มีโทษคืออะไร

        งานไม่มีโทษ หมายถึง งานที่ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

        ความสามารถในการทำงานของคนมีอยู่ 2 ระดับ คือ ขั้นทำได้ กับ ขั้นทำดี

        ทำได้ หมายถึง การทำงานสักแต่ให้เสร็จๆ ไป จะเกิดประโยชน์หรือ ไม่เพียงใด ไม่ได้คำนึงถึง

      ทำดี หมายถึง การเป็นผู้คิดให้รอบคอบ ถึงผลได้ผลเสียทุกแง่มุม แล้วจึงเลือกทำเฉพาะแต่ที่เป็นประโยชน์จริงๆสิ่งใดที่ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเพียงพอก็ไม่ทำสิ่งนั้น พูดสั้นๆ ก็คือถ้าทำต้องให้ดี ถ้าไม่ดีต้องไม่ทำ

       กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำได้ หมายถึง ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่ตนอยากได้ อยากทำ เช่น ค้าขายเป็นก็ขายสิ่งที่ไม่ควรขาย อย่างพวกเหล้า บุหรี่ ยาม้า เป็นต้น หรืออยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง ก็มุ่งมั่นช่วงชิงเอาให้ได้ ผิดถูกชั่วดีอย่างไรไม่ได้คำนึง การทำได้จึงเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นต้นของคนทำงานเท่านั้นถ้าจะให้ดีจริงแล้ว ต้องถึงขั้น ทำดี คนทำดีนั้นมีคุณสมบัติในตัวถึง 2 อย่าง คือนอกจากจะทำได้แล้วยังสามารถเลือก ไม่ทำก็ได้ ถ้าเห็นว่าทำแล้วจะไม่ดี อย่างนี้จึงจะเก่งแท้

       อาจจะเปรียบได้ว่า คนทำงานขั้นทำได้ก็เหมือนกับ เด็กทารกที่เพิ่งรู้จักกิน ทำเป็นแต่เพียงหยิบอะไรใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้องไป กินขั้นนี้เรียกว่า กินได้ ยังไม่ใช่คนกินเป็น ยังไม่มีความดีวิเศษอะไรนักถ้าพี่เลี้ยงเผลออาจหยิบสิ่งที่เป็นพิษใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้อง ให้ผู้ใหญ่ต้องเดือดร้อนต้องวิ่งหาหมอก็ได้แต่คนกินเป็น จะต้องรู้จักเลือกของกิน เห็นว่าควรกินจึงกิน ถ้าไม่ควรกินก็ไม่กิน เช่นกัน นักทำงานที่เก่งแท้ต้องถึงขั้นทำดี คือไม่ใช่สักแต่ว่าทำงานได้ แต่ต้องเห็นว่างานที่จะทำเป็นงานที่ดีควรทำจึงลงมือทำ


5.2 วิธีพิจารณางานว่ามีโทษหรือไม่

      ในการพิจารณางานที่ทำว่าเป็นงานมีโทษหรือไม่ ต้องไม่ถือเอาคำติชม ของคนพาลมาเป็นอารมณ์เพราะคนพาลนั้น เป็นคนมีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีวินิจฉัยเสีย ความคิดความเห็นผิดเพี้ยนไปหมดสิ่งใดที่ถูกก็เห็นเป็นผิด ที่ผิดกลับเห็นเป็นถูก หรือเรื่องที่ดีคนพาลก็เห็นเป็นเรื่องที่ชั่ว แต่เรื่องที่ชั่วกลับเห็นเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได

       ส่วนบัณฑิตนั้น เป็นคนมีความคิดเห็นถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ ทั้งเป็นคนมีศีล มีสัตย์ คนประเภทนี้ใจกับปากตรงกัน เราจึงควรรับฟังคำติชมของบัณฑิตด้วยความเคารพ

        หลักที่บัณฑิตใช้พิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่นั้น มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน แบ่งเป็นหลักทางโลก 2 ประการ และหลักทางธรรม 2 ประการ


5.3 องค์ประกอบของงานไม่มีโทษ

          งานไม่มีโทษจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้

1. ไม่ผิดกฎหมาย
2. ไม่ผิดประเพณี
3. ไม่ผิดศีล
4. ไม่ผิดธรรม

       1. ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม การทำผิดกฎหมายทุกอย่างจัดเป็นงานมีโทษทั้งสิ้น แม้บางอย่างจะไม่ผิดศีลธรรมข้อใดเลย เช่น การปลูกบ้านในเขตเทศบาลต้องขออนุญาตตามเทศบัญญัติ ถ้าไม่ขอผิด การทำอย่างนี้ดูเผินๆ ทางธรรมเหมือนไม่ผิด เพราะปลูกในที่ของเราเอง และด้วยเงินทองของเรา แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นงานมีโทษคือมีตำหนิ และโปรดทราบด้วยว่าเมื่อใครทำงานมีโทษก็ย่อมผิดหลักธรรมอยู่นั่นเอง อย่างน้อยก็ผิดมงคล

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเป็นหนักหนาทั้งพระทั้งชาวบ้าน ให้เคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองโดยเคร่งครัด ไม่เคยปรากฏในที่ใดเลยว่าพระบรมศาสดาของเราสอนพุทธศาสนิกชนให้แข็งข้อต่อกฎหมายแม้จะเอาการประพฤติธรรมหรือความเป็นพระเป็นสงฆ์ เป็นข้ออ้างแล้วทำการดื้อแพ่ง ก็หาชอบด้วยพุทธประสงค์ไม่

   ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนเป็นคนรักสงบและให้เคารพพระราชกำหนดกฎหมาย ชาวพุทธต้องไม่ทำตัว ดื้อแพ่ง ต่อกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ

      ถ้าเราพิจารณาในแง่มงคลแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าการทำผิดกฎหมายนั้นเป็นอัปมงคลแน่ เพราะเป็นการสร้างความผิดคล้องคอตัวเอง

      2. ไม่ผิดประเพณี ประเพณีหมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมของมหาชนในถิ่นหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งซึ่งแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อคนทั้งหลายเขาถือกันเป็นส่วนมากและนิยมว่าดี ก็กลายเป็นกฎของสังคม ใครทำผิดประเพณีถือว่าผิดต่อมหาชน เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณีต้อนรับแขก ประเพณีรับประทานอาหาร ประเพณีทำความเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ จึงต้องศึกษาให้ดี

      เราชาวพุทธเมื่อจะเข้าไปสู่ชุมชนใด ก็ต้องถามไถ่ดูก่อนว่าเขามีประเพณีอย่างไรบ้าง อะไรที่พอจะโอนอ่อนผ่อนตามได้ก็ทำตามเขา แต่ถ้าเห็นว่า ทำไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรา เสียหายแก่ภูมิธรรม และศักดิ์ศรีของชาวพุทธ ก็ควรงดเสียอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ประเพณีไม่ให้เกียรติ แก่ ผู้สูงอายุ ดูถูกผู้หญิง ของคนบางเหล่า ประเพณีถือฤกษ์ยามจนแทบไม่มีโอกาสทำมาหากิน ประเพณีห้ามถ่ายอุจจาระปัสาวะซ้ำที่ของชาวอินเดียบางกลุ่ม จนกระทั่งไม่สามารถทำส้วมใช้ได้

     3. ไม่ผิดศีล ศีลเป็นพื้นฐานของการทำความดีทุกอย่าง แม้ในไตรสิกขา ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็บ่งไว้ว่า

         ศีล เป็นพื้นฐานของสมาธิ
         สมาธิ เป็นพื้นฐานของปัญญา
         ปัญญา เป็นเครื่องบรรลุนิพพาน
         ดังนั้นผู้ที่คิดจะสร้างความดีโดยไม่นำพาในการรักษาศีลเลย จึงเป็น การคิดสร้างวิมานในอากาศ

       เราชาวพุทธทั้งหลายควรพิจารณาทุกครั้งก่อนทำงาน งานที่เราจะทำนั้นขัดต่อศีล 5 หรือไม่ ถ้าผิดศีลก็ไม่ควร ให้งดเว้นจากการล่วงละเมิดศีล และงดเว้นจากการสนับสนุนผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษแต่ไม่มีศีลด้วยเช่นกัน

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เธอพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ตัวเราเองตำหนิตัวเราเองโดยศีล ได้หรือไม่เธอพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ท่านผู้รู้ ใคร่ครวญแล้วตำหนิเราโดยศีลได้หรือไม่

(นัย อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร) องฺ. ท ก. 24/48/92

      4. ไม่ผิดธรรม ธรรมคือความถูกความดี ในการปฏิบัติงานทุกครั้ง ต้องคำนึงถึงข้อธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ถี่ถ้วน เพราะงานบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี และไม่ผิดศีล แต่อาจผิดหลักธรรมได้ ดังเช่น การผูกโกรธ คิดพยาบาท ผิดหลักกุศลกรรมบถ การเกียจคร้าน ผิดหลักอิทธิบาท การเป็นนักเลงการพนัน เจ้าชู้ ผิดหลักการละอบายมุข

    ดังนั้นเมื่อเราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ก็ตาม เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ศีล และธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนทำงานไม่มีโทษคนบางคนมีปัญหาว่า ใจก็ต้องการทำงานไม่มีโทษ แต่ทำงานครั้งใดกว่าจะรู้ว่างานที่ตัวทำเป็นงานมีโทษ ก็สายไปเสียแล้ว ทำไปแล้ว จึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนที่รู้ก่อนทำ


5.4 วิธีรู้ก่อนทำ

       ทางพระพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำงานไว้ว่า นิสฺสมฺม กรณ เสยฺโย คือ ใคร่ครวญดูก่อนแล้วจึงลงมือทำ นักทำงานสมัยนี้ก็มีคติว่า อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นก่อนอ่าน ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมนั่นเอง

     แต่การทำงานแบบนี้คนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยชอบเพราะใจร้อน เวลาเสนองานให้ผู้ใหญ่ พอท่านบอกว่า ขอคิดดูก่อน เด็กก็มักจะขัดใจหาว่าคนแก่ขี้ขลาดทำอะไรไม่เด็ดขาด ความจริงไม่ใช่เรื่องกล้าหรือขลาด แต่เป็นเรื่องการใช้ความคิด ท่านต้องการรู้ก่อนทำ ไม่ใช่ทำก่อนรู้ แล้วทำอย่างไรเราจึงจะรู้ก่อนทำ

        ข้อสำคัญคือ ต้องทำใจเราให้คลายความอวดดื้อถือทิฏฐิมานะ ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนเก่งที่สุดเราไม่ใช่คนฉลาดที่สุด ยังมีผู้ที่เกิดก่อนเรารู้เห็นมามากกว่าเรา ใครลดความลำพองลงเสียได้ดังนี้ คนนั้นจะมีหวังเป็นคนรู้ก่อนทำ ถ้าปรับปรุงตัวอย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่มีหวัง จะต้องเป็นคนทำก่อนรู้อยู่ร่ำไปสอบตกแล้วจึงรู้ว่าเกโรงเรียนไม่ดี ตับแข็งแล้วจึงรู้ตัวว่ากินเหล้ามากไป หมดตัวแล้วจึงรู้ว่าไม่ควรเล่นการพนันหนักเข้าก็ต้องเข้าคุกแล้วจึงรู้ว่าบ้านเมืองมีขื่อ มีแป กรรมแท้ๆ


5.5 ประเภทของงานไม่มีโทษ

        งานที่เราทำนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประการ คือ

1. งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
2. งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

      ผู้ที่ทำงานไม่มีโทษก็หมายถึง ผู้ที่ทำงานทั้ง 2 ประการนี้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ตามองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว


5.6 งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง

      คือการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ เช่น ทำนา ทำสวน ค้าขาย เป็นครู เป็นช่างไม้ ช่างยนต์ ฯลฯ ซึ่งในเรื่องการประกอบอาชีพนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า อาชีพต้องห้ามต่อไปนี้ พุทธศา สนิกชนไม่ควรทำ ได้แก่

1. การค้าอาวุธ
2. การค้ามนุษย์
3. การค้ายาพิษ
4. การค้ายาเสพย์ติด
5. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า

      ใครก็ตามที่ประกอบอาชีพ 5 ประการข้างต้นนี้ ได้ชื่อว่าทำงานมีโทษ และก่อให้เกิดโทษแก่ตนเองมากมายสุดประมาณ แม้จะร่ำรวยเร็วก็ไม่คุ้มกับบาปกรรมที่ก่อไว


5.7 งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

     คือการทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนข้างเคียง และช่วยเหลืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่นสร้างสะพาน ทำถนนสร้างศาลา ที่พักอาศัยข้างทาง ฯลฯ


5.8 ข้อเตือนใจนักทำงานเพื่อส่วนรวม

     ในการทำงาน ให้ทำเต็มที่ตามกำลังแต่อย่าทำจนล้นมือ และก่อนจะทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราจะต้องฝึกฝนตัวเราเองให้ดีก่อน ฝึกแก้นิสัยที่ไม่ดีๆ ในตัวด้วยการประพฤติธรรมดังมงคลที่ 16 เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกระทั่งกับ ผู้อื่นเวลาทำงาน และเพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายว่าเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง เพื่อความมีหน้ามีตาของเราเอง และให้รับรู้ว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้นแท้จริงผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ ตัวเราเอง คือได้ทั้งบุญกุศลและอุปนิสัยที่ดีติดตัวไปเบื้องหน้า และเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ตัวเองอีกด้วยส่วนประโยชน์ที่ผู้อื่นจะได้รับถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ถ้าคิดได้อย่างนี้จะทำให้ใจสบาย มีกำลังใจในการทำงาน และไม่คิดทวงบุญทวงคุณเอากับใคร

      นอกจากนั้น ผู้ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมจะต้องหัดรักษาศีล 8 รักษาอุโบสถศีล เพื่อเป็นการ ฝึกควบคุมอารมณ์ให้ดี เพราะการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น จะต้องคลุกคลีกับคนจำนวนมาก มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งเกินเลยกันได้ง่าย ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ทั้งๆ ที่ทำด้วยความหวังดี ตนเองก็มีกรรมติดตัวไป และก่อนที่จะทำงานเพื่อสังคม ให้ปรับปรุง ภาพในครอบครัวของตนให้ดี ต้องมีเวลาให้ลูกให้ครอบครัวให้พอ ครอบครัวจะได้มั่นคงเป็นสุขส่งผลให้เราทำงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

         การทำงานไม่มีโทษทั้งเพื่อตนเองและเพื่อสาธารณประโยชน์ ท่านสรุปไว้ 10 อย่าง ดังนี้


5.9 ตัวอย่างการทำงานไม่มีโทษ

1. การรักษาอุโบสถศีล
2. การทำงานช่วยเหลือกันในทางที่ชอบ
3. การสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม เช่น วัด เจดีย์ ฯลฯ
4. การปลูกต้นไม้เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและให้คนได้พึ่งพาอาศัย
5. การสร้างสะพาน เพื่อให้คนสัญจรไปมาได้สะดวก
6. การสร้างประปาสร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะดวก
7. การตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ เพื่อให้คนได้ใช้สะดวก บาย
8. การให้ที่อยู่อาศัยแก่บุคคล
9. การตั้งอยู่ในบุญกุศล หรือตั้งอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ
10. การถึงพร้อมด้วยศีลและการเจริญสมาธิภาวนา
ฯลฯ


5.10 อานิสงส์การทำงานไม่มีโทษ

       คนทำงานมีโทษนั้น ได้กับเสียเป็นเงาตามตัว ยิ่งได้งานมากก็ทุกข์ใจมาก เข้าทำนอง อิ่มท้อง แต่พร่องทางใจ ยิ่งรวยได้ทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ คุณความดีในตัวลดลงทุกทีส่วนคนที่ทำงานไม่มีโทษนั้นจะก้าวหน้าไปสู่ความสุขแท้และความเจริญแท้ ถึงแม้จะไม่รวยทรัพย์แต่ก็รวยความดี

        คนทำงานไม่มีโทษนั้นจะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์แก่โลกล้วนๆ ไม่มีโทษเข้าไปเจือปนเลย ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณของโลกที่อาศัยเกิดมาเมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะได้สันติสุขเป็นเครื่องตอบแทนไปชั่วกาลนาน

ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม ไม่ประมาท

ขุ. ธ. 25/12/18

 


หนังสือ GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016223569711049 Mins