พระนางเขมา

วันที่ 28 เมย. พ.ศ.2560

พระนางเขมา,วาไรตี้,บทความประจำวัน

 

เรื่องพระนางเขมา

 

        สถานที่ตรัส พระเวฬุวัน

         เล่ากันว่า พระนางเขมานั้นตั้งความปรารถนาไว้ แทบบาทมูลของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เป็นผู้มีพระรูป งดงาม น่าดูน่าเลื่อมใสอย่างมาก. พระนางได้ทรงสดับว่า ‘ทราบว่า พระศาสดาตรัสติโทษของรูป’ จึงไม่ปรารถนาจะเสด็จไปยังสำนักของพระศาสดา.

      พระราชาทรงทราบความที่พระอัครมเหสีนั้นมัวเมาอยู่ในรูป จึงตรัสให้พวกนักกวีแต่งเพลงขับเกี่ยวไปในทาง พรรณนาพระเวฬุวัน แล้วก็รับสั่งให้พระราชทานแก่พวกนักฟ้อนเป็นต้น.

      เมื่อนักฟ้อนเหล่านั้นขับเพลงเหล่านั้นอยู่ พระนาง ทรงสดับแล้ว พระเวฬุวันได้เป็นประหนึ่ง ไม่เคยทอด พระเนตรและทรงสดับแล้ว.

       พระนางตรัสถามว่า “พวกท่านขับหมายถึงอุทยาน แห่งไหน ?” เมื่อพวกนักขับทูลว่า “หมายถึง อุทยานเวฬุวันของ พระองค์”

    พระเทวี จึงได้ทรงปรารถนาจะเสด็จไปพระอุทยาน. พระศาสดาทรงทราบการเสด็จมาของพระนาง เมื่อประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัทแล จึงทรงนิรมิตหญิงรูปงาม ยืนถือพัดก้านตาลพัดอยู่ที่ข้างพระองค์.

     ฝ่ายพระนางเขมาเทวี เสด็จเข้าไปทอดพระเนตร เห็นหญิงนั้น จึงทรงดำริว่า ‘คนทั้งหลาย ย่อมพูดกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสโทษของรูป, ก็หญิงนี้ยืนพัด อยู่ในสำนักของพระองค์, เราไม่เข้าถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ของหญิงนี้, รูปหญิงเช่นนี้เราไม่เคยเห็น, ชนทั้งหลาย เห็นจะกล่าวตู่พระศาสดา ด้วยคำไม่จริง’ ดังนี้แล้ว ก็มิใส่ใจถึงเสียงพระดำรัสของพระตถาคต ได้ประทับยืนทอดพระเนตรดูหญิงนั้นนั่นแล.

    พระศาสดาทรงทราบเรื่องที่พระนางมีมานะจัดเกิดขึ้น ในรูปนั้น เมื่อจะทรงแสดงรูปนั้นด้วยอำนาจวัยมีปฐมวัยเป็นต้น จึงทรงแสดงทำให้เหลือเพียงกระดูกในที่สุด โดยนัยที่เคยกล่าวแล้วในเรื่องก่อนนั้นแล.

        พระนางเขมาพอทอดพระเนตรเห็นรูปนั้น จึงทรง ดำริว่า ‘รูปนั้นแม้เห็นปานนี้ ก็ถึงความสิ้นความเสื่อมไป โดยครู่เดียวเท่านั้น, สาระในรูปนี้ ไม่มีหนอ?’

       พระศาสดาทรงตรวจดูวาระจิตของพระนางเขมา นั้นแล้ว จึงตรัสว่า “เขมา เธอคิดว่า ‘สาระมีอยู่ในรูปนี้ หรือ ?’ เธอจงดูความที่รูปนั้นหาสาระมิได้ในบัดนี้” แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

“เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาดเน่าเปื่อย

ไหลออกทั้งข้างบน ไหลออกทั้งข้างล่าง

อันคนพาลทั้งหลาย ปรารถนายิ่งนัก.”

            เมื่อจบพระคาถา พระนางดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

          พระศาสดาตรัสกับพระนางว่า “เขมา สัตว์เหล่านี้ เอิบอาบอยู่ด้วยราคะ ร้อนอยู่ด้วยโทสะ งงงวยอยู่ด้วย โมหะ จึงไม่อาจเพื่อก้าวล่วงกระแสตัณหาของตนไปได้ ต้องข้องอยู่ในกระแสตัณหานั้นนั่นเอง” ดังนี้แล้ว เมื่อจะ ทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

“สัตว์ผู้กำหนัดแล้วด้วยราคะ

ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา

เหมือนแมงมุม๒๗ ตกไปยังใยที่ตัวทำไว้เองฉะนั้น.

ธีรชนทั้งหลาย ตัดกระแสตัณหาแม้นั้นแล้ว

เป็นผู้หมดห่วงใย ละเว้นทุกข์ทั้งปวงไป.”

        เมื่อจบเทศนา พระนางเขมาทรงดำรงอยู่ในพระอรหัต. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว.

        พระศาสดาตรัสกับพระราชาว่า “มหาบพิตร พระนาง เขมาจะบวชหรือปรินิพพาน จึงควร?”

        พระราชา. “โปรดให้พระนางบวชเถิด พระเจ้าข้า, อย่าเลยด้วยการปรินิพพาน.”

        พระนางบรรพชาแล้วก็ได้เป็นสาวิกาผู้เลิศ ดังนี้แล.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0054623643557231 Mins