ความเข้าใจถูกในการฝึกฝนนิสัย 4 ให้แก่ตนเอง

วันที่ 02 มิย. พ.ศ.2560

ความเข้าใจถูกในการฝึกฝนนิสัย 4 ให้แก่ตนเอง

สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , ความเข้าใจถูกในการฝึกฝนนิสัย 4 ให้แก่ตนเอง , ปัจจัย 4 , กิเลส

   ผู้ที่ตั้งใจจะฝึกฝนอบรมตนเองไปตามเส้นทางการขจัดกิเลสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไม่ผิดพลาดนั้น ต้องมีความเข้าใจในการฝึกนิสัย 4 ให้ตนเองดังต่อไปนี้

1. พระพุทธองค์ทรงแบ่งคนในโลกนี้เป็น 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก คือ ผู้ครองเรือน

      หมายถึง ผู้ที่ยังต้องการความสุขจากการอยู่ร่วมกับคนในเรือนของตน เช่นสามี ภรรยา บุตรธิดา เป็นต้น และต้องการความสะดวกสบายจากการครอบครองทรัพย์สินเงินทอง เกียรติ ยศ ชื่อเสียง มาเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้แก่ตนเองและวงศ์ตระกูล

กลุ่มที่สอง คือ บรรพชิต

     หมายถึง ผู้เห็นโทษภัยในการเวียนว่ายตายเกิด จึงออกจากเรือนเพื่อหาทางขจัดทุกข์ขจัดกิเลสและทำพระนิพพานให้แจ้ง ไม่ยินดีกับการใช้ชีวิตแบบผู้ครองเรือน

        สาเหตุที่ต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่มก็เพราะว่าสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน

        เป้าหมายชีวิตของกลุ่มแรก คือ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องการมีความสุขอยู่กับลูกภรรยาสามี และญาติพี่น้อง ยังต้องการวัตถุสิ่งของ เงินทอง ไว้เชิดชูวงศ์ตระกูลให้มีหน้ามีตาบางพวกที่มีปัญญาขึ้นมาอีกนิด ก็ยังนึกถึงเรื่องความตายบ้าง แต่ก็เป็นการนึกในลักษณะว่า เมื่อตายไปแล้ว ทำอย่างไรจะไม่พลัดพรากจากกัน ทำอย่างไรจะมีโอกาสกลับมาอยู่ด้วยกันในภพชาติต่อไปอีก ยังไม่เห็นโทษภัยของวัฏสงสาร ยังไม่คิดจะบรรลุมรรคผลนิพพาน

      แต่เป้าหมายของกลุ่มที่สอง คือ ต้องการมีความสุขกับการขจัดกิเล ยินดีกับการออกจากสารพัดทุกข์ในการครองเรือน มีความสุขกับการสละวัตถุสิ่งของ เงินทอง ใช้ชีวิตสันโดษ เรียบง่าย ต้องการสงวนเวลาชีวิตไว้เพื่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาให้บรรลุมรรคผลนิพพาน และบำเพ็ญตนเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ชาวโลก เพื่อให้โลกทั้งโลก ว่างด้วยศีลธรรม จะได้เป็นโลกที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมไปอีกนานแสนนาน

       เพราะเหตุนี้ การดำเนินชีวิตของคนสองกลุ่มนี้จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องกิจวัตร งานประจำ และงานอดิเรก หากนำมาปนกันจะทำให้เกิดความสับสนในการฝึกฝนอบรมคนในวิถีชีวิตทางโลกกับวิถีชีวิตทางธรรม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงต้องแบ่งชีวิตบรรพชิตออกจากชีวิตฆราวาสให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้กำหนดมาตรฐานชีวิตของนักสร้างบารมีผู้ต้องการขจัดทุกข์ ขจัดกิเลสและทำพระนิพพานให้แจ้งให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติได้อย่างชัดเจน


2. พระพุทธองค์ทรงกำหนดวัตถุประสงค์การใช้ปัจจัย 4 ที่มีอานุภาพในการขจัดกิเลสและเป็นมาตรฐานโลก

ปัจจัย 4 คืออะไร

           ในที่นี้ ปัจจัย 4 คือ อุปกรณ์การฝึกนิสัยขจัดกิเลสำหรับพระภิกษุสามเณร ได้แก่

(1) จีวร
(2) บิณฑบาต
(3) เสนาสนะหรือที่พักอาศัย
(4) ยารักษาโรค

        ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตขั้นต่ำสุด ในการบริโภคใช้สอยนั้น หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดหรือน้อยเกินไปก็ตาม มากเกินไปก็ตาม หรือคุณภาพของสิ่งที่ใช้ดีเกินไป หรือด้อยเกินไปก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อ

(1) สุขภาพพลานามัย
(2) ชีวิต
(3) การประพฤติปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ
(4) ความรู้สึกของประชาชนและเพื่อนสหธรรมิก

          นอกจากนี้ ปัจจัย 4 ยังหมายรวมถึงสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ที่เนื่องด้วยปัจจัย 4 เช่น

(1) สิ่งของที่เนื่องด้วยจีวร เช่น เครื่องนอน เครื่องห่ม เข็ม ด้าย เป็นต้น
(2) สิ่งของที่เนื่องด้วยบิณฑบาต เช่น ภาชนะ ถ้วย ชาม ช้อน เป็นต้น
(3) สิ่งของที่เนื่องด้วยเสนาสนะ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง ตั่ง เก้าอี้ เป็นต้น
(4) สิ่งของที่เนื่องด้วยยารักษาโรค เช่น เครื่องมือปรุงยา อุปกรณ์การแพทย์ การพยาบาล เป็นต้น


วัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย 4 ที่แท้จริงมีอะไรบ้าง

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกให้พระภิกษุวางแผนการใช้ อยปัจจัย 4 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นบ่อเกิดคุณธรรมและนิสัยทุ่มชีวิตขจัดกิเลสไปด้วยในตัว โดยพระองค์ทรงกำหนดวัตถุประสงค์การใช้ปัจจัย 4 ไว้ดังนี้

    1) จีวร มีวัตถุประสงค์ คือ

1.1) ใช้เพื่อบำบัดความหนาว
1.2) ใช้เพื่อบำบัดความร้อน
1.3) ใช้เพื่อบำบัดการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลาน
1.4) ใช้เพื่อปกปิดอวัยวะที่ทำให้เกิดความละอาย

            2) บิณฑบาต มีวัตถุประสงค์ คือ

2.1) ไม่ใช่กินเพื่อเล่น ไม่ใช่กินเพื่อมัวเมา ไม่ใช่กินเพื่อประดับ ไม่ใช่กินเพื่อการตกแต่งร่างกายให้มีสัดส่วนสวยงาม
2.2) กินเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้
2.3) กินเพื่อให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงกำลัง
2.4) กินเพื่อให้ความลำบากสงบลง
2.5) กินเพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยการพิจารณาว่าเรากินเพื่อบรรเทาความหิวเสียได้ และจะป้องกันไม่ให้มีเวทนาใหม่เกิดขึ้น ด้วยประการนี้ ความมีชีวิตต่อไปได้ความไม่มีโทษของร่างกาย และความอยู่สบายจะมีแก่ตัวเรา

           3) เสนาสนะ มีวัตถุประสงค์ คือ

3.1) ใช้เพื่อบำบัดความหนาว
3.2) ใช้เพื่อบำบัดความร้อน
3.3) ใช้เพื่อบำบัดการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดดสัตว์เลื้อยคลาน
3.4) ใช้เพื่อบรรเทาอันตรายอันเกิดจากฤดูกาล
3.5) ใช้เพื่อความยินดีในการหลีกเร้นเพื่อเจริญภาวนา

          4) ยารักษาโรค มีวัตถุประสงค์ คือ

4.1) ใช้เพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
4.2) ใช้เพื่อความไม่ลำบากกาย

           การฝึกใช้ปัจจัย 4 ให้ตรงวัตถุประสงค์ ก็คือ การควบคุมนิสัย

           การควบคุมนิสัย ก็คือ การควบคุมใจให้ตรงกับความถูกต้องอย่างมีความพอดีและเหมาะสม

          การควบคุมใจให้ตรงกับความถูกต้องอย่างมีความพอดีและความเหมาะสม ก็คือ การควบคุมกิเลสไม่ให้กำเริบเสิบสาน และเป็นการเปิดทางให้คุณธรรมอื่นๆ งอกงามขึ้นในใจ ซึ่งจะเป็นอุปการคุณในการบรรลุธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

         นี่คือการกำหนดมาตรฐานการใช้ปัจจัย 4 ที่เป็นมาตรฐานโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทรงกำหนดให้พระภิกษุเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนให้แก่ชาวโลก

         เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่า ถ้ามนุษย์ยังใช้ปัจจัย 4 ผิดวัตถุประสงค์ และไม่รู้จักความพอดี มนุษย์ต้องตกเป็นขี้ข้ากิเลสไปอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน แล้วการก่อบาปก่อเวรเพราะความสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักความพอดีก็จะเกิดขึ้นไม่รู้จบสิ้น โลกนี้ย่อมยากจะหาความสงบสุขได้เจอ

      ดังนั้น ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะพบว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ ถ้ายังแก้ปัญหาเรื่องความพอดีและเหมาะสมในการใช้ปัจจัย 4 ไม่ได้ ปัญหาอื่นๆ ไม่มีทางแก้ไขได้จบสิ้นอย่างแน่นอน แล้วคนที่ช่วยกันทำลายโลกใบนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ "การไม่ฝึกลูกหลานให้รู้จักใช้ปัจจัย 4 ตามความจำเป็นและถูกวัตถุประสงค์" นั่นเอง


3. พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักความพอดี

         คำว่า "พอดี" คือ "พอแล้วดี"

        ไม่ใช่คิดว่าพอ แต่จริงๆ กลับขาด จนกลายเป็นการทรมานตนเองมากเกินไปโดยใช่เหตุหรือคิดว่าพอแต่จริงๆ กลับเกิน คือมากเกินไปจนกลายเป็นการพอกพูนกิเลสทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง และกลายเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปมากโดยใช่เหตุ

       ผู้ที่รู้จักความพอดีในการบริโภคปัจจัย 4 นั้น ต้องสามารถแยกแยะได้ระหว่างความจำเป็นความต้องการความอยาก ว่าสามอย่างนี้ต่างกันอย่างไร

         ความจำเป็น คือ ขาดไม่ได้หากขาดแล้วมีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมาก

        ความต้องการ คือ ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ต้อง เป็นเรื่องของการเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนต่อชีวิตและความเป็นอยู่

     ความอยาก คือ ความตะเกียกตะกายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ เพราะตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

      ยิ่งกว่านั้น นอกจากแยกแยะได้แล้ว ยังต้องมีสติควบคุมใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของความอยากอีกด้วย มิฉะนั้น เดี๋ยวก็จะผิดพลาด เอาความอยากในชีวิตชาวโลกมาปนกับชีวิตนักบวช ในที่สุดก็ต้องสึกหาลาเพศสมณะไปอย่างน่าเสียดาย


4. พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักความเหมาะสม

       คำว่า "เหมาะสม" คือ มควรแก่ฐานะ และเพศภาวะของตนเอง ทั้งในแง่ชนิด คุณภาพวิธีการได้มา วิธีการใช้ และวัตถุประสงค์ในการใช้งานของบางชนิดไม่เหมาะกับพระภิกษุ พระองค์จึงทรงกำหนดไว้ในพระธรรมวินัยว่าห้ามรับ

      ส่วนของบางชนิดพระองค์ไม่ได้ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้รับ แต่ต้องระมัดระวังของที่มีคุณภาพดีเกินไปไม่เหมาะกับคุณธรรมของตนเอง เมื่อรับมาแล้ว นอกจากจะเพิ่มภาระในการดูแลรักษาแล้ว ยังทำให้จิตฟุ้งซ่าน การปฏิบัติธรรมย่อมไม่ก้าวหน้า และยังขัดต่อความรู้สึกของประชาชนและเพื่อนสหธรรมิกอีกด้วย

       เช่น ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระเทวทัตรับผ้าเนื้อดีราคาถึงหนึ่งแสนกหาปณะนำมาตัดเย็บจีวรแล้วนุ่งห่มไปในที่ต่างๆ ในครั้งนั้น ชาวบ้านพากันติเตียนว่า "ผ้าผืนนี้ไม่สมควรแก่พระเทวทัต มควรแก่พระสารีบุตรมากกว่า พระเทวทัตนุ่งห่มผ้าอันไม่เหมาะแก่ตน"

       นี่คือความผิดพลาดของพระเทวทัตในเรื่องนิสัยที่เกิดจากการใช้ปัจจัย 4 ที่ไม่ก่อให้เกิดคุณธรรมในตน ซึ่งภายหลังนำไปสู่การพอกพูนทิฏฐิมานะอย่างแรงกล้า และนำไปสู่การก่อความผิดพลาดครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนาอย่างไม่ควรจะเป็น ผลสุดท้ายตนเองก็ต้องถูกธรณีสูบ ต้องตกนรกหมกไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกอย่างทุกข์ทรมาน เพราะการจาบจ้วงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความมีทิฏฐิมานะเป็นเหตุ

      นั่นก็หมายความว่า ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก ปัจจัย 4 แต่ละชิ้นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากมีผลต่อนิสัยใจคอแล้ว ยังมีผลต่อการเข้าถึงธรรมอีกด้วย ใครดูเบาเรื่องความเหมาะสมในการใช้ปัจจัย 4 นี้ จึงยากจะเอาดีได้ในพระพุทธศาสนา

    พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณจึงเคยเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า "ใครที่มาอยู่วัดนานแล้วหรือเพิ่งมาอยู่ใหม่ก็ตาม ถ้าหากยังไม่รู้จักประมาณการใช้ปัจจัย 4 ต้องถือว่ายังเป็นผู้กำลังฝึกตัวใหม่อยู่ทั้งสิ้น"

       เพราะฉะนั้น พวกเราต้องระมัดระวังการใช้ปัจจัย 4 ให้ดี อย่าใช้ด้วยความสุรุ่ยสุร่ายแต่ให้คำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์ใช้สอย และคำนึงอยู่เสมอว่ารับมาแล้ว จะเป็นไปเพื่อการขจัดกิเลสในตัวหรือไม่ หากใครยังแก้ไขนิสัยตามใจตนเองไม่ได้ แม้เข้าวัดมาเป็นสิบปี ยี่สิบปีสามสิบปี ก็จะเป็นขี้ข้ากิเลสเหมือนเดิม นิสัยจะไม่ดีขึ้นกว่าก่อนเข้าวัดอย่างแน่นอนเรื่องนี้นักสร้างบารมีจึงมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด


5. พระพุทธองค์ทรงสอนการใช้ปัจจัย 4 ให้เกิดบุญ

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ว่า ปัจจัย 4 แต่ละประเภทล้วนเกิดขึ้นจากบุญคือเกิดจากบุญที่ตนเองสั่งสมมา และบุญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปักหลักพระพุทธศาสนาไว้

        ดังนั้น ทุกครั้งที่ใช้ปัจจัย 4 ต้องระลึกว่า กำลังใช้บุญอยู่ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกขณะจิตที่เรายังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่ายามหลับหรือยามตื่น เราต้องใช้บุญทั้งสิ้น หากการดำเนินชีวิตของเราใช้ปัจจัย 4 อย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้อย่างล้างผลาญ ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็หมายถึงกำลังล้างผลาญบุญของตัวเอง และบุญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุให้รู้จักใช้ปัจจัย 4 ให้เกิดบุญทั้งแก่ ตนเองและญาติโยมไว้ใน "ปุญญาภิสันทสูตร" ว่า

1) พระภิกษุรูปใดที่ญาติโยมนำจีวรมาถวาย พอได้รับถวายแล้ว ก็เข้าเจโตสมาธิ คือตั้งใจนั่งสมาธิเข้ากลางของกลางธรรมะภายในตัวไป ย่อมทำให้ท่อธารบุญกุศลของทายกบังเกิดขึ้นอย่างจะนับประมาณมิได้

2) พระภิกษุรูปใดที่ญาติโยมนำอาหารมาถวาย พอได้รับถวายแล้ว ก็เข้าเจโตสมาธิ คือ ตั้งใจนั่งสมาธิเข้ากลางของกลางธรรมะภายในตัวไป ย่อมทำให้ท่อธารบุญกุศลของทายกบังเกิดขึ้นอย่างจะนับประมาณมิได้

3) พระภิกษุรูปใดที่ญาติโยมนำเสนาสนะมาถวาย พอได้รับถวายแล้ว ก็เข้าเจโตสมาธิ คือ ตั้งใจนั่งสมาธิเข้ากลางของกลางธรรมะภายในตัวไป ย่อมทำให้ท่อธารบุญกุศลของทายกบังเกิดขึ้นอย่างจะนับประมาณมิได้

4) พระภิกษุรูปใดที่ญาติโยมนำคิลานเภสัชมาถวาย พอได้รับถวายแล้ว ก็เข้าเจโตสมาธิ คือ ตั้งใจนั่งสมาธิเข้ากลางของกลางธรรมะภายในตัวไป ย่อมทำให้ท่อธารบุญกุศลของทายกบังเกิดขึ้นอย่างจะนับประมาณมิได้

       นั่นก็หมายความว่า เมื่อญาติโยมถวายปัจจัย 4 มาบำรุงเลี้ยงพระภิกษุแล้ว หากพระภิกษุไม่นั่งสมาธิ เพื่อมุ่งขจัดกิเล ทำพระนิพพานให้แจ้ง ท่อธารบุญในตัวของญาติโยมย่อมบังเกิดน้อย และกลายเป็นหนี้ข้าวปลาอาหารของญาติโยม

      แต่ว่าในทางตรงกันข้าม ถ้าพระภิกษุรับปัจจัย 4 ที่ญาติโยมถวายแล้ว พอกลับมาถึงกุฏิก็นั่งสมาธิ จะเห็นธรรมะ หรือยังไม่เห็นธรรมะ ก็ตั้งใจทำสมาธิเข้าไป ถ้าเป็นอย่างนี้ แม้มองไม่เห็นท่อธารบุญ แต่บุญได้เกิดเป็นสายทั้งตัวของพระภิกษุและญาติโยมแล้ว และความก้าวหน้าในการฝึกฝนอบรมตนเองก็จะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ญาติโยมก็ได้บุญเพิ่มขึ้นไปอีกแล้วในที่สุดก็กลายเป็นว่า ญาติโยมก็มีนิสัยรักการทำบุญ พระภิกษุรูปนั้นก็มีนิสัยรักการบำเพ็ญภาวนา และกลายเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของญาติโยม และนั่นคือความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน


6. กิจวัตร 10 ประการ บทฝึกนักบวชให้มีนิสัยรักการปฏิบัติธรรม

       การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะเกิดนิสัย 4 ขึ้นมาได้ ก็ต้องทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันพระเถระในอดีตท่านมองทะลุเรื่องเหล่านี้อย่างแตกฉาน ท่านจึงได้สรุป "กิจวัตร 10 ประการ" ออกมาจากพระไตรปิฎก เพื่อใช้เป็นบทฝึกพระภิกษุในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่การสร้างนิสัย 4 ของนักบวชขึ้นมาแทนนิสัยฆราวาสนั่นเอง

         กิจวัตร มาจากคำ 2 คำรวมกัน คือ "กิจ" กับ "วัตร"

         กิจ หมายถึงสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำจะเสียหาย

         วัตร หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ควรทำเป็นนิสัย

       กิจวัตร หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องทำให้เป็นนิสัย มิฉะนั้น จะเกิดความเสียหายต่อการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นสมณะและการบรรลุธรรม

         กิจวัตร 10 ประการ ได้แก่

1) บิณฑบาต
2) กวาดวัด
3) ปลงอาบัติ
4) ทำวัตรสวดมนต์และทำภาวนา
5) พิจารณาปัจจเวกขณะ
6) อุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์
7) บริหารสิ่งของและร่างกาย
8) ขวนขวายเรียนพระธรรมวินัย
9) เอาใจใส่หมู่สงฆ์และกิจของสงฆ์
10) ดำรงตนให้น่ากราบไหว้

         ผลเบื้องต้นที่ได้รับของการฝึกกิจวัตร 10 ประการ ก็คือ

1) เป็นการกำจัดนิสัยความถือดีในทิฏฐิมานะของตนให้หมดไป เช่น นิสัยถือตนว่าดีกว่าเขาเสมอเขาด้อยกว่าเขา เป็นต้น

2) เป็นการสร้างนิสัยรักการขจัดกิเลสอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันขึ้นมาทดแทน

3) เมื่อถึงคราวเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นผู้อุดมด้วยศีลธรรมเหมือนต้นไม้ใหญ่แต่ดำเนินชีวิตเรียบง่าย มีความทรหดอดทนเหมือนต้นกระบองเพชรที่กินน้ำน้อยอยู่กลางทะเลทราย

       และทั้งหมดนี้คือความรู้พื้นฐานของการสร้างทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประการที่ 3 นั่นคือ ทุกคนต้องมีความเข้าใจถูกว่า การแก้ไขนิสัยของตนเอง การสร้างนิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการขจัดกิเลสและการหล่อหลอมพุทธบุตรให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั้นต้องเริ่มต้นที่การฝึกนิสัย 4 ผ่านการใช้ปัจจัย 4 ให้เป็นกิจวัตร 10 ประการ ประจำวันโดยมีต้นแบบ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020754182338715 Mins