อนาถบิณฑิกเศรษฐี ตอนที่ ๑ สู่เส้นทางธรรม

วันที่ 09 ธค. พ.ศ.2547

อนาถบิณฑิกเศรษฐี
ตอนที่ ๑ สู่เส้นทางธรรม

 

อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

    อันว่าพระนครสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศลนี้ ตั้งอยู่ทางเหนือแห่งแคว้นกาสี มีอาณาเขตไปจนถึงหิมาลัยบรรพต มีแคว้นศากยะอยู่ทางทิศเหนือ โกลิยะอยู่ทางทิศตะวันออก แคว้นโกศลซึ่งมีสาวัตถีเป็นราชธานี เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่คู่แข่งกับแคว้นมคธ

   แคว้นโกศลมีเมืองสำคัญ ๓ เมือง คือ สาวัตถี อโยธยา ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสรายุ เป็นเมืองสำคัญมาก่อนสมัยพุทธกาล ต่อมาถูกรวมเข้ากับแคว้นโกศล ส่วนอีกเมืองหนึ่งคือเมืองสาเกต อยู่ใกล้กับอโยธยา เจริญรุ่งเรืองขึ้นเวลาเดียวกับที่อโยธยาเสื่อมลง สาเกตมีความสำคัญสำหรับแคว้นโกศลมาก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นเมืองแห่งบิดานางวิสาขามหาอุบาสิกา


อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

    การเดินทางระหว่างเมืองสาวัตถีและเมืองสาเกตมีรถด่วนเดินทางวันเดียวถึง รถด่วนนั้นคือรถเทียมม้าในสมัยโบราณ ตั้งสถานีไว้ ๗ แห่ง พอถึงสถานีหนึ่งก็เปลี่ยนม้าครั้งหนึ่ง ม้าชุดหนึ่งวิ่งเป็นระยะทางกว่ากึ่งโยชน์เล็กน้อย ตลอดเส้นทางต้องเปลี่ยนม้าถึง ๗ ครั้ง ดังมีเรื่องเล่าของพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อสนทนาธรรมกับพระสารีบุตรถึงหมวดธรรมข้อวิสุทธิ ๗ ประการ อันจะนำบุคคลไปสู่พระนิพพาน จึงเปรียบวิสุทธิ ๗ เหมือนรถม้า ๗ ผลัดจากเมืองสาวัตถีไปยังเมืองสาเกต

     ครั้งแรกที่พระตถาคตเจ้าประทับพระมงคลบาทลงสู่เมืองสาวัตถีนั้น เป็นเพราะการอาราธนาของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเวลานั้นยังมิได้มีเนมิตตกนามอันไพเราะเช่นนี้เลย เรื่องเป็นดังนี้


อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ไม่นาน เสด็จประทับอยู่ ณ สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียังมิได้รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์เพื่อเยี่ยมเยียนสหายและเพื่อกิจการค้าด้วย เมื่อไปถึง เศรษฐีผู้สหายทำการต้อนรับพอสมควรแล้ว จึงขอตัวไปสั่งงานคนทั้งหลายให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้จนไม่มีโอกาสได้สนทนากับอาคันตุกะ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีประหลาดใจจึงถามว่า

    “สหาย ครั้งก่อนๆ เมื่อข้าพเจ้ามา ท่านกระวีกระวาดต้อนรับอย่างดียิ่ง สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงจิตในฐานะมิตรอันเป็นที่รัก ท่านละงานอื่นๆ ไว้สิ้น มาต้อนรับข้าพเจ้า แต่คราวนี้ท่านละข้าพเจ้าเพื่อสั่งงานยุ่งอยู่ ท่านมีงานอาวาหวิวาหมงคล หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งแคว้นมคธจะเสด็จมาเสวยที่บ้านของท่านในวันพรุ่งนี้หรืออย่างไร ?”

   “สหาย ” เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ “ อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่สนใจไยดีในการมาของท่านก็หามิได้ ท่านคงทราบอยู่แก่ใจแล้วว่า ข้าพเจ้ามีความรักในท่านเพียงไร แต่พรุ่งนี้ข้าพเจ้าอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันภัตตาหารที่นี่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมัวสั่งงานยุ่งอยู่ “


อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

      “ สหาย ! ท่านพูดคำว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ ! พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่ ”

    “ใช่ พระพุทธเจ้า พระโคตมะพุทธะออกบวชจากศากยะตระกูล มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วทุกแห่งหนว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือ มีความรู้ดีและมีความประพฤติดี เสด็จไปที่ไหนก็อำนวยโชคให้ที่นั่น เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้จักโลก เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นจากกิเลสนิทรารู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้เว้นขาดจากบาปอกุศลทั้งปวงแล้ว เสด็จเที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์ แสดงธรรมอันไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด สหาย ! ท่านยังไม่ทราบการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดอกหรือ ?”

      ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! คำว่า พุทโธ นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียิ่งนัก  อุปมาเหมือนคนเป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอดีสามารถรักษาโรคให้หายได้จะดีใจสักเพียงไหน ดังนั้น ท่านอนาถปิณฑิกกะจึงกล่าวว่า

  “สหาย ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สำหรับวันพรุ่งนี้ เป็นเงินจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าขอออกให้ทั้งหมด”

     “อย่าเลย สหาย” เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ   “อย่าว่าแต่ท่านจะจ่ายค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานหนักหนาแล้ว สมบัติบรมจักรข้าพเจ้ายังปรารถนาน้อยกว่าการได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า ช่วงเวลา ๗ วันนี้เป็นบุญของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด” เมื่อท่านอนาถปิณฑิกกะวิงวอนว่าขอร่วมบุญจ่ายสักครึ่งหนึ่ง ราชคฤห์เศรษฐีก็หายอมไม่

       ดูก่อนภราดา!   พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ทรงมีปุพเพกตปุญญตาอย่างล้นเหลือ กุศลธรรมทั้งมวลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาตลอดการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ รวมกันให้ผลในปัจฉิมภพของพระองค์นี้ ประดุจสายธารซึ่งยังเอ่ออยู่ในทำนบและบังเอิญพังทลายลง อุทกธาราก็ไหลหลากท่วมท้น ดังนั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด พระราชา เสนาบดี พ่อค้า ประชาชน จึงต้องการถวายปัจจัยแก่พระองค์จนถึงกับต้องแย่งต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ


อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้มีกุศลธรรมแต่ปางบรรพ์ตักเตือนแล้ว เมื่อได้ยินคำว่า พุทโธ เท่านั้น บังเกิดปีติซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ปรารถนาเหลือเกินที่จะเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลานั้น แต่บังเอิญเป็นเวลาพลบค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่อาจนอนข่มตาให้หลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นกลางดึกถึง ๓ ครั้ง ด้วยสำคัญว่าสว่างแล้ว


อนาถบิณฑิกเศรษฐี , สู่เส้นทางธรรม , พบพระพุทธเจ้า , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สมัยพุทธกาล , ทำนุบำรุง , พระพุทธศาสนา

    แต่พอเดินออกไปภายนอกเรือน ความมืดยังโรยตัวปกคลุมไปทั่ว ครานั้น ความสะดุ้งหวาดเสียวและความกลัวได้บังเกิดขึ้นแก่เขา เขากลับมานอนรำพึงถึงพระบรมศาสดาอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0071956356366475 Mins