กัณฑ์ที่ ๑๙ โอวาทปาติโทกข์ (ปัญญาเบื้องต่ำและปัญญาเบื้องสูง)

วันที่ 18 มค. พ.ศ.2561

กัณฑ์ที่ ๑๙
โอวาทปาติโทกข์  (ปัญญาเบื้องต่ำและปัญญาเบื้องสูง)

มรดกธรรม , พระมงคลเทพมุนี , ประวัติย่อ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี , สด จนฺทสโร , หลวงปู่วัดปากน้ำ , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สด มีแก้วน้อย , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดปากน้ำ , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , สมาธิ , กัณฑ์ , ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด , คำสอนหลวงปู่ , หลวงพ่อสดเทศน์ , เทศนาหลวงพ่อสด , พระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี , พระผู้ปราบมาร , ต้นธาตุต้นธรรม , พระเป็น , อานุภาพหลวงพ่อสด , เทปบันทึกเสียงหลวงพ่อวัดปากน้ำ , พระของขวัญ , ทานศีลภาวนา , โอวาทปาติโมกข์ , กัณฑ์ที่ ๑๙ โอวาทปาติโทกข์ (ปัญญาเบื้องต่ำและปัญญาเบื้องสูง)

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ ครั้ง)   

กถญฺจ ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ฯ

เหฏฐิเมนปิ ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ฯ

อุปริเมนปิ ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺชาตา ภควตา ฯ

กถญฺจ เหฏฐิเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ฯ

อิธ อริยสาวโก ปญฺญวา โหติ อุทยตฺถคามินิยา ปญฺญาย สมนฺนาคโต อริยาย นิพูเพธิกาย สมฺมา ทุกฺขกฺขยคามินิยาติ ฯ

อิธ ภิกฺขุ อิทํ ทุกฺขนฺติ ยภาภูตํ ปชานาติ ฯ

เอวํ โข  เหฏฐิเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ฯ

กถญฺจ อุปริเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ฯ

อิธ ภิกฺขุ อิทํ ทุกฺขนฺติ ยภาภูตํ ปชานาติ ฯ

อยํ ทุกขสมุทโยติ ยฉาภฺตํ ปชานาติ ฯ

อยํ ทุกฺขนิโธติ ยถาภูตํ ปชานาติ ฯ

อยํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาติ ยถาภูตํ ปชานาติ ฯ

เอวํ โข อุปริเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตาติ ฯ

 

               ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงในทางปัญญาในวันมาฆบูชา ทางปัญญาเป็นชั้นปลายของศีล สมาธิแต่ในวิสุทธิมรรคในอัฏจังดิกมรรค ได้แสดงปัญญาไว้เบื้องต้น สัมมาทิฏฐิ-สัมมาสังกับโป แสดงลงไว้ในท่ามกลาง สัมมาวาจา-สัมมากัมมันโต-สัมมาอาชีโว แสดงสมาธิไว้ในเบื้องท้าย สัมมาวายาโม สัมมาสติ-สัมมาสมาธิ ก็ย่อลง ศีลอยู่เบื้องกลาง สมาธิอยู่เบื้องต้น แต่ในลำดับเทศนาอื่น พระองค์ทรงตรัสเทศนาทรงแสดงศีลเป็นเบื้องต้น สมาธิเป็นท่ามกลาง ปัญญาเป็นเบื้องปลาย ที่พระองค์ทรงตรัสเทศนา เป็นปฐมเทศนาธรรมจักกับปวัตตนสูตรในครั้งนั้น ทรงตรัสเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะปัญจวัคคีทั้ง ๕ เป็นผู้ชำนาญดีแล้วในเรื่องศีล สมาธิ แต่ว่าไม่ฉลาดในทางปัญญา ยังไม่คล่องแคล่วในทางปัญญา พระศาสดาทรงเห็นเหตุนั้น เป็นผู้รู้แล้วเห็นแล้วจึงได้ทรงแสดงทางปัญญาแก่พระปัญจวัคคีทั้ง ๕ ทีเดียว เมื่อแสดงทางปัญญาแก่พระปัญจวัคคีทั้ง ๕ แล้ว ก็กลับมาแสดงศีลโดยปริยายท่ามกลางสมาธิเป็นเบื้องปลายไป ครั้งจะไม่มาแสดงเรื่องศีล สมาธิ ก็จะแตกแยกกันไปหาเข้าเป็นแนวเดียว รอยเดียวกันไม่

                 เพราะพุทธศาสนามีศีลเป็นเบื้องต้น มีสมาธิเป็นท่ามกลาง  มีปัญญาเป็นเบื้องปลาย  แม่พระอรหัตทั้งหลาย เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปกระทำปฐมสังคายนา ก็เลยประชุมสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ พร้อมกัน พระมหาอริยกัสสปได้แสดงในที่ประชุม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยประยายเบื้องต่ำ

                  กถญฺจ อุปริเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา
                  ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัศแล้วโดยปริยายสูงเป็นไฉนแล้ว?

    อิธ     ผู้ศึกษาในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้

    อิทํ ทุกฺขนุติ ยถาภูตํ ปชานาตติ       รู้ความตามเป็นจริงว่าสิ่งนี้ เป็นทุกข์

    อยํ ทุกฺขสมุทโยติ ยถาภูตํ ปชานาติ        รู้ความตามเป็นจริงว่าสิ่งนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    อยํ ทุกฺขนิโรโธติ ยถาภูตํ ปชานาติ         รู้ความตามเป็นจริงว่าสิ่งนี้ เป็นความดับทุกข์

    อยํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาติ ยถาภูตํ ปชานาติ รู้ความตายเป็นจริงว่าสิ่งนี้ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

   เอวํ โข อุปริเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาโต ภควตา อย่างนี้แลปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องสูง

               นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้ ต่อแต่นี้จะได้อรรถาธิบายขยายความในปัญญาโดยปริยายเบื้องต่ำ และปัญญาโดยปริยายเบื้องสูงเป็นลำดับไป

                ปัญญาโดยปริยายเบื้องต่ำ สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำเป็นปุจฉาวิสัชนาว่า อริยสาวกในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ ยกอริยสาวกขึ้นเป็นตำรับตำรา ก็เพราะพระอริยสาวกมีความไม่ยักเยื้องแปรผันแล้ว มีความรู้ความเห็นที่แน่นอนแล้ว ยกพระสาวกของพระตถาคตเจ้าตั้งแต่ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค-อนาคามิผล อรหัตมรรค-อรหัตผล ๘ จำพวกนี้เป็นอริยสาวก ไม่ใช่อริยสาวก ไม่ใช่เป็นปุภุชนสาวก ถ้าต่ำกว่านั้นลงมามีธรรมกายแต่ว่าไม่ได้พระโสดา สกิทาคา อนาคาอรหัตอะไร นั่นสาวกชั้นโคตรภู พวกไม่มีธรรมกายมีมากน้อยเท่าใดเป็นสาวกชั้นปุถุชนสาวก สาวกที่ยังหนาอยู่ด้วยกิเลส ที่เป็นโคตรภูบุคคลน่ะปรารภจะข้ามขึ้นจากโลก จะเข้าเป็นอริยสาวกละ เป็นอริยสาวกก็ไม่ใช่ เป็นปุถุชนก็ไม่เชิง ถ้ากลับมาเป็นปุถุชนก็ได้ เข้ากลับเป็นอริยสาวกก็ได้ ทั้ง ๒ อย่างนี้เรียกว่าโคตรภู ท่านเหล่านั้นเป็นโคตรภู

                 เพราะว่าที่ท่านยกว่า อิธ อริยสาวโก อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เอาความเห็นความรู้ที่ตายตัวกันปญฺญวา โหติ เป็นผู้มีปัญญา ปัญญาที่แสดงแล้วน่ะ ที่แสดงนี่แหละ คำว่าปัญญานี้น่ะไม่ใช่เป็นของง่าย  ถ้าให้ฟังไป ๑๐๐ ปีว่าปัญญาน่ะอะไร? รูปพรรสัญฐานเป็นอย่างไร? โตเล็กเท่าไหน อยู่ที่ไหน กลมแบน ยาวรี สี่เหลี่ยม อย่างไรกัน เอาเถอะหมดทั้งประเทศไทย ถ้าว่าเข้าดังนี้ละก็ไม่รู้เรื่องกันทีเดียวแหละ ได้ยันกันป่นปี้ เหตุนี้ ปญฺญวา โหติ เป็นผู้มีปัญญา ปัญญานี้ประสงค์อะไร? ประสงค์ว่า อุทยตฺถคามินิยา ปญฺญาย สมนุนาคโต มาตามนั้นว่าปิฏกทั้งสาม วินัยปิฏกสุตตันตปิฏกปรมัตถปิฏก เราจะยกปิฏกใดขึ้นก่อนจังจะสมควร พระอรหันต์ทั้งหลายก็พร้อมกันว่าวินัยปิฏกเป็นข้อสำคัญอยู่ ถ้าว่าวินัยปิฏกยังครบถ้วนผ่องใสแล้วศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองเพราะอาศัยวินัยปิฏก เมื่อจบวินัยปิฏกพระอริยกัสสปก็ถามอีก ในปิฏกทั้งสองคือสุตตันตปิฏก ใครจะเป็นผู้วิสัชนา ตกลงให้พระอานนท์ซึ่งเป็นพหูสูต พระองค์ทรงตั้งไว้เป็นเอตทัสคะเลิศกว่าสาวกในพระพุทธศาสนา ให้วิสัชนาในสุตตันตปิฏกปรมัตถปิฏกทั้งสองนี้ แต่ว่าปรมัตถปิฏกเป็นข้อสำคัญเป็นทางปัญญา วินัยปิฏกน่ะเป็นศีล สุตตันตปิฏกเป็นสมาธิ

    ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้จะเคลื่อนมิได้เลย เพราะศีลมีหน้าทีสำหรับปราบปรามชั่วดวยกาย ฆ่าสัตว์ ลักช่อ ประพฤติผิดในกาม ชั่วด้วยกายนี้ต้องอาศัยศีลสำหรับปราบความชั่วอันนี้ ไม่ให้เข้าไปแตะต้องกับกายได้ ให้กายสะอาดผ่องใส ถ้าไม่มีศีลแล้วละก็ปราบความชั่วด้วยกายอย่างนี้ไม่ได้ ฝ่ายสมาธิก็สำหรับปราบความชั่วทางใจ ความเกียจคร้านไม่ให้มีทางใจ หรือความพลั้งเผลอไม่ให้มีทางใจ หรือความไม่มั่นคง เหลวไหล ลอกแลก ไม่ให้มีทางใจ แก้ไขให้ใจมั่นคงให้มีสติมั่นไม่ฟั่นเฟือน ให้มีความเพียรอาจหาญไม่ครั่นคร้าม ๓ อย่างนี้เป็นหน้าที่ของสมาธิ ส่วนปัญญาเล่ายังหาได้แสดงไม่ ที่แสดงแล้วนี้ทางศีล ทางสมาธิ

               ปัญญาที่จะแสดงต่อไปนี้ เป็นตัวสำคัญนัก แต่ว่าไม่ค่อยจะได้แสดง ที่วัดปากน้ำนี่สมภารผู้เทศน์นี้ได้จำพรรษาอยู่วัดปากน้ำนี้ ๓๗ พรรษาแล้ว แต่ว่าในทางปัญญา ไม่ค่อยแสดงมากนัก แสดงในศีล สมาธิ เป็นพื้นไป ที่นี้ตั้งใจจะแสดงในทางปัญญา ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า

                  กถญฺจ ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วโดยชอบเป็นไฉน?

                 เหฏฐิเมนปิ ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขตา ภควตา ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องต่ำบ้าง

                อุปริเมนปิ ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยชอบนั้นโดยปริยาเยนเบื้องสูงบ้าง จึงได้ทรงรับสั่งเป็นปุจฉาวิสัชนา เป็นลำดับไปว่า

                 กถญฺจ เหฏฐิเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องต่ำเป็นไฉนเล่า?

                 อธิ อริยสาวโก อริยสาวกในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้

                 ปญฺญวา โหติ ย่อมเป็นผู้มีปัญญา

               อุทยตฺถตามินิยา ปญฺญาย สมนฺนาคโต   เป็นผู้ตามพร้อมแล้วด้วยปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเกิดความดับ

                 อริยาย นิพฺเพธิกาย สมฺมา ทุกฺขกฺขยคามินิยา อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเกิดความดับ

                เอวํ โข เหฏฐิเมน ปริยาเยน ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ภควตา อย่างนี้แลปัญญาที่พระผู้มีพระภาคพร้อมแล้วด้วยปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเกิดดับ ปัญญาที่รู้ความเกิดดับนั่นเป็นตัวสำคัญปัญญาน่ะมีแต่รู้ ไม่ใช่เห็น ปัญญาที่เป็นแต่รู้ แต่เขาว่าเห็นด้วยปัญญา เห็นปัญญาไม่มีดวงตานี่ ถ้ามีดวงตาค่อยพูดเห็นกัน นี่ปัญญาจะมีดวงตาอย่างไร? ไม่มีดวงตา แต่ว่าแปลกประหลาดอัศจรรย์เหลือเกิน เมื่อถึงพระอริยบุคคลแล้วเป็นธรรมกายแล้ว ถ้ามารไม่ขวางนะ ความเห็นของตาไปแค่ไหน ความรู้ของทางปัญญาก็ไปแค่นั้น ความจำก็ไปแค่นั้น ความคิดก็ไปแค่นั้น

               ความรู้ ความคิด ความจำ ความเห็น ๔ อย่างนี้แหละ ๔ อย่างนี้เขาเรียกว่าใจ ความเห็นหนึ่งสองความจำ สามความคิด สี่ความรู้ ๔ อย่างนี้แหละ หยุดเข้าเป็นจุดเดียวซ้อนเป็นจะดเดียวเข้า เรียกว่า ใจดวงรู้มันอยู่ข้างในดวงคิด ดวงคิดซ้อนอยู่ในดวงจำ ดวงจำซ้อนอยู่ข้างในดวงเห็น มันเป็นชั้น ๆ กันอย่างนี้ ๔ อย่างนี้แหละ รวมเข้าเรียกว่า “ใจ”

                ถ้าแยกออกไปละก็ เห็นน่ะดวงมันอยู่ศูนย์กลางกาย จำน่ะดวงมันอยู่ศูนย์กลางเนื้อหัวใจมันย่อมกว่าดวงเห็นลงมาหน่อย คิดน่ะอยู่ในกลางดวงจำ นั่นย่อมลงมาหน่อย รู้น่ะอยู่ในกลางดวงคิด นั่นย่อมลงมาดวงตาดำข้างใน นั่นมีหน้าที่รู้เรียกว่า ดวงวิญญาณ เท่าดวงตาดำข้างนอกนั่นดวงจิต เท่าลูกตานั่นดวงใจ เท่ากับเป้าตานั่นดวงเห็น หมดทั้งร่างกายมี ๔ อย่างเท่านี้ มีดวงเห็นครอบอยู่ข้างนอกดวงจำ ดวงจำอยู่ข้างนอกดวงคิด ดวงคิดอยู่ข้างนอกดวงรู้ ดวงรู้อีกดวงอยู่ข้างในดวงคิด เห็นจำ คิด รู้ ๔ อย่างนี้แหละ เป็นตัวสำคัญละ

                เห็น จำ คิด รู้ ทั้ง ๔ อย่างนี้มาจากไหน? ที่ตั้งของมันอยู่ศูนย์กลางกายมนุษย์ เป็นดวงใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ นั่นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ดวงนั้น เป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์แท้ ๆ กายมนุษย์จะเป็นอยู่ได้ก็เพราะอาศัยธรรมดวงนั้น ถ้าธรรมดวงนั้นไม่มีแล้วละก็กายมนุษย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ดับ ถ้าธรรมดวงนั้นยังมีปรากฏอยู่ละก็มนุษย์ไม่ดับ เป็นมนุษย์ปรากฏอยู่เหมือนกัน จะแก่เฒ่าชราช่างมัน พอดวงนั้นดับมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ต้องดับกัน ถ้าธรรมดวงนั้นผ่องใสมนุษย์ก็รุ่งโรจน์ผ่องใสเหมือนกัน ถ้าธรรมดวงนั้นขุ่นมัวเสีย มนุษย์ก็ซูบเศร้าไปไม่ผ่องใส ดวงนั้นเป็นสำคัญดวงนั้นแหละเป็นที่ตั้งของเห็น ของจำ ของคิด ของรู้ ดวงเห็นก็อยู่ในกลางดวงนั้นแต่อยู่ข้างนอก ดวงจำก็อยู่ในกลางดวงนั้นอยู่ข้างในดวงเห็น ดวงคิดก็อยู่ในกลางดวงนั้นแต่ว่าอยู่ข้างในดวงจำ ดวงรู้ก็อยู่ข้างใจกลางดวงนั้น แต่ว่าอยู่ในกลางของดวงคิดอีกทีหนึ่ง

              ๔ ดวงอยู่นั่น ต้นเหตุอยู่นั่น ที่ออกมาปรากฏที่กายมนุษย์ก็ดี ที่หัวในมนุษย์นี่ก็ดี ออกมาปรากฏอยู่เป็นดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ข้างนอกนี้ นี่เป็นดวงหยาบ นี่เป็นชั้น เป็นต้น เป็นปลาย นี่เป็นรากเง่า อยู่ในกลางดวงนั้น อยู่ในกลางดวงนั้นแท้ ๆ 

                อ้าย ๔ ดวงนั้นแหละเรียกว่าใจ ถ้าว่าหยุดเป็นจุดเดียวกันละก็เอาละ ท่านยืนยันสมาธิมาแล้ว สมาหิตํ ยถาภูตํ ปชานาติ จิตตั้งมั่น หยุดเป็นจุดเดียวกัน รู้ตามความเป็นจริงทีเดียว ถ้าว่าไม่ตั้งมั่นก็ไม่เรียกว่าเป็นสมาธิ ตั้งมั่นแล้วก็เป็นสมาธิ นี่ได้แสดงมาแล้ว สมาธินี่แหละเป็นตัวของปัญญา ปัญญาที่จะขึ้นก็เพราะอาศัยสมาธิ ถ้าไม่มีสามธิ เข้าถึงสมาธิไม่ได้ก่อน มีปัญญาไม่ได้ ปัญญาเป็นตัวสำคัญเป็นปลาย เป็นของละเอียดมากทีเดียว เป็นของละเอียดมากทีเดียว ผู้ที่มีปัญญาเข้าถึงซึ่งดวงปัญญา ผู้ที่มีปัญญาต้องเข้าถึงซึ่งดวงปัญญา ปัญญาเป็นดวงอยู่ ปัญญาที่เป็นดวงอยู่นั่นจะต้องพูดให้กว้าง แสดงให้กว้างออกไปจึงจะเข้าเนื้อเข้าใจกันแท้ ๆ ปัญญาเป็นดวงปลาย

                   ธรรมในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๕ ดวง ถ้าว่าจะกล่าวองค์มี ๑๐

                 ทสองฺเตหิ สมนูนาคโต อรหาติ วจฺจตีติ   ผู้ใดมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๑๐ ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์องค์ ๑๐ คืออะไร? สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่องค์ ๘ แล้ว นี่แปดองค์แล้ว สัมมาญาณังเป็นองค์ที่ ๙ สัมมาวิมุตติ เป็นองค์ ๑๐ นี่มี ๑๐ อย่างนี้

             เมื่อผู้ใดมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๑๐ ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ ต้องมี ๑๐ องค์อย่างนี้จึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าไม่เข้าถึงองค์ ๑๐ อย่างนี้ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ๘ องค์ย่อลงเป็น ๓ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นปัญญาไป สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว เป็นศีลไป สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิไป ก็รวมว่าศีลอยู่กลาง สมาธิอยู่ปลาย ปัญญาอยู่ต้น แต่ว่าเมื่อมาถึงพระสูตรนี้เข้า ปัญญาอยู่ข้างปลายคือ ศีล สมาธิ ปัญญา องค์ ๑๐ ย่อลงเหลือ ๕ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตตญาณทัสสนะ เมื่อรู้จักหลักอันนี้ละก็ นี่แหละหลักพระพุทธศาสนาละ

                 ศีล น่ะอยู่ที่ไหน? รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร? ศีลถ้าว่าจะกล่วงตัวจิงละก็ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายนั่นแหละ อยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไป

ในกลางดวงธรรมที่ทำให้     เป็นกายมนุษย์
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายมนุษย์ละเอียด
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายทิพย์
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายกายทิพย์ละเอียด
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายรูปพรหม
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายรูปพรหมละเอียด
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นกายอรูปพรหม
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้     เป็นกายอรูปพรหมละเอียด
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นธรรมกาย
ในกลางดวงธรรมที่ทำให้    เป็นธรรมกายละเอียด

                นี้แหละเป็นที่ตั้งของ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทั้งนั้น ตลอดขึ้นไป ๑๘ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมละเอียด ๘ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม กายธรรมละเอียด ๑๐ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา กายพระโสดาละเอียด ๑๒ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกิทาคา กายพระสกิทาคาละเอียด ๑๔ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคา กายอนาคาละเอียด ๑๖ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต กายพระอรหัตละเอียด ๑๘ กาย มีดวงธรรมทั้งนั้นดวงโตขึ้นไปเป็นลำดับ เมื่อถึงธรรมกายโคตรภู เมื่อถึงธรรมกายที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย

              เมื่อถึงธรรมกายแล้วดวงธรรมจะมีขนาดเท่าหน้าตักธรรมกายตลอดจนกระทั่งถึงเป็นพระอรหัต พระอรหัตหน้าตัก ๒๐ เกตุดอกบัวตูมใส ดวงธรรมที่ทำให้เป็ธรรมกายก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว อยู่ศูนย์กลางกายพระอรหัตนั้น นี่ให้รู้จักหลักนี้ก่อน

                   เมื่อรู้จักหลักอันนี้ละก็ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในกลางดวงนี้
                   ดวงศีล            เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ
                   ดวงสมาธิ        ก็อยู่ศูนย์กลางดวงศีลนั่นแหละ ดวงเท่า ๆ กัน
                   ดวงปัญญา        ก็อยู่ศูนย์กลางดวงสมาธินั่นแหละ
                   ดวงวิมุตติ        ก็อยู่ศูนย์กลางดวงปัญญานั่นแหละ
                   ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ก็อยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตตินั่นแหละ
                   กายมนุษย์ละเอียด    ก็อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่น

                 ถ้าต้องแสดงให้กว้างออกไปกว่านี้ ให้เข้าใจปัญญาชัดๆ  อย่างนี้ละก็  จนกระทั่งถึงพระอรหัต ก็จะเข้ารู้จักปัญญาชัดๆ อย่างนี้ว่า ปัญญามีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร?

                   เมื่อรู้จัดดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา เช่นนี้แล้ว

                 ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เดินไปทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะถึง  กายมนุษย์ละเอียด

                กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดก็เดินไปในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อีกเข้าถึง กายทิพย์

                กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็เดินในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด

                 ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียดก็เดินในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เดินแบบเดียวกันนี้ทั้ง ๑๘ กายเดินไปแบบเดียวถึงพระอรหัตทีเดียว

                 นั่นแหละต้องเดินในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทั้งนั้น เมื่อรู้จักหลักอันนี้ละก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นั้นแหละเป็นหนทางนี่ ไม่ใช่ธรรมนี่ บอกเป็นหนทางนี่ อริโย อตฺถํคิโก มคฺโค หนทางมีองค์ ๘ ประการ ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้ ก็พูดถึงหนทางนี่ สมาธิ ปัญญา เป็นหนทาง ถ้าว่าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีทางไป ไปนิพพานไม่ถูก ถ้าจะไปนิพพานให้ถูกต้องไปในทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นี่

               เมื่อรู้จักหลักอันนี้ วันนี้จะแสดงให้เรื่องปัญญา ดวงปัญญาของมนุษย์ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ของมนุษย์ละเอียด ทิพย์ ทิพย์ละเอียด รูปพรหม รูปพรหมละเอียด โตเป็นลำดับขึ้นไป ของอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด โตหนักขึ้นไป แต่ว่าถึงเป็นลำดับขึ้นไปเท่าไรก็ยังไม่ถึงเท่ากายธรรม กายธรรมใหญ่มาก ดวงปัญญานั้นขนาดไหน ปัญญาน่ะออกจากดวงนั้น ธรรมดวงนั้นของปุถุชน ปัญญาของปุถุชนรัว ความเห็นมัวไม่ชัดนัก คล้าย ๆ เปลือก ๆ ปัญญา ไม่ได้ใช้กำเนิดของปัญญา ไม่ได้ใช้ปัญญาที่เป็นแก่น ใช้ปัญญาที่เป็นเปลือก ๆ เท่านั้น ปุถุชนให้ปัญญาผิว ๆ เผิน ๆ ตัวเองก็ไม่เห็นปัญญา ไม่รู้จักว่ามันอยู่ที่ไหน และก็ไม่รู้จักว่ารูปพรรณสัณฐานมันเป็นอย่างไร เพราะไม่เห็น เพราะทำไม่เป็นเพราะทำไม่เป็นพอทำเป็นแล้วจึงเห็น ทำเป็นน่ะเห็นปัญญาทีเดียว ว่าดวงโตเท่านั้นเท่านี้ อยู่ที่นั่นที่นี่ ใช้ถูกทีเดียว ถ้าว่าทำไม่เป็นแล้ว ไม่เห็นไม่เป็นแล้ว ไม่เห็นปัญญา เป็นแต่รู้จักปัญญาเท่านี้ ไม่เห็นมัน

                ปัญญาที่ว่า อิธ อริสาวโก ปญฺญวา โหติ   อริยสาวกในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีปัญญา ปัญญานั่นดวงนั้นแหละ ประสงค์ดวงนั้นเรียกว่ามีปัญญาละ

                 อุทยตฺถคามินยา ปญฺญาย สมนฺนาคโต    มาตามพร้อมแล้วด้วยปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเกิดดับ ปัญญาก็ไม่ได้ดูอื่นนี่ ปัญญาน่ะมองดูแต่ความเกิดดับเท่านั้นแหละ หมดทั้งสากลโลกมีเกิดกับดับเท่านั้น รู้ชัดปรากฏชัดอยู่ว่าเกิดดับ เกิดดับ เท่านั้น มีเกิดกับดับ ทั้งรู้ทั้งเห็นชัดทีเดียวเห็นอย่างไรก็อย่างนั้น รู้อย่างไรก็เห็นอย่งนั้น เห็นกับรู้ตรงกัน แต่ว่าเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ตั้งต้นแต่มนุษย์ถึงรูปพรหมอรุปพรหม เห็นไม่ถนัดนักหรอก เห็นรัว ๆ ไม่ชัดนักเพราะเป็นของละเอียด เห็นความเกิดดับจริง ๆ ตามนุษย์เรานี่ก็เห็น เอาไปเผาไฟเสียออกย่ำแย่เชียวทิ้งน้ำ ฝังดิน เกิดดับ ๆ ทั้งนั้นแหละ หมดทั้งสากลโลก ตึกร้านบ้านเรือน ต้นไม้ภูเขาสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู ได้ทราบด้วยจมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับหมดทั้งนั้น เห็นจริงเห็นจังอย่างนี้แหละ ไม่ใชเห็นพอดีพอร้ายเราก็รู้ด้วย เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด รู้ชัดทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนปลาย รู้ได้ถี่ถ้วนดีทีเดียว นี้เรียกว่าปัญญา

             ปัญญาที่เป็นขอปฏิบัติให้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์ ก็รู้เรื่องเหมือนกัน จะสิ้นไปแห่งทุกข์ด้วยวิธีอย่างไร ใช้ปัญญาแต่ว่าไม่ชัดทีเดียว เห็นโดยชอบที่เป็นเครื่องเบื่อหน่ายอันจริงแท้ หรือที่เป็นเครื่องเบื่อหน่ายอันประเสริฐ เห็นจริง ๆ รู้จริง ๆ อย่างนี้ เห็นความสิ้นไปแห่งทุกทีเดียว ว่าทุกข์จะหมดไปได้ด้วยวิธีอย่างนี้ ถ้าไม่ถึงธรรมขนาดนี้ทุกข์หมดไปไม่ได้ นี้ความจริงก็รู้อยู่ชัด แต่ว่ารู้ด้วยปัญญา อย่างนี้รู้ด้วยปัญญา รู้อย่างชนิดนี้เรียกว่า ปัญญาโดยปริยายเบื้องต่ำ ไม่ใช่ปัญญาโดยปริยายเบื้องสูง

                  ปัญญาโดยปริยายเบื้องสูงนั้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ว่า

                อิทํ ทุกฺขนฺติ ยถาภูตํ ปชานาติ  หมดทั้งก้อนกายเป็นตัวทุกข์แท้ ๆ เกิดนี้เป็นทุกข์แท้  ๆ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พวกนี้เป็นทุกข์แท้ ๆ ปริเทวะ ทุกขุ โทมนัส อุปายาส ว่าอ้ายนี่ทุกข์แท้ ๆ ทุกข์ทั้งก้อน พึงเห็นชัดว่าเป็นตัวทุกข์ทีเดียว ทุกข์แท้ ๆ 

                 อยํ ทุกฺขสมุทโยติ ยถาภูตํ ปชานาติ    ย้ายทุกข์อันนี้เป็นผล ทำอะไรไม่ได้ เป็นทุกข์แท้ ๆ ทั้งก้อนร่างกายนี้ เหตุให้มี เหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่คือ กามตัณนา ภวตัณหา วิภวตัณหา ให้รู้ชัดเห็นชัดเทียบกามตัณหาความอยากได้ ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหาความไม่อยากให้มีให้เป็น

                 นึกดูซีอยากได้อะไรเล่า ถ้าอยากได้ลูกสักคนซี เมื่อได้แล้วเอามาทำไม เอามาเลี้ยงน่ะซี เมื่ออยากได้สักร้อยคนเล่า ให้เสียร้อยคนเทียวเอาแล้ว เห็นทุกข์แล้วร้อยคน ต้องทำบริหารใหญ่แล้ว นี่ทุกข์แท้ ๆ อยากได้ลูกนี่ อยากได้เมียสักคน อ้าวได้มาแล้ว เอามาทำไม อ้าวให้สักร้อยคนเชียว เอาอีกแล้ว เลี้ยงไม่ไหวอีกแล้วคืนทุกข์อีกแล้ว อ้าวอยากได้ไปซี เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่อื่นเพราะกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อได้เข้าแล้ว ไม่อยากให้มันแปรไปเป็นอย่างอื่น มันก็ต้องแปรเป็นธรรมดา ไม่แปรไม่ได้ ต้องแปรอยู่เป็นธรรมดาเมื่อไม่อยากให้แปรไปเป็นอย่างอื่น มันก็ได้ฝืนกันละ ได้ขืนกันละ รู้ชัด ๆ ซีว่าเป็นอย่างนี้ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นทุกข์แท้ ๆ

               ที่จะหมดไปสิ้นไป ไม่เป็นทุกข์เราจะทำอย่างไร? ต้องดับ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ทุกข์เหล่านั้นจึงจะหมด ถ้าไม่ดับกามตัณหาทุกข์ไม่หมดหรอก ถ้าดับเสียได้เป็นอย่างไร ถ้าดับเสียได้ก็เป็นนิโรธนะซี นิโรธเขาแปลว่า ดับ จะเข้าถึงซึ่งความดับ กามตัณหา ภวตัณหา ได้ต้องทำอย่างไร? จะเข้าดับกามตัณหา ภวตัฒหา วิภวตัณหา ได้ต้องเข้าถึงซึ่งมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ เอง ไม่ใช่อื่นมรรคน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เอง เดินไปทาง ศีล สมาธิ ปัญญา ในกายมนุษย์หยาบ เขาถึงกายมนุษย์ละเอียด หลุดเสียแล้วกายมนุษย์หยาบเดินไปทางศีล สมาธิ ปัญญา ในกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียดหลุดไปแล้ว 

                หมดทุกข์ไป อภิฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น ทุกข์หมดเข้ากายมนุษย์ละเอียดอย่างหยาบหมด เข้าถึงกายทิพย์อย่างหยาบ อย่างละเอียดหมด 

                  เข้าถึงกายรูปพรหมส่วนโลภะ โทสะ โมหะ ทั้งหยาบทั้งละเอียดหมด

                  เข้าถึงกายอรูปพรหมส่วนราคะ โทสะ โมหะ หมด

              เข้าถึงกายธรรม  กามาคานุสัย  ปฏิฆานุสัย  อวิชชานุสัยหมด  เข้าถึงกายธรรมเดินทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

                  เข้าถึงกายพระโสดา สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีสัพพตปรามาส หมด

                  เข้าถึงกายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด กามราค พยาบาท อย่างหยาลหมด

                เข้าถึงการพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด กามราคะ พยาบาท อย่างละเอียดหมด เหลือแต่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ 

             อวิชชา เดินไปทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด หมดกิเลส รูปราคะ 

                 อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาหมด ไม่เหลือเลย เข้าถึง วิราคธาตุ-วิราคธรรม

              ที่พระองค์ แนะนำให้รู้จักว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโต เตสํ อคฺคมกฺขายติ สังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งได้ก็ดี อสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ก็ดี วิราคธรรม เป็นยอดกว่าธรรมเหล่านั้น ถึงพระอรหัต ก็เข้าวิราคธรรมทีเดียว เป็นธรรมกายหน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป นี่หมดทุกข์ แค่นี้หมดทุกข์ ทุกข์หมดไปสิ้นไป นี่ดับทุกข์ได้จริงๆ อย่างนี้ เพราะดับกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เข้าถึงวิชชา-ดับอวิชชาได้ทีเดียว นี่หลุดได้อย่างนี้นะ เมื่อหยุดได้อย่างนี้ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะในพระอรหัตยังมีไหมล่ะ ก็มีอยู่ซี ทำไมละไม่มีล่ะ ถ้าศีลไม่มี ท่านจะบริสุทธิ์ได้ดีอย่างไร สามธิมีไหนล่ะ สมาธิก็ดวง วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา ศีลก็เท่ากัน สมาธิก็เท่ากัน ปัญญาก็เท่ากัน นั่นแหละของพระอรหัตท่านเรียกว่า โลกุตตรปัญญา เรียก ศีล สามธิ ปัญญา ขั้นนั้นเป็นดลกุตตรอย่างสูง เป็นวิราคธาตุ-วิราคธรรมทีเดียว พันจากสราคธาตุ-สราคธรรมไป เมื่อรู้จักชัดอย่างนี้แล้ว นี้แหละทางปัญญานี่แหละให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

              ครั้งจะชี้แจงแสดงให้กว้างขวางเวลาไม่จุพอ เสียงระฆังตีบอกเวลาอาราธนาให้สวดมนต์อีกแล้ว เหตุนี้ต้องย่นย่อในทางปัญญานี้ไว้พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ในเรื่องทางปัญญาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสร ณ สถานที่นี้ทุกทั่วหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมิกถา โดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0023995002110799 Mins