พระสารีบุตรเถระ 

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2562

พระสารีบุตรเถระ 
เอตทัคคะในทาง “ผู้มีปัญญา”

 

ในสมัยนั้น ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์มากนัก ที่ตำบลนาลันทา มีหมู่บ้านพราหมณ์ ๒ หมู่บ้าน ชื่อ อุปติสสคาม และโกลิตคาม ในหมู่บ้านอุปติสสคาม มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า วังคันตะ ภารยาชื่อว่า นางสารี มีบุตร ชื่อว่า “อุปติสสะ” แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า “สารีบุตร”

ในหมู่บ้านโกลิตคาม มีภรรยาของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า นางโมคคัลลี มีบุตรชื่อว่า ”โกลิตะ” แต่นิยมเรียกกันว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา 

ทั้งสองตระกูลนี้ มีความเกี่ยวข้องเป็นสหายนานถึง ๗ ชั่วอายุคน มาณพทั้งสอง จึงเป็นสหายกันดุจบรรพบุรุษ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้าศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักของอาจารย์คนเดียวกัน เมื่อจบการศึกษาก็เป็นเพื่อนเที่ยวร่วมสุขร่วมทุกข์

* เบื่อโลกจึงออกบวช

วันหนึ่งสหายทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ไปดูมหรสพด้วยกันเช่นเคย แต่ครั้งนี้มิได้มีความสนุกยินดี เหมือนครั้งก่อนๆ เลย ทั้งสองมีความคิดตรงกันว่า “ทั้งคนแสดงและทั้งคนดู ต่างก็มีอายุไม่ถึงร้อยปีก็จะตายกันหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลยกับการหาความสุขความสำราญแบบนี้ เราควรแสวงหาโมกขธรรม จะประเสริฐกว่า” 

ทั้งสองจึงตกลงกันนำบริวารฝ่ายละครึ่ง รวมได้ ๕๐๐ คน ออกบวช และปรึกษากันว่า “พวกเราควรจะไปบวชในสำนักของใคร และอาจารย์ไหนจึงจะดี”

สมัยนั้น สญชัยปริพาชก เป็นอาจารย์เจ้าสำนักใหญ่ในเมืองราชคฤห์ มีคนเคารพนับถือ มีศิษย์ มีบริวารมากมาย มาณพทั้งสองจึงพากันฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักนี้ 

ตั้งแต่มาณพทั้งสองมาบวชอยู่ด้วยแล้ว สำนักก็เจริญรุ่งเรืองด้วยลาภสักการะ และคนเคารพนับถือมากขึ้น ศึกษาอยู่ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ เมื่อถามถึงวิทยาการที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์ก็ไม่สามารถจะสอนให้ได้ จึงปรึกษากันว่า:-

 “การบวชอยู่ในสำนักนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลัทธินี้มิใช่ทางเข้าถึง โมกขธรรม เราควรพยายามแสวงหาอาจารย์ ผู้สามารถแสดงโมกขธรรมแก่เราได้” ดังนั้นจึงทำสัญญาต่อกันว่า “ในระหว่างเราทั้งสอง ถ้าผู้ใดได้อมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันให้รู้ด้วย”

วันหนึ่ง พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ ได้จาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ และเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปติสสปริพาชก เห็นซึ่งปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสไปทุกอิริยาบถ มีอาการแปลกจากบรรพชิตที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน อุปติสสปริพาชกจึงได้จัดปูลาดอาสนะ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน และคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว จึงกราบเรียนถามด้วยความเคารพว่า:- 
“ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของใคร?”

พระเถระตอบว่า “ปริพาชกผู้มีอายุ เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะศากยบุตรผู้เสด็จออกจากศากยสกุล พระองค์เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน”

“พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?" 

พระอัสสชิเถระ กล่าวหัวข้อธรรมมีใจความว่า:-
“ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”

อุปติสสะ เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมนี้ ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า:- “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”

อุปติสสะ กราบลาพระเถระแล้ว ทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วรีบกลับไปสู่สำนักปริพาชก 

ส่วนโกลิตะ ผู้เป็นสหาย เมื่ออุปติสสะกลับมาแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบันเช่นเดียวกัน 

สองสหายพาบริวารจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเข้าไปหาอาจารย์สญชัยปริพาชกชักชวนให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่อาจารย์ผู้มีทิฏฐิแรงกล้า ถือตนว่าเป็นเจ้าสำนักใหญ่ จึงไม่ยอมไปด้วย จนเหลือศิษย์อยู่เพียงไม่กี่คน จึงเกิดความเสียใจอย่างแรง และถึงแก่มรณีกรรมในเวลาต่อมา

อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมด้วยบริวารพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทสี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมด้วยบริวาร เดินมาแต่ไกล จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกสองสหายที่กำลังเดินมานั้น คือ คู่อัครสาวก ของตถาคต” 

เมื่อปริพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับ กราบถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควร ได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตตผล เว้นอุปติสสะและโกลิตะ ผู้เป็นหัวหน้า ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทแก่พวกเธอทั้ง
หมดด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และทรงบัญญัตินามให้ท่านอุปติสสะว่า “พระสารีบุตร” และให้ท่านโกลิตะว่า “พระโมคคัลลานะ” ตามมงคลนามของมารดา

พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน ได้ติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเสด็จไปประทับพักที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า ทีฆนขะ ซึ่งเป็นอัคคิเวสนโคตร และเป็นหลานชายของพระสารีบุตร

ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า “เวทนาปริคคหสูตร” โปรดทีฆนขะ อยู่นั้น พระสารีบุตร ได้นั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระศาสดา พัดไปพลาง ฟังไปพลาง ส่งจิตพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ส่วนทีฆนขะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

* ได้รับยกย่องในทางผู้มีปัญญา

เมื่อพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและอริยสัจ ๔ ได้เหมือนพระพุทธองค์ และเป็นกำลังสำคัญ ในการประกาศเผยแผ่พระศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศยกย่อง พระสารีบุตร ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง “ผู้มีปัญญา” และทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “พระอัครสาวกเบื้องขวา”

นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ อีกหลายประการ คือ
๑. เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน
๒. ยกย่องท่านเป็น “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งคู่กับ “พระธรรมราชา” คือ พระองค์เอง
๓. ยกย่องท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ เช่น ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ ทุกคืนก่อนที่ท่านจะนอน ทราบข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้น ก่อนแล้วจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น

อีกเรื่องหนึ่ง คือ พราหมณ์ชราชื่อ ราธะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ พระพุทธองค์ตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า “ผู้ใดระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง” พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า “ระลึกได้ คือ ครั้งหนึ่งราธพราหมณ์ผู้นี้ ได้เคยใส่บาตร ด้วยข้าวสุกแก่ท่านหนึ่งทัพพี” พระพุทธองค์จึงทรงมอบให้ท่านสารีบุตร เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้

* เป็นต้นแบบการทำสังคายนา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองปาวา ของเจ้ามัลละทั้งหลาย พระพุทธองค์รับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมกัน พระเถระเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะสม จึงยกเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแก่พวกนิครนถ์ ซึ่งทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับคำสอนของอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขึ้นมาเป็นมูลเหตุ แล้วกล่าวแก่พระสงฆ์ในสมาคมนั้นว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลาย บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ท่านทั้งหลายถึงร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ควรทะเลาะวิวาทกันด้วยธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์อยู่ยั่งยืนตลอดกาลนาน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เป็นการอนุเคราะห์แก่สัตว์โลก” 

แล้วพระเถระ ก็จำแนกหัวข้อธรรมออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ ๑๐ หมวด สะดวกแก่การจดจำและสาธยาย และจัดเป็นหมวดย่อย ๆ อีก เพื่อมิให้สับสนแก่พุทธบริษัทในการที่จะนำไปปฏิบัติ นับว่าพระเถระ เป็นผู้มองการณ์ไกล ป้องกันความสับสนแตกแยกของพุทธบริษัทในภายหลัง และการกระทำของพระเถระ ในครั้งนี้ ได้เป็นแบบอย่างของการทำสังคายนาหลังพุทธปรินิพพานสืบต่อมา

* พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรนิพพาน

ในปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่พระบรมศาสดาประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี พระสารีบุตรได้พิจารณาอายุสังขารของตนเองก็ทราบว่า “จะมีอายุดำรงอยู่ได้ อีก ๗ วันเท่านั้น”

ลำดับนั้น พระเถระได้ปรารภถึงมารดาของตนว่า:- “มารดาของเรานี้ ได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แล้วอุปนิสัยมรรคผลจะพึงมีแก่มารดาของเราบ้างหรือไม่หนอ”

ครั้นพระเถระพิจารณาไปก็ได้ทราบว่า “มารดานั้นมีอุปนิสัยแห่งพระโสดาบัน” จึงตกลงใจที่จะไปนิพพานที่บ้านของตน เพื่อโปรดมารดาเป็นวาระสุดท้าย เมื่อคิดดังนี้แล้ว พระเถระได้สั่งให้พระจุนทะ ผู้เป็นน้องชาย ให้ไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ว่า “จะไปเยี่ยมมารดาที่นาลันทา ขอให้ภิกษุทั้งหลายเตรียมบริขารให้พร้อม เพื่อเดินทางไปด้วยกัน”

เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็พาพระสงฆ์เหล่านั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลลาว่า:- “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ ชีวิตของข้าพระองค์เหลืออีก ๗ วัน เท่านั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์สละอายุสังขารในครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

“สารีบุตร เธอจะไปนิพพานที่ไหน ?”

“ข้าพระองค์จะไปนิพพาน ณ ห้องที่ข้าพระองค์เกิดในเมืองของมารดา พระเจ้าข้า”

“สารีบุตร เธอจงกำหนดการนั้นโดยควรเถิด สารีบุตร บรรดาภิกษุน้อย ๆ ของเธอ จะได้เห็นพี่ชายดุจเธอนั้นได้ยากยิ่ง เธอจงแสดงธรรมอันเป็นที่ต้องแห่งความระลึกแก่ภิกษุน้อง ๆ  ของเธอเหล่านั้นเถิด”

พระเถระเมื่อได้รับพุทธประทานโอกาสเช่นนั้น จึงแสดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศสูง ๑ ชั่วลำตาล ๒ ชั่วลำตาล จนถึง ๗ ชั่วลำตาลโดยลำดับ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดา ในแต่ละครั้ง

จากนั้นจึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ ท่ามกลางอากาศแล้วลงมาถวายบังคมลาพระผู้มีพระภาค

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จลุกออกมาส่งพระเถระ ถึงหน้าพระคันธกุฎี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กระทำประทักษิณเวียน ๓ รอบ ประคองอัญชลีนมัสการทั้ง ๔ ทิศ

พระเถระออกไปได้ระยะพอสมควรก้มกราบนมัสการลงที่พื้นพสุธา บ่ายหน้าออกจากพระเชตะวันมหาวิหารพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร ๕๐๐ องค์ 

ท่านพระเถระเดินทาง ๗ วัน ก็ถึงบ้านนาลันทา ในเย็นวันนั้น อุปเรวัตตกุมาร ผู้เป็นหลานชายของท่าน ออกมานอกบ้านพบท่านแล้วจึงเข้าไปนมัสการ พระเถระสั่งหลานชายให้ไปแจ้งแก่โยมมารดาให้ทราบ

ฝ่ายนางพราหมณี มารดาของพระเถระได้ทราบข่าวก็ดีใจคิดว่า “ลูกชายบวชตั้งแต่หนุ่มคงจะเบื่อหน่ายแล้วมาสึกเอาตอนแก่” จึงสั่งให้คนรีบจัดห้องให้พระลูกชายพัก และสถานที่สำหรับพระสงฆ์ที่ติดตามมาด้วยเหล่านั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงให้อุปเรวัตตกุมารไปนิมนต์พระเถระพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เข้ามาในบ้าน

* เทศน์โปรดโยมแม่แล้วนิพพาน

ในราตรีนั้น พระเถระเกิดอาพาธอย่างแรงกล้า แต่ก็อดกลั้นด้วยขันติธรรม ได้แสดงธรรมโปรดมารดาพรรณา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ยังมารดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล 

พระเถระสั่งพระจุนทะผู้น้องชาย ให้ไปบอกแก่ภิกษุทั้งหลายให้มาประชุมพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า:- 
“ดูก่อนอาวุโส ท่านทั้งหลายติดตามข้าพเจ้ามาเป็นเวลา ๔๔ พรรษาแล้ว กายกรรมและวจีกรรมอันใดของเรา ที่ท่านทั้งหลายมิชอบใจหากจะพึงมีขอท่านทั้งหลาย จงงดอดโทษกรรมอันนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด” 

ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ ตอบพระเถระว่า:- “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ติดตามท่านดุจเงาตามตัว มาตลอดกาลประมาณเท่านี้ กรรมอันใดของท่านที่มิชอบใจแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายนั้นไม่มีเลย แต่หากว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความประมาทพลาดพลั้ง ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอท่านจงงดอดโทษานุโทษนั้น แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด”

เมื่อรุ่งอรุณปรากฏขึ้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ดับขันธปรินิพพาน ในวันปุรณมีขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญเดือน ๑๒ พระจุนทะได้นำอัฐิธาตุ และบริขารคือบาตรและจีวรของพระสารีบุตร ไปถวายแด่พระพุทธองค์ ซึ่งก็รับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระเถระที่ซุ้มประตู แห่งพระเชตะวันมหาวิหารนั้น.

Cr เนื้อหา : http://www.84000.org/one/1/03.html
Cr ภาพ: Line Official โรงภาพยนตร์ 3 มิติ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018685666720072 Mins