เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเคารพพระธรรม (ตอนจบ)

วันที่ 10 กพ. พ.ศ.2563

 เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเคารพพระธรรม (ตอนจบ)

                   ๓. ต้องปฏิบัติสัทธรรมตลอดชีวิต หมายความว่า ต้องปฏิบัติสัทธรรมเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่นเดียวกับการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและการรับประทานอาหารของเรา

 

                   ชาวพุทธต่างทราบดีว่า คนเราที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ในแต่ละวัน ไม่ว่าใครจะมีภารกิจยุ่งยากหนักหนาเพียงใด แต่ละคนก็จำเป็นต้องอาบน้ำชำระร่างกาย อย่างน้อยที่สุด
ก็ต้อง ๑ ครั้ง แม้อยู่ในดินแดนที่อากาศหนาวจัด ก็ยังต้องทำน้ำอุ่นขึ้นมาอาบกัน หรือบางคนที่ขาดแคลนน้ำอุ่น และไม่สามารถอาบน้ำเย็น


                  ได้ทั่วร่างกาย ก็ยังต้องอาบน้ำชำระล้างเฉพาะบางส่วนของร่างกายโดยสรุปคือการอาบน้ำชำระร่างกายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนเราทุกคน บุคคลที่ไม่ได้อาบน้ำ ร่างกายก็สกปรกโสโครก เหม็นสาบ
ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แม้บางคนอาบน้ำชำระร่างกายวันละ ๒ ครั้งแล้ว ก็ยังมีกลิ่นตัวเป็นที่รังเกียจของคนที่เข้าใกล้

                     

                   จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สินค้าประเภทน้ำหอมและน้ำยาดับกลิ่นตัว กลายเป็นสินค้ายอดนิยม
ประเภทหนึ่งในสังคม เราจึงต้องอาบน้ำชำระร่างกายทุก ๆ วัน เพื่อให้เกิดความสบายกาย ซึ่งจะส่งผลให้มีความสบายใจตามมาด้วย

 

                    นอกจากเรื่องการอาบน้ำชำระร่างกายแล้ว คนเราก็ยังมีกิจวัตรสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การรับประทานอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะรับประทานกันวันละ ๓ มื้อ บางคนถึง ๔ มื้อ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ ๑ มื้อ
ถ้าไม่ได้รับประทานเลย แม้ไม่ถึงตาย แต่ก็จะรู้สึกหิวกระวนกระวายกาย กระสับกระส่าย ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน และพาให้จิตใจห่อเหี่ยว หดหู่ หมดสมาธิ หมดกำลังใจในการทำงาน หรือมิฉะนั้นก็อารมณ์ไม่ดี พาลหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นอีกด้วย เพราะเหตุนี้การรับประทานอาหารจึงเป็นกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นอีกประการหนึ่ง

 

                      คนเรายังมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะมีทั้งกายและใจ และคนเราทำกิจวัตรประจำวัน ๒ ประการดังกล่าวแล้ว ก็เพื่อให้ร่างกายสะอาดและมีเรี่ยวแรงกำลัง เหตุไฉนจึงไม่คิดจะทำให้ใจสะอาด และมีกำลัง
ใจในการทำความดีบ้างเล่า คนที่ร่างกายสะอาด แต่งกายสะอาดหอมกรุ่นด้วยเครื่องประทินผิว มีโภชนาหารรสเลิศรับประทานมิได้ขาดก็ตาม แต่บางคนก็ชอบก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง หรือทะเลาะวิวาทท้าตีท้าต่อยกับผู้คนอยู่เนือง ๆ

 

                        บางคนก็ชอบเอาเปรียบ เบียดบังผลประโยชน์ของผู้อื่น คดโกงในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬาร บางคนก็มีความคิดอคติ ขาดความยุติธรรมในเรื่องต่าง ๆ หรือมิฉะนั้น ก็มีความเชื่องมงายอยู่กับเรื่องทรงเจ้าเข้าผี เรื่องคาถาอาคมและเวทมนตร์ต่าง ๆ พฤติกรรมเหล่านี้
เกิดจากอะไร เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นอาสวกิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจนั่นเอง

 

                         บุคคลที่จิตใจถูกครอบงำด้วยอาสวกิเลสดังกล่าว จึงมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นเหตุให้ตนเองและผู้ใกล้ชิดเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแล้ว เขายังจะพาให้สังคมพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

                          วิธีป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล ก็ด้วยการอบรมจิตใจบุคคลเพื่อเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิของเขาให้เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น

 

                          และการอบรมจิตใจที่มีประสิทธิภาพก็คือ การที่บุคคลได้ปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่นเดียวกับการอาบน้ำชำระร่างกายและการรับประทานอาหารนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีท่านผู้รู้กล่าวว่า การอาบน้ำเป็นการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์สะอาดแต่การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา หรือที่เรียกว่า การประพฤติปฏิบัติธรรม

 

                          เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หากวันใดว่างเว้นจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะมีผลเสียเช่นเดียวกับการว่างเว้นจากการอาบน้ำนั่นเอง แต่อาจจะเห็นผลได้ยากกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าการประพฤติปฏิบัติธรรมถูกว่างเว้น อย่างต่อเนื่องนานไป ก็อาจจะก่อ ให้เกิดผลร้ายถึงขั้นตกนรกได้ ส่วนการว่างเว้นจากการอาบน้ำชำระร่างกายนั้น แม้จะนานเท่าไรก็ไม่ถึงขั้นทำให้ต้องตกนรกได้เลย

 

                          ด้วยเหตุผลดังกล่าว คนเราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติสัทธรรมให้เป็นกิจวัตรประจำวันตลอดชีวิต ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้สามารถบรรลุปฏิเวธสัทธรรมได้ แม้บรรลุแล้วก็ยังจำเป็นต้องปฏิบัติต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งปวงทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่เป็นสุขของตน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้ใกล้ชิดและเพื่อการแสวงหาสัจธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

                         ๔. ทำหน้าที่กัลยาณมิตร บุคคลที่ได้ศึกษาปริยัติสัทธรรมจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม ครั้นได้ลงมือปฏิบัติสัทธรรมเป็นกิจวัตรประจำวัน แม้ยังไม่สามารถบรรลุปฏิเวธ สัทธรรมถึง ขั้นมรรคผล และนิพพานก็ตาม แต่ก็จะมีความรู้ความเข้าใจซาบซึ้งในคุณของพระธรรมถึงขั้นที่สามารถนำมาถ่ายทอดให้บุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตร ภรรยา หรือสามี และผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจพระธรรม

 

                        เกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติตามธรรมได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าคิดว่าตนเองยังไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ทางธรรมได้ ก็อาจจะชักชวนบุคคลใกล้ชิดดังกล่าวไปฟังธรรมที่วัดหรือจากสื่อต่าง ๆ ซึ่งแสดงโดย
พระภิกษุผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่า ได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรแล้ว

 

                         ขอให้ท่านผู้อ่านได้ระลึกถึงความจริงคู่โลกอย่างหนึ่งว่าคนเราโดยทั่วไปที่มีสติสัมปชัญญะตามปกตินั้น จะรักการแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนปัญญาของตน ไม่ให้กลายเป็นคนล้าหลัง แต่ความรู้ที่พวกเขาต้องการนั้น จำกัดขอบเขตอยู่แค่ความรู้ทางโลกเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการทำมาหากิน เพื่อความมั่งคั่ง ร่ำรวย พวกเขาไม่ต้องการความรู้ทางธรรม เนื่องจากอวิชชาทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์

 

                        อวิชชาทำให้เขาคิดว่าความสุขในชีวิตนั้นหาได้จากกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอวิชชานี้เอง ที่ทำให้พวกเขาทำความชั่วได้ทุกอย่างเพื่ออำนาจตำแหน่ง และความมั่งคั่งร่ำรวย จะได้เป็นทางมาแห่งกามคุณ ๕ สำหรับบำเรอความต้องการของตน จึงเป็นที่มาของลัทธิวัตถุนิยม     


 

                       ด้วยเหตุนี้ ผู้คนโดยทั่วไปจึงไม่สนใจแสวงหาความรู้ทางธรรมซ้ำร้ายกว่านััน ยังมองว่า ความรู้ทางธรรมเป็น เรื่องสวนกระแส ถ้าผู้ที่มีประสบการณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมรู้คุณประโยชน์อันสูงส่งของ พระธรรม คำนึงถึงแต่ตนเอง ไม่ยอมเสียสละเวลา หรือไม่พากเพียร

 


                     ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ผู้คนในครอบครัว ผู้คนใกล้ชิด ผู้คนรอบข้าง ด้วยคิดว่า “กรรมใครกรรมมัน” ใครทำดีก็ได้ดีเองใครทำชั่วก็ได้ชั่วเอง ถ้ามีความคิดเช่นนี้ในที่สุดตนเองก็จะตกอยู่ในสถานะ “มีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนพาล” ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านจะมีความสุขได้อย่างไร

 

                      การปฏิบัติสัทธรรมของท่านจะราบรื่นหรือไม่ ท่านจะหาสถานที่ที่ไหนเพื่อหลีกเร้นบำเพ็ญเพียรภาวนาในชาตินี้ และในภพชาติต่อไป ท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ท่านจะไม่ถือกำเนิดในท่ามกลาง
คนพาล เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองได้แล้ว ก็พึงพากเพียรทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้คนรอบข้างเถิดจึงจะได้ชื่อว่า มีความเคารพในพระธรรม

 

                     หากไม่พากเพียรทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ผู้คนในครอบครัวผู้คนใกล้ชิดรอบข้าง ในที่สุดตนเองก็จะตกอยู่ในสถานะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนพาล

 

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011414488156637 Mins