ชีวิตที่ถูกหลอก

วันที่ 10 เมย. พ.ศ.2563

 

 ชีวิตที่ถูกหลอก

ดาราพร่างทั่วฟ้า

ธรรมดา

เดือนส่องสาดนภา

ก็งั้น

ตะวันเกิดกึ่งกายา

น่าทึ่ง

เมื่อไหร่หยุดเมื่อนั้น

สุขไร้ใดเทียม

 

                                                                          ตะวันธรรม

 

                เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะคราวนี้ เราก็นึกน้อมเอาภาพองค์พระแก้วขาวใส ที่อยู่ในกลางดวงแก้ว มองจากเศียรพระด้านบนลงล่าง ให้จำภาพองค์พระกลางดวงแก้วนี้ไว้ให้ดี แล้วก็น้อมมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือหรือจำง่าย ๆ ว่า อยู่ในกลางท้อง จำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น จะใหญ่จะเล็กขนาดไหนก็แล้วแต่ใจเราชอบ ตั้งไว้ในกลางท้องกลางกายของเรา ให้ท่านหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา

 

                 เพราะฉะนั้นลักษณะที่เรามองเห็นก็เหมือนมองท็อปวิว(Top View) คือ มองจากด้านบนลงไปด้านล่าง ซึ่งจะเป็นลักษณะขององค์พระที่ปรากฏภายใน

 

              ในตอนแรก ๆ เราจะเห็นอย่างนี้ไปก่อน ของจริงก็จะคล้าย ๆอย่างนี้ แต่ว่าจะเห็นเต็มส่วน แล้วก็จะเห็นได้รอบตัวรอบทิศ แต่ตอนแรก ๆ มันจะคล้าย ๆ อย่างนี้ เราก็จำภาพอย่างนี้ไปก่อน ทีนี้เราก็เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ คือ นึกภาพองค์พระไม่ให้คลาดจากใจ แต่ต้องอย่างสบาย ๆ

 

               จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง ไปด้วยก็ได้แต่เวลาภาวนา สัมมา อะระหัง ต้องให้เสียงดังออกมาจากในกลางท้องหรือกลางองค์พระ เป็นจังหวะที่พอดี ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป และจะภาวนากี่ครั้งก็ได้ จนกว่าจะไม่อยากภาวนา คือ หมดความจำเป็นเกลี้ยงจากใจ ก็จะเหลือแต่ภาพองค์พระกลางดวงแก้วใส 

 

 ทำไมต้องฐานที่ ๗


             ที่ต้องให้เอาใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นภาพองค์พระกลางดวงแก้ว แล้วภาวนาสัมมา อะระหัง นั้นก็เพราะว่าต้องการให้ใจกลับมาสู่ฐานที่ตั้งดั้งเดิม
ซึ่งอยู่ภายในตัวของเรา คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ณ ตรงนี้จะเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน คือ จะทำพระนิพพานให้แจ้งจะต้องอาศัยจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

             เมื่อเรารู้ว่าเราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ก็จะต้องเริ่มให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าเริ่มถูกต้องแล้ว เดี๋ยวจะคล่องตลอดเส้นทางเลยเอาใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะปกติของใจเราจะถูกดึงออกไปข้างนอกตลอดเวลาเลย ทั้งตื่นทั้งหลับทั้งฝัน ออกไปทางตาบ้าง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไปในเรื่องราว

 

             ที่เกี่ยวข้องกับผู้คน สัตว์ สิ่งของ การทำมาหากิน การครองเรือนการศึกษาเล่าเรียน การสนุกสนานเพลิดเพลินไปในทางโลก จากการได้เห็น ได้ยิน ได้ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสต่าง ๆ เหล่านั้นใจมันถูกดึงไปตลอดเวลาเลย         

 

           หลับก็ถูกดึงไปฝัน ตื่นก็ถูกดึงเอาไปใช้ในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน พอดึงไปเท่าไร มันก็ออกห่างจากต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นชีวิตจึงปราศจากความสุขที่แท้จริง ไม่เคยเจอะเจอเลย ไม่รู้จักด้วยซํ้าว่าความสุขที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไรมีอาการอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะถึงตรงนี้ได้ เราไม่รู้จักเลย

 

            แล้วแถมถูกโฆษณาชวนเชื่อว่า สิ่งนี้ สิ่งนั้น สิ่งโน้นคือความสุข เราถูกหลอมอย่างนั้นจากผู้ไม่รู้ หลอมด้วยสื่อต่าง ๆ ทุกสื่อ ที่ผ่านเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถูกหลอมว่าสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน
ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสเหล่านั้นคือความสุข สุขที่ดื่มได้บ้างที่เห็นได้บ้าง ที่ฟังได้บ้าง ที่ถูกต้องสัมผัสได้บ้าง ที่ฟุ้งฝันบ้าง ก็เหมาเอาว่านั่นแหละคือความสุข ได้ดูทิวทัศน์ ดูหนัง ดูละคร ดูเพชรนิลจินดา ดูของสวย ๆ งาม ๆ เราถูกสอนให้เชื่อว่าถ้าได้ดูอย่างนี้แล้วจะเป็นสุข แล้วเราก็เลยเข้าใจว่า คงใช่ จึงไปแสวงหา

 

             หรือได้ยินเสียงเพราะ ๆ เสียงเพลงบ้าง เสียงธรรมชาติ เสียงทะเล เสียงคลื่นซัดฝั่ง เสียงนํ้าตก เสียงเยินยอสรรเสริญอะไรพวกนั้นเราก็ถูกทำให้เข้าใจผิดว่า นั่นคือความสุข จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่                       

 

             หรือได้ดมกลิ่นหอม ๆ หลากกลิ่น ไม่ซํ้ากันเลย ไม่ว่ากลิ่นนั้นจะมาจากคน จากสัตว์ จากสิ่งของ หรือจากวัสดุอะไรก็แล้วแต่ได้ดมแล้วชื่นอกชื่นใจก็เข้าใจว่านี่คือความสุข           

 

             ได้ลิ้มรสเหมือนกัน เข้าใจว่าการได้รับประทานหรือได้ดื่มกินอะไรที่หลากรสหลากลีลาต่าง ๆ เหล่านั้น รสเปรี้ยวหวานมันเค็มไม่ซํ้ากันเลย เปรี้ยวอย่างเดียวก็ไม่ซํ้าเปรี้ยว หวานก็ไม่ซํ้าหวานอย่างนั้น เป็นต้น หรือได้ดื่มเครื่องดองของเมาไม่ซํ้าแบบว่านั่นก็คือความสุข เราถูกหลอมถูกสอนให้เชื่ออย่างนั้น

       

              หรือการถูกต้องสัมผัส ตั้งแต่สัมผัสคน สัตว์ สิ่งของว่านั่นแหละคือความสุข หรือความฟุ้งฝันคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยอย่างนั้น

 

            ในชีวิตประจำวันโลกสอนเราหล่อหลอมเราอย่างนี้เราจึงเข้าใจไปอย่างนั้น แล้วก็แสวงหากันไปจนหมดเวลาในโลกซึ่งมีอยู่อย่างงจำกัดหมดไปชาตหนึ่่ง ฟรี ๆ แถมขาดทุนชีวิตเสียอีกเพราะชีวิต มีกฎแห่งกรรมคอยควบคุมอยู่ มันก็พัดพาเราไปท่องเที่ยวในสังสารวัฏแต่เที่ยวอย่างนี้มันไม่ได้เที่ยวเหมือนไปเที่ยวทัวร์ต่างประเทศนะมันไปท่องเที่ยวในอบายซึ่งเป็นความทุกข์ทรมาน

 

ความสุขแท้จริงเป็นเช่นไร


             เราไม่รู้จักหรอก ความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร จนกว่าจะมาเจอผู้รู้ หรือคำสอนของผู้รู้ที่ท่านได้ผ่านชีวิตมาทุกระดับแล้ว จากสูงมาตํ่า จากตํ่าไปสูง เคยเป็นตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิ พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี ถึงยาจก วณิพก ผ่านนรกสวรรค์ผ่านมาหมดแล้ว แล้วท่านก็แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพบความสุขที่แท้จริง แล้วสรุปได้ว่า

 

             นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี คือ จะหาความสุขจากใจที่วิ่งไปอย่างนั้นมันไม่เจอ มันต้องเจอจากใจหยุดใจนิ่ง

 

            หยุดเมื่อไรเราถึงจะรู้จักความสุข ถ้าหยุดเดี๋ยวนี้ก็จะได้รู้จักเดี๋ยวนี้ และก็จะเห็นความแตกต่างจาก
สิ่งที่เราเคยเข้าใจว่า ใช่เลย ปรากฏว่ามัน ไม่ใช่เลย และก็มาเจอใหม่ สุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง นี่แหละถึงจะยอมรับว่า อย่างนี้ใช่เลย ต้องอย่างนี้ ผิดจากนี้ไม่ใช่

 

            ชีวิตใครผ่านร้อนผ่านหนาวยิ่งผ่านมาหลายฤดูแล้วจะพบจะเข้าใจเลยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากระทั่งจะปลดเกษียณแล้ว หรือเกษียณแล้วยังไม่พอ จะปลดประจำการจากโลกไปแล้วถึงรู้ว่า เออ มันไม่ใช่จริง ๆ แต่มันก็หมดเวลาแล้ว หมดเรี่ยวหมดแรงไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้รู้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย สรุปรวมกันว่า

 

             ต้องหยุดนิ่ง นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มีแล้วสุขที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นบรมสุขท่านก็ยกมาอีกว่า


             นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นบรมสุขคือ มันมีสุขธรรมดา สุขปานกลาง และสุขอย่างยิ่งคือ บรมสุข

             สุขธรรมดา คือ ผู้ที่มีความสมบูรณ์พร้อมในโลกมนุษย์อย่างเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นเขาเรียกว่าสุขธรรมดา เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

 

             สุขปานกลาง คือ สุขในสวรรค์ หรือสุขในฌานสมาบัติ แต่ก็ยังไม่มั่นคง เพราะมันยังหยุดไม่สนิท ยังมีกิเลสอาสวะเหนี่ยวรั้งออกมา เดี๋ยวก็หลุดจากสวรรค์ เดี๋ยวก็หลุดจากฌาน พอหลุดออกมายังไม่มั่นคงก็เจอทุกข์อีกแล้ว

 

             ต้อง บรมสุข คือ นิพพาน ไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งออกมาแล้วเพราะหมดจากโลภะ โทสะ โมหะ กิเลส 

อาสวะมันหมดสิ้นไป ผู้รู้ท่านก็จะบอกอย่างนี้แหละ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นบรมสุขท่านยืนยันอย่างนั้น

 

            เพราะฉะนั้นเราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หมายถึงนิพพานมีอยู่แล้ว แต่ถูกกิเลสอาสวะมาบดบังดวงปัญญาของเราไม่ให้ไปรู้ไปเห็น หลับตาแล้วมันมืด มืดก็มองไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่รู้ไม่รู้ก็ไม่เชื่อ มันเป็นอย่างนั้น

 

 ดวงปฐมมรรค

 

              เพราะฉะนั้นเบื้องต้น เราจึงต้องฝึกให้ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้มันถูกต้นทางเสียก่อน โดยจะมีนิมิตหมายเกิดขึ้นมาว่าถูกแล้ว คือ เวลาใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน มันจะตกศูนย์วูบลงไป เหมือนหล่นลงไปแล้วก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใส ๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ไม่ใช่กลมเป็นวงเวียนเป็นแผ่น ๆ ไม่ใช่

 

           เป็นดวงกลมใสยิ่งกว่าความใสใด ๆ ในโลก ขึ้นอยู่กับใจหยาบหรือละเอียด ถ้าหยาบก็เห็น ใสเหมือนน้ำ เหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าได้ ถ้าดีกว่านั้นก็ใสเหมือนกับเพชร ถ้าละเอียดมากก็ใสเกินใส
คือ เกินความใสใด ๆ ในโลก มันจะสุกใส เปล่งประกาย สว่าง

 

             ธรรมดวงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค นี่คือต้นทางเบื้องต้น หรือ หนทางไปสู่มรรคผลนิพพานปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป๊ะเลย

 

            เมื่อธรรมดวงนี้เกิดขึ้น นั่นแหละต้นทางพระนิพพานอยู่ตรงนั้น ยืนยันได้เลยว่าต้องไปถูกทาง ต้องไปสู่อายตนนิพพานหรือทำพระนิพพานให้แจ้งได้       

 

          เมื่อธรรมดวงนี้ปรากฏ จะใสแจ่มทีเดียว อยู่ในกลางฐานที่ ๗เลย แล้วก็จะเห็นทางไปสู่นิพพาน อยู่ในกลางดวงนั้น มันจะมีจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นจุดที่ใส ๆ ใสกว่าดวงธรรมนั่นแหละ เราต้องเข้าไปตรงกลางตรงนั้น ซึ่งจะเข้าไปเองเมื่อใจหยุดนิ่ง จะมาพร้อมกับความสุขมาก ๆ แล้วก็จะถูกกระแสธรรมจากอายตนนิพพานดูดเข้าไปข้างใน เราก็จะเห็นไปตามลำดับ เห็นดวงธรรมในดวงธรรม เห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ   

     

           กายเป้าหมาย คือ กายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วาเป็นกายที่บริสุทธิ์ที่สุด สว่างกว่าทุก ๆ กาย เป็นเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ พอถึงกายธรรมอรหัตจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะจากกฎแห่งกรรม จากภพทั้ง ๓ จากกฎของไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัตจะหลุดหมดเลย

 

           ความรู้ภายในที่มนุษย์ขาดแคลนกายทั้งหมดนี้ มีอยู่แล้วในกายมนุษย์ทุก ๆ คนในโลก                   แต่ไม่รู้ว่ามี และไม่เฉลียวใจว่ามี เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของกายในกาย         

         

           ที่ไม่ได้ยินได้ฟังก็มีหลายแบบ คือ พวกที่ห่างไกลพระพุทธศาสนา พวกที่อยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาแต่มัวไปทำมาหากินไม่เอาใจใส่ก็ไม่ได้ยินเหมือนกัน หรืออีกประเภทพวกปิดตาตัวเองพอไปเกิดในครอบครัวที่มีความเชื่อที่แตกต่างจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็หมกมุ่นกับความเชื่อนั้น ปิดหูปิดตาตัวเอง
ไม่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ความจริงของชีวิตเพิ่มเติม พวกนี้ก็จะไม่รู้ไม่เฉลียวใจเหมือนกัน

 

           หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างมันบดบังเอาไว้ แต่ว่าเมื่อไรเราข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ลืมไปก่อนชั่วคราวว่า เราเกิดมาในเชื้อชาติศาสนาและเผ่าพันธุ์ใด มีความเชื่อหลากหลายแค่ไหน และก็เปิดโอกาสให้ตัวเองก้าวเข้ามาศึกษาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตเราก็จะรู้ได้ว่า ในตัวของเรามีสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรม กระทั่งกายธรรมแล้วชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์ขึ้น

 

           การเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาหรือเรื่องราวความจริงของชีวิตเป็นเรื่องสากล เหมือนเรามีความเชื่ออะไรก็ตาม ก็เป็นส่วนของความเชื่อ แต่เมื่อเราออกจากบ้านไปเข้าโรงเรียน จะประถม มัธยม เตรียมอุดม อุดมศึกษา มันก็มีความรู้ใหม่ที่เราจะต้องเรียนรู้ อย่างนั้นเรายัง เปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้ได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้งในใจเลย แล้วก็ได้รับความรู้เพิ่มเติม ถ้าหากทุกคนในโลกทำอย่างนี้ คือ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้มาเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น ความรู้ของเราก็จะสมบูรณ์ขึ้น


            การศึกษาหรือการแสวงหาความรู้ มันเป็นสิทธิเสรีภาพของมวลมนุษยชาติ แล้วมันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เหมือนอากาศขาดไปเราก็ตายจากกายมนุษย์ ความจริงของชีวิต หรือความรู้ภายในขาดไปก็ตายจากความดี จากความรู้ที่แท้จริง เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุก ๆ ชีวิตที่จะต้องศึกษา ไม่ว่าจะมีอาชีพใด    เชื้อชาติ ศาสนาเผ่าพันธุ์ใด จะเพศไหน วัยไหน ก็จำเป็นจะต้องศึกษา แล้วต้องปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัว

 

           ถ้าเราไม่ศึกษามันก็ผ่านไป เสียชาติที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ไปอีกชาติหนึ่ง แต่ถ้าเราให้โอกาสตัวเราได้มาศึกษา ก็จะพบว่า

           นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ   สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี
           นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ  นิพพานเป็นบรมสุข
           นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม

           เวลาเรามาอยู่ในโลกนี้ จะศึกษาอะไร ต้องเอาผู้รู้แจ้งเป็นหลัก อย่าไปเอาผู้ไม่รู้จริงหรือผู้ไม่รู้อะไรเลย

 

           เป็นหลัก มนุษย์ในโลกนี้มักจะไปเชื่อผู้ไม่รู้จริง แต่กลับไม่เชื่อผู้ที่รู้แจ้ง ชีวิตของเราจึงมีแต่ความทุกข์ทรมานไม่พบกับความสุขที่แท้จริง

 

           ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่าง ต่างก็มีความทุกข์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าทรัพย์สินเงินทองจะให้เราได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ให้ได้บางอย่าง แต่บางอย่างก็ให้ไม่ได้

 

            เพราะฉะนั้น หยุดกับนิ่งเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยกำลังแห่งความเพียร และกำลังแห่งดวงปัญญาของเรา ที่จะทำให้ถูกหลักวิชชาเราเกิดมาเพื่อการนี้นะ เพื่อที่จะมาแสวงหาพระรัตนตรัยในตัว ที่จะนำไปสู่การทำพระนิพพานให้แจ้ง   

 

             ต่อจากนี้ไป เวลาที่เหลืออยู่นี้ อากาศกำลังสดชื่นเย็นสบายกำลังบุญของลูกก็พร้อมที่จะเข้าถึงธรรมแล้ว หลักวิชชาเราก็เข้าใจกันอย่างดี เหลือแต่กำลังแห่งความเพียร ให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่มาแสวงหาพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ

อาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                             โดยคุณครูไม่ใหญ่

 

          

         

            

 

                

                

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00153968334198 Mins