พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมใด

วันที่ 27 พค. พ.ศ.2563

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมใด

 

จงก้าวตามพ่อชี้

มัชฌิมา

เส้นทางพระสัมมา

พุทธเจ้า

หยุดอยู่กึ่งกายา

ทุกเมื่อ

พบโลกุตตรธรรมเก้า

หลุดพ้นสังสาร

                                                                                                               ตะวันธรรม

 

                      เมื่อเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พริ้ม ๆ พอสบาย ๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตาอย่ากดลูกนัยน์ตานะ

 

                     แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดปล่อยวาง ทำใจให้ว่าง ๆ คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนสัตว์สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้คลายความ
ผูกพันทั้งหมด ใจของเราจะได้เกลี้ยง ๆ เหมาะสมที่จะได้เป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัยนะ

 

                    คราวนี้เราก็รวมใจมาหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้อง ในระดับที่  เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัด
จะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของเรา

 

ฐานที่ ๗ ที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น           

 

                    ที่เกิด คือเป็นที่มาเกิดของเรา เวลาที่จะมาเกิดเป็นกายมนุษย์หยาบ เราก็จะเป็นกายละเอียดมาก่อน กายละเอียดที่มาจากภพภูมิต่าง ๆ ก็จะเข้าทางปากช่องจมูกของบิดา ท่านหญิงข้างซ้ายท่านชายข้างขวา แล้วก็เลื่อนไปอยู่ที่หัวตาตรงที่น้ำตาไหล ซึ่งเป็นฐานที่ ๒ แล้วก็เลื่อนมาที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๓ มาที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๔ แล้วก็ไปปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๕ แล้วก็เคลื่อนไปหยุดอยู่กลางท้องระดับเดียวกับสะดือ เรียกว่า ฐานที่ ๖ แล้วก็จะมาหยุดถอยหลังขึ้นมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ ของบิดา แล้วก็จะบังคับคือทำให้บิดามีความรู้สึกคิดถึงมารดาเพื่อจะดึงดูดเข้าหากันเพื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบห่อหุ้มกายละเอียดของเรา      

 

                   เมื่อประกอบธาตุธรรมถูกส่วนระหว่างบิดากับมารดาแล้วกายละเอียดของเราจะเคลื่อนออกจากฐานที่ ๗ ของบิดาไป ๖,๕, ๔, ๓, ๒, ๑ ออกทางปากช่องจมูกบิดาเข้าทางปากช่องจมูกของมารดาไปตามฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วก็ไปหยุดอยู่ที่ฐานที่๗ ของมารดาตรงที่ธาตุธรรมส่วนหยาบของบิดาที่แบ่งไปผสม
กับส่วนหยาบของมารดาและก็ไปอยู่ตรงนั้น    

       

                   แล้วต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของมารดาที่จะหล่อเลี้ยงกายละเอียดที่หุ้มด้วยธาตุธรรมส่วนหยาบให้เจริญวัยขึ้นมาเป็นก้อนเนื้อเล็ก ๆ กระทั่งเติบโตมาเป็นกายมนุษย์หยาบของเราสู่ครรภ์มารดา ถึงเวลาก็เคลื่อนออกมาสร้างบารมีด้วยกายมนุษย์หยาบ นี่แหละที่เรียกว่า มาเกิด

 

                  ที่ดับ เมื่อเป็นตัวเป็นตนเป็นกายมนุษย์หยาบแล้ว เวลาเราจะไปเกิดใหม่หรือตาย ใจเราก็จะอยู่นิ่งที่ฐานที่ ๗ ภาพกรรมนิมิตก็จะมาฉายให้เห็น สรุปบทเรียนชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตว่า เราทำความดี ความชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วอะไร

 

                 มาบ้าง กระแสอะไรแรงฝังใจมันก็จะมาฉายให้เห็นเป็นภาพยนตร์ส่วนตัว ซึ่งเราจะเห็นด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้เป็นแบบเราชะโงกมองเข้าไปในกลางท้อง จะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น

 

                ถ้าเป็นภาพที่ดี เพราะเราทำความดีเป็นกุศลกรรม ก็จะทำให้ใจเบิกบาน คตินิมิตก็จะสว่าง เราก็จะเคลื่อนย้ายจากกายมนุษย์หยาบไปด้วยความปลื้มปีติเบิกบาน ออกไปแบบผู้มีชัยชนะ เหมือนพระราชาที่รบชนะศึก รวบรวมแคว้นที่ชนะได้แล้วออกจากแว่นแคว้นนั้นด้วยความเบิกบาน แล้วก็เคลื่อนย้ายจากฐานที่ ๗ ไป ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ เป็นกายละเอียดออกไปเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นที่เกิดที่ดับก็อยู่ที่ฐานที่ ๗

 

               ที่หลับ คือ เวลาเราหลับทุกคืน ใจของเราจะมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วกายละเอียดก็ออกไปทำหน้าที่ฝัน จำได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็มารายงานกายเนื้อตอนตื่น ถ้าหลับแบบมีสติก็จะไม่ฝันถ้าขาดสติก็จะฝันเป็นตุเป็นตะ บางทีก็เป็นเรื่องเป็นราวแล้วแต่ว่าจะเป็นความฝันประเภทไหน

 

               ที่ตื่น ก็ตื่นตรงนี้ เกิด ดับ หลับ ตื่น เริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้

 

ฐานที่ ๗ ทางสู่อายตนพระนิพพาน

 

               สำคัญยิ่งไปกว่านั้นฐานที่ ๗ ยังเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่อายตนนิพพาน ถ้าไม่ต้องการมาเกิดอีก แต่ต้องเดินตรงข้ามกัน คือเข้ากลางดิ่งเข้าไปสู่ภายในเรื่อย ๆ โดยมีจุดเริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ ที่เดียวกันเลย และเป็นที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนเป็นบรมโพธิสัตว์ เมื่อครั้งจะตรัสรู้ธรรมบรรลุ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อท่านคลายความผูกพัน จากทุกสิ่งทั้งทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ผูกพันแล้ว ใจจะมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนี้ นิ่งอย่างเดียวไม่เขยื้อนเลย พอถูกส่วนเข้า ใจก็จะตกศูนย์วูบลงไป เหมือนตกสุญญากาศ วื้ดลงไปแล้วก็มีดวงธรรมลอยขึ้นมา

 

                อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ เห็นชัดใสแจ่ม เหมือนเราเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าในยามราตรี แต่เห็นดวงดาวตอนกลางคืนที่เราลืมตาดูนั้น มันไม่ได้มาพร้อมกับความสุขและความบริสุทธิ์ แต่ว่าจุดเล็กใสเหมือนดวงดาวที่เกิดขึ้นด้วยใจหยุดนิ่งนี้มาพร้อมกับความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นความบริสุทธิ์ของใจที่เกลี้ยงเกลา จนรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์ มันจะบังเกิดขึ้นพร้อมกับความพึงพอใจ กายก็สบาย ใจก็สบาย เบิกบาน

 

               อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้น หรือโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ประมาณนั้น จะใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย หรืออย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำแข็งใส ๆ ใสเหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้า ใสเกินใส แล้วก็จะ
สว่างมากเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น ใสสว่างแต่ไม่เคืองตา ไม่แสบตา เป็นแสงที่ละมุนใจ มองแล้วมองอีกก็สบาย มีความสุข แล้วใจจะนิ่งอยู่ตรงนั้น ไม่เขยื้อนไปไหนเลย

 

               ใจของพระบรมโพธิสัตว์ก็จะเป็นอย่างนี้ นิ่งอยู่กลางดวงใส ๆ ดวงใสดวงนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ในเส้นทางสายกลางภายใน

 

               เป็นเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่เรียกว่า วิสุทธิมรรค
               เส้นทางแห่งความหลุดพ้นที่เรียกว่า วิมุตติมรรค
               เส้นทางของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า อริยมรรค

 

               ใจของท่านจะหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ นิ่งอย่างเดียวเลย มีความสุข ใจจะอยู่เย็นเป็นสุข นิ่งจนถูกส่วน ดวงนั้นก็จะขยาย

 

                ดวงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านเรียกว่า ดวงปฐมมรรค แปลว่า จุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นมรรคผลนิพพานนี้อยู่ภายในตัวของเราเอง แต่เราไม่รู้ว่ามี เราจึงพูดกันไปเรื่อยเปื่อยว่า พ้นยุคพ้นสมัยในการบรรลุ

 

               มรรคผลนิพพาน จริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวกับยุคสมัยเลย เพราะมันอยู่ในตัวของเรา ขึ้นอยู่กับขยันหรือขี้เกียจและทำถูกหลักวิชชาไหม

 

               ใจของพระบรมโพธิสัตว์ก็จะนิ่งอยู่กลางดวงปฐมมรรค ในเส้นทางเอกสายเดียว ที่เรียกว่า เอกายนมรรค เป็นเส้นทางเดียวเท่านั้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ไม่มีเส้นอื่น ถ้าเป็นดวงธรรมเขาเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น ที่จะส่งต่อให้เราไปถึงความบริสุทธิ์ถัด ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายทาง 

 

               พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายก็จะนิ่งอย่างนี้เรื่อยไปเลย แล้วก็จะเห็นดวงใส ๆ ในกลางดวงใสของปฐมมรรค ก็จะเข้าถึงอีกดวงหนึ่ง ซึ่งจะขยายมาจากจุดเล็ก ๆ ตรงกลางดวงปฐมมรรคออกมาเป็นอีกดวงหนึ่ง อีกมิติหนึ่ง อีกความละเอียดหนึ่งที่เรียกว่า ดวงศีล กลมเหมือนกัน แต่ใสสว่างบริสุทธิ์กว่า ความสุขมากกว่า ความชัดใสสว่างก็มากกว่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะไปในทำนองอย่างนี้ ท่านก็หยุดนิ่งต่อไป

 

               ในกลางดวงศีล ก็จะเข้าถึง ดวงสมาธิ
                หยุดอยู่ในกลางดวงสมาธิ ก็จะเข้าถึง ดวงปัญญา
                หยุดอยู่ในกลางดวงปัญญา ก็จะเข้าถึง ดวงวิมุตติ
                หยุดอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ก็จะเข้าถึง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

 

              ทั้งหมดนี้ ๖ ดวง (ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีลดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ) จะซ้อนกันอยู่ภายใน ต่างมิติ ต่างความละเอียด ต่างความบริสุทธิ์และความสุข จะเข้าถึงได้ด้วยการหยุดนิ่ง ไม่ต้องทำอะไรเลย

 

              ชุดหนึ่งมี ๖ ดวง จะเป็นเครื่องกลั่นใจเราให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น แล้วก็จะเชื่อมเข้าไปถึงกายละเอียดภายใน ซึ่งเป็นกายในกายภายในตัวของเรา

 

              กายแรกที่เราเข้าถึง คือ กายมนุษย์ละเอียด มีลักษณะเหมือนกับตัวเรา ต่างแต่ว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวกว่า อยู่ในวัยเจริญวัยสดใส นั่งสมาธิสงบนิ่งอยู่ภายใน เป็นกายที่มีชีวิตเหมือนตัวเราอย่างนี้ แต่ว่าเป็นชีวิตที่สูงส่งกว่า ละเอียดประณีตกว่าสดใส บริสุทธิ์

 

             เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเราจะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า แต่เดิมเราเข้าใจว่า มีแต่กายมนุษย์หยาบที่เป็นตัวของเราแต่พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เรารู้แล้วว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิด กายมนุษย์หยาบเป็นประดุจบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของกายมนุษย์ละเอียดอีกชีวิตหนึ่งที่อยู่ภายใน ส่วนกายหยาบข้างนอกเป็นแค่เปลือก เมื่อมาถึง ตรงนี้ ความรู้สึกผูกพันในกายหยาบจะลดลงไป คือรู้ว่าเป็นแค่กายอาศัยไว้สำหรับการสร้างบารมีเท่านั้น หรือเอาไว้สำหรับที่จะเดินทางเข้าไปสู่ภายในเท่านั้น ความรู้สึกเราก็จะแตกต่างไปจากเดิม

 

             ใจของเราก็จะสงบนิ่งอยู่ภายในกายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนก็จะเคลื่อนเข้าไปตรงฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียดในทำนองเดียวกัน ก็จะเห็นดวงธรรมอีก ๑ ชุด ๖ ดวงดังกล่าวซ้อนอยู่ภายใน เป็นชั้น ๆ เข้าไป ความสุข ความบริสุทธิ์ก็เพิ่มขึ้น ก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะเข้าถึงกายทิพย์หยาบ

 

             กายทิพย์หยาบ จะมีลักษณะแตกต่างจากกายมนุษย์ละเอียด เป็นกายสำหรับ เทวโลก ถ้าจะไปอยู่สวรรค์ก์ต้องกายนี้กายอื่นอยู่ไม่ได้ กายมนุษย์ละเอียดอยู่ไม่ได้ กายมนุษย์ละเอียดแค่หลุดออกจากกายหยาบ พอไปเกิดใหม่เป็นชาวสวรรค์กายนั้นจะดับไปเกิดใหม่เป็นกายทิพย์ส่งกันต่อ ๆ อย่างนี้ อย่างรวดเร็ว

 

             กายทิพย์จะมีเครื่องประดับเหมือนสังคมของเทวโลก อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิเหมือนกัน สงบนิ่ง สวยงาม สดใส สว่างไสวกว่ากายมนุษย์ละเอียด และในกลางกายทิพย์หยาบก็จะมีกายละเอียดของกายทิพย์ เขาเรียก กายทิพย์ละเอียด เหมือนกายมนุษย์หยาบก็มีกายละเอียดของกายมนุษย์หยาบที่เรียกว่า กาย
มนุษย์ละเอียด ซ้อนอยู่ภายใน ก็จะเป็นชั้น ๆ อย่างนี้

 

             ในกลางกายทิพย์ละเอียดก็จะเข้าถึง กายรูปพรหมหยาบกายนี้เป็น กายที่เอาไปใช้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลก ในรูปภพ กายอื่นอยู่ไม่ได้ ต้องกายนี้ ถ้าได้รูปฌานสมาบัติก็จะมาอยู่พรหมโลกด้วยกายนี้ เป็นกายที่สวยงามยิ่งกว่ากายทิพย์หยาบ-ละเอียดนั้นอีก อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ สวยงามทั้งลักษณะ คือ รูป

 

             สมบัติ ทรัพย์สมบัติ คือเครื่องประดับ แล้วก็คุณสมบัติ ดวงปัญญา ความรอบรู้อะไรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น คือมีสมบัติเพิ่มขึ้น ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และจะมีกายละเอียดของกายรูปพรหมหยาบ คือ กายรูปพรหมละเอียด เช่นเดียวกับกายมนุษย์ กายทิพย์

 

             ถ้าใจมาถึงมันจะนิ่งแน่นหนักเข้าไปอีก พอถูกส่วนก็ผ่านดวงธรรมดังกล่าวอีก ๑ ชุด ๖ ดวง ก็จะเข้าไปถึง กายอรูปพรหมหยาบ กายนี้เป็นกายที่เหมาะสมกับอรูปภพ ซึ่งเป็นที่สุดของภพ ๓ กายอื่นไปอยู่ไม่ได้

              อรูปพรหม แปลว่า ไม่ใช่กายรูปพรหม ไม่ใช่แปลว่า พรหมไม่มีรูป เหมือน อมนุษย์ ไม่ได้แปลว่า ไม่มีมนุษย์ แต่แปลว่าไม่ใช่มนุษย์ อรูปพรหมก็แปลว่า ไม่ใช่กายรูปพรหม และกายอรูปพรหมที่อยู่อรูปภพก็มีกายละเอียด คือ กายอรูปพรหมละเอียด อีกชั้นหนึ่ง

 

            กายในกายเหล่านี้ จะซ้อน ๆ กันอยู่ภายใน ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ตามเห็นกายในกาย ก็หมายถึงกายประเภทอย่างนี้แหละที่อยู่ในตัว

 

            เมื่อบรมโพธิสัตว์ทุกพระองค์มาถึงตรงนี้ก็หยุดนิ่งต่อไป ไปถึงกายที่สำคัญ คือ กายธรรม กายนี้อยู่ในภพ ๓ ไม่ได้ เนื่องจากบริสุทธิ์กว่า เป็นกายนอกภพ ๓ คือ กายทั้งกายบริสุทธิ์หมด

 

             เลย เป็นธรรมล้วน ๆ เป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ถูกต้องดีงามล้วน ๆ งดงามยิ่งกว่ากายที่ผ่าน ๆ มา เพราะประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ มีเกตุดอกบัวตูม คือตั้งแต่กายอรูปพรหมลงไปถึงกายมนุษย์หยาบ ยังไม่มีลักษณะมหาบุรุษบริบูรณ์ขนาดนี้

 

            กายธรรมนี้จะเรียบง่าย ไม่มีเครื่องประดับ เพราะเลยความรู้สึกผูกพันกับทิพยสมบัติแล้ว พ้นไปแล้ว อยู่ครึ่งทางระหว่างความเป็น ปถุชนกับความเป็น พระอริยเจ้าเรียกว่า โคตรภูบุคคล กายธรรมนี้จึงชื่อว่า     กายธรรมโคตรภู คือครอบคลุมกายในภพ ๓ ทั้งหมด มีเกตุดอกบัวตูม ลักษณะคล้าย ๆ ดอกบัวสัตตบงกช
ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ขนาดกำลังพอดี ๆ ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม บนพระเศียรที่มีเส้นพระศกหรือเส้นผมขดเวียนเป็นทักษิณาวรรตตามเข็มนาฬิกา เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ นั่งขัดสมาธิสงบนิ่ง สวยงามมาก มีรัศมีสว่างไสว กายจะใสเกินใส ใสกว่ารัตนะใด ๆ ทั้งในโลกนี้ โลกอื่น และยิ่งกว่าในเทวโลก รัตนะที่มีอยู่ในเทวโลก พรหม หรืออรูปพรหม ในภพทั้ง ๓ ไม่อาจสวยงามหรือสูงส่งเสมอเหมือนรัตนะของกายนี้

 

             รัตนะ แปลว่า แก้ว เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความปลื้มปีติ สุขใจพึงพอใจสูงสุด เป็นของใส ๆ แต่รัตนะในที่นี้ คือ พุทธรัตนะ ยิ่งกว่านั้นอีก กายของท่านจะใสบริสุทธิ์เกินความใสใด ๆ ในภพทั้ง ๓ มีรัศมีสว่างมากด้วยตัวของตัวเอง อยู่ในที่มืดก็สว่าง ที่แจ้งก็สว่าง สว่างกลบรัศมีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว กลบหมด

 

           แล้วยังเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วด้วยกายธรรมที่เข้าถึงนี้แหละ เพราะท่านมีธรรมจักษุ มีดวงตาที่เห็นแตกต่างจากดวงตาของอรูปพรหม รูปพรหม กายทิพย์หรือมนุษย์ที่อยู่ในภพ ๓ เพราะท่านเห็นได้รอบตัว โดยไม่ต้องเหลียว อยู่ในที่เดียวกันแต่เห็นไปทุกทิศทุกทาง เห็นในอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ให้อดีตปัจจุบันอนาคตมาอยู่ ณ จุดเดียวกันก็ได้ รอบตัวเลย ที่เราคงได้ยินคำว่า สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ และทิพยจักษุ 

 

             ธรรมจักษุนี้ครอบคลุมการเห็นเหล่านั้นทั้งหมด การเห็นของท่านนอกจากแตกต่างแล้วยังเป็นการเห็นที่วิเศษจริง ๆเพราะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ เพราะว่ามองเห็นชีวิตที่ผ่านมาที่เราลืมไปแล้วได้ และก็เรื่องราวที่เราประกอบเหตุปัจจุบันจะเป็นผลในอนาคตได้ และก็รู้เรื่องราวเกี่ยวกับฉากหลังพญามาร กิเลสอาสวะ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นได้

 

              ธรรมจักษุนี้เป็นการเห็นที่วิเศษ ที่แจ่มแจ้ง เหมือนดึงของที่อยู่ในที่มืดที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรมาสู่กลางแจ้ง ให้โดนแสง คือเห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งแทงตลอด แตกต่างจากการเห็นที่ผ่าน ๆมาดังกล่าวแล้ว จึงมีอยู่คำหนึ่งที่เขาใช้แล้วเราก็คุ้นเคย คือ คำว่า วิปัสสนา

 

            วิ แปลว่า วิเศษ แจ้ง ต่าง

            ปัสสนา แปลว่า การเห็น

 

         การเห็นที่วิเศษ แจ่มแจ้ง แตกต่าง รวมแล้วเรียกว่า วิปัสสนาจะเริ่มต้นเมื่อเข้าถึงกายธรรมนี้เป็นเบื้องต้นนี่แหละ เข้าถึงกายธรรมโคตรภูที่มีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างที่เราสวดในธรรมจักร จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญาอุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

 

            เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ตื่นจากความฝัน ประดุจโลกมายาของชีวิตในสังสารวัฏ และก็ตื่นตัวด้วย คือ มีชีวิตชีวา เบิกบานมีความสุขด้วยตัวของตัวเอง เป็นอิสรภาพ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มาก มีความสุข เบิกบาน แม้จะอยู่ในภูเขา ในถ้ำ ห้วยหนอง คลอง บึง ลอมฟาง เรือนว่าง โคนไม้ ที่แจ้ง ไปตามลำพัง
ก็มีความสุข นี่คือกายธรรมโคตรภู เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วและก็เป็นตัวพระรัตนตรัยด้วย

 

           กายธรรมนี้คือ พุทธรัตนะ พุทธรัตนะจะตั้งอยู่ได้ก็ต้องมีธรรมรัตนะ ทรงรักษาเอาไว้ แล้วก็เป็นคลังแห่งความรู้ คลังแห่งปริยัติจึงเรียกว่า ธรรมรัตนะ ความรู้จะออกมาจากตรงนี้จะเป็นดวงใส ๆ กลมรอบตัวอยู่ในกลางพุทธรัตนะ

 

            ในกลางกายธรรมโคตรภูก็จะมีกายละเอียดเหมือนกายที่ผ่าน ๆ มา เขาเรียกว่า กายธรรมโคตรภูละเอียด เป็นประดุจ สังฆรัตนะ ที่รักษาอยู่ เพราะว่าอยู่ตรงกลางธรรมรัตนะ คือเข้ากลางดวงธรรมรัตนะจะเห็นสังฆรัตนะ เป็นกายละเอียดของธรรมกายโคตรภูจะรักษาธรรมรัตนะเอาไว้ เหมือนพระสงฆ์ทรงจำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รักษาพระธรรมเอาไว้ แล้วพระธรรมก็เป็นตัวแทนเป็นความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

            พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แยกออกจากกันไม่ได้ แม้มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ทำกันคนละภารกิจ แต่จะรวมประชุมเป็นหนึ่งเดียว เหมือนเพชรที่มีทั้งสี ทั้งแวว ทั้งความใส สีของเพชร แววของเพชร ความใสของเพชร รวมประชุมอยู่ในเพชรเม็ดเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ พระรัตนตรัยก็เป็นอย่างนี้

 

            พระบรมโพธิสัตว์ก็จะเข้าถึงกายธรรมอย่างนี้ แล้วก็จะถอดออกเป็นชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่ความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระสกิทาคามี ความเป็นพระอนาคามี ความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกัน ต่างแต่ขนาด

 

            กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วากายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
กายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วากายธรรมพระอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

 

            ทั้งหมดมีหยาบ มีละเอียด กายธรรมส่วนหยาบก็เรียกว่ามรรค เช่น โสดาปัตติมรรค ถ้ากายธรรมส่วนละเอียดก็เป็นผลที่เรียกว่า โสดาปัตติผล เพราะฉะนั้นมรรคผลนิพพานอยู่ในตัวของเรานี่แหละ

 

            พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการหยุดนิ่งอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ เมื่อบรรลุแล้วท่านก็นำมาถ่ายทอดให้กับมนุษย์และเทวดาผู้มีบุญทั้งหลายที่ทำตามพระองค์ เพราะพระองค์เห็นว่า มนุษย์ เทวดา สรรพสัตว์ทั้งหลายก็มีเช่นเดียวกับพระองค์ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมี และไม่มีความรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้เลย เนื่องจากถูกอวิชชาบดบังเอาไว้ เพราะฉะนั้นท่านจึงถ่ายทอดสั่งสอน ตั้งแต่บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเรื่อยมาเลย ๔๕ พรรษา จนกระทั่งดับขันธปรินิพพานเป็นคำสอนแบบเดียวกันทุกพระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ก็จะสอนอย่างนี้

 

             เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงมีความสำคัญมากที่ลูกทุกคนต้องทำความรู้จักแล้วก็เอาใจใส่ เอาใจของเรามาใส่ตรงนี้ มาหยุดมานิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพื่อที่เราจะได้เดินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร เราก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนั้น

 

พระคุณของหลวงปู่ฯ           

 

             ความรู้นี้คือคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก แต่ว่ายากต่อการนำมาปฏิบัติ จนกระทั่งมีการบังเกิดขึ้นของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ที่เมื่อ ๙๐ กว่าปีที่แล้ว ท่านสละชีวิตในกลางพรรษา ๑๒ ที่โบสถ์ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ดังที่เราได้ทราบประวัติมาแล้ว ท่านได้สละชีวิต ทั้งทรัพย์ อวัยวะชีวิต เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ แล้วใน
ที่สุดก็ได้บรรลุธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรม ยืนยันว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและสั่งสอนมานั้นถูกต้อง เป็นจริง และดีงาม เข้าถึงได้จริงในยุคนี้ไม่พ้นกาลสมัย 

 

            เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้บรรลุธรรมแล้วท่านก็ไม่หวงแหนความรู้นี้ ได้นำมาถ่ายทอดแล้วก็สรุปบทเรียนมาเป็นวิธีการ ในการที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นว่าทำเพียงประการเดียวคือ หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ หยุดนี่แหละจะเป็นตัวสำเร็จเมื่อใจอยู่ในตำแหน่งแห่งความสำเร็จ ใจก็จะเป็นธาตุสำเร็จ ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้

 

             เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่ ให้ลูกทุกคนนึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบา ๆ สบาย ๆให้ใจใส ๆ นึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เป็นอารมณ์ทั้งวันเลย ให้นึกถึงท่านด้วยความเลื่อมใส ระลึกนึกถึงพระคุณท่านที่สอนวิธีการให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน อย่าให้เผลอไปคิดเรื่องอื่น ประคองใจกันไปอย่างนี้นะ

            พระเทพญาณมหามุนี

วันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013987668355306 Mins