" ล็อกดาวน์ ความทุกข์ "

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2563

" ล็อกดาวน์ ความทุกข์ "

                 มีใครบ้างไม่มีปัญหา มีใครบ้างไม่มีความทุกข์ ปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป วิธีแก้ปัญหาก็แตกต่างตาม แล้วเราจะยึดหลักตรงไหนในการแก้ความทุกข์ที่เราเผชิญอยู่ ยิ่งเราต้องเจอทั้งโรคร้าย และสภาวะเศรษฐกิจที่ถาโถมอย่างทุกวันนี้

19789-01.jpg

                 บางคนรู้สึกว่าปัญหาของตัวเองใหญ่กว่าคนอื่นมาก ในขณะที่บางคนบอกว่าไม่เป็นไร ฉันมีปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น แล้วเราจะใช้อะไรวัดว่าปัญหาของใครเป็นปัญหาใหญ่ หรือปัญหาเล็ก

                 ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหามักจะคิดว่า ปัญหาของตัวเองเป็นภาระหนักอก เช่น มีดบาดนิ้วต้องเย็บ 2 เข็ม เจ้าตัวย่อมรู้สึกว่าเจ็บมากกว่าคนอื่นที่แขนขาดเสียอีก นั่นเป็นเพราะเรื่องเกิดกับตัวเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนอื่น เราก็อาจจะแค่รู้สึกสงสารเห็นใจ อยากจะช่วยเหลือเขาเท่านั้น

                 ปัญหาที่เกิดกับตัวเอง เจ้าตัวจะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น มีผลต่อความรู้สึกมากกว่าเพราะถูกกระทบโดยตรง หรือถ้าปัญหาเกิดกับคนใกล้ตัว เราก็มักจะเกิดความรู้สึกต่อปัญหานั้นๆ มากกว่าคนไกลตัว ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์

19789-02.jpg

                หลักการสำคัญเวลาเผชิญปัญหา

ข้อแรก คือ

               อย่าขยายปัญหาจนเกินจริง เช่น มดกัด แต่แสดงอาการราวกับว่าแขนขาดไปข้างหนึ่งก็ถือว่าเกินเหตุ กลายเป็นลักษณะตีโพยตีพาย งอแง อย่าขยายปัญหาให้ “ปัญหาเท่าหมู กลายเป็นปัญหาเท่าช้าง” แต่เราควรจะเปลี่ยนแปลงให้ “ปัญหาเท่าหมู เหลือเพียงปัญหาเท่าแมว” จะดีกว่า

ข้อที่สอง คือ

              เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว อย่าเอาปัญหาของเราไปเป็นปัญหาของคนอื่น เช่น อยากได้ทรัพย์สินบางอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของตัวเอง แต่กลับไปปล้นเขา นี้คือการไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นซึ่งไม่ถูกต้อง

               ให้เรามีคติเตือนใจว่า ถึงคราวได้อะไรมาที่น่ายินดี ก็อย่าเพิ่งดีอกดีใจมากเกินไป ในดีอาจมีเสียได้ เจอเรื่องเสียก็อย่าเสียใจจนเกินไป ในเสียก็อาจมีดีได้ ก้มหน้าก้มตาทำกิจของตัวเองด้วยความไม่ประมาท สุดท้ายเราจะผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ไปได้อย่างดี เราอย่าไปขยายปัญหาจากมดเป็นหมูด้วยการตีโพยตีพายเลย

               บางคนเจอปัญหา ไม่รู้ว่าจะสู้หรือจะนิ่งดี ได้แต่เก็บกดไว้กับตัวเอง อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความอดทนไม่ตีโพยตีพายเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าการเก็บกดไม่ดี ที่เรานิ่งเก็บปัญหาไว้กับตัวเองนั้น เราเก็บแบบไหน เก็บด้วยความอดทน หรือเก็บด้วยความเก็บกด

              “อดทน” กับ “เก็บกด” ต่างกันตรงที่ “อดทน” คือ ทนรับเรื่องนั้นไว้ได้ด้วยความเข้าใจ ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว แต่ “เก็บกด” เหมือนการเก็บดินระเบิดไว้กับตัว เก็บอัดเอาไว้ทุกวันๆ รอวันระเบิด กลายเป็นพลังงานแฝงอยู่ข้างใน รอจุดชนวนขึ้นมาเมื่อไรก็ระเบิดขึ้นมาได้ทันที แต่ถ้าเราเข้าใจปัญหา ศึกษาจนรู้ที่มาที่ไปของปัญหาทุกอย่างดีแล้ว ก็จะเห็นแนวทางการแก้ไขชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปได้ ปัญหาก็จะค่อยๆ ถูกจัดการสะสางออกไปจากใจ ไม่ถูกสะสมไว้รอวันระเบิด

19789-03.jpg

                ใจของผู้ที่ “อดทน” จะผ่องแผ้ว แต่ใจผู้ที่ “เก็บกด” จะเครียดอยู่ภายใน แม้ภายนอกอาจจะถูกปั้นแต่งดูใบหน้ายิ้มแย้ม แต่ภายในใจกลับมีแต่ความเครียด รอวันระเบิดออกมา หรือไม่ก็อาจจะ เกิดอาการของโรคเครียด เป็นโรคนอนไม่หลับบ้าง โรคประสาทบ้าง เกิดอาการกราดเกรี้ยวบ้าง เราจึงต้องเข้าใจปัญหาแล้วเดินหน้าแก้ไขด้วยใจที่ผ่องแผ้ว ไม่ย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรคปัญหา

               มนุษย์มักจะมีเหตุผลกับอารมณ์ที่มาคู่กัน ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ ใจคนเรามีธรรมชาติที่อ่อนไหว มีทั้งเรื่องของเหตุผลและเรื่องของอารมณ์ประกอบกัน แตกต่างกันที่มีทั้งสองส่วนมากน้อยไม่เท่ากันเท่านั้น บางคนมีสัดส่วนทางอารมณ์มากหน่อย ในขณะที่บางคนก็มีสัดส่วนของเหตุผลมากกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ทุกคนย่อมมีทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเสมอ

                เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง และเข้าใจธรรมชาติของผู้อื่น บางครั้งต่างฝ่ายต่างก็หวังดีต่อกัน เพียงแต่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของอีกฝ่ายดีพอเท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหา

                 สมมติว่าสามีภรรยาพึงใจกัน ทั้งคู่หวังดีต่อกันอยากให้อีกฝ่ายมีความสุข แต่ว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่าย และมักจะคิดไปเองเรื่อยเปื่อย แล้วก็มานั่งกลุ้มอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คนทั้งคู่ควรจะพูดคุยกันอย่างมีศิลปะจนกระทั่งต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ไม่มัวคิดไปเองฝ่ายเดียวแล้วเก็บปัญหาไว้อย่างนั้น จนปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

19789-04.jpg

              อาตมภาพเคยรู้จักกับโยมท่านหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงเขา เก่งมากในเชิงการบริหาร อายุเพียง 40 ปีเท่านั้น แต่มีเงินเดือนถึง เดือนละ 3 แสนบาท เรียกว่าประสบความสำเร็จมาก แต่กลับมีปัญหาครอบครัว หนักหนาจนกระทั่งกำลังคิดว่าจะแยกทางกับภรรยาแล้ว แต่สงสารลูก 3 คน จึงยังไม่ได้หย่าร้างกัน

              ถึงขนาดเขาออกจากบ้านไปพักอยู่ที่อื่น เพราะรู้สึกเครียดจนทนไม่ไหวเมื่ออยู่บ้าน พอเป็นห่วงลูกก็กลับไปบ้านครั้งหนึ่ง ถือว่าครอบครัวอยู่ในภาวะที่หมิ่นเหม่ต่อ การหย่าร้างมาก เขาเครียดจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และได้มาปรึกษากับอาตมภาพที่วัด

               เขาเริ่มเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวว่า แม่บ้านบกพร่องอย่างไร เขาทำงานนอกบ้านแล้วยังต้องกลับมาดูแลบ้าน ดูแลลูกๆ อีก แม่บ้านไม่ยอมทำอะไรเลย วันธรรมดาเขาก็ต้องรีบ ไปทำงาน เขาต้องทำงานเยอะมากเพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงเข้านอนหัวคํ่าตอน 4 ทุ่ม แต่แม่บ้านยังไม่ยอมเข้านอน นั่งดูทีวีถึงราวๆ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน

              พอถึงวันศุกร์กับวันเสาร์ที่เขาสามารถอยู่ดึกได้ ก็ปรากฏว่าแม่บ้านกลับเข้านอนเร็ว 4 ทุ่มก็เข้านอนแล้ว เขารู้สึกเหมือน แม่บ้านตั้งใจจะไม่เจอหน้ากัน ทำไมแม่บ้านไม่เอาใจใส่เขาบ้าง ถ้าช่วยงานอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยทำให้เขาสบายใจหน่อย... นี่ขนาดอาตมภาพเจอกับเขาครั้งแรก เขายังเล่าขนาดนี้ แสดงว่าคงอึดอัดมากทีเดียว บางทีถ้าเขาได้พูดคุยกับแม่บ้านให้เข้าใจความรู้สึกของตนอย่างนี้บ้างก็น่าจะดีเหมือนกัน

              พอฟังเขาเล่าเสร็จ อาตมภาพจึงบอกเขาไปว่า

              คุณโยม อาตมาว่า จริงๆ แล้วแม่บ้านคุณโยมต้องรักคุณโยมมากๆ เลย เพราะแม่บ้านคุณโยมมีประวัติเคยเป็นนักทำงานที่มีความสามารถ เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง แต่เมื่อมีครอบครัวก็ยอมลาออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัว แสดงว่าแม่บ้านต้องยอมเสียสละเพื่อคุณโยมมากทีเดียว และขนาดเกิดปัญหาอย่างนี้แล้ว เธอกลับไม่บ่นเลยสักคำ ยังยอมทนอยู่

              ที่คุณโยมบ่นว่า ‘อะไร ๆ ก็ให้ผมทำ’คุณโยมเคยคิดหรือไม่ว่า ตามที่คุณโยมเล่ามานั้น แม่บ้านไม่เก่งเลยสักอย่าง ทุกอย่างคุณโยมทำได้ดีกว่าทั้งหมด ตอนที่พึงใจกันและยังไม่ได้แต่งงานก็เอาอกเอาใจกันดี แต่ว่าพอแต่งงานมาอยู่ด้วยกัน ฝ่ายชายก็เก่งกว่า จริงๆ

19789-05.jpg

               พอมีอะไรพ่อบ้านก็อาจจะหวังดีไปบอกแม่บ้านว่า‘คุณ...อันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ถูก อันนี้ผิด ต้องทำอย่างนี้ๆๆๆ’ สุดท้ายแม่บ้านก็อาจจะคิดว่า ถ้าเก่งนักคุณก็ทำเองแล้วกัน ฉันทำอะไรก็ไม่ถูกใจสักอย่าง แม่บ้านจึงค่อยๆ ถอยออกมา ให้พ่อบ้านทำงานทั้งหมด แต่ก็ยังอดทนอยู่เพราะว่ามีลูกด้วยกันแล้ว และด้วยความรักที่ยังมีต่อกันอยู่นั่นเอง

              เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ พ่อบ้านกำลังถือว่าตนเองเป็นจุดศูนย์กลางหรือไม่ คิดว่าตนเองเก่ง ตนเองแน่ คิดอะไรโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเราเลย คิดแต่ว่าฉันดี ฉันเสียสละ ฉันทำงานหนัก แต่ไม่ได้นึกว่าตนเองกำลังเรียกร้องให้คู่ชีวิตกลายเป็นตุ๊กตา ได้แต่ตำหนิว่าแม่บ้านทำอะไรก็สู้ตนไม่ได้ เรียกร้องให้แม่บ้านทำให้ตนสบายใจ ที่เธอยอมขนาดนี้แสดงว่าเธอต้องรักคุณโยมมากเลยนะ

              อาตมภาพได้แนะนำให้เขาลองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ ต่อไปนี้ลองใช้วิธีกระตุ้นด้วยการชมเชย ไม่ว่าแม่บ้านจะทำอะไรก็หมั่นกล่าวคำชื่นชม ให้แม่บ้านมีกำลังใจทำสิ่งดีๆ อื่นๆ ต่อไป อย่าได้พูดจาข่มเหงน้ำใจแม่บ้านว่า“คุณทำอย่างนี้ก็ไม่ดี อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้” แล้วหาความภาคภูมิใจใส่ตัวด้วยการพูดจาข่มว่าตนเก่งกว่าแม่บ้าน ให้ลองเปลี่ยนไปใช้วิธีการกล่าวชื่นชมแทนการตำหนิ

              พออาตมภาพพูดถึงตรงนี้เขาก็หยุดคิดนึกทบทวน อาตมภาพจึงบอกต่อไปว่า คุณโยมลองไปเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่นะ ให้มองว่าแม่บ้านคือคนที่รักคุณโยมมากที่สุด รักครอบครัวมาก รักลูกมาก เสียสละมาก ยอมทิ้งสังคมของตัวเองมาอยู่กับบ้าน เพราะฉะนั้น ถ้าแม่บ้านทำอะไรก็ให้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจเธอ เขานิ่งไปครู่หนึ่งแล้วตอบอาตมภาพว่า “ครับ...ผมจะลองดู” อาตมภาพจึงบอกต่อไปว่า หลังจากนี้ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีกก็ให้มาหาได้ แต่ปรากฏว่าเรื่องราวนี้จบลงอย่างมีความสุข

19789-06.jpg

              เราจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่มุมมองของเรา หากเกิดเรื่องราวปัญหาอะไรขึ้น เราอย่าคิดตัดสินอะไรโดยเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ต้องพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราก็จะมองเห็นปัญหาชัดขึ้น เห็นทางแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไปได้

              เมื่อใดที่เราเข้าใจตนเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้ดี เพราะคนเราก็มีกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภ โกรธ หลง เหมือนๆ กัน ต่างแค่ในรายละเอียดเท่านั้น ถ้ามีคนพูดและทำอย่างนี้กับเราแล้วเรารู้สึกอย่างไร ก็ให้เข้าใจเถิดว่า ถ้าเราทำอย่างนั้นกับผู้อื่น เขาก็จะรู้สึกไม่ต่างจากที่เรารู้สึกเท่าไร

               หากเห็นอะไรที่เขาทำและเรารู้สึกชอบหรือไม่ชอบ อย่าไปหงุดหงิดมองเพียงแค่ว่าเขาทำไม่ถูกใจเรา แต่ให้มองลึกลงไปว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้เขาทำอย่างนั้น ที่เขาทำอย่างนั้นเขาคิดอย่างไร ถ้าเราฝึกมองอย่างนี้ได้เมื่อไร เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง เป็นคนที่มองปัญหาได้ลึกซึ้งกว่าคนอื่น เป็นคนที่เข้าใจคน แล้วจะเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023127547899882 Mins