อวิชชา

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2563

อวิชชา

 

เอาจริงหยุดนิ่งให้                           

ตลอดเทียว

ทิ้งทุกสิ่งนิ่งอย่างเดียว

หยุดสู้

หยุดนิ่งสักประเดี๋ยว

ชาญเชี่ยว

จักเกิดญาณทัสสนะรู้

หมดทิ้งโคตรมาร

ตะวันธรรม

 

            ตั้งใจนั่งหล้บตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆพอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่าสบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีนะ ให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวก ปรับท่านั่งให้ถูกส่วนอย่างสบายๆแล้วก็ผ่อนคลาย

 

ผ่อนคลายสบาย รวมใจ วางใจไว้ถูกส่วน

 

          ต้องผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจนะ ทำใจให้เบิกบานแช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ปล่อย วาง ให้คลายความผูกพันจากคน ลัตว์ สิ่งของ ท่าประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก

 

          แล้วก็รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในอย่างง่ายๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ อย่าตั้งใจเกินไป ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ค่อยๆ วางใจไปแตะที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนุ่มๆ ทำใจให้นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ต้องเบาๆ ต้องสบายๆ ใจถึงจะรวมได้ง่ายนะ

 

           ต้องสบายๆ อย่าไปเพ่งไปจ้อง ให้นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆแล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ คือ นึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่ง หรือก้อนนํ้าแข็งใสๆ กลมๆ เหมือนดวงแก้วให้นึกธรรมดา นึกสบายๆ คล้ายๆ เรานึกถึงภาพดอกบัว ดอกกุหลาบอย่างนั้นแหละ

 

           นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน แต่ต้องสบาย นึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่อยๆ ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆว่า สัมมา อะระหัง จะภาวนากี่ครั้งก็ได้จนกระทั่งไปถึงจุดที่เราไม่อยากจะภาวนา สัมมา อะระหังต่อไป อยากหยุดใจนิ่งๆ เฉยๆ นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้สำหรับผู้ที่มาใหม่ ให้นิ่ง นุ่ม เบา สบาย เดี๋ยวใจจะถูกส่วนเองเมื่อเราทำถูกวิธีอย่างนี้นะ

 

           เมื่อเราวางใจถูกส่วนมันก็จะกลับเข้าไปสู่ภายในอย่างง่ายๆ แล้วร่างกายของเราจะกลวง เป็นโพรง เป็นช่องว่างๆ ร่างกายจะขยายออกไปจนหายไปเลย เหมือนกลืนไปกับบรรยากาศ ใจก็จะอยู่นิ่งๆ โล่งๆ กลางอวกาศ ถ้าเราทำถูกวิธีนะ แล้วเดี๋ยวใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเอง จะไม่ตึงไม่เกร็ง ไม่เครียด ทั่งร่างกายจิตใจจะผ่อนคลาย จะสบายจะเหลือแต่สติกับสบาย คือใจอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่ในกลางกายอย่างไม่กดดัน

 

เข้าถึงดวงธรรมภายใน กายภายใน

 

          ต้องสบายต้องใจเย็นๆ ต้องนิ่งๆ นุ่มๆ นานๆ ต้องอย่างนี้นะ เดี๋ยวใจจะใสเอง จะสว่างขึ้นมาเอง หลับตาแล้วก็จะไม่มืด จะมีความสว่างภายใน ตั้งแต่เหมือนฟ้าสางๆ เรื่อย ไปจนกระทั่งเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงว้น แต่ว่าจะใสเย็น ไม่จ้าตา ไม่แสบตา ใสเย็นสบาย  

 

          สำหรับผู้ที่ทำเป็นแล้ว เข้าถึงดวงธรรมได้ก็นิ่งในนิ่งต่อไปเรื่อยๆฝึกหยุดแรกให้ชำนาญ ให้คล่อง หยุดแรกสำคัญมากเดี๋ยวหยุดในหยุดต่อๆไปก็จะง่าย แม้ทำเป็นแล้วก็ต้องฝึกตรงนี้นิ่งๆ นุ่มๆ ดูดวงไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ให้ใจนิ่งๆ อยู่ในกลางดวงใสๆ ด้วยใจที่เยือกเย็น      

 

          ถ้าเราทำถูกต้อง ถูกส่วน ดวงนั้นก็จะขยายออกไปเอง ขยายไปรอบตัว ถ้ายังไม่ถูกส่วนก็จะเป็นดวงนิ่งๆ เฉยๆ ถ้าตั้งใจมาก แม้เห็นดวงแต่ก็จะยังไม่เจอความสุข แต่ไม่ทุกข์จะอยู่ในระหว่างไม่สุขไม่ทุกข์ คือเลยความทุกข์ แต่ยังเข้าไม่ถึงความสุข ใจนิ่งได้ในระดับ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์แต่ยังกดดันอยู่ คือยังมีความพยายามที่จะใช้กำลังบังคับภาพนั้นจึงยังแข็งๆ ไม่นุ่ม ยังติดนิสัยหยาบๆ ทางโลก

 

         ทางโลกจะทำอะไรให้สำเร็จต้องใช้ความพยายาม ต้องออกแรง ทางธรรมมันกลับตาลปัตรต้องง่ายๆ ต้องสบายๆ

 

         ถ้าทำได้อย่างนี้ ดวงจะอ่อนนุ่ม จะใสๆ และจะขยายออกได้ ความสุขก็จะค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น จนเรายอมรับว่า นี้คือความสุขที่ไม่เคยเจอ

 

         ยิ่งใจเรานิ่งๆ นุ่มๆ นานๆ จากนิ่งนุ่มนานๆ ก็จะกลายเป็นนิ่งนุ่มและก็หนาแน่น เป็นนิ่งแน่น แต่ว่านิ่งนุ่มแน่นและก็นานๆ คราวนี้ดวงก็จะใสสว่างขยายให้เราเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในดวงนั้นได้อย่างง่ายๆ พอเราทำตรงนี้ชํ้าๆ บ่อยๆ ให้คล่อง ให้ชำนาญ แม้ชำนาญแล้วก็ยังต้องทำซํ้าๆ การเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในก็ยิ่งง่าย ความสุขก็เพิ่มพูนขึ้นทับทวีขึ้นมาจนเราไม่ต้องการอะไรเลย

 

         จากดวงนี้ก็จะผ่านไปเห็นดวงในดวงไปเรื่อยๆ เลย ถ้าดวงที่เชื่อมกับกายก็จะมี ๖ ดวงซ้อนๆ กันอยู่ ดวงนี้จะปรับสภาวะใจเรา กลั่นใจเราให้ใสบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นเชื่อมเข้าไปถึงกายภายในได้อย่างง่ายๆ

 

         เราจะอัศจรรย์ใจ เมื่อเราเห็นตัวเราเองอยู่ข้างในตัวของเรา ที่ดูสดใสกว่า อยู่ในวัยเจริญในอิริยาบถของสมาธิ 

 

         ถึงตรงนี้เราก็ต้องทำซ้ำๆ คือทำทุกวันไม่ว่างเว้น แม้เราอยู่ทางโลกจะทำมาหากินอะไรก็แล้วแต่ ทำมาค้าขาย ทำมาสร้างบารมี ข้างนอกเคลื่อนไหวแต่ข้างในใจต้องหยุดนิ่ง ฝึกตรงนี้ให้คล่อง ให้ชำนาญ เดี๋ยวการปรับสภาวะก็จะเป็นไปเอง ใจก็จะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 

         ต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ เนืองๆ ภาษาบาลีเขาว่า ภาวิตา พหุลีกตา ต้องบ่อยๆ ต้องเนืองๆ แม้ทำชำนาญแล้วก็ยังต้องบ่อยๆ ต้องเนืองๆ ซ้ำๆ พอมั่นคงแล้ว เราจะอัศจรรย์ใจกับการเห็นกายภายใน

 

         ส่วนกายละเอียดเราจะย่อให้เหลือนิดเดียว เล็กเท่ากับปลายเข็มก็ยังเห็นชัดเจนเหมือนเห็นตอนกายขยายโต ๆ ซึ่งมันน่าอัศจรรย์ใจมาก สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่ภายในกลางกายของเรา แม้เล็กเท่ากับปลายเข็มก็เห็นรายละเอียดของกายนั้นได้ในทุกๆ กาย แม้ทำเป็นแล้วก็ต้องมาฝึกตรงนี้ให้ซ้ำๆไปเรื่อยๆ

 

         กายภายในก็จะปรับสภาวะจากกายของคฤหัสถ์ เช่นกายมนุษย์ละเอียด ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ให้สูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงกายพระข้างใน คือบวชภายในเป็นพระธรรมกายข้างในใสๆ เหมือนคล้ายๆ การบวชภายนอกตั้งแต่คฤหัสถ์มาเป็นนาค จากนาคมาเป็นเณร จากเณรมาเป็นพระ คือมีความบริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ

 

        เกิดกันมาแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องการมาสะสางธาตุธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ให้สิ้นไป ให้เหลือแต่ธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ คือ เป็นกายพระ และกายพระก็ต้องกลั่นกันต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายเป็นกายพระอรหันต์นั่นแหละ    

 

        สะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั่งหลาย จะต้องสะสางสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ให้หมดสิ้นไป ที่อยู่ในธาตุ ในธรรม ในเห็น ในจำ ในคิด ในรู้ ของเราให้หมดสิ้นไปด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นคำว่าใจหยุดนิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราเข้าใจหรือจินตนาการจะไปถึง

 

        ใจที่หยุดนิ่งจะทำให้สำเร็จบริบูรณ์ในทุกสิ่ง จะสะสางเข้าไปเรื่อยๆ กลั่นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศ ที่ประกอบเป็นกายเป็นใจเป็นอะไรต่างๆ เหล่านั้น ให้สะอาดบริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ กลั่นทั้งธรรมซึ่งเป็นที่รองรับธาตุต่างๆเหล่านั้นให้บริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ กลั่นทั้งเห็นจำคิดรู้คือใจให้ใสๆ ให้บริสุทธิ์ นี่คือวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้ง แต่ละภพ แต่ละชาติ จะต้องสะสางกันอย่างนี้แต่สิ่งเหล่านี้มนุษย์ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะพญามารบดบังเอาไว้ เขาจะประกอบธาตุธรรมที่ไม่บริสุทธิ์มาบดบังเอาไว้ ที่เราได้ยินคำว่า อวิชชา นั้นแหละ ให้เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต แล้วจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้อย่างไร นอกจากไม่ให้รู้แล้วยังทำจิตของเราให้มืด คือหลับตาแล้วเรามืด จนกระทั้งเราไม่รู้เลยเบื้องหลังของความมืดมีความสว่าง มีความลับของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับตัวเราสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายอยู่ตรงนี้

 

        สิ่งที่เขาบดบังใจให้มืด เรียกว่า นิวรณ์ ๕ ตั้งแต่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา 

 

        พญามารดึงใจของเราไปตรึงติดไว้กับสิ่งภายนอก ติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ติดในลาภยศสรรเสริญแบบโลกๆ แล้วให้มีความโกรธ ความผูกพยาบาท คับแค้นใจอะไรกันต่างๆ เหล่านั้น

 

        ให้จิตของเราไปวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้นซึ่งอยู่ภายนอก แล้วให้สงสัยในเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องอะไรสารพัด แม้ผ่านด่านต่างๆ มาได้ก็ยังสงสัยตัวเองว่า เราจะทำได้ไหม ลังเลสงสัยอยู่อีกเยอะแยะเลย ตรึงไปติดเหล่านั้น จิตก็จะไปคิดวนๆ กับสิ่งเหล่านั้น เอาไปติดกับความฟุ้งในเรื่องสารพัด เรื่องความท้อ ความง่วง อะไรต่างๆ แบบโลกๆ

 

       เมื่อถูกบดบังในความไม่รู้และนิวรณ์ทั้ง ๕ ใจของเราก็เลยมืดบอด ติดทางโลกก็หมดเวลากับชีวิตทางโลก แถมการกระทำของตัวยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมอีก ใจจึงไม่หยุดเลย มีแต่ทะยานอยากไปในสิ่งเหล่านั้น เป็นความอยากที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยปัญญา ในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิต หรือความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับความอยากที่จะดับทุกข์ อยากพ้นทุกข์ อยากไปนิพพาน อย่างนี้เป็นความ อยากที่ประกอบไปด้วยปัญญา

 

         เพราะฉะนั้นใจหยุดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มากที่สุดในชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราควรจะให้เวลาเกี่ยวกับเรื่องใจหยุดนิ่งให้มากๆ เราจะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง เข้าถึงเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต และที่สำคัญจะได้สะสางธาตุ ธรรมเห็นจำคิดของเราให้ สะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งธาตุแห่งความบริสุทธิ์เข้ามาแทนที่ธาตุไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น

 

         ธาตุแห่งความบริสุทธิ์ก็จะมาพร้อมกับความสุข ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความสูงส่งของจิตใจ เป็นต้น และความรู้ต่างๆ มากมายไปตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นความแจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เพราะความสว่างภายในเกิด ทำให้เราเห็นดวงธรรม เห็นกายภายใน เห็นชีวิตที่ซับช้อนอยู่ภายในที่ลึกซึ้งเข้าไปเรื่อยๆ เห็นเป้าหมายของชีวิตได้ชัดเจน พลังใจก็จะมุ่งไปเพื่อขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจให้หมดไปใจก็จะใสสะอาดบริสุทธิ์ สว่างไสว สว่างเข้าไปเรื่อยๆ

 

         เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้ลูกทุกคนหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ ให้ไปถึงความสว่าง ให้เข้าไปถึงดวงธรรมภายในให้ได้ ให้เข้าไปถึงกายภายใน กระทั่งถึงกายผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว คือกายธรรม ถึงพระธรรมกายให้ได้กายองค์พระที่ใสที่บริสุทธิ์สวยงามมาก ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูมใสเกินความใสใดๆ ในโลก นั่งสงบนิ่งอยู่บนแผ่นฌาน ให้ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

 

พระเทพญาณมหามุนี วิ.   

ว้นอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 3 

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011098821957906 Mins