เพาะพฤติกรรม ตามวิธีพุทธ   

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2563

    เพาะพฤติกรรม ตามวิธีพุทธ               

                 เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แต่รู้ไหมว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างที่เคยควบคุมใจเราอยู่สิ่งนั้นคือ "นิสัย" ซึ่งก็คือสิ่งที่เราคิด พูด ทำ จนเคยชิน จนเกิดเป็นนิสัย และนิสัยนี่เองที่ทำให้ใจคอยคิดไปในเรื่องที่คุ้นเคยนั้นเสมอ จึงเท่ากับว่า นิสัยเป็นตัวควบคุมใจอีกชั้นหนึ่ง

19842-01.jpg

                   นักวิชาการทางด้านระบบประสาทและสมองพบว่า พฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ หากทำซํ้าๆ ต่อเนื่องไป จะมีผลทำให้เซลล์สมองและระบบประสาท ที่เป็นเส้นทางวิ่งของสัญญาณประสาทนั้นมีการพัฒนาเหมือนเป็นทางด่วนพิเศษของข้อมูลในสมอง แขนงประสาทจะมีปลอกมาหุ้มทำให้สัญญาณประสาทวิ่งได้เร็วมาก

                   นี่คือคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าเหตุใดการกระทำที่เราทำอย่างต่อเนื่องไปถึงระยะหนึ่ง เราจะทำสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ หรือกลายเป็นนิสัยนั่นเอง แต่การศึกษาเหล่านี้ยังจำกัดอยู่แค่ที่ร่างกายคือสมองและระบบประสาท

                   ขณะที่ในทางพระพุทธศาสนาสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างชัดแจ้งลึกซึ้งยิ่งกว่านี้มากนัก ส่วนทางด้านของนักจิตวิทยาก็มีการศึกษาถึงการควบคุมจิตใจด้วยวิธิการต่าง ๆ เช่น มีการนำวิธีการดลจิตมาใช้ในการปรับพฤติกรรมของคนเรา เช่น ถ้าหากต้องการปรับพฤติกรรมคนที่ไม่ชอบกินผักให้หันมากินผักก็สามารถทำได้ โดยใช้วิธีการต่อไปนี้

                   คือ ให้คนที่ไม่ชอบกินผัก ทำใจให้สบาย ๆ โปร่ง ๆ เบา ๆ โดยอาจเริ่มต้นด้วยการฟังเพลง ที่มีทำนองนุ่มนวล พอใจเริ่มเคลิ้ม ๆ ให้ท่องคำว่า "ชอบกินผัก ๆ ๆ ๆ"

ท่องซํ้า ๆ ไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น

19842-02.jpg

ยิ่งท่องซํ้า ๆ ใจเรายิ่งเกิดความคุ้นเคย และย่อมนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำแบบคนชอบกินผักได้ในที่สุด เป็นเสมือนการตอกยํ้าความตั้งใจของเรานั่นเอง

                 กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ในทางพระพุทธศาสนา อธิบายว่า การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ของคนเรา ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้นจะรับรู้โดยมีภาพปรากฏเกิดขึ้นในใจเสมอ เช่น

 

                 ถ้าเราได้ยินใครพูดถึงเพื่อนของเรา ภาพของเพื่อนคนนั้นก็จะเกิดขึ้นในใจเราทันที เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้ตัว เพราะภาพนั้นอาจปรากฏแค่เพียงแวบเดียว และโดยทั่วไป ใจของคนเราไม่ได้อยู่ในภาวะสงบนิ่ง มักคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เราจึงรับภาพต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน ในการดลจิตจึงต้องมีการเตรียมใจให้เบา สบาย อยู่ในภาวะสงบนิ่งเสียก่อน

                   เพราะใจจะสามารถรับภาพได้เต็มที่ เปรียบเหมือนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ปรับตรงคลื่น ย่อมรับภาพได้คมชัด ตรงกันข้ามกับใจที่ไม่นิ่ง ใจที่เคร่งเครียด ขุ่นมัว ก็เปรียบเหมือนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ไม่ได้ปรับให้ตรงคลื่นภาพย่อมพร่าเลือน

                    นอกจากนี้ การท่องคำซ้ำๆในการดลจิต ก็เพื่อให้เกิดภาพขึ้นในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นความคุ้นเคยกับสิ่งนั้น ๆ และความคุ้นเคยนี่เองที่สามารถควบคุมจิตใจ จนนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ต้องการ

                    นี่คือกระบวนการสร้างนิสัยหรือการดลจิตที่ทางการแพทย์ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งความรู้ความเข้าใจกระบวนการทำงานของใจนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะความรู้ที่ว่า หากมีสิ่งใดมากระทบกับตัวเรา ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้กระทั่งใจเราคิดเองก็ตาม ล้วนมีผลต่อชีวิตเราทั้งสิ้น

                     และจะยิ่งมีผลมากยิ่งขึ้นในขณะที่ใจเราเบาสบาย เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปของกระบวนการเหล่านี้เราย่อมสามารถปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราได้

19842-03.jpg

                     คนโบราณรู้หลักการเหล่านี้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงได้นำมาใช้อย่างครบถ้วนทุกช่วงของชีวิต เช่น ผู้ที่ปรารถนาจะมีบุตร ก็จะใช้หลักธรรม

                     คือ ผู้ที่จะเป็นพ่อและแม่จะตั้งมั่นในศีลธรรม ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนามีภาพของการทำความดีอยู่ในใจอย่างครบถ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ บุญกุศลที่เกิดขึ้นย่อมจะดึงดูดให้ผู้ที่มีบุญใกล้เคียงกับพ่อแม่นั้นมาเกิด เมื่อได้เด็กมีบุญมาเกิดเป็นลูกก็ทำให้สอนง่าย เป็นเด็กดี

                     ในทางกลับกันเราลองคิดดูว่า ถ้าพ่อแม่สำมะเลเทเมา หมกมุ่นในอบายมุขแล้วตั้งครรภ์ตอนนั้น เด็กที่มาเกิดก็จะเป็นคนมีบุญน้อย สอนยาก จะนำเรื่องเดือดร้อนทุกข์ใจมาให้พ่อแม่มากมายในระหว่างตั้งครรภ์ พ่อแม่ก็ต้องทำใจให้สบาย อยู่ในบุญ ซึ่งเป็นการสอนลูกในครรภ์ให้อยู่ในบุญด้วยเช่นกัน

                       เรียกว่าทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะชักชวนกันทำความดีคิดถึงแต่สิ่งที่ดี พูดคุยกันแต่เรื่องดี ๆ เด็กที่อยู่ในครรภ์ก็จะค่อย ๆ ซึมซับ ใจเขาจะโปร่งเบาสบาย และรับสิ่งดี ๆ ได้อย่างมากมาย

                      ครั้นเด็กเกิดมา แม้ยังเล็กมาก ยังพูดไม่ได้ แต่ก็สามารถที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวดี ๆ และเห็นภาพการทำความดี ที่พ่อและแม่ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีมีศีลธรรม ครอบครัวและสังคมก็สงบร่มเย็น

                     ในทางตรงข้าม เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือมีความเครียด ย่อมส่งผลถึงลูกโดยตรง ย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีความเครียด หรือเป็นคนมักโกรธ

                     คำกล่าวของผู้คนในยุคปัจจุบันที่ว่า "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"

                     นั้นจึงเป็นสิ่งที่คนโบราณทราบแล้วเป็นอย่างดีและความจริง ต้องกล่าวว่า "รอให้ตั้งครรภ์ก่อนก็สายเสียแล้ว" ด้วยซํ้าไป คนโบราณจึงได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มาใช้ในทุกช่วงระยะของชีวิตถือเป็นพุทธวิธีเพาะนิสัย นั่นเอง

                     นิสัย ยังเป็นสิ่งที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ ดังมีตัวอย่างปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก

เช่น ครั้งหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ฉันอาหารมากเกินไป จนท้องแตกถึงแก่มรณภาพ เหล่าภิกษุจึงไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงระลึกชาติไปดูและนำมาเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระภิกษุรูปนั้น ภพอดีตก็เคยเสียชีวิตด้วยเหตุนี้มาแล้ว

                     นิสัยจึงเป็นสิ่งที่ยิ่งทำยิ่งติด ยิ่งฝังรากลึก บางท่านใช้คำว่าวาสนา ซึ่งคำศัพท์นี้มีความหมายดั้งเดิมแปลว่า นิสัยระดับลึก ที่คุ้นชินมายาวนาน วาสนามิใช่กิเลส แต่เป็นความเคยชิน

                    ดังเช่น พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นเลิศทางปัญญา เว้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสารีบุตรถือว่าเป็นผู้มีปัญญาสูงสุด ภพในอดีตนั้นมีช่วงหนึ่งท่านได้เกิดเป็นลิงต่อเนื่องกัน 500 ชาติ เมื่อมาถึงชาติสุดท้าย แม้ท่านจะหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม

                     เวลาที่ท่านนำพระภิกษุที่เป็นศิษย์ 500 รูปจาริกไปในที่ต่างๆในบางครั้งหนทางที่ท่านต้องเดินผ่านมีนํ้านองพื้นอยู่ แทนที่ท่านจะเดินอ้อม ท่านกลับใช้วิธีกระโดดข้ามไป หรือบางคืนเมื่อเวลาพักท่านก็ชอบที่จะไปจำวัดอยู่บนคาคบไม้มากกว่า เพราะท่านคุ้นกับสิ่งที่เคยทำสมัยที่เกิดเป็นลิงหลายร้อยชาติ วาสนาจึงเป็นเรื่องที่ยากจะตัดขาดได้

                      ดังนั้นการฝึกนิสัยจึงมีได้หลายระดับ นับตั้งแต่การฝึกในส่วนของร่างกายซึ่งเป็นแค่ระดับพื้นฐานเบื้องต้น ไปจนถึงการฝึกฝนทางความคิด จิตใจ ที่ยิ่งตอกยํ้ามากเท่าไรก็ยิ่งฝังลึกไปในใจเรามากขึ้นเท่านั้น

19842-04.jpg

                       เมื่อเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว เราย่อมสามารถปรับปรุงแก้ไขตัวเราเอง สอนลูกหลาน และสามารถทำหน้าที่กัลยาณมิตร แนะนำผู้อื่นได้ เพียงแต่ต้องตั้งใจจริง การดลจิตก็เป็นวิธีการแบบหนึ่งที่ใช้ใด้ดี

                      นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นช่วยเสริมได้อีก เช่นใช้การเขียนเข้ามาช่วย เมื่อเราตั้งใจจะทำอะไรดี ๆ ก็ให้เราเขียนบรรยายออกมา เป็นการตอกยํ้าอีกแบบหนึ่ง

                       นอกจากนี้ให้เราลองฝึกสมาธิ โดยทำให้สม่ำเสมอ เมื่อใจนิ่งอยู่ในฐานที่ตั้งแห่งใจ ณ จุดกึ่งกลางลำตัวสูงจากระดับสะดือ 2 นิ้วมือใจเราจะเบาสบาย สิ่งที่ตั้งใจไว้มักสำเร็จผล

                        ขอแนะนำให้เราหมั่นทบทวนตัวเองทุกวันที่สิ่งใดต้องการจะเลิก สิ่งใดต้องการให้

                        เป็นนิสัย ก็ให้เลือกมาสัก 1-2 อย่างก่อนตั้งสติให้ดี พยายามทำให้ได้

                       ทำตามนั้นต่อเนื่องไป ไม่ใช่ทำ ๆ หยุด ๆ เมื่อทำได้แล้วจึงค่อยเลือกนิสัยอย่างอื่นมาฝึกต่อไป การปรับแก้นิสัยนี้จะยากก็เพียงช่วงแรกเท่านั้น

                         อีกไม่นานเราก็จะทำได้แบบสบาย ๆ ยิ่งเราทำอย่างต่อเนื่องนานเท่าไรสิ่งนั้นจะยิ่งฝังรากลึกลงในใจของเราเท่านั้น และจะส่งผลไม่เฉพาะชาตินี้แต่จะส่งผลข้ามภพข้ามชาติทีเดียว

19842-05.jpg

                        มาดลจิตใจตัวของเราเองตามพุทธวิธีที่ถูกต้องกันเถิด สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีงาม โดยการ "เขียนบันทึก" หรือด้วยคำพูดก็ได้ ทบทวนทุกวัน ๆ ให้ภาพที่เราต้องการเกิดขึ้นในใจของเรา นั่งสมาธิใจสบาย ๆ นึกภาพสิ่งนั้นเรื่อยไป สุดท้ายตัวเราก็จะปรับเปลี่ยนเป็นดังภาพนั้นได้จริง ๆ ถือเป็นการดลจิตที่ถูกต้องตามพุทธวิธี

 

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022528167565664 Mins