ฝึกเป็นผู้ให้

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2563

ฝึกเป็นผู้ให้

 

630911_b.jpg

 

ตรึกแก้วต้องนึกน้อม เบาเบา
แค่ว่ามีในเรา อยู่แล้ว
อย่าตรึกเพ่งเขม็งเอา จริงเน้อ
เดี๋ยวเครียดเพราะตรึกแก้ว เพ่งแล้วกลางกาย

ตะวันธรรม


          ปรับร่างกายให้สบายๆ ให้ผ่อนคลาย อย่ามองข้ามเรื่องการปรับร่างกายให้ทุกส่วนสบาย ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัวเลย

 

          ถ้ากายสบาย ใจสบาย มันก็ง่ายนิดเดียว ลูกต้องจับหลักตรงนี้ให้ได้ เพราะดวงกับองค์พระมีอยู่แล้วในตัวของเรา แต่ท่านเป็นของละเอียด เป็นกายละเอียด เราต้องปรับใจของเราให้ละเอียดตามสิ่งที่มีอยู่แล้ว ด้วยการผ่อนคลาย ทั้งร่างกายและจิตใจ

 

           ให้สบายๆ ให้ใสๆ ใจเกลี้ยงๆ ไม่เกาะ ไม่เกี่ยว ไม่เหนี่ยว ไม่รั้งเรื่องอะไรเลย พอใจละเอียดมันก็จะดึงดูดเข้าหากัน เข้าไปสู่ภายใน เดี๋ยวเราก็จะเห็นดวง เห็นองค์พระได้อย่างง่ายๆ ดังนั้น ตรงนี้ลูกต้องให้ความสำคัญในการฝึกนะ สำคัญมากๆ เลย ปรับให้สบาย ให้ผ่อนคลาย ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ

 

ฝึกเป็นผู้ให้       

 

           ถ้านอกรอบลูกใจใส ใจเย็น พอเรามานั่งในรอบรวมกัน ใจจะรวมลงไปที่กลางกายได้ อย่างง่ายๆ    

 

            เพราะฉะนั้น ลูกต้องฝึกการเป็นผู้ให้ การให้จะทำให้ลูกใจใส ใจสบาย เช่น ให้อภัยทาน ไม่ถือโทษโกรธเคืองเพื่อนสหธรรมิกที่เขาอาจ จะทำอะไร ไม่ถูกหู ถูกตา ถูกใจเรา ฝึกให้อภัย ให้รอยยิ้ม จะได้สดชื่นกันไปทั้งทีม ทั้งหมู่คณะ ให้ถ้อยคำที่เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ปลูกความรัก ความสามัคคีกันในหมู่คณะ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าให้อย่างนี้บ่อยๆ จะทำให้นอกรอบเราสั่งสมความใสความสบายของกายและใจไปเรื่อยๆ

 

          เมื่อหมู่เป็นสุข เราเป็นสุข มันก็จะยกทีมเข้าถึงธรรมกันได้ ต่างต้องคอยเกื้อกูลกัน ประคับประคองกัน ก็จะเป็นบารมีพิเศษ สำหรับตัวเราที่ได้ทำอย่างนี้

 

            บุญนี้ก็จะไปตัดรอนวิบากกรรมวิบากมารที่เราเคยดำเนินชีวิตผิดพลาดที่ผ่านมา โดยเราไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรม ชีวิตในสังสารวัฏมันอันตราย มันมีกฎแห่งกรรมและกฎต่างๆ บังคับบัญชาเราอยู่ พญามารเขาสอดกิเลสมาบังคับเรา ให้เราดำเนินชีวิตผิดพลาด แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าอย่างนี้ผิดพลาด ผิดพลาดไปแล้วจะเป็นอย่างไร พญามารเขาจะบังคับแล้วปรับคดี เป็นวิบากกรรมติดตัวเราข้ามชาติ ให้เรามีความหมองของใจ เช่น เราดื่มเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน หรือฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดส่อเสียดให้เขาทะเลาะกัน พูดคำหยาบ เพ้อเจ้อ สูบเสพสิ่งเสพติด สิ่งมึนเมา อบายมุขต่างๆ ที่ผ่านมา โดยที่เราก็ไม่รู้มันเป็นโทษ จะถูกเก็บสะสมเอาไว้ เมื่อมีมากเข้าตอนละโลกมันจะพาเราไปอบาย

 

             บุญนี้จะได้ไปตัดรอนสิ่งเหล่านั้น จากหนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ร้ายกลายเป็นดี ปิดประตูอบาย เปิดประตูสวรรค์ เพราะฉะนั้นต้องสั่งสมบุญพิเศษทั้งนอกรอบและในรอบอย่างนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ

 

            แต่อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงเวลานี้ อดีตที่ผิดพลาดลืมไปให้หมด ลืมไปเลย อย่าไปนึกถึง อย่าให้ใจเราไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้งเรื่องเหล่านี้ ทิ้งไปให้หมดเลย

 

            ตอนนี้เราเป็นบรรพชิตแล้ว เป็นสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ต้องตั้งใจฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ เป็นพระแท้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น

 

            ง่ายและลัดที่สุดก็คือ ณ ช่วงเวลานี้ ลูกสั่งสมความสุข ความบริสุทธิ์ภายในให้ได้เยอะๆ ใจที่กระเจิดกระเจิงนำกลับเข้ามาสู่ภายใน ให้อยู่กับเนื้อกับตัว ให้ใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

            แตะเบาๆ ต้องเบาๆ นะ คือ ใช้ระบบสัมผัส วางใจเบาๆ ณ จุดที่สบาย ที่กลางกาย โดยที่เราไม่ไปเพ่ง ไปจ้องกลางกาย แค่นึกผ่านๆ ว่า ใจเราไปแตะตรงกลางแล้วอย่างสบาย ถ้าเราสามารถนึกดวง หรือองค์พระได้ จะแค่ภาพเบลอๆ ก็ไม่เป็นไรนะ เราก็นึกไป แต่ถ้ายังนึกไม่ได้ก็ให้อยู่จุดที่สบายก่อน

 

            คำว่า จุดสบายนี้ อาจจะอยู่ตรงไหนก่อนก็ได้ อาจจะอยู่นอกตัวเรา เช่น ที่ข้างหน้าเรา บนศีรษะเรา รู้สึกตรงนั้นสบาย เราก็นิ่งๆ ตรงนั้นไปก่อน พอสบายจริงๆ ใจใสจริงๆ เดี๋ยวมันจะเคลื่อนลงมาเอง เพราะเรารู้เป้าหมาย เราอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว

 

           ถ้าสมมติว่า มันตึงเกินไป อดตั้งใจไม่ได้ มันหลุดจากความสบาย เราต้องพร้อมที่จะมาเริ่มต้นใหม่ อย่าไปเสียดายจุดนั้นนะ นึกถึงความสบายใหม่ หาจุดสบายใหม่ แล้วก็ค่อยๆ ประคอง จนกระทั่งมันมารวม ลงอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างง่ายๆ อย่างสบายๆ ใจใสๆ ใจเย็นๆ แตะไปตรงนั้นนะ

 

           จะประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ หรือใครอยากจะวางใจเฉยๆ โดยไม่ภาวนาก็ได้ เราถนัดแบบไหนก็เอาแบบนั้นไปก่อน เพราะตอนสุดท้าย มันก็ต้องทิ้งคำภาวนาไปเอง เมื่อใจมันหยุดนิ่ง นุ่ม เบา สบาย

 

        พอสบายมันจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ซึ่งเป็นที่โล่งกว้าง เหมือนกลางอวกาศ ก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปอย่างง่ายๆ แล้วความเบากายเบาใจก็จะเกิดขึ้น ความสุขจะเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ซึ่งเราก็ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคับประคองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันหยุดนิ่งเอง แสงสว่างเกิดขึ้น บ้างก็เห็นดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ ประคองไปอย่างนี้นะ

 

         โดยไม่ทิ้งหลักของคำว่า “สบาย” สบายทั้งกาย สบายทั้งใจ หาจุดตรงนี้ให้ได้ ถ้าตรงนี้ได้ก็ง่าย ง่ายมากๆ เลย

 

          สมมติภาพเบลอ เราก็อยู่ตรงนั้นไปก่อน ทำใจเย็นๆ อย่าไปเค้นภาพ อย่าไปเน้นให้ภาพมันชัดนะ มีให้ดูแค่ไหนเอาแค่นั้น ไปก่อน ดูอย่างสบายๆ แล้วใจใสๆ ใจเย็นๆ เดี๋ยวจากภาพเบลอๆ มันจะค่อยๆ ชัดขึ้นมาเอง แต่ถ้าเราเผลอ อดไปเน้นไม่ได้ ไปเพ่ง ไปจ้อง ทำให้มันตึง ตึงกาย ตึงใจ ถ้าอย่างนี้เรา ทิ้งไปเลย อย่าไปเสียดาย แล้วมาเริ่มต้นหาจุดสบายใหม่ ทำอย่างนี้ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง อีกหน่อยลูกก็จะคล่อง จะชำนาญขึ้นและการรวมลงก็ง่าย

 

          พอเราออกมานอกรอบก็ทบทวน หมั่นสังเกตดูว่า วันนี้เรานั่งได้ดีเพราะอะไร หรือดีไม่เท่าเมื่อวานเพราะอะไร แล้วก็รีบปรับปรุงแก้ไข ให้กายและใจไปหาจุดสบายใหม่ ต้องซ้ำ ๆอย่างนี้เดี๋ยวจะง่าย

 

        ตอนนี้ลูกยังแข็งแรง ยังสดชื่น ยังอยู่ในวัยเจริญ วัยที่มีลาภ อันประเสริฐ คือ ความแข็งแรง ความไม่มีโรค มีแต่เจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ต้องรีบชิงช่วงความแข็งแรงนี้มาประกอบความเพียร กลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสๆ ให้บริสุทธิ์ ฝึกใจให้หยุดนิ่ง

 

หลวงพ่อธัมมชโย

ศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

 จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012436397870382 Mins