กลยุทธ์ควบคุมอารมณ์

วันที่ 14 ธค. พ.ศ.2564

111.jpg

กลยุทธ์ควบคุมอารมณ์

              คนส่วนใหญ่จะเริ่มคำนึงถึงผลดีผลเสียมากขึ้น เพราะหากทำอะไรที่ผิดพลาดไป ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงได้ บางคนมีเหตุผลมาก ในขณะที่บางคนใช้เหตุผลน้อยแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป แล้วเราควรจะทำอย่างไรให้คนที่ใช้เหตุผลน้อย เริ่มใช้เหตุผลมากขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น

               หลักสำคัญคือ “ต้องใคร่ครวญดูก่อน แล้วจึงลงมือทำ” คือ ใคร่ครวญ ตรึงตรองก่อนที่จะพูดออกไป หรือทำอะไรลงไป โดยปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นอารมณ์มี 3 ประการ ดังนี้

1.    ความรัก หรือความโลภ

2.    โทสะ หรือความโกรธ

3.    โมหะ หรือความหลง

                 ในด้านของการตลาด สินค้าที่ขายได้จะต้องมีคุณสมบัติกระตุ้นความอยาก ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้ายี่ห้อนั้น คือ เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ที่โดดเด่น โก้หรู แบรนด์นั้นมีมูลค่า เกิดจากความยากลำบากในการสร้างอัตลักษณ์จนโดดเด่นและติดตลาด จนทำให้แบรนด์ ผลิตอะไรออกมามันก็ขายได้ ขายดี มีกำไรมาก

                  ในด้านของแรงกระตุ้นอารมณ์โกรธ โทสะนั้นไม่ใช่เรื่องของการขายสินค้า แต่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก

                  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “โทสะนั้นเกิดง่ายหายเร็ว” คือ อะไรผิดหูผิดตาขึ้นมา อารมณ์ขึ้นทันทีเพียงเสี้ยววินาที แล้วคราวจะหายโกรธก็หายเลยในทันทีเช่นเดียวกัน เช่น พอรู้ว่าตนเองเข้าใจผิดปั๊บ ก็หายโกรธทันที อย่างนี้มีโทษมาก

112.jpg

                   เหมือนจุดไม้ขีดไฟก้านเดียว ไม่นานไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังแล้ว หรือโกรธขึ้นมาปุ๊บขาดสติควักปืนขึ้นมายิงเขาเปรี้ยง ฆ่าเขาตายทันที ตอนยิงสะใจ แต่พอเขาตายต้องเดือดร้อน หนีตำรวจหัวซุกหัวซุน ไม่คุ้มเลย 
    
                   โทสะนั้นเกิดง่ายหายเร็วแต่มีโทษมาก ต้องมาสำนึกเสียใจทีหลัง มีทุกข์มาก หนำซ้ำยังมีวิบากกรรมจากการฆ่า ปาณาติบาต ตายไปตกนรกอีก โทษหนักยิ่งกว่าติดคุก ผลเสียตามมามากมาย

 

                   แต่ถ้าเราตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้ ไม่ไปทำตามความอยากของตนเอง ไม่ไปทำตามความโกรธของตนเอง ไม่ไปทำตามอารมณ์จากแรงกระตุ้นด้วยโทสะของตนเอง แล้วใช้เหตุผลในการไตร่ตรอง หยุดได้ก่อน อย่างนี้ดีกว่า

                    ส่วนความลุ่มหลงมัวเมา เช่น ติดเกม หลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมัวเมาจนกระทั่งวิถีชีวิตบิดเบี้ยวผันแปรไปหมด เสียสุขภาพ เสียการเรียน เสียการงาน ทุกอย่างย่ำแย่ตามกันไปหมด

113.jpg

                    เพราะฉะนั้น แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดอารมณ์ทั้งความอยาก ความโกรธ และความหลง ล้วนเสื่อมเสียหมด เราต้องไตร่ตรองให้เห็นความจริงตรงนี้ให้ชัดเจนว่า ถ้าเราทำสิ่งใดด้วยอารมณ์มากๆ ความเสียหายเกิดขึ้น ไม่คุ้มกันเลย

                    เราควรฝึกตนให้รู้จักการยับยั้งชั่งใจ เริ่มจากในวิถีชีวิตประจำวันก่อน เช่น ควบคุมเวลานอน เล่นเกมไม่ติดลมจนเกินเวลา จำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย ดูซีรีย์ หรือสังสรรค์ยามค่ำคืน พอตื่นเช้าก็สดชื่น ไม่งัวเงีย มีพลังไปทำงานต่อ

                   บางคนคิดว่าแค่การนอนดึกไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรในชีวิตมากนัก แต่ถ้าเราตามใจตนเอง ไม่ควบคุมใจตนเองกับเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เรื่องอื่นที่ยากกว่าเราก็ไม่สามารถควบคุมได้

                   ใครที่ควบคุมใจตนเองได้ มีวินัยในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจทำตามความอยาก อย่างนี้ก็จะสร้างความมีเหตุมีผลให้กับตนเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องอื่นๆ ก็ดีตามไปด้วย

114.jpg

                   เราควรฝึกฝนจากสิ่งที่เจออยู่ทุกวัน ถึงคราวมีใครมาทำไม่ดีกับเรา ใจนึกอยากจะสวนกลับไปเมื่อไรก็หักห้ามใจ ทำใจให้นิ่งๆ ได้ ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ให้ภาวนาในใจ “สัมมา อะระหัง .....” ไปก่อนสัก 5 รอบ เพียงไม่ถึง 10 วินาที

                    อารมณ์โกรธที่เกิดง่ายก็จางลงไปแล้ว แรงโกรธจากร้อยก็ลดเหลือไม่ถึง 10 เท่านี้เราก็ควบคุมใจตนเองได้แล้ว สามารถดึงสติกลับมาตั้งหลัก แล้วเลือกคำพูดที่เหมาะสม ไม่พูดไปตามแรงโทสะจนอาจจะทำให้เราต้องมานึกเสียใจภายหลังได้

                   ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ควรติดเบรกในใจตนเองด้วยการเอาใจมาอยู่กับพระรัตนตรัยภายใน ถ้าเราได้ทำสมาธิสม่ำเสมอจนกระทั่งรู้หลัก ถึงเวลาเอาใจมาหยุดนิ่งตรงนี้นิดเดียว ไม่นานถึงลมหายใจเข้าออกรอบหนึ่งด้วยซ้ำ เราก็จะควบคุมอารมณ์ได้

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020272175470988 Mins