พระธรรมกายเป็นเป้าหมายของชีวิต

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2566

11-9-66-B3.jpg

พระธรรมกายเป็นเป้าหมายของชีวิต
                  สิ่งที่เกื้อหนุนในการปฏิบัติธรรมให้ใจของเราหยุดนิ่งได้เร็วนั้นมีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่


                 ประการที่ ๑ หัดมองโลกไปตามความเป็นจริงตามหลักโลกธรรม ๘ ซึ่งการมองโลกไปตามความเป็นจริงในที่นี้ ไม่ใช่หมายความว่า ให้มองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย แต่ให้มองโลกไปตามโลกธรรม คือ เมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญก็มีคนนินทา และเมื่อมีสุขก็มีทุกข์ ซึ่งธรรมทั้ง ๔ ประการนี้จะวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา


                  ดังนั้น...เมื่อสิ่งใดมากระทบใจของเรา เราก็ต้องไม่หวั่นไหวแล้วทำใจให้เป็นกลาง ๆ


                  ประการที่ ๒ ทำใจของเราให้เป็นกุศล ให้เบิกบาน แช่มชื่นและเยือกเย็นอยู่เสมอ ซึ่งใครที่เป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ใจร้อน หรือแง่งอนอะไรต่างๆ ต้องทิ้งไปให้หมด อย่าไปอนุรักษ์ไว้ แล้วทำใจของเราให้ผ่องใส ให้เยือกเย็น สบาย ๆ


                  ประการที่ ๓ มองทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่เจ็บ ตาย และมีความปรารถนาดีให้กับทุก ๆ คน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร ธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือจะเป็นใครก็ตาม ให้มองว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายที่มีความเสมอภาคเหมือนกันหมด แล้วก็มีความปรารถนาดีให้กับเพื่อนของเราทุก ๆ คน


                  เมื่อเรามองอย่างนี้ สิ่งที่เราจะได้รับ คือ ใจของเราจะสบายไม่หงุดหงิด ไม่ฉุนเฉียว และไม่เจ้าอารมณ์ง่าย อีกทั้งเวลาที่เราจะนั่ง นอน ยืน เดิน เราจะมีความรู้สึกเหมือนกับมีมิตรสหายอยู่ห้อมล้อมตัวเรา และเมื่อเราฝึกบ่อย ๆ เข้า ความรู้สึกเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นมาเอง


                  ประการสุดท้าย หัดมองโลกให้ว่างเปล่า.... ไม่มีแก่นสาร คือ ไม่ว่าเราจะทํามาหากิน หรือทำภารกิจอันใดก็ตาม เราก็ทำไปอย่างเต็มที่ แต่ไม่ติดอะไร และวางใจเฉย ๆ โดยให้นำสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนมาเป็นอุปกรณ์ในการฝึกอย่างนี้ พอถึงเวลาที่เรานั่งสมาธิก็จะง่าย เพราะใจเราสบาย และไม่ติดในเรื่องกระจุกกระจิกปลีกย่อย โดยมุ่งแต่เรื่องหลักใหญ่ คือ เรื่องรักษาใจเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ และพอเรื่องปลีกย่อยที่ทำให้ใจเราขุ่นมัวนั้นหมดไป ใจเราก็จะสบายและเบิกบานเมื่อไปนั่งสมาธิ...ยังไม่ทันขัดสมาธิ หรือตายังไม่ทันปิดสนิท ใจก็หยุดนิ่งแล้ว


                  เพราะฉะนั้น....ลูก ๆ จำไว้นะว่า “ธรรมกายเป็นเป้าหมายของชีวิต” ส่วนนอกนั้นเป็นเครื่องประกอบกันมา ซึ่งลูก ๆ ต้องจับหลักตรงนี้กันให้ได้ แล้วจะมีความสุข สบาย และจะเข้าถึงธรรมะภายในกันทุกคน

 

 

 

คุณครูไม่ใหญ่

จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029082532723745 Mins