วิสาขามหาอุบาสิกา ตอนที่ ๗ มหาลดาปสาธน์

วันที่ 22 กค. พ.ศ.2547

วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๗ มหาลดาปสาธน์

 


     บัดนี้ ย่างเข้าสู่วสันตฤดู สายฝนโปรยปรายลงมาไม่ขาดระยะ เหล่าพฤกษชาติและตฤณชาติพลันพลิกฟื้นคืนใบ ต่างทอประกายสีเขียวสดใส สะพรั่งพราวไปทั่วทุกแห่งหน

     อันความงามแห่งเมืองสาเกต ที่เตือนตาผู้เดินทางมาไกลให้เพลินชมแต่ยังไม่ทันย่างเข้าสู่ประตูเมือง คือทิวเขาอันขึ้นสลับซับซ้อนเรียงราย เปรียบได้กับอุทยานธรรมชาติอันร่มรื่น มีลำน้ำหลายสายอีก ๒ ฝั่งเป็นที่ลุ่ม ชอุ่มด้วยพันธุ์พฤกษชาติหลากชนิด กระแสลมประจำฤดูซึ่งพัดมาแต่บูรพาทิศ ก็โบกโบยกลิ่นหอมดังรวงผึ้งของดอกประดู่ ให้แผ่คลุมไปทั่วพระนคร

     ยามนี้เมืองสาเกตรื่นเริงราวกับมีงานนักขัตฤกษ์    ถัดจากประตูเมืองด้านอุดรทิศจะแลเห็นเรือนรับรองอันวิจิตรตระการตา มีสนามหญ้าเขียวขจีไปจนจดปราการ คือที่ประทับแห่งจอมราชันแคว้นโกศล งดงามด้วยซุ้มประตูบรรจงแกะสลักเสลา อีกเสาประทีปน้ำมันทั่วเมืองสาเกตซึ่งเป็นแนวไปตามมรรคานั้น ในยามราตรีก็ส่องสว่างกระจ่างด้วยแสงไฟละลานตา

      ถัดจากวิมานสถานแห่งพระราชา    คือเคหสถานของเสนาบดีและมหาอำมาตย์ก็ยังคงการประดับตกแต่งอย่างงดงาม ในยามเย็นล้วนพลนิกรเดินไปยังราชังคณะ คือพระลานกว้างเป็นกลุ่มๆ แล้วบ้างก็ลาดนิสีทนะลงนั่งสนทนากันเป็นที่บันเทิงจิต บ้างก็เดินเลยไปชมสระโบกขรณีติดกับอุทยานพันธุ์ไม้ อันสะพรั่งด้วยอุบล บุณฑริกและปทุมชาติ และเมื่อไกลออกมาจนถึงร้านตลาดย่านชุมนุมชน ก็แลดูสับสนอลวนส่งเสียงซื้อขายไปมาอยู่ดารดาษ ผู้คนต่างพูดคุยกันถึงพิธีอาวาหะวิวาหมงคลที่กำลังจะมาถึง

     ชนทั้งหลายต่างทราบดีว่า เหตุที่กาลเนิ่นช้าถึงเพียงนี้ เพราะรอคอยการแล้วเสร็จแห่งเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ที่มีเสียงร่ำลือหนาหูว่าใช้ช่างฝีมือดีถึง ๕๐๐ คน เร่งสร้างกันทั้งกลางวันกลางคืน มีความพิถีพิถันสำคัญยิ่ง แม้ท่านธนัญชัยเศรษฐีจะมีภารกิจมากมายไม่เว้นแต่ละวัน แต่การต้อนรับผู้มาเยือนยังคงอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย

     ชนเหล่านั้นคิดกันว่า “ ท่านเศรษฐีได้กระทำสักการะแก่พวกเราฝ่ายเดียว จนล่วงไปได้ ๓ เดือนแล้ว โดยอาการอย่างนี้ แต่เครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์ ก็ยังไม่เสร็จ ”

      วันหนึ่งในขณะที่ท่านเศรษฐีกำลังตรวจงาน หัวหน้าผู้ควบคุมงานได้เข้ามาแจ้งว่า “ ข้าแต่ท่านเศรษฐี สิ่งอื่นไม่มีขาดตกบกพร่อง เว้นแต่ฟืนสำหรับใช้หุงข้าวเพื่อหมู่พลเท่านั้น ไม่พอใช้ ขอรับ ”

    ท่านเศรษฐีจึงบอกแก่ผู้ควบคุมงานว่า “ ดูก่อนท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปรื้อโรงช้างเก่าๆ เป็นต้น และเรือนเก่าๆ ในเมืองนี้ เพื่อขนเอาไม้ให้หุงต้มเถิด”

     พวกควบคุมงานได้จัดการรื้อโรงช้างเก่าและเรือนเก่าเอามาทำเป็นฟืนหุงต้มตามที่ท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ เมื่อบุคคลทั้งหลายหุงต้มอย่างนี้ เวลาก็ล่วงไปได้ครึ่งเดือน พวกควบคุมงานได้เข้ามาแจ้งท่านเศรษฐีอีกครั้งว่า

“ ท่านเศรษฐีครับ ฟืนไม่พอ ขอรับ ”

    ท่านเศรษฐีผู้มีปกติรักษาใจให้ใสอยู่เสมอ มิได้มองเห็นสิ่งใดเป็นอุปสรรค บอกทางแก้ปัญหาแก่พวกควบคุมงานว่า “ ในเวลานี้ ใครๆ มิอาจหาฟืนในป่าได้ ด้วยฝนตกชุกทำให้ไม้เปียกหมด ขอพวกท่านจงไปเปิดคลังผ้าทั้งหลายของเรา แล้วนำผ้าเนื้อหยาบมาขวั้นทำเป็นเกลียว แล้วจุ่มลงชุบน้ำมันในตุ่มให้ชุ่ม ให้ทำเป็นฟืนหุงต้มเถิด ”

  บุคคลเหล่านั้นได้กระทำตามคำแนะนำของท่านเศรษฐีตลอดกึ่งเดือน เมื่อเวลา ๔ เดือนล่วงไปแล้ว เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ จึงเสร็จเรียบร้อย

 

    ข่าวการเสร็จสิ้นของเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์แพร่สะพัดไปทั้งเมือง ชนทั้งหลายล้วนปรารถนาได้เห็นเป็นบุญตาสักครั้ง ได้ยินแต่เพียงว่า

   เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากหลาย ไม่มีผ้าด้ายผ้าไหมหรือผ้าใดๆ เจือปนอยู่เลย ที่ๆ ควรจะใช้ผ้า เขาจะใช้แผ่นเงินแทน ในเครื่องประดับ มีเพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประฬาร ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน และเมื่อสวมลงไปที่ศรีษะย่อมยาวลงไปจดหลังเท้า พวกช่างได้ทำลูกกระดุมประกอบเป็นแหวนขึ้นในที่นั้นๆ ด้วยทองคำ ส่วนห่วงทำด้วยเงิน

     มีกระดุมอยู่ที่ท่ามกลางกระหม่อม ๑ กระดุม อยู่ที่ข้างหูทั้งสองข้าง ๒ กระดุม อยู่ที่หลุมคอ ๑ กระดุม อยู่ที่เข่าทั้งสองข้าง ๒ กระดุม ที่ข้อศอกทั้งสองข้าง ๒ กระดุม ที่ข้างสะเอวทั้งสองข้าง ๒ กระดุม และพวกช่างยังได้กระทำนกยูงตัวหนึ่งไว้บนเครื่องประดับนั้น ขนปีกทำด้วยทองคำ ข้างขวา ๕๐๐ ขน ข้างซ้าย ๕๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประฬาร นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณีที่ใสบริสุทธิ์ มองดูแล้วเหมือนมีชีวิต สร้อยคอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาของนกยูงทำด้วยเงิน

    นกยูงนั้นตั้งอยู่กลางกระหม่อมของนางวิสาขา ลักษณะปรากฎประหนึ่งนกยูงรำแพนบนยอดเขา เสียงของก้านขนปีกหนึ่งพันขนยามเยื้องกรายนั้น ดังเหมือนทิพยดนตรีอันไพเราะ และเปรียบประดุจเสียงกึกก้องแห่งดนตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เครื่องประดับมีความอ่อนนุ่มราวผืนผ้าเนื้อละเอียด ที่บรรจงถักทอด้วยความประณีต

     อีกทั้งเป็นเครื่องประดับนี้มีน้ำหนักมาก บังเกิดขึ้นเฉพาะผู้มีบุญเท่านั้น จะต้องเป็นหญิงที่มีพละกำลังเท่ากับช้างถึง ๕ เชือก เช่นนางวิสาขา จึงจะสามารถสวมเครื่องประดับอลังการเช่นนี้ได้

   หากจะมีคำถามว่า นางวิสาขาได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ รวมถึงลักษณะเบญจกัลยาณีเหล่านี้ด้วยบุญอะไร ด้วยในอดีต กาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางวิสาขาได้เคยถวายผ้าจีวรสาฎกแก่พระภิกษุ ๒ หมื่นรูป ทั้งเคยได้ถวายด้าย เข็ม เครื่องย้อม ซึ่งเป็นสิ่งของของตนเอง นางได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ เพราะผลแห่งการถวายจีวรนั้นซึ่งอานิสงส์สำหรับหญิงผู้ถวายจีวรทาน สูงสุด คือ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์

   ส่วนอานิสงส์สำหรับชายผู้ถวายจีวรทาน สูงสุด คือ เครื่องอัฐบริขารอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ เลื่อนลอยมาจากนภากาศเมื่อออกบวช

 

…………( จบตอนที่ ๗)…………

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0047673185666402 Mins