อธิษฐานมาฆะ

วันที่ 26 มีค. พ.ศ.2567

260367b01.jpg

อธิษฐานมาฆะ
๒ ธันวาคม ๒๕๓๓
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ต่อจากนี้เราจะได้มานั่งหลับตาเจริญภาวนากัน ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวกเราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย แล้วก็ทำจิตใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ให้จิตใจจดจ่อกับพระรัตนตรัย เราจะต้องชำระกาย วาจา ใจ ของเราให้ใส ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์จนกระทั่งความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางใจเรา กลางกายของเรา เป็นดวงใส สะอาด บริสุทธิ์ สว่าง เหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ กลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ผุดเกิดขึ้นมาในกลางกายของเรา 

 


                ถ้าใจเราสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ก็จะเป็นใจที่เหมาะสม ที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นในคราวนี้ เพราะฉะนั้นเราทุกท่านจะต้องทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ใจจะสะอาด ใจจะบริสุทธิ์ได้ ใจจะต้องหยุด ต้องนิ่งอยู่ภายใน ใจที่แวบไปแวบมา คิดไปถึงเรื่องราวต่างๆ ในอดีตก็ดีหรือในอนาคตก็ดี ให้นำมาหยุดนิ่งอยู่ที่กลางกายของเรา หยุดให้สนิท ให้หยุดในหยุด ให้สนิทที่กลางกายของเรา ตรงฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ในกลางท้องเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือตรงนั้น         

 


                เมื่อใจของเราหยุดได้สนิทดีแล้ว ความบริสุทธิ์จึงจะบังเกิดขึ้นเป็นดวงใส กลมรอบตัว อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ดวงที่ใสสะอาดบริสุทธิ์นี้คือความบริสุทธิ์เบื้องต้น เป็นหนทางที่จะไปสู่อายตนะนิพพาน ดวงนี้แหละจะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องฝึกใจให้หยุด ให้นิ่งให้ได้ ให้เข้าถึงความบริสุทธิ์เบื้องต้น หรือที่เราเรียกว่าธรรมเบื้องต้น บางครั้งก็เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางครั้งก็เรียกว่าดวงปฐมมรรค เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น ให้บังเกิดขึ้นให้ได้

 


                ใจจะหยุดใจจะนิ่งได้ ใจนั้นจะต้องปล่อยอารมณ์ภายนอก ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสธรรมารมณ์ก็ดี ภารกิจการงานบ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว ต้องปลดต้องปล่อยต้องวางให้หมด เมื่อใจหลุดจากอารมณ์ภายนอกแล้ว จะได้กลับเข้ามาสู่ภายใน ตรงฐานที่ตั้งของใจ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือกึ่งกลางตัว ใจจะหยุดได้จะต้องอาศัยบริกรรม ๒ อย่างประกอบกันไป จะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ คือบริกรรมนิมิต กับบริกรรมภาวนา บริกรรม ๒ อย่างนี้จะต้องควบคู่กันไป เมื่อเราประคองใจอยู่ในบริกรรมทั้ง ๒ ไม่ช้าใจก็จะหยุด ใจจะนิ่ง แล้วก็เข้าถึงปฐมมรรคดังกล่าวแล้ว 

 


                บริกรรมนิมิตก็คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ บริกรรมนิมิตก็คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจอย่างง่าย ๆ อย่างเบา ๆ ให้ง่ายคล้ายกับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคยเช่นคนที่เรารัก หรือของที่เรารักหรือคล้าย ๆ กับนึกถึงดอกบัว น้ำที่อยู่บนใบบัว ที่ใสบริสุทธิ์หรือน้ำค้างที่อยู่ที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกอย่างนี้ นี่เรียกว่าบริกรรมนิมิต คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจต้องมีที่ยึดที่เกาะอยู่ภายในจึงจะไม่ซัดส่ายไปภายนอก บริกรรมนิมิตที่จะแนะนำต่อไปนี้ก็คือเครื่องหมาย กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ กำหนดเครื่องหมายให้ใส สะอาด บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน คล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเครื่องหมายให้ไส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้กำหนดไว้ที่ตรงกลางกายฐานที่ ๗          

 


                ฐานที่ ๗ ก็คือตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ซึ่งเราสมมติให้ขึงผ่านจากสะดือทะลุมาข้างหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุมาด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติให้เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้องของเราพอดี ถ้าท่านที่มาใหม่ ก็ต้องสมมติเอาเลา ๆ ว่า ฐานที่ ๗ นี้มันอยู่ในกลางท้อง เป็นที่สุดของลมหายใจคือพอเราหายใจเข้าไป สุดอยู่ที่ตรงไหนก็ตรงนั้นแหละ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                ให้กำหนดบริกรรมนิมิตคือเครื่องหมายที่สะอาด ใส บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเราให้เกิดขึ้นที่ตรงนี้ ให้ใจของเราหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้อย่างง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจ นึกอย่างง่าย ๆ คล้ายกับเรานึกสิ่งที่เรารู้จัก คล้ายนึกถึงดอกบัว หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างที่อยู่ที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้น นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกเบา ๆ นึกเบา ๆ ถึงความใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูก ก็นึกถึงความเป็นจริงของเพชรที่มีความใสบริสุทธิ์เหมือนน้ำแข็งใส ๆ น่ะ หรือกระจกที่สองเงาหน้า เวลาสะท้อนแสงเป็นประกายเจิดจ้าขึ้นมาอย่างไรก็อย่างนั้นแหละ นึกถึงความใสบริสุทธิ์ของเพชร เพชรลูกที่เจียระไนแล้วเนี่ยะ แต่ว่าไม่เป็นเหลี่ยม ให้กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา โตเท่ากับแก้วตาของเรา อยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                อยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้ายกับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว นึกอย่างสบาย ๆ คล้ายกับน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว นึกให้ต่อเนื่องกันไป นึกให้ต่อเนื่องกันไป นึกอย่างสบาย ๆ ให้ต่อเนื่องกันไป อย่าให้เสียจังหวะของการนึกคิดถึงความใสบริสุทธิ์ของเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา นึกอย่างนี้เรียกว่ากำหนดบริกรรมนิมิต นึกเบา ๆ สบาย ๆ อย่างนี้เรียกว่ากําหนดบริกรรมนิมิต อย่านึกให้ตึงเกินไป อย่าตั้งใจมากเกินไป โดยพยายามที่จะไปเค้นเอาภาพออกมาจากกลางกายของเรา อย่าไปพยายามเค้นเอาภาพออกมาจากกลางกายของเรา ถ้าทำอย่างนั้นจะเกิดอาการตึงเครียดขึ้นที่ร่างกายของเรา และมันจะมึน จะซึม จะตึง และภาพก็จะไม่ปรากฏเกิดขึ้น 

 


                ถ้าเรานึกให้เป็นมันจะเห็นภาพภายในอย่างง่าย ๆ ถ้านึกเป็นจะเห็นภาพภายในอย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้นจะต้องนึกให้คล้าย ๆ กับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว ที่มีความใส มีความบริสุทธิ์ นึกอย่างนี้ถึงจะเรียกว่ากำหนดบริกรรมนิมิต จำให้ดีนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ พร้อมกับกำหนดบริกรรมภาวนาควบคู่กันไป กำหนดบริกรรมภาวนา ให้ใช้คำว่า สัมมาอะระหังสัมมาอะระหัง ๆ ๆ จะต้องเป็นเสียงที่ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต สัมมาอะระหังจะต้องเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากภายใน จากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต เช่นเมื่อเรากำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เสียงของคำภาวนา สัมมาอะระหัง จะต้องดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของเพชรลูกนั้น 

 


                เสียงของ สัมมา อะระหัง จะต้องดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้ภาวนาในใจให้สบาย ๆ เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ให้ประคองบริกรรมทั้ง ๒ ควบคู่กันไป อย่าให้เผลอ อย่าให้หลุดไป เช่นเมื่อเราภาวนาว่า สัมมา อะระหัง ๆ ๆ เราก็ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจเราหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของเพชรลูกนั้น หรือเมื่อเรากำหนดเพชรลูก ที่ใสบริสุทธิ์ เราก็ให้เสียงคำภาวนา สัมมาอะระหัง ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของเพชรลูกอันนั้น สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ดังมาจากจุดกึ่งกลางของเพชรลูกที่ใสบริสุทธิ์ ให้ภาวนาอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                อย่าเผลอนะ อย่าเผลอไปคิดเรื่องอื่น ให้ภาวนาสัมมาอะระหัง อย่างนี้แหละ ควบคู่กับการนึกถึงดวงใส ที่คล้ายกับเพชร ใสประดุจเพชร ในกลางกายนะ ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เผลอก็คือให้ทั้ง ๒ อย่าง ควบคู่กันไป สัมมาอะระหัง ๆ อย่างสบาย ๆ เมื่อเราไม่เผลอ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ใจก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางอารมณ์ภายนอก แล้วก็จะค่อย ๆ ติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ติดอยู่ในกลางของบริกรรมนิมิตที่ใสบริสุทธิ์ ใจก็จะค่อย ๆ หยุด ค่อย ๆ นิ่งเข้า ที่เคยวิ่งเร็วก็จะวิ่งช้าลง ที่วิ่งช้าลงไปในเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะหยุดจะนิ่ง ใจก็จะหยุดจะนิ่ง  

 


                ใจหยุดนิ่งนี่ ให้สังเกตดู เราเริ่มมีความรู้สึกว่าเราไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง ต่อไป ในเวลาเดียวกัน เรื่องอื่นก็ไม่มีมาแทรก เราไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง ต่อไป บางครั้งเหมือนเผลอลืมภาวนาไปแต่ว่าใจนั้นน่ะ เกาะติดอยู่กับดวงใสบริสุทธิ์ นั่นคืออาการที่ใจจะเริ่มหยุดจะเริ่มนิ่งแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็อย่าไปฝันประสบการณ์ภายในที่ใจกำลังเกาะติดอยู่กับดวงใสบริสุทธิ์ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ยึดดวงใสบริสุทธิ์นั้นต่อไป เมื่อใจไม่อยากภาวนาสัมมาอะระหัง ต่อไป เราก็ปล่อยวางคำภาวนานั้น ตรึกนึกถึงแต่ดวงใส เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใส หยุดอยู่ตรงนั้น ใจจะเริ่มปลอดโปร่ง จะเริ่มเบาสบาย ใจจะเริ่มหยุด จะเริ่มนิ่งอยู่ภายใน มีอาการปลอดโปร่งเบาสบาย 

 


                พอใจเริ่มสบายเราก็ให้สังเกตดูใจก็เริ่มขยายเข้าไปสู่ภายใน เราเริ่มรู้สึกว่ามีความสดชื่นอยู่ภายใน เกิดอาการตื่นตัวภายใน เป็นอาการที่ตื่นตัวภายใน ขยายเข้าไปสู่ภายใน อาการตื่นตัวที่น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดขึ้นอยู่ภายใน ใจก็จะค่อย ๆ ขยายออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีขอบเขต ในที่สุดเราก็จะมีความรู้สึกเหมือนไร้ตัวตน คล้ายกับไม่มีร่างกายเราอยู่ เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ กายกับสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะกลืนกันเป็นอันเดียวกัน ลมหายใจของเรากับจักรวาลก็เหมือนจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และดวงก็จะใส บริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย ใสบริสุทธิ์ 

 


                พอใจใสบริสุทธิ์ ถูกส่วน ก็จะตกวูบลงไปข้างใน เหมือนกับตกจากที่สูง คล้าย ๆ กับอาการที่ตกจากที่สูง มันจะวูบลงไป ตอนนี้อย่าตกใจนะจ๊ะ ปล่อยมันไปอย่าไปฝืนมัน อย่าไปกลัว อย่าขยับตัว อย่ากลัวอะไร ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น นอกจากดวงใสบริสุทธิ์จะปรากฏขึ้นมาแทน แต่เป็นความใสที่แตกต่างจากบริกรรมนิมิตที่เรานึกเมื่อสักครู่นี้ เมื่อใจมันวูบตกลงไปน่ะ จะมีดวงใสดวงใหม่เกิดขึ้นในกลางกายลอยขึ้นมาทีเดียว อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ลอยเกิดขึ้นมาในกลางกาย ใจตอนนี้จะยิ่งมีความสุขยิ่งขึ้น เป็นความสุขที่ดื่มด่ำ ที่เรายอมรับว่า เป็นความสุขและก็แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยเรียกว่า ความสุขในทางโลกที่เราได้เคยผ่านอารมณ์นั้นมา 

 


                เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน เกิดขึ้นอยู่ภายใน จิตก็จะเป็นกุศล จิตจะนึกถึงแต่ความดี จิตจะเป็นกุศล นึกแต่จะสร้างกุศล มีความสุขภายใน ใจจะรู้สึกเกลี้ยง เกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่ไม่สะอาดทั้งหลาย เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะบรรเทาเบาบาง หงุดหงิด งุ่นง่านฟุ้งซ่านรำคาญใจก็จะหายไปหมด มีความรู้สึกว่าเกลี้ยงเกลา เกลี้ยงจนกระทั่งเรายอมรับว่าใจนั้นสะอาด ใจนั้นบริสุทธิ์ แล้วเราก็จะค้นพบว่าความสะอาดความบริสุทธิ์ของใจนั้น ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ยิ่งให้ความสุขของเรามากเท่านั้น เราจะค้นพบว่าความสะอาดความบริสุทธิ์ของใจเราที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นดวงใส อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรืออย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ในตอนเที่ยงวัน ยิ่งสะอาด ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งสว่างเท่าไหร่ ความสุขก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้น 

 


                เป็นความสุขที่แตกต่างจากชีวิตที่ผ่านมา นับร้อยนับพันเท่าทีเดียว นี่คือรางวัลสำหรับผู้ที่ฝึกใจให้หยุดนิ่ง เป็นรางวัลชิ้นแรก ที่จะบังเกิดขึ้นกับผู้ที่ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง และนี่คือต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายท่านอาศัยเส้นทางสายกลางผ่านเข้ากลางดวงธรรมนี้ ขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพานได้ เพราะฉะนั้น ดวงปฐมมรรคหรือความบริสุทธิ์เบื้องต้นนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราทั้งหลาย จะต้องพยายามฝึกฝนอบรมเอาไว้ ให้อยู่ภายในเพราะฉะนั้นให้ท่านทั้งหลายฝึกใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส บริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมา อะระหัง ๆ ๆ ๆ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ อย่าลืมตานะ ตั้งใจให้ดีทุก ๆ คน  

 


                เราก็หลับตาของเราเบา ๆ วางใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจของเราให้หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ใจใสบริสุทธิ์ ท่านที่มาใหม่ก็ให้นั่งตรึกนึกถึงความใส ใจหยุดอยู่ที่กึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ หยุดในหยุด ตรงนั้นนะ หยุดให้สนิททีเดียว วางเบา ๆ ทำใจให้สบาย ๆ แค่ไหนเบาเราก็รู้ หนักไปเราก็รู้ ตึงไปเราก็รู้ หย่อนเราก็รู้ พอดี ๆ เราก็รู้ตัวของเรา ตึงเกินไปร่างกายมันก็จะเครียด มึนศีรษะ ปวดศีรษะ หัวคิ้วย่นเข้าหากัน เปลือกตาเม้มปิดสนิท อย่างนั้นตึงไปหย่อนไปมันก็เคลิบเคลิ้ม ฟุ้งมั่ง ใจเลื่อนลอยไปที่อื่น อย่างนี้เรียกว่าหย่อนไป พอดี ๆ ก็คือใจมันจะเบา สบาย นึกก็นึกอย่างธรรมดา ๆ 

 


                นึกบริกรรมนิมิตก็คล้ายกับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว นึกแล้วก็ไม่มึนศีรษะ ไม่ตึง ไม่ฟุ้งไม่เคลิบเคลิ้ม รู้สึกมีความพอใจที่จะรักษาใจให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ มีความรู้สึกพอใจอยากจะนั่ง นึกถึงดวงใสไปเรื่อย ๆ โดยไม่เบื่อหน่าย ไม่มีความรู้สึกว่าฝืนหรือพยายามที่จะนั่งทำสมาธิ นี่คือความพอดี สำหรับเบื้องต้นในการตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดที่กึ่งกลางความใส สำคัญนะจ๊ะ ถ้าเราเริ่มต้นที่ดีอย่างถูกต้อง การทำสมาธิภาวนา จะอยู่ในวิสัยที่เราทำได้ ไม่สุดเอื้อมเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า เราสามารถเข้าถึงสมาธิได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย ช่วงเวลาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ถ้าเราวางใจเป็น ถ้าวางใจไม่เป็น ๑๐ ปีมันก็ไม่เห็นทำอะไรก็ไม่ได้ 

 

 

                เพราะฉะนั้นเบื้องต้นสำคัญ เราเสียเวลากันนิดหนึ่งในการที่จะฝึกวางใจให้พอดี ๆ สบาย ๆ เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่พยายามทำความเข้าใจทุกขั้นตอน ทุกถ้อยคำที่หลวงพ่อได้แนะไปแล้วนะจ๊ะ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก จะเป็นไม่เป็นก็อยู่กันตรงนี้แหละ แล้วเราจะมีความรู้สึกสนุก เพลิดเพลินต่อการทำสมาธิ แล้วเราก็จะค้นพบว่าการทำสมาธิเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เป็นบ่อเกิดแห่งสติและปัญญา เราจะเข้าใจอะไรต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอีกเยอะแยะ พลังใจต่าง ๆ จะหลั่งไหลพรั่งพรูออกมา จนกระทั่งเราจะเป็นคนมีกำลังใจที่สูง ที่เข้มแข็งที่กล้าจะเอาชนะความชั่ว แล้วก็ทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อย่างอัศจรรย์อย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย 

 

 

                เพราะฉะนั้นวางใจเป็นที่สำคัญนะ อย่าให้ตึงไป อย่าให้หย่อนไป ซึ่งเราก็รู้ หย่อนเราก็รู้ พอดี ๆ เราก็รู้เพราะฉะนั้นจำไว้ให้ดีนะ ท่านั่งให้พอเหมาะจิตใจต้องเบิกบานสบาย นึกถึงบริกรรมนิมิตก็นึกง่าย ๆ คล้ายกับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว อย่าลืมคำนี้นะ หรือน้ำค้างสุกใสอยู่ที่ปลายยอดหญ้า หรือน้ำค้างที่สุกใสปลายยอดหญ้านึกง่าย ๆ อย่างนั้นแหละและให้ต่อเนื่องกันไป พอต่อเนื่องกันไป ใจก็ค่อย ๆ เขยิบเข้าใกล้สมาธิไปเรื่อย ๆ เข้าใกล้แหล่งแห่งความสุขเข้าไปเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าหากว่าเราไม่ประมาท หมั่นฝึกฝนทุกอริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืนทั้งเดิน ทั้งหลับตา ลืมตา ถ้าเราฝึกฝนอย่างนี้ ไม่ช้าก็หยุดง่ายเข้า หยุดนิ่งเพิ่มขึ้นนานขึ้น มั่นคงขึ้น ความสุขก็จะผ่านกระแสใจเราขยายเข้าสู่ระบบประสาทของร่างกาย ตลอดวันตลอดคืน ตลอดเวลาทีเดียว 

 


                เพราะฉะนั้นวางใจให้เป็นนะ แล้วก็หยุดนิ่งใส หยุดในหยุด วางให้พอดีที่ศูนย์กลางกาย เอ้า ฝึกกันนะ ท่านที่มาใหม่ ฝึกให้ใจใสบริสุทธิ์ ให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง นึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ ให้ง่ายคล้ายกับนึกถึงน้ำที่กลิ้งบนใบบัว หรือน้ำค้างที่สุกใสปลายยอดหญ้า ให้นึกถึงดวงใสคล้าย ๆ อย่างนี้นะ นึกไปเรื่อย ๆ ท่านที่เข้าถึงปฐมมรรคคือเห็นดวงใสแจ่มหลับตาเห็นลืมตาเห็น นั่ง นอน ยืน เดิน เห็นใสสว่างเป็นความใสบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นภายใน ใสบริสุทธิ์ ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็น ใสติดอยู่ในกลางกายทีเดียว แล้วก็ความสุขที่ท่วมท้น จนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นความสุขเกิดขึ้นในกลางตัวน่ะ

 


                เราก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของปฐมมรรค แล้วก็ฝึกเข้ากลาง ถ้าใจเราละเอียดก็เอาใจปล่อยลงไปตรงกลางดวง เข้ากลางดวงนั้นไปเรื่อย ๆ เข้ากลางดวงนั้นไปในที่สุดเราก็จะเข้าถึงกายภายใน เราจะพบกายภายในซ้อน ๆ กันอยู่ นี่คือความอัศจรรย์ของคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบกายภายในซ้อน ๆ กันอยู่เป็นชั้น ไม่มีคำสอนอื่นในโลกที่จะสอนให้เข้าถึงกายภายในที่ซ้อนกันอยู่ ความรู้ของคำสอนอื่นนั้นวนเวียนอยู่กับโลกภายนอก วนไปเวียนมาแล้วก็ผูกพันเกี่ยวกับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่คำสอนของพระบรมศาสดา ของพระพุทธเจ้าของเรานั้น สอนให้เข้าถึงกายภายใน ให้รู้จักกายภายในซ้อน ๆ กันอยู่ในสติปัฏฐาน ๔  เป็นเครื่องยืนยันว่าท่านสอนให้เข้าถึงกายในกายภายใน ไปเห็นกายในกาย กายในกายซ้อนอยู่ทีเดียว ปล่อยใจตามเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ เห็นกายภายใน กายภายในนั้นมีอะไรบ้าง 

 


                กายภายในที่ท่าน เข้าค้นพบถึงนั้น มีกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบ ลักษณะเหมือนกับตัวเรานี่แหละ ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย เหมือนเราส่องดูเงาตัวของเราเองในกระจกเงาน่ะ อย่างนั้นนะคล้าย ๆ อย่างนั้นนะ เห็นตัวเองในกระจกเงา นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางกายแต่โปร่งเบากว่า ละเอียดกว่า นุ่มนวลกว่า นั่นเรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด ในกลางกายมนุษย์ละเอียดนั้นน่ะ มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ ที่สวยงามกว่าเรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายของสุคติภูมิ เป็นกายของชาวสวรรค์ เมื่อเราประกอบคุณงามความดีมากเข้า บุญในเมืองมนุษย์ไม่สามารถที่จะรองรับได้ก็ส่งผลให้ไปเกิดอยู่ในสุคติภูมิ อยู่ในโลกสวรรค์เข้าไปเป็นสหายแห่งเทวดา 

 


                กายของชาวสวรรค์นั้นเป็นกายทิพย์ ละเอียดสวยงามมาก เครื่องประดับประดาอะไรต่าง ๆ เต็มพร้อมหมด ติดกับเนื้อตัวเลย ไม่ห้อยรุงรังเหมือนมนุษย์ นั่นกายทิพย์เกิดขึ้น ใครอยากจะรู้จักกายของชาวสวรรค์ ก็ให้มองที่กายทิพย์ของตัวเองนั่น อยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ ในกลางกายทิพย์ก็ยังมีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ที่งามประณีตขึ้น ขึ้นไปกว่านั้นเรียกว่ากายรูปพรหม กายรูปพรหม พวกที่ได้ฌานสมาบัติ ละโลกแล้วไปเกิดอยู่ในรูปภพ ซึ่งมีกายรูปพรหมนี้อยู่ในรูปภพ คือที่อยู่ของกายรูปพรหม อยากจะรู้จักพรหมที่แท้จริงเป็นอย่างไง ก็ให้ดูที่กายพรหมของเราอยู่ในกลางนั้น ในกลางกายรูปพรหมจะเข้าถึงกายอรูปพรหม 

 


                กายอรูปพรหมคือพวกที่ได้อรูปฌานสมาบัติ ละโลกแล้วไปสู่อรูปภพ อยากรู้จักอรูปพรหมน่ะ งดงามแค่ไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้ดูที่กายอรูปพรหมภายในตัวของเราเหมือนกัน มีลักษณะเหมือนกัน ไม่มีแตกต่างกันเลย รูปลักษณะกายเหมือนกัน ต่างแต่รัศมี ความใส ความบริสุทธิ์ของกายเท่านั้น ใครบริสุทธิ์มากมีบุญมาก ทำบุญมาก ก็สุกใสมาก แต่กายนั้นเหมือนกัน เหมือนกันเลย อรูปพรหม ในกลางกายรูปพรหมจะมีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ เป็นกายที่สำคัญทีเดียว เป็นจุดเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา เรียกว่า กายธรรม

 


                ธรรมเบื้องต้นเราเรียกว่า กายธรรมโคตรภู คือพ้นภาวะของปุถุชน อยู่กึ่งทางของพระนิพพาน อยู่กึ่งทางพระนิพพาน โคตรภูบุคคลหรือกายธรรมโคตรภู ลักษณะสวยงามกว่ากายอรูปพรหม งามไม่มีที่ติที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า กายมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการเลย เป็นความงามที่รวมประชุมอยู่ในกายธรรมนี้ ใสบริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูม เกตุของท่านเป็นรูปดอกบัวตูม มองดูคล้ายสวมมงกุฎอย่างนั้นน่ะ แต่มงกุฎที่ติดกับตัวพอเหมาะพอเจาะพอดีกับตัว สวยงามมากเลยทีเดียว งามไม่มีที่ติ นั่นกายธรรม

 


                กายธรรมนั่นเป็นพุทธรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว พุทธรัตนะแปลว่าพระแก้ว พุทธะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว กายธรรมนี้เป็นผู้รู้เป็นสัพพัญญู เป็นผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด เพราะความรู้นั้นเกิดจากความเห็นที่รอบตัว ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน เห็นหมด อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทะลุปรุโปร่งหมด ไม่มีอะไรกำบัง เป็นผู้รู้ ตื่นจากกิเลสทั้งหลาย แล้วก็จิตใจเบิกบานสว่างไสว มีความบริสุทธิ์มีดวงปัญญาอันเลิศ แล้วมีมหากรุณา ประชุมรวมกันอยู่ในนั้นแหละ อยู่ในกายธรรม นี่เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา

 


                 ในกลางกายธรรมโคตรภูนั้น มีกายธรรมอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ที่งามหนักขึ้นไปอีก โตใหญ่ขึ้นไปอีก กิเลสบรรเทาเบาบางลงไปเท่าไหร่ กายยิ่งโตใหญ่ขึ้นไปเท่านั้น สังโยชน์ที่เป็นเครื่องผูกสัตว์โลกให้ติดอยู่ในภพ กายธรรมพระโสดาบันนี้ละได้ สังโยชน์เบื้องต้นละได้ เพราะฉะนั้นกายก็ขยายกว้างออกไปมีหน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วาใสบริสุทธิ์งามไม่มีที่ติ งามหนักยิ่งขึ้น กลางกายธรรมพระโสดาบันนั้น มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่เรียกว่ากายธรรมพระสกิทาคามี กิเลสก็เบาบางลงไปเรื่อย ๆ กายธรรมลักษณะเหมือนกับปั๊มกันออกมาเลย แต่ว่าโตใหญ่ยิ่งขึ้น แต่ว่าสุกใสกว่า สว่างกว่า จิตใจเบิกบานกว่า ความรู้ก็กว้างขวางกว่า ความบริสุทธิ์ก็มากขึ้นกว่าเดิม กิเลสอาสวะก็บรรเทาเบาบางลงไปเรื่อย ๆ 

 


                กลางกายธรรมพระสกิทาคามี มีกายหนึ่งซ้อนอยู่เรียกว่า การธรรมพระอนาคามี มีลักษณะเหมือนกับกายธรรมที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่ว่าโตขึ้นไป ๑๕ วา สวยงามหนักยิ่งขึ้น ใสบริสุทธิ์ งามไม่มีที่ติทีเดียว นี่กิเลสละได้ไปเรื่อย ไปตามลำดับ กิเลสในตระกูล โลภะ โทสะ ละหมดเหลือเพียงกิเลสในตระกูล โมหะ อีกนิดหน่อยเท่านั้น กลางกายธรรมพระอนาคามี มีอีกกายหนึ่งเป็นกายสุดท้าย ที่สวยงามมาก เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต คือกายธรรมอรหัต กิเลสอาสวะหมดสิ้น เกลี้ยงไม่มีเหลือ สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย 

 

 

                ลักษณะกายธรรมก็เหมือนกัน แต่ว่าสุกใสกว่า สว่างกว่าโตใหญ่กว่า หน้าตัก ๒๐ วา สูงไปกว่ากายธรรมพระอนาคามี กายในกายเหล่านี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ แตกต่างจากศาสดาองค์อื่น ไม่เคยสอนกล่าวถึงเรื่องกายภายในเลย กล่าวแต่เรื่องที่ไม่เป็นแก่นสารของชีวิต เพราะฉะนั้นกายภายในเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามเข้าถึงให้ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้แหละ สอนให้เห็นกายภายในตามเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายทั้งหมดอยู่ในภพ ๓ ตกอยู่ในไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เป็นกายที่อาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมก็ดี 

 


                ตั้งแต่กายธรรมขึ้นไป ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไป เข้าสู่โลกุตรภูมิ กายที่พ้นจากไตรลักษณ์ พ้นจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าถึงนิจจัง สุขขัง อัตตา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กิเลสก็บรรเทาเบาบางไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่ากิเลสอาสวะจะ หมดสิ้นได้เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัต ส่วนกายธรรมในเบื้องต้นนั้น กิเลสแค่บรรเทาเบาบาง ว่าบางครั้งยังมีความโลกบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้างแต่ว่าอยู่ในขอบเขต ในขอบข่ายที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรกับใคร เพราะฉะนั้นบางท่านยังไม่เข้าใจนั้น มักจะเหมาโมเมว่าทำไมคนเข้าวัดแล้ว ยังจิตใจถึงยังโมโหมั่ง ยังโกรธคนนั้นคนนี้อะไรต่าง ๆ มั่ง 

 


                จะสังเกตดูให้ดีเถอะ กิเลสในตระกูลเหล่านี้จะหมดสิ้นไปได้นั้น ต้องเข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามีขึ้นไปเรื่อย ๆ พระอนาคามีนั้นก็ละได้ถึง ๒ ตระกูล เหลือตระกูลโมหะ เพราะฉะนั้นนี้คือแผนผังของชีวิตนะจ๊ะ ทุกคนจะต้องพยายามฝึกฝนอบรมใจให้เข้าถึงให้ได้ กายธรรมอรหัตนั้นเป็นกายสุดท้าย เป็นที่หมายปลายทางของเรา เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ใครเข้าถึงกายไหน ใครเข้าถึงดวงธรรมไหน ก็ให้เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของกายนั้นของดวงธรรมนั้น แล้วให้ใจหยุดในหยุด หยุดในหยุด ใสในใส บริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย นึกอย่างสบาย ๆ นึกให้ชัดเจนทีเดียวนะ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ 

 


                ทำจิตใจให้เบิกบานแช่มชื่น เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้ใจหยุดในหยุดหยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ใจใสบริสุทธิ์ หยุดในหยุดให้ดีนะ อย่าลืมตา อย่าพูดอย่าคุยกัน อย่าขยับตัวนะ ให้ใจหยุดในหยุด ใจใส ขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ ให้ทุก ๆ ท่านนั้นได้ผลบุญปัจจุบันทันตาเห็น ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ให้ทำมาค้าขึ้น ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานและสิ่งที่พึงปรารถนา ให้แต่ละคนนั้นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อย่าได้เจ็บอย่าได้ป่วยอย่าได้ไข้ ให้อายุยืนยาวให้มีสายสมบัติได้บังเกิดขึ้น ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น 

 


                ให้มีดวงปัญญาอันเลิศ แตกฉานแทงตลอดทั้งทางโลกและทางธรรม ให้บุญคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหลาย อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย ภัยทุกชนิดศาสตราวุธ เขี้ยวงา หมอเสน่ห์ เล่ห์กลมนต์คาถา เจ้าทรงผีสิงต่าง ๆ ให้ละหายสูญไปทั้งหมด ให้จิตใจเบิกบานแจ่มใสในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ใจทุก ๆ คน ตั้งอยู่ในทาน ศีล ภาวนา อยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ในปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา จนกระทั่งเราตั้งอยู่ในโคตรภู โสดา สกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต 

 


                เข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งหลาย เนี่ยะคุณยายทับทวีขอศีลขอพร ขอบุญบารมี รัศมี ขอกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิให้บังเกิดขึ้นแก่พวกเราทั้งหลายด้วย ให้ได้ผลบุญปัจจุบันทันตาเห็น อธิษฐานสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกที่ควรที่ชอบ ก็ให้สำเร็จ สำเร็จ สำเร็จ เป็นอัศจรรย์ทีเดียว แล้วคุณยายก็ทับทวีคุมบุญหมดทุกคน ให้ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ให้ติดให้หมด ให้เข้าถึงวิชชาธรรมกายให้ได้ ติดให้หมดเลย คนภัยคนพาลก็ให้ละลายหายสูญให้หมด ศัตรูหมู่ภัยที่คิดร้ายก็ให้แพ้ภัยแพ้อำนาจ ให้จิตใจผู้ที่คิดจะเป็นปรปักษ์เป็นศัตรูก็ให้เปลี่ยนกลับมาเป็นมิตร เป็นมิตรมีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน 

 


                 คุณยายทับทวีไป ทับทวีบุญไปด้วย ทับทวีคำอธิษฐานจิต แล้วคุมบุญให้ดีกลั่นให้สะอาดทุกคน ให้ติดที่ศูนย์กลางกาย ในเส้นทางของการสร้างบารมีของเส้นทางของธรรมกายนี้ อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหมดอายุขัยไปทุกภพทุกชาติจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน เนี่ยะทับทวีไป แล้วพวกเราก็อธิษฐานจิตให้ดีนะจ๊ะ อธิษฐานจิตของเราให้ดี ให้ใจตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายน่ะ อธิษฐานอย่างสบาย ๆ ส่วนคุณยายนั่นก็คุมบุญให้ติดที่ศูนย์กลางกาย ติดหมดทุกกายเลย มีกี่กายก็ติดให้หมดเลย ติดอยู่ในกลางกายมนุษย์จะไปเกิดเป็นมนุษย์ที่ภพกี่ชาติ สร้างบารมีก็ให้สร้างอย่างสะดวกสบาย ให้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศสรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน ติดไปหมดเลย 

 


                สร้างไปให้สะดวกสบาย ติดอยู่ในกลางกายทิพย์ ไปอยู่ในสุขคติโลกสวรรค์ก็ให้มีสมบัติทิพย์ที่เป็นเลิศ ติดหมดทุก ๆ กายไปเรื่อย ๆ นะ คุณยายคุมติดหมดเลย พอติดดีแล้วก็อธิษฐานจิตในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ เป็นวันบุญใหญ่ประจำปี ซึ่งจะมีคุณยายเป็นประธานใหญ่ ก็ให้มีสาธุชนทั้งหลายผู้มีบุญมาร่วมบุญกันให้มาก ๆ ให้คุณยายทับทวีบุญไปอย่างนี้ ใครที่มาร่วมบุญยายในวันนั้นก็ให้ได้ผลบุญเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็น เป็นบุญพิเศษ พิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป คุณยายอายุมากแล้ว อายุ ๘๐ กว่า เป็นผู้บุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายเรื่อยมา เป็นที่ตั้งอยู่ฐานะครูบาอาจารย์ของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย หลวงพ่อถึงไปขอให้ยายมาเป็นประธานอย่างนี้แหละ ไปจนกว่าจะหมดอายุขัย สร้างบารมีไป ภพต่อไปในชาติหน้าเราก็จะได้สร้างบารมีร่วมกันไปอีก ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าชาตินี้ไปเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน

 


                เพราะฉะนั้นทูลพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ว่าวันมาฆบูชาที่จะถึงซึ่งมียายเป็นประธานใหญ่นี้ ทุก ๆ ท่านตั้งแต่ประธานรองลงไป แล้วก็ประธานกอง ตลอดจนกรรมการและผู้ร่วมบุญ ให้ได้บุญเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็นเป็นบุญพิเศษให้คุณยายกราบทูลพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ให้ท่านทูลต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ แล้วให้ลงหล่อเลี้ยงรักษาทุก ๆ คน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้มีความสุขกาย สุขใจ สร้างบารมีกันอย่างสะดวกสบาย สายสมบัติบังเกิดขึ้นได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น จะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรก็ให้มีดวงจิตที่ผ่องใส มีพลังบุญ พลังบารมี ถ้อยคำจะเจรจาพูดจากับใครก็ตาม ให้เป็นถ้อยคำที่ประเสริฐ ก็หลั่งไหลออกมาจากศูนย์กลางกาย กระทบจิตกระทบใจบุคคลใดก็ตามให้เขาเกิดความเลื่อมใส ปิติขนพองสยองเกล้าในคำสอนของพระบรมศาสดา ให้ใจเขาตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย แล้วให้มาร่วมงานบุญใหญ่ในงานมาฆะใหญ่นี้ ให้หมดทุก ๆ คน คุณยายทับทวีกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ ต่อจากนี้พวกเราก็จะอธิษฐานจิตได้ตามใจชอบกัน 



 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011583844820658 Mins