กฐินฉลอง ๘๔ ปี คุณยายอาจารย์ฯ

วันที่ 10 เมย. พ.ศ.2567

100467b01.jpg
กฐินฉลอง ๘๔ ปี คุณยายอาจารย์ฯ
๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน ให้ทุกท่านน้อมใจกันตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆคนนะจ๊ะ ขอให้ทุกคนนั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้ที่บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาให้พอดี ๆ พอสบาย ๆ แล้วทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส และใจที่สะอาดที่บริสุทธิ์ที่ผ่องใสเท่านั้น จึงจะเป็นใจที่เหมาะสมที่จะรองรับบุญใหญ่

 


                ให้สมมติหยิบเส้นด้ายขึ้นมาสองเส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นด้ายเส้นหนึ่งให้สมมติว่าขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงจุดตัดที่เล็กเท่ากับปลายเข็มนี้ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกใจถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือโดยสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน และนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง เหนือขึ้นมาสองนิ้วมือเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นฐานที่เราจะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองขึ้นมา สองนิ้วมืออยู่ในกลางกายของเราพอดี เป็นที่สุดของลมหายใจเข้า เวลาเราสูดลมเข้าไปเนี่ยะ ตรงปลายลมของเราจะไปจรดอยู่ที่ตรงนี้ 

 


                ตรงฐานที่ ๗ นี้พอดี ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นที่เกิด เป็นที่ดับ เป็นที่หลับแล้วก็เป็นที่ตื่น จะมาเกิด มนุษย์ทุกคนเป็นกายทิพย์ เข้ามาหยุดอยู่ที่กลางกายของบิดา หยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วก็บังคับให้บิดาไปหามารดา เพื่อประกอบธาตุธรรม กายหยาบนี้ กายละเอียดก็เคลื่อนย้ายฐานที่ ๗ ออกจากปากทาง ทางปากช่องจมูกของบิดา เข้าสู่ปากช่องจมูกของมารดา แล้วก็ไปหยุดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ของมารดา เวลาไปเกิดก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะตาย ใจก็จะมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้น่ะ ตรงฐานที่ ๗ แล้วก็เคลื่อนย้ายออกไปที่ฐานที่ ๖ คือตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง แล้วก็เคลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก มาเพดานปาก มาที่กลางกั๊กศีรษะ มาที่หัวตา และออกทางปากช่องจมูกไป 

 


                เพราะฉะนั้นมาเกิดและไปเกิด ก็ต้องเริ่มต้นอยู่ที่ตรงนี้แหละตรงฐานที่ ๗ เวลาหลับเช่นเดียวกันน่ะ ใจของเราก็จะมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ พอหลับอยู่ที่ตรงนี้ กายละเอียดก็จะออกไปทำหน้าที่ฝัน ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ มีสายเชื่อมโยง ระหว่างกายหยาบกับกายละเอียด ตรงฐานที่ ๗ เวลาตื่นก็ตื่นอยู่ที่ตรงนี้ เข้าใจยากสักนิดนึงนะจ๊ะ มันต้องไปเห็นน่ะ ถึงจะเข้าใจว่าตรงนี้เหละเป็นที่เกิดที่ดับ ที่หลับแล้วก็ที่ตื่น ที่เดียวกันตรงฐานที่ ๗ นอกจากนี้ ตรงฐานที่ ๗ นี้น่ะ ยังเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเสด็จไปสู่อายตนนิพพาน ก็อาศัยเริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วก็ดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลางภายใน

 


                แล้วก็เห็นขบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในฐานที่ ๗ นี้เรื่อยไปตามลำดับ คือพอใจหยุดนิ่งถูกส่วนก็เห็นดวงธรรมเบื้องต้นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่ตรงนี้ แล้วท่านก็เอาใจของท่านหยุดต่อไปเรื่อย ๆ หยุดไปตามลำดับ ก็เห็นกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายในเป็นมิติซ้อนมิติ เป็นความละเอียดที่ซ้อนอยู่ในความหยาบกว่าไปตามลำดับ ท่านก็จะเข้าไปพบกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่กลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายธรรมพระโสดาบันซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมโคตรภูกายธรรมพระสกิทาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระอนาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอรหัตซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระอนาคามี มันซ้อนกันอยู่ข้างใน โดยมีศูนย์กลางกายร่วมกัน 

 


                 ศูนย์กลางกายที่อยู่ร่วมกัน นี่เป็นเรื่องแปลกทีเดียว เป็นมิติที่ซ้อนมิติ เป็นกายซ้อนกาย เป็นชีวิตต่างระดับที่ซ้อน ๆ กันอยู่ ตั้งแต่ชีวิตในระดับของปุถุชน กับชีวิตของพระอริยเจ้า ชีวิตของปุถุชนก็อยู่ข้างนอก หยาบออกมา ชีวิตของพระอริยเจ้าก็ซ้อนเข้าไปข้างใน ซ้อนกันเข้าไปเป็นชั้น ๆ แต่มีศูนย์กลางนี้ร่วมกันอยู่ตรงฐานที่ ๗ และเวลาซ้อนมันจะซ้อนขยายออกไปรอบทิศรอบตัวซ้อนเข้าไป มันซ้อนกันอยู่ข้างในเนี่ย ละเอียดเข้าไปตามลำดับ กิเลสที่หุ้มใจก็หุ้มไปตามลำดับ และก็เจือจางเข้าไปเรื่อย ๆ คือกิเลสที่หุ้มกายมนุษย์หยาบก็อย่างหนึ่งเรียกว่าอวิชชา พยาบาทมิจฉาทิฐิมันหุ้มอยู่ ในกายมนุษย์ละเอียดกิเลสก็เลยละเอียดลงไป ในกายทิพย์กิเลสที่ละเอียดกว่าก็หุ้มกันต่อไป กายรูปพรหมกิเลสก็จางลงไปเรื่อย ๆ อรูปพรหมก็จางลงไปอีก ถึงกายธรรมโคตรภู พระโสดา สกิทาคา พระอนาคา พระอรหัตจางไปเรื่อย ๆ 

 


                พอถึงพระอรหัตก็หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ กิเลสไม่มีเลย เครื่องฆ่ากิเลสก็อยู่ที่เดียวกันตรงนั้นแหละ อยู่ในกลางกายตรงฐานที่ ๗ มันหุ้มที่เดียว แต่มันซ้อนกันขึ้นอยู่กับอย่างไหนหยาบละเอียดกว่ากัน มรรคเป็นเครื่องฆ่ากิเลส เป็นดวงธรรมที่สว่างอยู่ในกลางกาย เหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยง ความสว่างของดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงขจัดความมืดให้หมดไป ความสว่างของอริยมรรคภายใน ก็ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปฉันนั้น หมดสิ้นไปเลย แบบสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ และซ้อนกันอยู่ภายในไปตามลำดับเป็นคู่ปรับกัน ปรับกันไปเรื่อย ๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงกายธรรมพระอรหัตในกลางนั้นจะสว่างเหมือนพระอาทิตย์ตอนเที่ยงที่ไม่ตกดิน สว่างตลอด กิเลสไม่มีเหลืออยู่เลย

        


                เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ท่านอยู่ในตัวของเราน่ะ เป็นตัวของเราเอง ซ้อนกันอยู่ภายในขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าถึงท่านได้แค่ไหน ถ้าเข้าถึงท่านได้ก็พบท่านได้ ถ้าเข้าไม่ถึงก็ไม่พบท่าน พระอรหันต์ก็อยู่ในกลางกายเราไม่ได้อยู่ที่ไหนนะจ๊ะ ถ้าเรามัวแต่ไปแต่แสวงหาพระอรหันต์ภายนอกบางทีก็ถูกหลอกได้นะ สู้เราหาพระอรหันต์ภายในนี้ดีกว่า มันมีอยู่แล้ว คุณธรรมชนิดนี้อยู่ในตัว เหลือแต่ว่าให้เข้าถึงเราจะทำให้เข้าไปถึงได้แค่ไหน วิธีที่จะทำให้เข้าถึงนั้น ต้องหยุดอยู่อย่างเดียว วิธีการเข้าถึงอย่างนี้น่ะจะแตกต่างจากทางโลก มันสวนทางกัน ทางโลกจะไปถึงที่หมายนั้นต้องเคลื่อนไหว ต้องใช้กำลังไปกันอย่างรวดเร็ว แต่ในทางธรรมนี้จะไปให้ถึงนั้นต้องหยุด คือต้องเอาความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่างที่กระจัดกระจายกันไปนะ

 


                รวมหยุดเป็นจุดเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดให้สนิททีเดียว หยุดให้ถูกส่วนพอหยุดให้สนิทถูกส่วนเข้า ดวงธรรมภายในก็จะดูดเราเข้าไปข้างใน ถ้าใครมีประสบการณ์ด้วยตัวเองจะพบว่า เมื่อเรานั่งภาวนาไปเพลิน ๆ น่ะ พอใจเราหยุดถูกส่วนเหมือนมีแรงดึงดูดจากข้างในนะ ดูดวูบให้เราเข้าไปสู่ข้างใน ซึ่งบางครั้งทำให้เราตกใจ เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน แต่นั่นคืออาการที่ดวงธรรมภายในเขาดึงดูดเราเข้าไปข้างใน เมื่อความละเอียดของเรานั้นเท่ากับความละเอียดของดวงธรรมภายในคล้าย ๆ กับเครื่องส่งเครื่องรับวิทยุ ถ้ากระแสคลื่นมันตรงกันมันละเอียดเท่ากันก็ดูดเข้าหากัน เมื่อใจเราหยุดนิ่งอย่างนี้เนี่ย พอถูกส่วนมันก็จะดูดเข้าไปแล้วก็เห็นดวงธรรมต่าง ๆ ผุดเกิดขึ้นมา 

 


                ดวงธรรมที่เกิดขึ้นมาลักษณะคล้าย ๆ กับดวงแก้วภายนอก คือกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ แต่ใสกว่าดวงแก้วในเมืองมนุษย์ มันเป็นความใสที่เราไม่เห็นเนื้อเลย ไม่เห็นเนื้อแก้วภายในนั้น โล่ง โปร่ง เบาสว่าง อยู่กลางใจกลางกายน่ะ จะผุดเกิดขึ้นมาในกลางนั้น เราไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากทำหยุดอย่างเดียว หยุดกับนิ่งเฉย ๆ พอถูกส่วนมันก็จะดูดเข้าไป แล้วก็เห็นกายในกายดังกล่าว คือกายมนุษย์ มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม กายธรรมโคตรภู พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต ดึงดูดเข้าไปข้างใน โดยมีศูนย์กลางกายร่วมกัน แต่ความละเอียดนั้นแตกต่างกัน จะมาซ้อนกันอยู่ลักษณะอย่างนี้ นี่ซ้อนกันอยู่ นี่เป็นของจริงแท้ที่มีอยู่ตัวของเราของมนุษย์ทุก ๆ คน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา 

 


                แต่ถ้าหากว่าใคร ไม่ทราบวิธีการก็เข้าไม่ถึง ถ้าทราบวิธีการแล้วก็เอาใจหยุดดังกล่าวแล้ว จะต้องเข้าถึงกันอย่างแน่นอน ดังนั้นพระอรหันต์ พระอริยเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนนะจ๊ะ อยู่ในตัวของเรานี่เองไม่ต้องมัวไปแสวงหาที่อื่น ไปแสวงหาที่อื่นนี่เราดูไม่ออกหรอก เพราะไม่มีใครประกาศว่าใครเป็นพระอริยเจ้า ที่ต้องเข้าถึงในตัวอย่างนี้ อาศัยหยุดอย่างเดียว การหยุดนี้ต้องมีวิธีการ คือปกติของใจเรานั้นมักวิ่งซัดส่ายไปในที่ต่าง ๆ ใจจะหยุดได้จะต้องประกอบไปด้วยบริกรรม ๒ อย่าง คือบริกรรมนิมิต กับบริกรรมภาวนา บริกรรมนิมิตคือการนึกถึงภาพ เครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นี่คือบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา ให้ใช้คำภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ 

 


                ใช้บริกรรมภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ถ้าหากว่าเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง คือนึกถึงเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเราแล้วก็บริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ถ้าไม่เผลอนะจ๊ะ ไม่ข้าใจก็จะหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งถูกส่วน คำภาวนาสัมมาอะระหังมันก็จะเลือนหายจากใจไปเหลือแต่ที่ใจหยุดนิ่งอย่างเดียว ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็เข้าถึงดวงปฐมมรรคดังกล่าว เป็นดวงใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน นี่คือหลักการในการปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดนิ่งนะจ๊ะ 

 


                ทีนี้วิธีการ วิธีการที่จะทำให้ใจหยุดได้รวดเร็ว เราจะต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน ด้วยความนุ่มนวล ด้วยความแผ่วเบาให้มันเป็นไปตามธรรมชาติเท่าที่เราจะทำได้ เช่นเมื่อเราตรึกนึกถึงดวงใส เราก็จะต้องนึกอย่างละเอียดอ่อน นึกอย่างแผ่วเบาให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คล้าย ๆ กับการนึกถึงภาพความใสบริสุทธิ์ของเพชร ของน้ำแข็ง หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือความใส บริสุทธิ์ของน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า และให้นึกแผ่วเบาอย่างนี้ ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ ค่อยๆ นึกไป จะเป็นหรือไม่เป็นก็อยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ คือเราต้องนึกอย่างแผ่วเบาอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ นึกให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของการนึก อย่าไปตั้งใจนึกมากเกินไป 

 


                ถ้าตั้งใจเกินไปมันก็จะทำให้ระบบประสาทของเราเครียด พลอยทำใจไม่สงบ จะต้องนึกอย่างแผ่วเบา พอดี ๆ แล้วจะต้องไม่แบ่งใจเราไปที่ไหนเลย ต้องรวมทั้งหมด รวมใจทั้งหมดเลยคือความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้นะ รวมหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดอยู่ตรงนั้นน่ะ และก็อย่าดูห่าง ๆ อย่านึกห่าง ๆ นึกเหมือนเราเข้าไปอยู่ที่ตรงศูนย์กลางกายเลย ความรู้สึกของเราทั้งมวลทั้งหมดเลยให้เข้าไปหยุดตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็นึกอย่างแผ่วเบา นึกอย่างแผ่วเบา อย่างสบาย ๆ ถึงความใส บริสุทธิ์ของเครื่องหมายที่ใสสะอาดประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา 

 


                เราจะต้องนึกถึงภาพเครื่องหมายนี้ให้ต่อเนื่องกันไป ให้ต่อเนื่องกันไป อย่าให้เผลอ พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ เราจะภาวนากี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องนึกควบคู่กันไปกับเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกเบา ๆ อย่าไปตั้งใจแรงเกินไปนะจ๊ะ ใครที่ติดนิสัยที่นึกแรงเกินไป ก็ต้องปรับใจซะใหม่ ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ คิดไปอย่างสบาย ๆ ถึงดวงใสบริสุทธิ์ เครื่องหมายที่ใสประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกอย่างเบา ๆ นะจ๊ะ นึกอย่างแผ่วเบา ให้เป็นไปตามธรรมชาติของการนึกคิด คล้ายกับการนึกถึง น้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า นี่ต้องพยายามนึกอย่างนี้นะ ต้องทำอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                อย่างไปตั้งใจมาก ถ้าตั้งใจมาก โดยจะพยายามไปเค้นเอาภาพออกมาที่ศูนย์กลางกายน่ะไม่สำเร็จเพราะว่ามันผิดวิธี พลอยทำให้ระบบประสาทตึงเครียดแล้วก็ไม่ได้ผล ต้องนึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ ทำใจเย็น ๆ ให้หยุดนิ่ง ทำกันนะจ๊ะ ทำกันอย่างนี้ นึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ ภาวนาอย่างสบาย ๆ ตรึกไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้ ใจเย็น ๆ ให้ ใจสบาย ให้ใจเบิกบาน แช่มชื่นให้หยุดให้นิ่ง ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์อย่างแผ่วเบา อย่างละเอียดอ่อน พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ 

 


                ขอเรียนเชิญทุกท่าน ตั้งใจหลับตาเจริญสมธิภาวนากันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้ที่บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ แล้วก็ทำใจให้สดชื่น ให้เบิกบานให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส แล้วก็เอาใจของเรา หยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกเส้นด้ายเส้นด้ายเส้นหนึ่ง สมมติว่าเราขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งสมมติว่าเราขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง จะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือจุดตัดของ เส้นด้ายทั้งสองนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สมมติว่าเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่หยุดใจของเรา  

 


                เราจะต้องเอาความเห็นความจำ ความคิด ความรู้รวม ๔ อย่าง หยุดเป็นจุดเดียวกัน  หยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมนึกถึงบริกรรมนิมิต คือเครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเราให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้ อย่างแผ่วเบา ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้ อย่างแผ่วเบาเป็นดวงใสบริสุทธิ์โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้ อย่างแผ่วเบาให้เป็นไปตามธรรมชาติ ของการนึกคิด เท่าที่จะเป็นได้ คล้ายกับการนึกคิดถึง น้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า เวลาเรานึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้านั้น เราจะสังเกตุได้ว่าเรานึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างแผ่วเบา แล้วภาพนิติตนั้น ก็เกิดขึ้นมาในมโนภาพ 

 


                เกิดภาพทางใจเกิดขึ้น การนึกถึงเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว โตเท่ากับแก้วตานี้ก็เช่นเดียวกัน ให้นึกด้วยวิธีการอย่างนั้นน่ะ คื่อนึกอย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไป อย่าให้ขาดตอน ถ้าหากว่ามีความคิดอื่นแทรกเข้ามาในใจ ก็ให้ประกอบบริกรรมภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะภาวนากี่ครั้งก็ได้ แต่ทุกครั้งที่เราภาวนาเราจะต้องไม่ลืมนึกถึงความใสบริสุทธิ์ ของดวงแก้วที่เรานึกขึ้นมาอย่างแผ่วเบาสบาย ๆ ถ้าหากเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ คือนึกถึงดวงแก้วอย่างแผ่วเบาสบาย ๆ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าจะเกิดสิ่งที่ ๓ 

 


                คำภาวนานั้นจะเลือนหายไปจากใจ เราจะเห็นแต่ดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมาแทน ในกลางหยุดกลางนิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นดวงใสบริสุทธิ์ ใสเกินใส ใสอย่างที่ไม่มีตัวอย่างความใสใด ๆ ในโลก มาเทียบได้ เป็นความใสบริสุทธิ์ภายในที่มองไม่เห็นเนื้อแก้ว มันโล่งมันโปร่งเบาสว่างอยู่ในกลางกาย เบื้องต้นเราจะต้องนึกให้ได้อย่างนี้นะจ๊ะ ความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้วเป็นเครื่องวัดว่าใจเราสะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหน ถ้าใจเราสะอาดบริสุทธิ์มาก ความใสบริสุทธิ์นั้นก็จะยิ่งใสมาก ถ้าหากว่าใจเราขุ่นมัวเศร้าหมอง จิตไม่ละเอียดหรือหยาบ ความใสนั่นก็ลดลงมาตามลำดับ

 


                เพราะฉะนั้นการที่เรานึกถึงความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้วอยู่บ่อย ๆ จะทำให้ใจของเราถูกขัดเกลาให้สะอาดให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส หลักของการบำเพ็ญบุญนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการมหากุศลให้เกิดขึ้น ทำบุญน้อยให้ได้ผลมากให้ได้บุญมากทำมากให้ได้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราจะต้องทำใจของเรานี่ให้ใสให้สะอาดให้บริสุทธิ์ จนกระทั่งความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางกายฐานที่ ๗ ยิ่งสะอาดมาก ผลบุญก็จะยิ่ง ยิ่งใหญ่ไพศาล เมื่อเวลาบุญส่งผลให้กับตัวของเราเอง ถ้าใจสะอาดมาก สว่างมาก เราก็จะได้ผลนั้นมาก ได้อย่างสะดวกสบาย ได้อย่างเยือกเย็นและก็ได้มากได้อย่างทันอกทันใจ โดยไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคทั้งสิ้น 

 


                บุญนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชีวิตทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในระดับไหนก็ตาม ตั้งแต่ชีวิตในระดับปุถุชน จนกระทั่งถึงในระดับของพระอริยเจ้าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชีวิตทั้งมวลนั้น คือบุญนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นผู้นำของประเทศ เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็อาศัยบุญนี่แหละเป็นเครื่องดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จ บุญบันดาลให้เกิดทั้งความสามารถ ความรู้ ความสำเร็จทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการสั่งสมบุญนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย 

 


                พระผู้มีพระภาคเจ้า สมัยท่านยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ สร้างบารมีอยู่นั้น ท่านได้เกิดมาเพื่อสร้างบารมีกันมาทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดมาอยู่ในฐานะอันใดก็ตาม เกิดมาเป็นยาจกวณิพกท่านก็สร้างบารมี เกิดมาเป็นคนที่มีฐานะปานกลางก็สร้างบารมี เกิดมาเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีก็สร้างบารมี เกิดมาเป็นผู้นำของประเทศท่านก็สร้างบารมี แม้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองได้ตลอดทั้งโลกโดยธรรมนั้นท่านก็ยังสร้างบารมีเพราะฉะนั้นชีวิตมนุษย์ที่เกิดมานี้เพื่อการสร้างบารมีเท่านั้น นี่เป็นหลักใหญ่ของชีวิต ส่วนอื่นนั้นเป็นสิ่งประกอบ จะทำมาหากินก็ดี ในระดับชีวิตระดับไหนก็ตาม ยังเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักของการเกิดมา นั้นเพื่อการสร้างบารมี สร้างบารมีให้มากที่สุดจนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าของเรานะทุก ๆ พระองค์ท่านก็ทำของท่านอย่างนี้ 

 


                เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อจะตั้งคำขวัญไว้ว่า เราเกิดมาสร้างบารมีนั้น ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่ยึดเอาแบบแผนของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมัยท่านยังสร้างบารมีอยู่นั้นเป็นแบบอย่าง ทุก ๆ พระองค์จะเหมือนกันไปหมด เพราะฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายก็ขอให้จำเอาไว้ว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมีเท่านั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม วัตถุประสงค์ของการเกิดก็เพื่ออย่างนี้จำได้ในวันนี้อย่างนี้ กลับไปบ้านสมปรารถนาแล้วสำหรับการที่มาในวันนี้ เพราะได้ถ้อยคำที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ติดตัวของเราไป บารมีของเราจะเต็มเปี่ยมได้นั้นใจต้องใส ต้องสะอาด ต้องบริสุทธิ์ ถ้ายิ่งบริสุทธิ์มากจนกระทั่งความบริสุทธิ์ ปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางใจ บุญก็จะยิ่งใหญ่ไพศาล จะทำอะไรก็ตามก็จะไม่มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น 

        


                เมื่อกระแสธารแห่งบุญเกิดขึ้นจากการถวายทานขาดจากใจแล้ว จะมารวมกันเป็นดวงสว่างอยู่ที่กลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ติดไปหมดทุกกายเลย ติดทั้งกายมนุษย์หยาบ ติดทั้งกายมนุษย์ละเอียด ติดทั้งกายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ติดทั้งกายธรรม ดวงบุญจะติดหมดทุกกายเลย และดวงบุญอันนี้แหละจะส่งกระแสไปดึงดูด ดูดทั้งคนดูดทั้งเงิน ดูดทั้งลาภยศ สรรเสริญ สุข ดูดกระทั่งมรรคผลนิพพาน ดูดความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ นี่เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งจะรู้จะเห็นได้ต้องเข้าถึงธรรมกาย ถ้าไม่เข้าถึงธรรมกายแล้วมองเห็นอย่างนี้ไม่ได้ 

 


                ธรรมกายจะมองเห็นตลอดเส้นทาง ตั้งแต่จิตเริ่มเป็นกุศล เริ่มบำเพ็ญบุญและผลบุญที่จะเกิดขึ้นน่ะ มันติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายเป็นผังสําเร็จ ติดอยู่ในกลางกายติดไปหมดทุกกายเลย เป็นดวงสว่างอยู่ในกลางกายนั้น  เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องตั้งใจให้ดีนะจ๊ะ ตั้งใจให้ดีก็เอาใจของเราหยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทำใจของเราให้ละเอียดอ่อน ให้แผ่วเบา นึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงใส บริสุทธิ์อย่างสบาย ๆ อย่าไปตั้งใจมากเกินไป ถ้าตั้งใจมากเดี๋ยวจะเครียด จะทำให้ระบบประสาทตึงเครียด พลอยทำให้ใจของเราไม่สงบ เพราะฉะนั้นค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ คิด แล้วก็ทำภาวนาสัมมา อะระหัง ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ จนกว่าจะถึงเวลาอันควรนะจ๊ะ เอาใจหยุดนิ่งให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์  

 


                อนึ่ง กฐินในปีนี้เนี่ยเป็นกฐินใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย เป็นวาระครบ ๓ รอบของคุณยายอาจารย์ของเรา พวกเราศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันที่จะมาร่วมบุญกับท่าน จัดกองกฐินสามัคคีกันมา เป็นประธานรองนี้ก็จำนวนมากพอสมควร แล้วก็ประธานกองก็เยอะ เดินทางมาจากทั่วประเทศก็มากมาย หวังว่าจะเอาบุญกุศลนี้ต่ออายุท่านให้ยืนยาว นอกจากจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาแล้ว  ก็เพื่อผลอันนี้วันนี้จึงเป็นวันที่วิเศษ เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจให้ดีนะจ๊ะ 

 


                ให้ใจหยุดใจนิ่ง ให้ใจใสสะอาด บริสุทธิ์ ให้หยุดในหยุดหยุดในหยุด หยุดในหยุด ให้ใจนิ่งในนิ่ง นิ่งในนิ่งลงไปตรงกลางกายนะ หยุดให้สนิททุกคน กว่าเราจะได้ปัจจัยมาเพื่อสร้างบารมีนี้มันไม่ใช่ของง่าย ได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว ทรัพย์นี่ใคร ๆ ก็หวงแหน แต่ว่าเมื่อเราเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อชาวโลกที่จะได้มีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เราจึงเกิดกุศลศรัทธานะ สละทรัพย์อันมีค่าของเรานี้นะ ร่วมสนับสนุนเป็นกำลังที่จะขยายงานพระพุทธศาสนา ให้เป็นที่พึ่งต่อชาวโลกด้วยใจที่ปีติ ด้วยใจที่เบิกบานใจมีความสุขใจที่ได้มีส่วนร่วมในงานสร้างบารมีในคราวนี้ เพราะฉะนั้นให้ใจนิ่งให้ดีนะจ๊ะ ให้ใจหยุดใจนิ่ง ใจใส บริสุทธิ์อย่างไม่เป็นมาก่อนเลย อย่าให้ใจวอกแวกไปที่อื่นนะจ๊ะ 

 


                ให้ใจหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่ง ตรึกนึกถึงดวงใสอย่างแผ่วเบา อย่างละเอียดอ่อน อย่าไปเพ่งนะจ๊ะ อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง ให้นึกอย่างแผ่วเบา สบาย ๆ บางท่านไม่เข้าใจก็นึกว่าหลวงพ่อสอนให้เพ่งลูกแก้ว มันเพ่งไม่ได้หรอก เพ่งแล้วปวดลูกนัยน์ตา แล้วก็จะเกิดอาการตึงเครียดทางใจ สมาธิจะไม่เกิด ต้องนึกคิดอย่างแผ่วเบา สบาย ให้เป็นไปตามธรรมชาติของการนึกคิดสิ่งของทั่ว ๆ ไป แต่แทนที่เราจะคิดสิ่งอื่น เราก็มาคิดถึงความใสสะอาด บริสุทธิ์ของดวงแก้ว ให้ใสที่สุด เท่าที่จะใสได้นะจ๊ะ อย่าเกร็งตัวนะ ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด ปรับให้สบาย ๆ แล้วก็อย่ากังวลกับอะไรทั้งสิ้น อย่ากลัวเสียเวลา อย่ากังวลกับอะไรทั้งหมด วาระนี้ วาระสำคัญ ให้ใจหยุดนิ่ง ใสบริสุทธิ์ให้ดีทีเดียว

 


                คุณยายก็ไปอัญเชิญเทวดาทั้งหลาย ตั้งแต่ภุมเทวา รุกขเทวา อากาศเทวา ภุมเทวาก็คือเทวดาที่อยู่ตามพื้นมนุษย์ มีภพซ้อนกันอยู่ รุกขเทวาก็เหมือนกันที่มีวิมานซ้อนกันอยู่ในต้นไม้ อากาศเทวามีวิมานอยู่ในอากาศ ชาวสวรรค์ทั้งหลายตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี มาให้หมดให้พร้อมกันให้หมดเลย พรหม อรูปพรหมทั้งหลายตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันต์จักรวาล คุณยายไปอันเชิญประกาศกันให้ทั่วถึงเลยว่าวันนี้วันบุญใหญ่พวกเราเดินทางมาจากทั่วประเทศ มาร่วมบุญถวายผ้ากฐินสามัคคีแต่พระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาศ ณ วัดพระธรรมกายนี้นะ รวมมาให้หมดเลย ให้เขามาอนุโมทนาสาธุการ และวันนี้ก็มีพระองค์เจ้าวิมลฉัตรฯ ท่านเสด็จมาร่วมบุญด้วย มี ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพวกเราลูก ๆ หลาน ๆ ยายทุก ๆ คนมากันมากมายทีเดียวนะ 

 


                ให้เทวดา พรหม อรูปพรหม ก็มาให้พร้อมกันให้หมดเลย แล้วคุณยายก็อาราธนาพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้มาทรงรับรู้รับเห็นเป็นพยาน ในมหากุศลผลบุญของพวกเราหมดทุก ๆ คน อาราธนาท่านออกมาให้หมดให้เต็มไปหมดเลย ให้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการสร้างบารมีในวันนี้ ในวาระครบ ๓ รอบของคุณยาย พระภิกษุสงฆ์ สามเณรทั้งหลาย ก็เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว คือถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน จะได้เป็นทักขิไณยบุคคล คือผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายภายใน เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยม และท่านทั้งหลายให้ทำกันอย่างนี้ ภิกษุสามเณรทั้งหลาย ใจหยุดให้ใจใสแจ๋ว สว่างไสวทีเดียวนะจ๊ะ 

 


                ทุกท่านที่ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ให้ใจใสในใส ใสในใส ให้ใสที่สุดเท่าที่จะใส่ได้นะจ๊ะ ใสในใส ใสในใส สว่างในสว่าง ให้สว่างมาก ๆ ให้ใจสว่างอยู่ในกลางกายนะ สว่างให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่าพูดอย่าคุยกันนะอย่าลืมตานะจ๊ะ ให้หลับตา หลับตาดูภายในใจ จะได้ไม่วอกแวก และบุญจะได้เกิดขึ้น ให้ใจนิ่ง อย่าเกร็งนะจ๊ะ อย่าเกร็ง อย่าเครียด อย่าตั้งใจมาก ให้วางเบา ๆ นึกอย่างแผ่วเบา สบาย ๆ ทำใจเย็นๆ ทําใจให้เบิกบาน 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016736507415771 Mins