ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา

วันที่ 13 กย. พ.ศ.2567

ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา

2567%2009%2013%20b.jpg

 

            ขอย้อนกล่าวถึงจริยาบถแห่งพระอานนท์  พระอนุชาร่วมพระทัย  สมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

                  ตอนสายวันหนึ่ง พระอาทิตย์โคจรขึ้นเกือบจะถึงกึ่งฟ้าทางด้านตะวันออกแล้ว แต่ลมเช้าก็ยังพัดมาเบา ๆ ความสดชื่นแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วพระเชตวันมหาวิหาร ความร่มรื่นแห่งอารามผสมด้วยความสงบระงับภายในแห่งสมณะผู้อาศัยอยู่ ทำให้อนาถปิณฑิการามปรากฏประหนึ่งโลกทิพย์ซึ่งมีแต่ความสงบเย็น

             เสียงภิกษุใหม่สาธยายพระพุทธพจน์ดังอยู่เป็น   ระยะ ๆ   นอกจากนี้ยังมีบางท่านเดินจงกรมพิจารณาหัวข้อกรรมฐานที่อาจารย์บอกให้ เพื่อทำลายอาสวะซึ่งหมักดองอยู่ในจิตใจ เป็นกิเลสสานุสัยอันติดตามมาเป็นเวลาช้านาน บางรูปซักและย้อมจีวร บางท่านกวาดลานพระวิหารและเตรียมอาคันตุกภัณฑ์ต่างชนิดเพื่อภิกษุต่างถิ่น ผู้จะเดินทางมาเฝ้าพระศาสดา ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยอาการสงบ เป็นเครื่องนำมาซึ่งศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้ทัศนายิ่งนัก

                  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอนันตชินได้เสด็จผ่านมา   ภิกษุผู้นั่งอยู่ก็ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ   ผู้เดินอยู่ก็หยุดเดิน ภิกษุผู้กำลังทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็หยุดงานไว้ชั่วคราวเพื่อแสดงอาการคารวะ และมองดูพระศาสดาด้วยสายตาอันแสดงถึงความเลื่อมใสลึกซึ้ง

                  พระจอมมุนีทรงทักทายภิกษุบางรูป และทรงแนะนำข้อธรรมบางประการแล้วเสด็จเลยไป เมื่อถึงกุฏิหลังหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับยืนนิ่งครู่หนึ่ง แล้วผินพระพักตร์มาถามภิกษุผู้ตามเสด็จว่า

“อานนท์! ภิกษุรูปใดอาศัยอยู่ในกุฏิหลังนี้?”

“ภิกษุชื่อติสสะพระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูลตอบ

“เธออยู่หรือ?”

“น่าจะอยู่พระเจ้าข้า”


             พระศาสดาเสด็จเข้าไปภายในกุฏิ  ภาพที่ปรากฏ  ณ  เบื้องพระพักตร์ทำให้พระองค์สังเวชสุดประมาณ... ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในมัชฌิมวัย นอนนิ่งอยู่บนเตียงน้อย ร่างกายของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผล มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มท่วมกาย เตียงและผ้าของภิกษุรูปนั้นแปดเปื้อนด้วยปุพโพโลหิตส่งกลิ่นคาวคลุ้ง ท่านนอนจมอยู่ในกองเลือดและหนอง ซึ่งแห้งกรังไปแล้วก็มี ที่กำลังไหลเยิ้มอยู่ก็มี เมื่อได้ยินเสียงภิกษุรูปนั้นก็ลืมตาขึ้น ภาพพระศาสดาซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ริมเตียงนั้น ทำให้ท่านมีอาการตะลึงจะยกมือขึ้นถวายความเคารพแต่ยกไม่ขึ้น เหลียวไปอีกด้านหนึ่งของเตียง ท่านได้เห็นพระพุทธอนุชายืนสงบนิ่ง อาการเศร้าฉายออกมาทางดวงหน้าและแววตาของพระอานนท์ผู้ประเสริฐ และแล้วเมื่อเหลียวมาสบพระเนตรซึ่งสาดแววแห่งพระมหากรุณาออกมาของพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง คราทีนั้น ความตื้นตันใจได้ท่วมท้นหทัยของพุทธสาวกจนเอ่อล้นออกมาทางดวงตาทั้งสอง แล้วค่อย ๆ ไหลซึมลงอาบแก้มซึ่งแห้งและตอบเพราะอานุภาพแห่งโรคนั้น

 

“ดูก่อนติสสะ” พระศาสดาตรัส “เธอได้รับทุกขเวทนามากหรือ?”

“มากเหลือเกินพระเจ้าข้า เหมือนนอนอยู่ท่ามกลางหนาม” เสียงซึ่งแหบเครือผ่านลำคอของพระติสสะออกมาโดยยาก

“เธอไม่มีเพื่อนพรหมจารีหรือสหธัมมิกหรือสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก คอยปฏิบัติช่วยเหลืออยู่บ้างเลยหรือ?”

“เคยมีพระเจ้าข้า แต่เวลานี้เขาทอดทิ้งข้าพระองค์ไปหมดแล้ว”

“ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?”

“เขาเบื่อพระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์ป่วยมานานและรักษาไม่หาย เขาเลยพากันทอดทิ้งข้าพระองค์ไป”

“อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไรนะ ติสสะ?”


“แรกทีเดียวเป็นต่อมเล็ก ๆ ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ผุดขึ้นทั่วกายพระเจ้าข้า แล้วค่อย ๆ โตขึ้นตามลำดับ ๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่ามะตูม และแล้วก็แตก น้ำเหลืองไหล สรีระทั้งสิ้นก็เป็นรูน้อยรูใหญ่ สบงและจีวรเปรอะไปด้วยเลือดและหนอง อย่างนี้แหละพระเจ้าข้า” ทูลได้เท่านี้พระติสสะก็มีอาการหอบเล็กน้อย อ่อนเพลีย ไม่สามารถทูลต่อไปได้อีก

             พระศาสดาและพระอานนท์เสด็จออกจากุฏินั้นไปสู่โรงไฟ    พระศาสดาทรงล้างหม้อน้ำด้วยพระองค์เอง พระอานนท์ติดไฟ เสร็จแล้ววางหม้อน้ำไว้บนเตา ทรงรอคอยจนน้ำเดือด แล้วเสด็จไปหามเตียงภิกษุไข้ พระองค์จับด้านหนึ่งและพระอานนท์จับอีกด้านหนึ่ง หามมาสู่เรือนไฟภิกษุหลายรูปเดินมาเห็นพระศาสดาทรงกระทำเช่นนั้นก็ช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ ทรงให้เปลื้องผ้าของพระติสสะออกแล้วซักให้สะอาด อาบน้ำให้พระติสสะด้วยน้ำอุ่น ทรงชำระเรือนกายอันปรุพรุนด้วยพระองค์เอง พระอานนท์คอยช่วยเหลืออยู่อย่างใกล้ชิด เมื่อร่างกายนั้นสะอาดพอสมควรแล้ว และผ้าที่ซักไว้ก็พอนุ่งห่มได้เรียบร้อย ครั้นพระพุทธองค์ทรงเห็นสังขารของพระติสสะค่อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นพอสมควรแล้วจึงประทานพระโอวาทว่า

“ติสสะ! ร่างกายนี้ไม่นานนักดอก คงจักต้องนอนทับถมแผ่นดิน ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้ว ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่าอันเขาทิ้งเสียแล้วอย่างไม่ไยดี

จงดูกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาด มีสิ่งสกปรกไหลเข้าออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนักของคนผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้”


              เมื่อพระศาสดาแสดงธรรมจบลง พระติสสะได้สำเร็จพระอรหันต์ผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และเนื่องจากอาการป่วยหนักมาก ท่านไม่สามารถทนต่อไปได้อีก จึงนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน พระศาสดาทรงให้กระทำฌาปนกิจ แล้วให้ก่อเจดีย์ขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุแห่งพระติสสะนั้น

                    ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า  “ความที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”  นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร! บรรดาโรคทั้งหลายนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” ก็เป็นความจริงที่ไม่สามารถจะคัดค้านได้ สัตว์ทั้งหลายอาจจะว่างเว้นจากโรคอื่น ๆ ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้างก็พอมี แต่ใครเล่าจะว่างเว้นจากโรคคือความหิวแม้เพียงวันเดียว โรคคือความหิวนี้จึงต้องการบำบัดอยู่ตลอดเวลาตลอดอายุ การที่มนุษย์ต้องวิ่งเต้นชนิด “กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว” นั้น ส่วนใหญ่ก็เพื่อนำปัจจัยซึ่งสามารถบำบัดความหิวนี้เอง มาปรนเปรอร่างกายอันพร่องอยู่เสมอ นอกจากโรคประจำคือโรคหิวแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ อีกมากหลายคอยบีบคั้นเสียดแทงให้มนุษย์ต้องกระวนกระวายปวดร้าวทั้งทางกายและทางใจ

                   และ...จะมีเวลาใดเล่าที่มนุษย์จะต้องการเพื่อนผู้เห็นใจ เสมอเหมือนเวลาป่วยหรืออาพาธหนัก ในทำนองเดียวกัน จะมีมิตรใดเล่าจะเบื่อหน่ายและรำคาญเพื่อนในยากทุกข์เสมอด้วยมิตรเทียม ความพอใจช่วยเหลือกันตามฐานะและโอกาส น่าจะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ผู้ได้รับการศึกษาดีแล้ว นอกเสียจากเขาผู้นั้นจะเป็นมนุษย์แต่เพียงกาย และได้รับการศึกษาเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ เท่านั้น

                   อีกครั้งหนึ่ง  พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ  เสด็จไปตามเสนาสนะต่าง  ๆ  ทอดพระเนตรเห็นภิกษุอาพาธหนักรูปหนึ่ง นอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตนอยู่ ภิกษุรูปนั้นป่วยเป็นโรคท้องร่วงไม่มีใครพยาบาลเลย ทั้งนี้เพราะเมื่อคราวท่านปกติดีอยู่ ท่านไม่เคยอุปการะใคร พระพุทธองค์อันพระมหากรุณาเตือนแล้วได้ให้พระอานนท์ไปนำน้ำมา พระองค์ราดรดลง พระอานนท์ขัดสี พระองค์ทรงยกศีรษะ พระอานนท์ยกเท้า แล้ววางไว้บนเตียงนอน ให้ฉันคิลานเภสัชเท่าที่พอจะหาได้

            เย็นวันนั้นเองก็ทรงให้ประชุมสงฆ์   ปรารภข้อที่ภิกษุอาพาธ  ไม่มีผู้พยาบาล  ได้รับความลำบาก แล้วตรัสพระพุทธพจน์อันจับใจว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอบัดนี้ไม่มีมารดาไม่มีบิดาแล้ว ถ้าพวกเธอไม่รักษาพยาบาลกันเองใครเล่าจะพยาบาล ภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดมีความประสงค์จะปฏิบัติบำรุงเราขอให้ผู้นั้นปฏิบัติบำรุงภิกษุอาพาธเถิด เท่ากับได้ปฏิบัติบำรุงเรา

“ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อภิกษุอาพาธลง ภิกษุผู้เป็นศิษย์พึงรักษาพยาบาลจนกว่าเธอจะหาย ถ้าศิษย์อาพาธลง อุปัชฌายะอาจารย์พึงทำเช่นเดียวกัน ภิกษุรูปใดไม่ทำ ภิกษุนั้นย่อมเป็นอาบัติ คือ ฝ่าฝืนระเบียบของเรา ถ้าอุปัชฌายะอาจารย์ไม่มี ให้ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะเดียวกันปฏิบัติ ถ้าไม่ทำย่อมเป็นอาบัติ อนึ่ง ถ้าภิกษุร่วมอุปัชฌายะอาจารย์เดียวกันไม่มีให้เป็นหน้าที่ของสงฆ์ที่จะพึงรักษาพยาบาลเธอจนกกว่าจะหาย อย่าได้ทอด ทิ้งเธอไว้ เดียวดาย”

                  ความสำนึกในพระพุทธวัจนะนี้เอง เป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายแม้จะมาจากวรรณะต่างกันตระกูลต่างกัน แต่เมื่อมาสู่ธรรมวินัยนี้แล้ว ก็มีความรู้สึกต่อกันฉันพี่น้องซึ่งมีพระบรมศาสดาเป็นบิดา มีธรรมวินัยเป็นมารดามองกันด้วยสายตาที่แสดงไมตรีจิต มีภราดรภาพแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วร่มเงาแห่งกาสาวพัสตร์ นอกจากจะมีต่อเพื่อนพรหมจารีแล้ว ภราดรภาพซึ่งเอิบอาบอยู่ในจิตใจของภิกษุทั้งหลาย ยังได้แผ่ไปถึงสามัญชนทั่วไปและดิรัจฉานอีกด้วย สมณะเป็นเพศสูง และมีน้ำใจน่ารักน่าเคารพยิ่งนัก ท่านพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น แต่ดูเหมือนสามัญชนไม่ค่อยจะเข้าใจท่านเลย ความเผื่อแผ่และเมตตากรุณาซึ่งได้สั่งสมอบรมมานั้นอยู่ตัว แม้บางท่านจะประพฤติพรหมจรรย์อยู่มิได้ตลอดชีวิต จำเป็นต้องสึกออกมาดำรงชีพเยี่ยงคฤหัสถ์ทั้งหลาย ความเผื่อแผ่และเมตตากรุณาหวั่นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นก็หาได้คลายลงไม่ มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ทั้งโลกเป็นญาติของตน จึงคอยหาโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นตามฐานะและจังหวะที่มาถึงเข้า จนบางครั้งทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปในทางร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีใจแคบ มองเห็นการทำความดีของผู้อื่นด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจคิดว่าเขาคงจะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์อยู่เบื้องหลัง คนที่ทำความดีโดยมิได้หวังผลตอบแทน จะไม่มีอยู่ในโลกบ้างเชียวหรือ? กระไรเราจะใจแคบจนไม่พยายามมองเจตนาดีของผู้อื่นบ้างเลย!

                    อีกครั้งหนึ่ง  พระผัคคุณะอาพาธหนัก  พระอานนท์ได้ทราบจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อไปเยี่ยมไข้ พระองค์เสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงอาการป่วย พระผัคคุณะทูลว่าอาการป่วยหนักมาก มีทุกขเวทนากล้าแข็ง ลมเสียดแทงศีรษะเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดโกนอันคมกริบ ปวดท้องเหมือนบุรุษฆ่าโคเอามีดชำแหละโคที่คมมาชำแหละท้อง เจ็บปวดเร่าร้อนทั่วกายเหมือนถูกย่างบนหลุมถ่านเพลิง

                 พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมพรรณนาความทุกข์แห่งสังขาร  อันมีผลสืบเนื่องจากกิเลสและกรรมของตน จนพระผัคคุณะได้สำเร็จเป็นโสดาบัน

                  ครั้งหนึ่ง พระคิริมานันทะอาพาธหนัก พระอานนท์ทราบเรื่องนี้แล้วทูลอาราธนาให้พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม เนื่องจากพระพุทธองค์ยังทรงมีภารกิจบางอย่างอยู่ จึงเสด็จไปมิได้ แต่ทรงให้พระอานนท์เรียนสัญญา ๑๐ ประการแล้วไปสาธยายให้พระคิริมานันทะฟัง พระอานนท์ครั้นเรียนสัญญา ๑๐ ประการอย่างแม่นยำแล้ว ก็นำไปสู่สำนักของพระคิริมานันทะ สาธยายสัญญา ๑๐ ประการ ให้ฟังโดยใจความดังนี้

                   “รูป คือก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง ซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ ดิน น้ำ ลมและไฟ เป็นไปโดยจักร ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อันรวมเรียกว่าอิริยาบถ มีทวาร ๔ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ อันเป็นที่หลั่งไหลออกแห่งตัวปลวก คือ สิ่งโสโครกต่าง ๆ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากช่องหู ฯลฯ ทั่วสรรพางค์มีรูเล็ก ๆ เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งสิ่งสกปรกอันหมักหมมอยู่ภายใน พระศาสดาจึงเปรียบรูปกายนี้เหมือนจอมปลวกบ้าง เหมือนหม้อดินบ้าง

เวทนาคือความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉย ๆ บ้าง

สัญญา คือความทรงจำได้หมายรู้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพารมณ์ คือ สิ่งซึ่งถูกต้องได้ด้วยกาย

สังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลาง ๆ บ้าง

วิญญาณ คือการรับรู้อารมณ์อันผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ


                   ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ ล้วนมีสภาพเป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยงเพราะปรวนแปรอยู่เสมอ เป็นอนัตตาเพราะฝืนไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปรารถนาว่าจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาครวมเรียกว่าอนิจจสัญญาและอนัตตาสัญญา

                     เพื่อให้สัญญาทั้งสองประการได้รับอุปถัมภ์  พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณา  อสุภสัญญา  คือความไม่งามแห่งกายนี้ โดยอาการว่า กายนี้ตั้งแต่ปลายผมลงไป ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ กล่าวคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำ ไขข้อ น้ำมูตร

                 อาการหรือสิ่งดังกล่าวมานี้ ย่อมให้ทุกข์ให้โทษเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง เป็นบ่อเกิดแห่งโรคนานาชนิด เช่น โรคตา โรคหู โรคในจมูก โรคลำไส้ โรคไต โรคม้าม โรคตับ โรคเกี่ยวกับอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ การพิจารณาเห็นโทษแห่งสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นรังของโรคนั่นแล เรียกว่า อาทีนวสัญญา

                  ร่างกายนี้เป็นที่นำมา คือเป็นสื่อแห่งความตรึกในเรื่องกามบ้าง เรื่องพยาบาท เรื่องเบียดเบียนบ้าง วิตกบ้าง ทั้ง ๓ นี้ เมื่อจะตั้งลงก็ตั้งลงในกายนี้ การกำหนดใจประหารกามวิตกพยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก เรียกว่า ปหานสัญญา

                เมื่อประหารได้แล้ว  ความกำหนัดพอใจในสิ่งอันเป็นที่ตั้ง  แห่งความกำหนัดพอใจก็คลายลง พอใจในการที่จะสำรอกราคะเสีย เรียกว่า วิราคสัญญา

                    การดับกิเลสทั้งมวลให้ประสบความสงบเยือกเย็นได้ เรียกว่า นิโรธ ความพอใจกำหนดในนิโรธนั้นเรียกว่า นิโรธสัญญา

                   ความรู้สึกว่า  โลกนี้เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งความวุ่นวายนานาประการ  หาความสงบสุขได้โดยยาก ไม่เพียงแต่ในโลกนี้เท่านั้น แม้โลกทั้งปวงก็ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน ร้อนระอุอยู่ด้วยเพลิงภายในคือกิเลส แล้วไม่ปรารถนาโลกไหน ๆ เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรตสัญญา

                การกำหนดใจไม่ปรารถนาสังขารทั้งปวง   ไม่ว่ามีใจครองหรือไม่มีใจครอง   ไม่ยึดมั่นถือมั่น  ปล่อยวางซึ่งสิ่งที่เคยยึดถือไว้ ย่อมประสบความเบากาย เบาใจเหมือนคนปลงภาระหนักลงเสีย การกำหนดใจดังนี้เรียก สัพพสังขาเรส อนิฏฐสัญญา หรือ อนิจจสัญญา

                  การกำหนดลมหายใจเข้าออก มีสติตั้งไว้ที่ลมหายใจ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทากามราคะ และความหลงใหล เรียก อานาปานสติ

                 พระคิริมานันทะส่งกระแสจิต ไปตามธรรมบรรยายของพระอานนท์  รู้สึกซาบซึ้งซึมทราบ  ปีติปราโมชเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา สามารถข่มอาพาธหนักเสียได้ ท่านหายจากอาพาธนั้นด้วยฟังสัญญา ๑๐ ประการจากพระพุทธอนุชา

                นอกจากบรรพชิตแล้ว  ยังมีคฤหัสถ์อีกมากหลาย  ซึ่งพระอานนท์ได้ช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย เป็นต้นว่าท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และคฤหบดีนามว่า สิริวัฑฒะชาวเมืองราชคฤห์ และคฤหบดีนามว่า มานทินนะชาวเมืองราชคฤห์เช่นเดียวกัน

                แน่นอนทีเดียว  การอุปการะช่วยเหลือผู้อื่นคราวอาพาธนั้น  ย่อมเป็นสิ่งประทับใจอยู่ตลอดกาลทั้งแก่ผู้รับและแก่ผู้ให้ โรคเป็นศัตรูของชีวิต การช่วยกำจัดโรคเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของชีวิต ทำนองเดียวกับกิเลสเป็นศัตรูของจิตใจ การช่วยกำจัดกิเลสจึงเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของจิต พระบรมศาสดาและพระพุทธอนุชาอานนท์นั้น เป็นกัลยาณมิตรแห่งมวลชน เป็นที่พึ่งได้ทั้งทางกายและทางจิต จะหากัลยาณมิตรใดเล่าเสมอเหมือนหรือยิ่งกว่าท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0044524669647217 Mins