ประเพณีทอดกฐิน

วันที่ 03 พย. พ.ศ.2548

                                                                                        

                                                 

     ประเพณีทอดกฐินนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่ครั้งสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความนับถือกันว่าเป็นยอดของมหากุศลผลบุญ จะเป็นปัจจัยนำให้ผู้ได้ทอดกฐินนั้น ได้ประสบซึ่งความสุขความเจริญในอธิโลกและปรโลกตลอดกาลนาน

      คำว่า “กฐิน” นี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่า กรอบไม้สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า “สะดึง” ฉะนั้น ที่มีความนิยมเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน” นี้ ก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงเย็บ การที่จะต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะว่าในครั้งก่อนโน้น ไม่มีช่างที่มีความชำนาญในการตัดเย็บ ทั้งเครื่องจักรเครื่องกลต่าง ๆ ก็ไม่มีจะใช้เหมือนอย่างกับในเวลานี้ จึงต้องอาศัย “สะดึง” ช่วยให้เป็นหลักเบื้องต้นก่อน แล้วจึงเย็บเป็นอันได้ใจความว่า “ผ้ากฐิน” นี้ก็คือผ้าที่ทำให้สำเร็จขึ้นได้ ด้วยการอาศัย “กฐิน” หรือ “สะดึง” เมื่อสำเร็จเป็นผ้า “กฐิน” แล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า “ทอดกฐิน”

     คำว่า “ทอด” นี้ก็คือเอาไปวางไว้ การทอดกฐินก็คือการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อยที่สุด 5 รูป โดยมิได้มีความตั้งใจว่า จะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนี่ง ซึ่งเมื่อทอดแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ของฆราวาส ส่วนเรื่องต่อไปนั้น พระสงฆ์ท่านจะมอบหมายให้กันและกันเอง ตามที่ท่านเห็นว่า สมควรจะให้ภิกษุรูปใดเป็น “กรานกฐิน” ก็สุดแต่ท่านจะจัดทำกันเอง ฆราวาสเมื่อ “ทอด” หรือ “วาง” ไว้แล้ว ก็คอยออกมาคอยรับอนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์ท่านกรานเสร็จแล้วเท่านั้น

     การทอดกฐินนี้ มีกำหนดและระยะเวลาดังนี้ คือ มีกำหนดตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 คือ มีกำหนดเวลา 1 เดือน ภายหลังจากออกพรรษาแล้วจะ ทอดก่อนหรือภายหลังจากที่กำหนดไว้นี้ไม่ได้ เพราะได้มีเป็นพระพุทธบัญญัติไว้ เหตุที่จะให้มีการทอดกฐินขึ้นนี้ มีต้นเหตุความเป็นมาว่า ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระเชตวนาราม ซึ่งเป็นอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวาย ให้เป็นพุทธานิวาส ในกาลครั้งนั้น ภิกษุชาวเมือง“ปาฐา” มีประมาณ 30 รูป ล้วนแต่เป็นผู้ทรงธุดงค์ปฏิบัติ คือ อรัญญิกธุดงค์ ปิณฑปาติกธุดงค์ เป็นสัลเลขปฏิบัติ เคร่งครัดมัธยัสถ์ด้วยดีจะพากันมายังเมืองสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าสมเด็จพระ

     สัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นเมื่อขณะที่ได้ พากันเดินรอนแรมตามมรรคาโดยลำดับนั้น ก็เป็นเวลาที่ ใกล้จะถึงดิถีเข้าพรรษา ครั้นจะพากันเดินทางมาเข้าจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีก็ไม่ทัน จึงได้พากันเข้าจำพรรษาที่เมืองสาเกต ซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีมีกำหนด 6 โยชน์ ก็ภิกษุทั้ง 30 รูปนั้น เพราะความที่ตนมีความประสงค์จะเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแรงกล้า ครั้นพากันเข้าจำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว กำลังที่ฝนยังตกหนักอยู่ มีน้ำท่วมภูมิภาคที่ทั่ว ๆ ไป เป็นเปือกตมหล่มเลนยังไม่ใช่เป็นสมัยกาลที่ภิกษุสงฆ์จะเที่ยวจาริกไป แต่ภิกษุทั้ง 30 รูปนั้น ก็มิได้มีความรั้งรอ ได้พากันออก เดินทางจากเมืองสาเกตมายังเมืองสาวัตถี เมื่อมาถึงพระเชตวันมหาวิหาร ก็ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วก็ได้พากันนั่งรอในที่อันสมควรแก่ตน ๆ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสถามถึงความอยู่สุขสบายและการเดินทางของภิกษุทั้ง 30 รูปนั้นๆ ก็ได้กราบทูลตามปริยายตั้งแต่เบื้องต้น คือ ตั้งแต่มาไม่ทัน จึงได้พากันเข้าจำพรรษาที่เมืองสาเกต ตลอดจนได้มีความลำบากในระหว่างมรรคาเป็นที่สุดให้พระพุทธองค์ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า ได้ทรงอาศัยเหตุนั้นเป็นต้นเดิมแล้ว พระองค์จึงได้มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับผ้ากฐินในระยะภายหลังจากออกพรรษาไปแล้วได้อีกเดือนหนึ่ง และด้วยอาศัยพระพุทธบัญญัติมีมาฉะนี้จึงได้ถือเป็นประเพณีทำกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

     ครั้นกาล ต่อ ๆ มาก็เกิดการยุ่งยากขึ้น เป็นต้นว่า ผ้าที่ถวายเป็นผ้ากฐินนั้นไม่เพียงพอแก่สงฆ์ สงฆ์ไม่รู้จะให้ใครเป็นผู้รับผ้ากฐิน จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อจะให้ผ่อนผันหาความสะดวกในพระธรรมวินัยจึงได้มีพระบรมพุทธานุญาต ให้ภิกษุผู้จำพรรษาตลอด 3 เดือนที่มีจีวรเก่ากว่าเพื่อน และเป็นผู้ฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้รับผ้ากฐิน คือ เป็นผู้กรานกฐิน และให้ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสเดียวกันนั้นอนุโมทนากฐิน ซึ่งก็เป็นอันนับว่าเป็นผู้ได้อานิสงส์ คือ การลดหย่อนผ่อนผันจากพระธรรมวินัยบางข้อ ซึ่งได้ตรัสเป็นพระพุทธานุญาตไว้ ซึ่งมีข้อความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคต อนุญาตเพื่อจะกรานกฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่จำพรรษาแล้ว อานิสงส์ 5 ประการ จักสำเร็จแก่เธอทั้งหลาย ผู้ได้กรานกฐินแล้วนั้นอานิสงส์ 5 ประการนั้น คือ

1. อนามันตจาโร เที่ยวไปในละแวกบ้านโดยไม่ต้อง อาบัติด้วยจารีตสิกขาบท

2. สมาทานจาโร เที่ยวไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบก็ได้โดยมิต้องอาบัติ ด้วยทุติยกฐินสิกขาบท

3. คณโภชนํ ฉันคณะโภชนะได้โดยไม่ต้องอาบัติ ด้วยคณะโภชนะ และปรัมปรโภชนะทั้งสองสิกขาบท

4. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติด้วยปฐมกฐินสิกขาบท

5. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ จีวรลาภอันใด ที่เกิดขึ้นมีขึ้นในอาวาสนั้น จีวรลาภนั้น จักเป็นของภิกษุทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้วนั้น

     เ มื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงอนุญาตกฐินัตถารวิธี คือ วิธีกรานกฐินและอานิสงส์ของพระภิกษุผู้ได้กรานกฐินฉะนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงวิธีกรานกฐินเป็นลำดับต่อไปว่า การกรานกฐินนั้น ต้องทำอย่างนี้คือ ให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ ผู้มีกำลังพอ ประกาศให้สงฆ์ทราบในการที่จะมอบหมายผ้ากฐินนั้น เป็นสิทธิ์แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อจะได้กรานกฐินด้วยทุติยกรรมวาจาว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” เป็นอาทิ ดังนี้ ก็กฐินนัตถารวินัยกรรมนี้ ภิกษุทั้งหลายจะต้องทำให้ถูกตามพระบรมพุทธานุญาตทุกประการ จึงจะนับว่าเป็น “กฐินนัตถารกิจ”

     การถวายผ้ากฐินว่าดังนี้ “ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” ซึ่งมีคำแปลว่า “ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ เมื่อจบคำถวายนี้แล้ว พระสงฆ์ท่านก็จะรับขึ้นพร้อมกันว่า “สาธุ” แล้วผู้เป็นเจ้าภาพ หรือเป็นประธานในการทอดกฐินนั้น ก็เข้าไปเอาผ้าไตรกฐินประเคนภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ หรือจะไม่ประเคน เอาไปวางไว้เฉย ๆ ก็ได้ แล้วต่อจากนั้น ก็จัดการถวายเครื่องบริขารต่าง ๆ ตามที่ได้ตระเตรียมนั้น ต่อนั้นไปพระสงฆ์ท่านก็จะได้จัดการมอบผ้าไตรกฐินนั้น ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ท่านทั้งหลายลงความเห็นกันแล้วว่า “เป็นผู้สมควรจะได้รับผ้านั้น เมื่อท่านทำพิธีกรานกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็จะได้ทำการอนุโมทนาต่อไป

     ประเพณีการทอดกฐินนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า “จุลกฐิน” และได้นิยมกันมาแต่โบราณกาล ถือกันว่า ถ้าผู้ใดมีความสามารถทอด “จุลกฐิน” นี้ได้ จะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์มาก วิธีทอด “จุลกฐิน” นี้ ต้องทำอย่างนี้ คือ ต้องไปเก็บเอาฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอให้เป็นผืนผ้ากฐินให้เสร็จในวันเดียว แต่การทอด “จุลกฐิน” อย่างนี้ ต้องช่วยหลายคนจึงจะเสร็จในวันเดียวได้ จะต้องให้ทันกับเวลาอีกด้วย คือต้องช่วยกันหลาย ๆ แรงแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชุลมุนวุ่นวาย เมื่อทำเสร็จพอที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้แล้ว ก็รีบนำไปทอด คงจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง จึงได้เรียกว่า “จุลกฐิน” คือเป็นผ้าที่สำเร็จขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือจุกๆ จิกๆ เช่นเมื่อเก็บฝ้ายแล้วก็เอาฝ้ายนั้นมาปั่นมากรอ มาสาง เมื่อเสร็จเป็นเส้นด้ายแล้ว ก็เอามาทอเป็นผ้า แล้วเอามาตัด มาเย็บ มาย้อม ให้เสร็จเรียบร้อยวันเดียวกันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงจะเรียกว่าเป็น “จุลกฐิน” ได้ (ติดตามต่อฉบับหน้า)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010638515154521 Mins