มาฆะบูชา เทศกาลแห่งแสงสว่าง

วันที่ 18 กพ. พ.ศ.2546

.....วันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่โลกสว่างไสวตลอดทั้งวัน กลางวันโลกสว่างด้วยแสงตะวัน ยามกลางคืนโลกสว่างไสวด้วยแสงจันทร์ และเปลวประทีปที่ชาวพุทธจุดขึ้นเพื่อบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงความสำคัญของวันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา

.....ในวันนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ได้มีการประชุมสงฆ์เกิดขึ้น เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" เพราะว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทที่เป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไป สั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

.....บังเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น ๔ ประการ คือ

.....๑. มีพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

.....๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนแต่เป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง

.....๓. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา

.....๔. วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนที่ถือว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แสดงถึงอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ได้เป็นเนติแบบแผนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในสาระแห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ได้กล่าวถึง

.....๑. "อุดมการณ์" ของชาวพุทธที่มีเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน ซึ่งการจะไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดนี้ได้นั้น ย่อมจะต้องมีคุณธรรมคือ ความอดทน, การไม่ทำร้ายผู้อื่น, การไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้จะเป็นเครื่องหนุนให้ไปสู่เป้าหมายคือพระนิพพานได้

.....๒. "หลักการ" ของชาวพุทธก็คือ ประการที่หนึ่ง ต้องเว้นจากทุจริต คือ เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ ประการที่สอง ต้องประกอบสุจริต คือ การประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ และประการที่สาม คือ ทำจิตของตนให้หมดจดผ่องแผ้วจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง

.....๓. "วิธีการ" ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ ประการที่หนึ่ง ไม่ให้ว่าร้ายผู้อื่น ประการที่สอง ไม่ให้ล้างผลาญผู้อื่น ประการที่สาม ต้องสำรวมในพระปาฏิโมกข์ หรือสิกขาบทบัญญัติทั้งหลาย ประการที่สี่ ต้องรู้จักประมาณในการแสวงหา และการบริโภคใช้สอย ประการที่ห้า ควรอยู่ในที่อันสงบเงียบ และประการที่หก ให้มุ่งประกอบความเพียรทำจิตให้มีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริง

.....เพราะอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานในวันเพ็ญมาฆฤกษ์นั้น จึงทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอด จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ ยังดำรงคงอยู่อยู่เป็นที่พึงที่ระลึกแก่ชาวโลก เนิ่นนานมาเกือบสามพันปีแล้ว

.....กิจกรรมที่ชาวพุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา คือ ช่วงกลางวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ก็ทำทานด้วยการตักบาตรพระภิกษุสามเณร ที่ออกรับบิณฑบาตรในตอนเช้าของวันใหม่..ช่วงสายก็เดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะทำบุญตามประเพณีของชาวพุทธ ซึ่งจะเริ่ม ตั้งแต่การสมาทานรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ บ้าง แล้วแต่ศรัทธา ฟังธรรมเทศนาจากพระภิกษุสามเณร พอใกล้ถึงเวลาเพล ตระเตรียมภัตตาหารเพลเพื่อถวายแด่พระภิกษุสามเณรในอาวาสนั้นๆ เป็นอันเสร็จพิธีในช่วงกลางวัน

.....ส่วนในช่วงบ่ายและค่ำ มีการฟังธรรม เกี่ยวกับโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ บางที่ก็จะมีการทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อการทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ช่วงเย็นๆ ก็จะเริ่มมีการเตรียมตัวเพื่อเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา ซึ่งวันมาฆบูชา เป็นหนึ่งในสี่วันที่มีการเวียนเทียนเพื่อบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะเวียนรอบพระอุโบสถหรือพระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเวียนเทียน ก็แล้วแต่ประเพณีแต่ละท้องถิ่น อาจแตกต่างกันบ้าง..

.....และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย เป็นกิจกรรมสำคัญในวันมาฆบูชา เรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติบูชา คือ การนั่งสมาธิเจริญภาวานา ให้เกิดความใส ความสว่างขึ้นภายใน ความสงบที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมแม้จะเกิดขึ้นด้วยเวลาเล็กน้อย บุญกุศลที่เกิดขึ้นนั้นกลับมากมายมหาศาล

.....ความสว่างไสวของดวงตะวันและดวงจันทร์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเช่นนี้ ผนวกกับแสงเทียนประทีปนับล้านดวง ก็มิอาจเทียบได้กับความสว่างในจิตใจของผู้ที่ประพฤติปฎิบัติธรรม เข้าถึงความสว่างภายใน บรรลุแจ้งตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้

.....ความสว่างเช่นนี้เองที่จะทำให้ชาวโลกค้นพบความสุขที่แท้จริง ความสงบ และสันติจะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงถาวร

 

ภัทรา ประภาสชล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015110301971436 Mins