พระธรรมเทศนา "ธัมมัสสวนกถา" ตอน ๒

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2546

 

 

.....พระธรรมเทศนาแสดงโดย พระธรรมราชานุวัตร สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนเวที วัดพระเชตุพน แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลา ๑๘.๐๐ น.

 

.....(ต่อจากตอนที่๑ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)…หลักแห่งธัมมัสสวนะนั้นอยู่ที่มีธรรมคารวะประกอบ เมื่อไม่มีธรรมคารวะ ยากที่บุคคลจะตั้งใจสดับพระธรรมได้ คารวะต่อพระธรรมนั้น คือมีเจตนาฟังโดยตั้งใจใน ๓ กาล เบื้องต้นก่อนแต่จะฟัง ขณะฟังอยู่ แลเมื่อฟังเสร็จแล้ว มีจิตปรารภถึงธรรมด้วยความเลื่อมใสขณะนั้น ๆ ชื่อว่า ปุพพเจตนา, สวนะเจตนา, อปราปรเจตนา ความมีเจตนาในพระธรรมเป็นธรรมคารวะนี้ ย่อมห้ามความฟุ้งซ่านวิตกวิจารแลความท้อถอยเสียได้ด้วยขณะฟัง เมื่อปล่อยจิตไปในอารมณ์ต่าง ๆ นึกถึงเรื่องอื่นนอกจากธรรมอันแสดงอยู่เฉพาะหน้า การฟังธรรมก็ย่อมจำธรรมอะไรไม่ได้ แม้ได้บ้างก็เป็นบางท่อนบางตอน ตก ๆ หล่น ๆ นี้ อาศัยความฟุ้งซ่านเป็นสมุฎฐาน แม้ฟังอยู่แต่ท้อถอยเบื่อหน่าย จิตย่อมไม่มุ่งต่อพระธรรม การฟังนี้ไม่ได้ผลอันใด นี้อาศัยความท้อถอย เมื่อมีธรรมคารวะแล้ว ปสาทะย่อมเกิดในลำดับ ธรรมกามตาคือ ความใคร่ในธรรมมีกำลังกล้า ความตั้งใจฟังแลความพินิจธรรมก็อุบัติในกาลต่อ ๆ ไป สมด้วยเทศนานัย ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในปังกีสูตรว่า

 

....."สัทธาชาโต อุปสังกมติ อุปสังกมิตวา ปยิรุปาสติ" เป็นอาทิว่า ความว่า บุคคลมีความเชื่อเกิดแล้วย่อมเข้าใกล้ ครั้นแล้วจึงเข้านั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตฟังคำสอน เป็นผู้เงี่ยโสตลงแล้วก็ฟังธรรม ครั้นฟังแล้วก็ทางจำทรงธรรมไว้ได้ ย่อมพิจารณาเนื้อความของธรรมะที่ตนทรงจำไว้ได้ เมื่อวิจารณ์อรรถอยู่ธรรมก็ทนความเพ่งไม่ไหว เพราะธรรมทนความเพ่งไม่ไหวย่อมเกิดฉันทะ แล้วเกิดอุตสาหะ แล้วเลือกสรรเริ่มความเพียร เมื่อเริ่มอยู่ ย่อมทำปรมัตถสัจจให้แจ้งด้วยนามกายแล แทงตลอดปรมัตถสัจจนั้นด้วยปัญญา ดังนี้


.....พระสูตรนี้ขณะจิตของผู้สดับธรรมย่อมเปลี่ยนแรงขึ้นโดยลำดับกาลจนวิจารณ์เห็นผลแห่งธรรมะได้โดยถ่องแท้ กิเลสคือความฟุ้งซ่านกับความท้อถอยมีกำลังเพลาลง ธรรมปีติกำลังกล้าหาญจิตฝักใฝ่อยู่แต่ในธรรมอันตนสดับนั้น ชื่อว่าเกิดเจตสิกสุขในมโนทวาร มีพุทธบรรหารว่า "ธัมมปีติ สุขัง เสติ" ผู้ได้ปีติในธรรมย่อมอยู่สบาย ธรรมสวนะนอกจากได้ธรรมปีติ ยังได้สุตมยปัญญา แลภาวนามยปัญญาอีกด้วย ปัญญานั้นอุบัติได้ด้วยวุฑฒิธรรม ๔ ประการ อันสมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

 

....."จัตตาโรเม ภิกขเว ธัมมา ปัญญาวุฑฒิยา สังวัตตันติ" เป็นอาทิ ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นไปเพื่อความงอกงามแห่งปัญญาเหล่านี้มี ๔ คือ การเสวนะกับท่านสัปบุรุษ ๑ การฟังคำสอนของท่าน ๑ มนสิการคำสั่งสอนนั้น ๑ ปฏิบัติธรรมอันอนุรูปแก่ธรรม ๑ เหล่านี้เป็นไปเพื่อความงอกงามแห่งปัญญา ดังนี้ฯ

 

.....อาศัยพุทธภาษิตนี้เป็นเครื่องสาธก ธรรมสวนะจึงมีมูลมาจากเสวนะกับท่านสัตบุรุษ แลเป็นเหตุแห่งการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นกัลยาณชนที่เป็นผู้มีกาย วาจาเรียบร้อยอัธยาศัยสุภาพ เป็นผู้สมควรอันบุคคลจะพึงเสวนะยิ่งกว่าอสัตบุรุษ แม้เพียงแต่นั่งร่วมนอนร่วมกับท่านสัตบุรุษ ก็ยังให้เกิดความสบายแล ปสังสาทิคุณทุกเมื่อ สมด้วยพุทธภาษิตว่า ธีโร จ สุขสังวาโส นักปราชญ์ก็มีการอยู่ร่วมนำมาซึ่งความสบายฉะนี้ฯ สัตบุรุษเมื่อบุคคลใดเสวนะ ย่อมแนะนำแต่สิ่งที่ควร เลือกสรรความประพฤติดีมาสั่งสอน ชี้หลักแห่งการประพฤติดีแลประพฤติเสียหาย เหตุนั้นจึงควรสดับโอวาทแลอนุสาสนีของท่าน คำสั่งสอนนั้นเมื่อได้สดับแล้ว ต้องรู้จักเลือกเฟ้นด้วยโยนิโสมนสิการ คัดความเสียส่วนธรรมให้ออกจากดวงจิต แล้วมาปฏิบัติประพฤติธรรมเท่าภูมิที่ตนจะปฏิบัติได้ เมื่อชินต่อการปฏิบัติในธรรม ความสอบสวนธรรมนั้นก็แตกฉาน เป็นอันได้ปัญญาความฉลาดยิ่งขึ้น นี้อาศัยธรรมสวนะเป็นมูลเหตุ สมด้วยพุทธภาษิตว่า

 

....."สุสสูสัง ลภเต ปัญญัง" ผู้ตั้งใจสดับย่อมได้ปัญญา ดังนี้ อันบุคคลในโลกถ้าหากไร้การศึกษา การสดับ การอบรมแล้ว ชีวิตแม้มีอยู่ก็ชื่อว่าหาค่ามิได้ เพราะคดีโลกคดีธรรมทั้งสิ้น จำเป็นที่มนุษย์ทั้งหลายต้องรู้ให้ทั่วถึง เมื่อไม่รู้ก็เพราะขาดการสดับนับว่าเป็นบุคคลทำประโยชน์อันใดให้เป็นหลักแก่โลกไม่ได้ แม้วัยย่างเข้าเป็นวุฑฒบุคคล วัยนั้นก็ชื่อว่าเป็นหมัน เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อัปปัสสุตายัง ปุริโส พลิพัทโทว ชีรติ" ชายได้ฟังน้อยย่อมแก่เปล่าเหมือนโคพลิพัท ดังนี้

 

(อ่านต่อตอนที่ ๓ ฉบับวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015345493952433 Mins