ติลกฺขณาทิคาถา (๓)

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2550

stop490326.jpg

     ไปนิพพานได้ก็แต่ธรรมกายเท่านั้น นี่พึงรู้ชัดอย่างนี้ ถ้ารู้ชัดอย่างนี้ละก็หมู่สัตว์นอกนี้นี่ย่อมเลาะอยู่ชายฝั่งข้างนี้เท่านั้น เลาะอยู่ในสักกายทิฏฐิ ไต่อยู่แต่กายมนุษย์นี่เอง ใจไม่พ้นกายมนุษย์ไป พ้นจากกายมนุษย์ไป ไปไต่อยู่กับกายมนุษย์ละเอียดที่ฝันไปเลาะอยู่แต่ฝั่งข้างนี้ พ้นจากกายมนุษย์ละเอียดไปไปติดอยู่กับกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ออกจากภพไม่ได้ติดอยู่ในภพ ติดอยู่กับกายเหล่านี้ นี้ได้ชื่อว่าเลาะอยู่แต่ชายฝั่งข้างนี้ ไม่ไปถึงพระนิพพาน พวกมีธรรมกายนั้นไปถึงนิพพาน ผู้ที่ไปถึงนิพพานแล้วมามองดูผู้ที่ไม่ไปนั่น ผู้ที่ไปนิพพานได้หาว่าผู้ที่ไม่ไปนั่นตาบอด มองไม่เห็นนิพพาน งุ่มง่ามเงอะงะอยู่ในกายเหล่านี้เอง งุ่มง่ามอยู่ในนี้เอง ตาบอดแล้วไม่รู้ว่าตาบอดด้วยนะ ใช่ว่าจะรู้ตัวเมื่อไรล่ะ ไม่รู้เสียด้วย ถ้ารู้ตัวว่าตัวตาบอดก็รับทำให้ตาดี ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เข้าถึงธรรมกายก็เป็นตาดีกัน ไม่เข้าถึงธรรมกายก็เป็นตาบอด ไม่เข้าถึงนิพพาน ไปนิพพานไม่ได้ เห็นนิพพาน ไปนิพพานได้ก็เรียกว่าตาดี นี่ตรงอยู่ตรงนี้ เมื่อรู้จักหลักดังนี้แล้ว ก็คนทั้งหลายเหล่าใดแลปฏิบัติตามธรรมในธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว พระตถาคตก็ธรรมกายนั่นแหละ

ธรรมอะไรที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้วน่ะ ธรรมที่ทำให้เป็นกายเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงกายพระอรหันต์นั่นแหละเป็นสาวกขาตธรรมละ ธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวดีแล้วกล่าวชอบแล้ว ถูกหลักถูกฐานทีเดียวไม่ใช่อื่นละ ไปตามร่องรอยนั้น ถ้าว่าปฏิบัติตามแนวนั้น คนทั้งหลายเหล่านั้นก็ย่อมถึงซึ่งฝั่ง ล่วงเสียซึ่งวัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ ยากที่บุคคลจะล่วงได้ ล่วงซึ่งวัฏฏะนั่นมันอะไรล่ะ กัมมวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ไม่ข้องขัดเรื่อยไป ล่วงเสียได้แล้ว ยากที่บุคคลจะล่วงได้ ไม่ใช่เป็นของง่าย แต่ว่าต้องปฏิบัติตามธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้วจึงจะล่วงได้ ที่ล่วงได้ไปถึงนิพพานได้เป็นพระอรหัตต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน นั่นล่วงได้แล้ว พวกนี้ล่วงได้แล้วทั้งนั้น เมื่อล่วงได้ขนาดนี้ ตามวาระพระบาลีว่า ถ้าจะไปทางนี้ ผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญาให้ ละธรรมดำเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น ดำไม่ให้มีเลย เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ก็ใสเป็นแก้ว หาหลักอื่นไม่ได้ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ใสหนักขึ้นไป สว่างหนักขึ้นไป ดำไม่มีไปแผ้วพานเลย นี่ให้ละธรรมดำเสียอย่างนี้ ยังธรรมขาวให้สะอาด ให้บังเกิดปรากฏขึ้นอย่างนี้ ให้เกิดปรากฏจนกระทั่งถึงธรรมกายตลอดไป นั่นธรรมขาวทั้งนั้นพวกเหล่านี้

กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต โอกา อโนกมาคมฺม อาศัยซึ่งนิพพาน ไกลจากอาลัย อาศัยอาลัย ไม่มีอาลัย จากอาลัย เมื่อถึงพระอนาคาก็อาศัยนิพพานได้ เมื่อถึงพระอรหัตต์ละก็ไปนิพพานเลย ไปนิพพานทีเดียวไม่ไปไหนละ อาศัยนิพพานไม่มีอาลัย จากอาลัย กามคุณาลัย อาลัยในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในรส ในสัมผัส ไม่มีเลย ไปอยู่นิพพานเสียไม่มีอาลัยไปเจือปนระคนเลย มีธรรมกายไปได้นิพพานได้ ไม่เกี่ยวด้วยอาลัยเสียเลยทีเดียว วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันสงัดใด ถ้าว่าไม่มีธรรมกายแล้วไปยินดีไม่ได้ ถ้าไม่ถึงไม่รู้รสชาติของนิพพานทีเดียว ถ้ามีธรรมกายแล้วยินดีนิพานได้นิพพานเป็นที่สงัดเป็นที่สงบเป็นที่เงียบเป็นที่หยุดทุกสิ่ง ถึงนิพพานแล้ว สิ่งที่ดีจริงอยู่ที่นิพพานทั้งนั้น เมื่อรู้จักนี้แล้ว ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย หิตฺวา กาเม อภิญฺจโน ละกามทั้งหลายเสียได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนายินดีจำเพาะในพระนิพพานนั้น นิพพานนั้นเป็นของสำคัญนัก ลึกลับ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มุ่งนิพพานทั้งนั้น เมื่อเป็นพระอรหัตต์นั้นมีจำนวนเท่าไรองค์ ก็มุ่งนิพพานทั้งนั้น ตั้งแต่อนาคาก็มุ่งนิพพาน ตั้งแต่มีกายธรรมก็ถ้าว่าไปนิพพานบ่อย ๆ ละก็ชอบนักอยากจะอยู่ในนิพพาน เป็นที่เบิกบานสำราญใจกว้างขวาง ทำให้อารมณ์กว้างขวาง ทำให้เยือกเย็นสนิท ปลอดโปร่งในใจ ทำให้สบายมากนัก นิพพานเหตุนั้น บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญาเรียกว่าคนฉลาด ชำระตนให้ผ่องแผ้ว ชำระตนให้สะอาด เมื่อตนผ่องแผ้วสะอาดจากธรรมเครื่องเศร้าหมองของใจแล้ว เหลือแต่ธรรมกายใสสะอาดเป็นชั้น ๆ ไป โคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัตต์ นั่นเรียกว่าสะอาดละอย่างนั้นเรียกว่าสะอาดจากธรรมเครื่องเศร้าหมองของใจ ไม่มีแล้ว ผ่องแผ้วดีแล้ว จิตอันบัณฑิตเหล่าใดอบรมด้วยดีแล้ว โดยชอบในองค์เหตุของความตรัสรู้ทั้งหลายเหล่านั้นย่อมไม่ถือมั่น ยินดีในการละการถือมั่น ย่อมไม่ถือมั่นยินดีในการไม่ถือมั่น เมื่อปล่อยเสียได้หมดเสียเช่นนี้นั้น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012098828951518 Mins