วินัยเรื่องความเป็นระเบียบ

วันที่ 20 ตค. พ.ศ.2554

 

        นอกจากฝึกรักษาความสะอาดแล้ว ความเป็นระเบียบก็ต้องฝึกกันได้ด้วย หยิบอะไรมาใช้ละก็ เสร็จเรียบร้อยแล้วขอให้เอาไปคืนที่ อย่างที่พวกเราทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ เสื่อพอใช้เสร็จก็ทำความสะอาด ทำความสะอาดเสร็จก็ม้วนให้แน่นให้เรียบร้อย ชนิดที่จะกองซ้อนไว้ในศาลาก็กองซ้อนกันให้เป็นระเบียบ ชั้นละ ๕ ฝื่น ๑๐ ชั้น เท่ากันทุกกอง แบบนี้เช็คจำนวนง่าย ขาดหายไปก็รู้ทันที ส่วนชนิดที่จะเอาไปเก็บไว้ในเรือนเก็บ ก็ขนลำเลียงกันไปให้เรียบร้อย เข้าแถวส่งต่อกัน ไม่โยนเอาเร็วเข้าว่า ทำให้อายุการใช้งานนาน แล้วนิสัยเราก็ถูกฝึกให้รักความเป็นระเบียบไปในตัว
 

       หลวงพ่อมีข้อคิดฝากอีกนิดนะ ในความเป็นระเบียบน่ะมันมีหลักอยู่ ฝึกกันให้ได้ คือ ในการวางของ จะวางโต๊ะ วางเก้าอี้ก็ดี วางลงไปเมื่อไรขอให้มันตั้งฉากกับพื้นที่ ถ้าไม่ตั้งฉากกับพื้นที่ แม้มีชิ้นเดียวก็เกะกะ ยกตัวอย่างไมค์ที่หลวงพ่อกำลังพูดอยู่นี่ มันตั้งฉากตรงหน้าหลวงพ่อพอดีจึงไม่เกะกะ แต่ถ้าตั้งเอียงๆ ให้พูด มันเกะกะทันที ดูเอาก็แล้วกัน
 

       เพราะฉะนั้น จะวางไมค์ วางแก้วน้ำ วางหนังสือ ฯลฯ พยายามวางให้มันตั้งฉาก แล้วความเป็นระเบียบเรียบร้อยมันจะเกิดขึ้นมาเอง ฝึกลูกฝึกหลานต้องดูคนไหนทำอะไรทิ้งๆ ขว้างๆ อย่ายอม ถ้าปล่อยเสียแล้วต่อไปวันข้างหน้า จะเป็นคนแสบเป็นคนไม่รับผิดชอบ แล้วเราก็จะต้องมาเสียน้ำตากับลูกๆ หลานๆ ของเรา
 

       ทีนี้เมื่ฝึกทั้งเรื่องคำพูด เรื่องเวลา เรื่องความสะอาด เรื่องความเป็นระเบียบ จนได้มาตรฐานดีแล้ว เรื่องต่อไปถ้าจะให้ดี มารยาทต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ฝึกเข้าไปอีก อย่างนี้ละก็ความบริสุทธิ์จะเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ แม้แต่จะไว้เผ้าไว้ผม ทำกันให้ดี แต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานที่ ไม่ใช่มาวัดก็ยังจะสวยงามเกินเหตุ เขียนคิ้วทาปากกันมาให้เปรอะ มาหลอกกระทั่งพระเชียวนะ
 

       ที่กล่าวมาทั้ง ๔ ข้อนั้น คือ วินัยทางโลก ข้อต่อไปนี้เป็นวินัยทางธรรม


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01723876396815 Mins