ลอยกระทง บูชารอยพระพุทธบาท

วันที่ 12 พย. พ.ศ.2556

ลอยกระทง นันมทา พญานาค บูชาพระพุทธบาท

 

วันลอยกระทง บูชารอยพระพุทธบาท

“วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่ง บทเพลงวันลอยกระทง  ชวนให้ย้อนหวนคืนไปสู่ยุคสุโขทัย  ที่แม่น้ำลำคลองยังใสสะอาด หน้าน้ำนองเอ่อล้นเต็มตลิ่ง  บรรยากาศรื่นรมย์ ด้วยผู้คนชายหญิงที่แต่งกายสวยงาม  มาตั้งจิตอธิษฐานลอยโคมประทีปอยู่เต็มสองฝั่งแม่น้ำ

วันลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่เรียกกันว่า "พิธีลอยประทีปหรือลอยโคม" เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาหรือน้อมบูชารอยพระพุทธบาท ณ ลุ่มน้ำนัมมทานที ณ มัชฌิมประเทศหรืออินเดียในปัจจุบ้น

ในพระไตรปิฏกบันทึกเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทไว้ว่า  สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้เห็นด้วยธรรมจักษุและญาณทัสสนะว่า  พญานาคนัมมทา เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในพระบรมศาสดา แม้พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า  พญานาคเป็นเดรัจฉานที่มีอานุภาพมาก  ไม่สามารถบรรลุธรรมในชาตินี้ แต่ก็ยังมีมหากรุณาเสด็จไปบาดาลนาคพิภพ โปรดพญานาคนัมมทา  เพื่อจะเป็นอุปนิสัยในการบรรลุธรรมในภพชาติต่อไป

พญานาคมีจิตยินดีอย่างยิ่ง แปลงร่างเป็นมาณพหนุ่มประดับกายด้วยอาภรณ์เครื่องประดับสวยงาม  มาถวายการต้อนรับนำเสด็จสู่นาคพิภพ

พระบรมศาสดาได้แสดงธรรมโปรดพญานาคและเหล่านาคบริวารให้รักษาอุโบสถศีลหรือศีล 8 และรับพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับ  พญานาคนัมมทากราบทูลอ้อนวอนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 
ขอพระองค์จงประทานสิ่งควรสละแก่ข้าพระองค์สักอย่างด้วยเถิด  สิ่งที่พระองค์มอบไว้จะได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของข้าพระองค์ทั้งหลาย" 

พระบรมศาสดามีมหากรุณา  ทรงอธิษฐานจิต แสดงเจดีย์คือรอยพระบาทประทับไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที  ตามปกติรอยพระบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระฉวีละเอียดอ่อน  เบาเหมือนปุยนุ่น  รอยพระบาทที่ทรงเหยี่ยบย่ำไปสถานที่ใด ไม่ปรากฏโดยทั่วไปแต่ถ้าพระพุทธองค์ทรงอธิฐานจิต แสดงเจดีย์ไว้ รอยพระพุทธบาทจะตั้งอยู่อย่างนั้น  ไม่มีวันเลือนหายไปชั่วกัปกัลป์

พระบรมมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทย ได้สืบทอดประเพณี "ลอยประทีปหรือลอยโคม บูชารอยพระพุทธบาท" สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันเพราะรู้ว่า  การลอยโคมหรือลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาทนั้น ได้บุญมหาศาลเกินจักประมาณ  เพราะน้อมบูชามุ่งตรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่หรือปรินิพพานแล้วก็ตาม  หากกระทำด้วยจิตเลื่อมใส  บริสุทธิ์ ก็จะได้บุญมากเสมอเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเมื่อใกล้ถึงเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ 2556 พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย  ควรจะตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีลอุโบสถ  ตั้งใจนั่งสมาธิให้จิตผ่องใส  ตั้งจิตมุ่งตรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  กำหนดใจนึกถึงพระพุทธรูปแก้วใสตั้งไว้ตรงศูนย์กลางกายกลางท้อง แทนองค์พระบรมศาสดา

เมื่อถึงวันลอยกระทงซึ่งตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง ขอให้แต่งกายสุภาพสวยงาม ชำระกายให้สะอาดด้วยศีล ชำระใจให้บริสุทธิ์  ด้วยการนั่งสมาธิ แล้วนำกระทงที่ประดับด้วยโคมประทีปเทียนสว่างดอกไม้หอม  อาทิมะลิ  ดอกแก้ว ดอกบัวหรือดอกกุหลาบ  น้อมอธิษฐานจิตลอยกระทงไปบูชารอยพระพุทธบาท ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ขออานุภาพบุญนี้ให้จิตของเราปราศจากกิเลสครอบงำ ขอพุทธานุภาพดลบันดาลให้ชีวิตของเรา ปราศสิ้นสรรพภัย ทุกข์โศก โรคร้าย  อย่าได้มากร้ำกราย เมื่อนั่งสมาธิแล้ว ขอให้ได้บรรลุธรรมลุ่มลึกมากขึ้น  ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างอัศจรรย์

"วันลอยกระทง" แม้เป็นเทศกาลบันเทิงรื่นเริงใจแต่ก็ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ จึงไม่ควรเป็นความบันเทิงที่เกี่ยวข้อง กับอบายมุข โดยเฉพาะการดื่มเหล้าหรือเสพสิ่งมึนเมา  เราจะได้ทั้งบุญและความสุขใจ หากเราสามารถรักษาศีล 5 เอาไว้ได้ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงเพลง ชาวพุทธที่ดี

เมื่อพาลูกหลานออกไปลอยกระทงน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ไม่ควรอยู่สนุกสนานนานเกินไป  แต่ควรกลับมานั่งสมาธิ น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ตราบกระทั่งเวลาที่พระจันทร์วันเพ็ญเต็มดวง  อยู่กลางฟ้าน้อมให้มาลอยเด่นอยู่กลางใจ  ขอให้ชีวิตของเรามีความสุขสดใส มองเห็นแสงสว่างแห่งธรรมยาวไปตลอดชีวิต

บทสารคดี  รัตนวนาลี 11/11/56

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020207647482554 Mins