ทำอย่างไรคนไทยดื่มน้อยลง

วันที่ 16 พค. พ.ศ.2549

          ธนาคารโลกได้เสนอไว้ใน The World Development Report 1993 เรื่อง ‘Investing in Health’ สนับสนุนรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ให้มีนโยบายควบคุมการบริโภคบุหรี่และสุราอย่างเข้มงวด และระบุอย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้ ในเชิงสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ

มาตรการเพื่อการควบคุมการบริโภค

จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆพบว่า การควบคุมหรือความพยายามในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้เวลานานและต้องมีการดำเนินการในหลายด้านทั้งมาตรการทางภาษีและราคา ด้านการออกกฎหมายและกฏระเบียบอื่นๆ ด้านการศึกษาและให้ความรู้ รวมทั้งมาตรการทางสังคมและการรณรงค์ต่างๆ

ด้านราคาและภาษี ประเทศจำนวนมากใช้มาตรการนี้ เช่น ยุโรปตะวันตกเกือบทุกประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งได้ผลอย่างชัดเจนทั้งผู้ดื่มตามโอกาสและผู้ดื่มจัด อย่างไรก็ดีความยืดหยุ่นด้านราคาอาจไม่เท่ากันในแต่ละประเภทเครื่องดื่ม

การจำกัดการเข้าถึงและการซื้อ

จำกัดความหนาแน่นของแหล่งขาย การศึกษาใน ฟินแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาพบว่ายิ่งแหล่งขายหนาแน่นมากนำมาซึ่งการขายและการบริโภคที่มากขึ้นอย่างชัดเจน

วันและเวลาซื้อขาย ในสวีเดน การปิดการจำหน่ายให้เร็วขึ้นในวันเสาร์สามารถลดการจับกุมการเมาสุรา 10% ผลทำนองเดียวกันพบในนอร์เวย์และฟินแลนด์

อายุผู้ซื้อ การศึกษาพบตรงกันหมดว่า การลดอายุขั้นต่ำให้ซื้อได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจรที่สัมพันธ์กับการดื่มสุราเกิดเหตุมากขึ้น ในทางกลับกันการเพิ่มอายุขั้นต่ำจะลดการเกิดอุบัติเหตุจากสุราได้

การอบรมผู้ขายและการรับผิดชอบทางกฎหมายของผู้ขาย ในปี 1994 ผลจากการบังคับให้มีการอบรมผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ทุกประเภทในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกาทำให้อุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อการอบรมผ่านไปเพียง 55% ของผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ และที่รัฐเทกซัส การฟ้องร้องผู้จำหน่ายในปี 1983 และ 1984 ทำให้มีการลดลงของอุบัติเหตุจราจร 6.5 % และ 5.3% ตามลำดับ

การจำกัดการขายเครื่องดื่มบางประเภทแยกตามแหล่งขาย การวิจัยในปี 1987 พบว่าเมื่อรัฐ North Carolina อนุญาตให้จำหน่ายสุรากลั่นใน pub และร้านอาหาร มีผลให้การบริโภคแอลกอฮอล์สูงขึ้น 6-8% และอุบัติเหตุจากการเมาสุราสูงขึ้น 16-24%

การโฆษณา ทั้งสื่อและช่องทางสาร เนื้อหา เวลาและความถี่ องค์การอนามัยโลกศึกษาพบว่า การบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการบริโภคปริมาณน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณา ถึงร้อยละ 16 และที่สำคัญคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณาไม่มีหลักฐานชัดเจน

การให้ความรู้และการสร้างเจตคติที่ถูกต้องในระบบการศึกษาทุกระดับ แม้ว่าจะได้ผลดีในการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และได้ผลบ้างในด้านเจตคติ แต่แทบไม่ได้ผลเลยในการกำหนดพฤติกรรมการดื่มระยะยาวเมื่อพ้นสถานศึกษา

มาตรการฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุ ได้ผลบ้างในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ดื่มหนักแต่น่าแปลกที่มักไม่ได้ผลในการเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมการดื่มของคนทั่วไป.ทำอย่างไรดีกับการดื่มสุราของสังคม?
มีความเป็นไปได้มากว่าเป็นเพราะสังคมของเราขาดความรู้ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น นโยบายที่คิดว่าได้ผลจึงกลับเป็นกระสุนด้านไป

พบว่า (1) ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยต่อหัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาเครื่องดื่มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านราคา (2) ผู้ดื่มมีการทดแทนกันระหว่างสุรา 5 ประเภท (สุราสี สุราขาว เบียร์ สุรานำเข้า ไวน์) สูง ดังนั้น ถ้าจะใช้มาตรการภาษีเพื่อลดการบริโภคต้องเพิ่มภาษีสุราทุกประเภทพร้อมกัน (3) การรณรงค์โดยภาครัฐบาลและองค์กรต่างๆ เช่น เมาไม่ขับ งดเหล้าเข้าพรรษา ฯลฯ ไม่ทำให้ปริมาณการบริโภคต่อหัวลดลง แต่อาจมีผลในการลดอุบัติเหตุอยู่บ้าง (4) นโยบายจำกัดหรือห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไม่มีผลต่อการลดความต้องการบริโภค ยกเว้นในกรณีของเครื่องดื่มนำเข้าเท่านั้น (5) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่ผู้บริโภคคิดว่าจะเป็นผลก็คือ การเน้นถึงผลกระทบต่อคนที่รัก และสถาบันครอบครัว

ในเรื่องพฤติกรรมของการบริโภคสุรา พบว่า (1) สาเหตุสำคัญที่สุดของการดื่มครั้งแรกคือเพื่อนชักชวน ความจำเป็นในการเข้าสังคม และอยากทดลองด้วยตนเอง (2)คนไทยดื่มสุราเฉลี่ย 7 ครั้งต่อเดือน เดือนละ 1,063 บาท หรือร้อยละ 12 ของรายได้เฉลี่ยต่อหัว คนกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1,354 บาท (3) การหาซื้อสุราเป็นเรื่องที่สะดวกมาก เพราะร้านอยู่ใกล้บ้าน เฉลี่ยผู้ซื้อใช้เวลาเพียง 7.5 นาที (อีสานใช้เวลาน้อยที่สุดเพียง 5.8 นาที เพราะในหมู่บ้านมีร้านค้าหลายร้าน) (4) ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดื่มสุราคือ จำนวนสมาชิกที่ดื่มในครอบครัว(ยิ่งมีคนดื่มกันมาก ยิ่งมีอิทธิพล) (5) ในเรื่องความถี่ ผู้มีการศึกษาสูง เบียร์และไวน์จะดื่มน้อยครั้งกว่าผู้ดื่มสุราสี สุราขาว เหล้าขาวที่ผลิตในประเทศ ส่วนรายได้ไม่ใช่ตัวกำหนดความถี่ในการดื่ม ที่น่าสนใจก็คือหากอยู่ใกล้ร้านจำหน่าย หรือร้านอาหาร บาร์ ความถี่จะสูงขึ้น

แนวคิดใหม่ที่มุ่งลดความเสียหายนั้นครอบคลุมทั้งการป้องกันผลเสีย การบำบัด และการปกป้องบุคคลและสังคมจากการบริโภค สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง แนวทางการแก้ไขใช้ 5 มาตรการหลักคือ (ก) การเข้าถึง (การซื้อ) ด้วยวิธีการด้านราคาและภาษี (จำกัดอายุ/สถานที่ซื้อขาย) (ข) ให้ความรู้สาธารณชนและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคสุรา (ค) จำกัดเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อ (ง) เข้มงวดมาตรการดื่มและขับรถ (ลดอัตราแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่เพื่อลงโทษได้ง่ายขึ้น) และ (จ) บำบัดรักษาผู้ดื่มสุรา

ความเสียหายจากการดื่มสุรามูลค่า 13,000-33,653 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นต้นทุนส่วนบุคคลจากการดื่ม ได้แก่ การเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา ต้นทุนเวลาในการบำบัดและขาดงาน และมูลค่าการสูญเสียชีวิต ต้นทุนต่อสังคม การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ มูลค่าการรักษาพยาบาล

ถ้าสามารถคิดมูลค่าน้ำตาของครอบครัว และผลเสียต่อจิตใจและชีวิตของคนใน ครอบครัวอันเกิดจากการดื่มสุราได้ ตัวเลขนี้เมื่อนำไปรวมกับความเสียหายข้างต้นแล้ว ต้องมากกว่าหมื่นๆ ล้านบาทอย่างแน่นอนแอลกอฮอล์ทำร้ายตับได้ฉันใด น้ำตาที่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ก็บั่นทอนหัวใจที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขฉันนั้น

 

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0044260501861572 Mins