เดินตามทางของบัณฑิต (ตอนที่ 4)

วันที่ 26 กค. พ.ศ.2549

 

.....การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดทั้งต่อตัวของเราเองและต่อโลก การสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นในโลก เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีธรรมกายอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ภาษาไหนหรือจะมีความเชื่อแตกต่างกันอย่างไร ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ทั้งนั้น จะเข้าถึงได้ ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกวิธีและถูกส่วน ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หากเรามีความปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรม และก็ลงมือปฏิบัติด้วยความสมัครใจ ทำให้ถูกวิธี มีความเพียรสมํ่าเสมอ ย่อมจะเข้าถึงได้ทุกคน

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน อาทิตตชาดกว่า

 

“เอวมาทิปิโต โลโก ชราย มรเณน จ

นีหเรเถว ทาเนน ทินฺนํ โหติ สุนีภตํ

 

.....โลกนี้ถูกไฟชราและมรณะเผาผลาญอยู่ เหมือนเรือนที่ถูกไฟไหม้ บุคคลพึงรีบขนทรัพย์สมบัติออก ด้วยการบริจาคทาน ทรัพย์ที่บริจาคแล้ว ชื่อว่าขนออกไปดีแล้ว”

 

.....การให้ทานเป็นความดีที่นำความสุขความชุ่มเย็นมาให้ เหมือนสายฝนที่โปรยปรายลงมาจากฟากฟ้าให้ความชุ่มฉํ่าเย็นแก่สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย การให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ ทำให้เกิดความสุข ความมีน้ำใจไมตรีต่อกัน มีความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่เบียดเบียนกัน เราสามารถให้ทานได้หลายรูปแบบ เช่น การให้วัตถุสิ่งของ ข้าว น้ำ เสนาสนะ ให้วาจาอันไพเราะ ให้อภัยทาน ให้วิทยาทาน และธรรมทาน การให้เป็นประเพณีของคนดี ของบัณฑิตนักปราชญ์ที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ คุณความดีก็ก่อเกิด เพราะเป็นการสละความตระหนี่ และความโลภออกจากใจ ความโล่ง โปร่ง เบา สบาย ก็เข้ามาแทนที่ การให้ยังเป็นการสั่งสมเสบียงสำหรับการเดินทางในสังสารวัฏอันยาวไกล เป็นมงคลของชีวิตทั้งในภพนี้และภพหน้า

 

.....เหมือนดังเรื่องมัจฉริยโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ในทรัพย์สมบัติ นอกจากจะไม่ยอมให้ใครใช้ทรัพย์แล้ว ขนาดตัวเอง ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์แท้ ๆ ยังไม่ยอมใช้จ่ายสมบัติเหล่านั้น ต่างกับภาวะของคนทั่วไปในสังคมปัจจุบัน เรามักจะเห็นเศรษฐีที่ตระหนี่ในการบริจาค แต่ตัวเองใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย แม้ของกินของใช้จะแพงแค่ไหน ก็กล้าทุ่มเงินซื้อหามา แสวงหาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คนเขาชื่นชมว่า ตัวเองเป็นคนรํ่ารวย แต่เศรษฐีท่านนี้กลับตระหนี่เป็นอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่พวกเราควรศึกษาว่า ทำอย่างไร ท่านจึงจะเป็นคนรวย ทั้งทรัพย์และน้ำใจ รวยทั้งภพนี้และทุกภพทุกชาติ

 

.....ตอนที่แล้วท้าวสักกเทวราชได้เสด็จลงจากเทวโลก เพื่อสั่งสอนเศรษฐีให้เห็นโทษของความตระหนี่ และอานิสงส์ของการให้ *พระองค์ได้แปลงเป็นพราหมณ์เดินเข้าไปถามทางกับท่านเศรษฐีว่า ทางไปสู่เมืองพาราณสีนั้น ไปทางไหน ถึงแม้เศรษฐีจะแนะนำหนทางให้แล้ว พระองค์ก็ยังไม่ยอมไป กลับเดินเข้าไปใกล้ และได้กล่าวขอข้าวปายาสที่ท่านเศรษฐีกำลังหุง เศรษฐีปฏิเสธว่า ภัตนี้มีจำนวนน้อยเพียงพอสำหรับบริโภคเพียงคนเดียวเท่านั้น และภัตนี้กว่าจะได้มาก็ยากเย็นแสนเข็ญ ต้องขอเขามาเหมือนกัน ให้ท่านพราหมณ์ไปแสวงหาอาหารจากที่อื่นเถิด

 

.....ท้าวสักกะไม่สนใจคำพูดขับไล่ของเศรษฐี ทรงรับสั่งว่า “ข้าพเจ้าจะกล่าวอะไรให้ท่านฟังสักบทหนึ่ง” ทรงกล่าวด้วยเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต ถึงกระนั้นเศรษฐีก็คัดค้านห้ามปรามว่า “ข้าพเจ้ามิได้อยากฟังคำอะไรของท่าน” แต่พราหมณ์ก็ทำเป็นไม่สนใจคำห้ามปราม กลับกล่าวด้วยถ้อยคำที่ไพเราะว่า

 

.....“บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามที่ตัวเองมีน้อย ควรแบ่งของปานกลาง ให้ตามส่วนที่ตัวเองมีปานกลาง ถ้ามีของมากก็ควรแบ่งปันตามที่มีมาก การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะบอกกับท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทาน และจงบริโภคเถิด เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้มีความสุขไม่”

 

.....มัจฉริยโกสิยเศรษฐีสดับคำของท้าวสักกะแล้ว รู้สึกชอบใจ จึงกล่าวว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพูดจาน่าพอใจมาก เมื่อข้าวปายาสสุกแล้ว ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง ท่านจงนั่งรอก่อนเถิด” ท้าวสักกะจึงนั่งรอ หลังจากนั้นจันทเทพบุตรได้แปลงเป็นพราหมณ์เข้าไปหาเศรษฐีด้วยวิธีการ

 

ในทำนองเดียวกัน

 

.....เศรษฐีเห็นแขกมิได้รับเชิญเข้ามาเยือน ตนพยายามขับไล่จันทเทพบุตร ทั้งคู่ได้สนทนากันเหมือนที่เศรษฐีสนทนากับท้าวสักกะ จันทเทพบุตรได้กล่าวแนะนำท่านเศรษฐีว่า “บุคคลใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว พลีกรรมของบุคคลนั้นย่อมไร้ผล ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ก็ไร้ประโยชน์ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกับท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้มีความสุขไม่”

 

.....เศรษฐีฟังคำของจันทเทพบุตรแล้ว รู้สึกปลื้มอกปลื้มใจ รู้สึกว่าคำพูดของพราหมณ์ผู้มาเยือนนี้น่าฟังและน่าทำตาม แม้จะมีความตระหนี่เพียงไร ก็อุตส่าห์พูดจากใจด้วยความลำบากยากแค้นว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด ท่านจักได้ข้าวปายาสของเราหน่อยหนึ่ง จันทเทพบุตรได้เข้าไปนั่งใกล้ ๆ ท้าวสักกะ ต่อมา สุริยเทพบุตรก็เข้าไปหาเศรษฐี ได้กล่าวปิยวาจา ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ยกใจท่านเศรษฐีว่า

 

.....“ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว มิได้บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้น ย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ย่อมมีประโยชน์โดยแท้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกับท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทาน และจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวหาได้มีความสุขไม่”

 

.....เศรษฐีได้สดับคำของสุริยเทพบุตรแล้วก็ปลื้มใจ ความตระหนี่ที่บดบังใจมานาน เริ่มลบเลือนออกไปเรื่อย ๆ กลายเป็นผู้มีจาคะเข้ามาแทนที่ เมื่อใจสบายแล้ว ก็อยากให้ทานขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ข้าวปายาสที่ตนกำลังหุงอยู่นั้น มีเพียงพอสำหรับคนเดียวจริงๆ แต่ก็กล่าวเชื้อเชิญด้วยความพึงพอใจว่า ให้รอก่อน ท่านจักได้ข้าวปายาสของเราหน่อยหนึ่ง สุริยเทพบุตรจึงไปนั่งถัดจากจันทเทพบุตร

 

.....ต่อมา มาตลีเทพบุตรได้เข้าไปหาเศรษฐี และกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก ยังใจให้เอิบอาบเหมือนกันว่า “ก็บุรุษไปสู่สระ แล้วบูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่าชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี การบูชา และความเพียรของเขาในที่นั้น ๆ ย่อมมีผลอย่างแน่นอน ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่เพียงคนเดียว จะกล่าวว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าขอพูดกับท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวหาได้มีความสุขไม่”

 

.....ท่านเศรษฐีเริ่มหูตาสว่างขึ้นมา เมื่อได้ฟังธรรมภาษิตที่ยังใจให้อิ่มเอิบเบิกบาน มีข้อคิดสั้น ๆ คือ เราจะชักชวนใครให้ทำความดี ให้สละความตระหนี่ออกจากใจ นอกจากเราจะมีความรัก และปรารถนาดีด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ต้องมีวาทศิลป์ รู้จักพูดยกใจให้เขาสบายใจ และอยากทำความดีตาม พูดจาดีเป็นศรีสง่าทั้งแก่ตัวเอง และคนฟัง ดังนั้น ให้ทุกคนผู้กำลังทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร หมั่นศึกษาศาสตร์ ตรงนี้ให้ดี ฝึกใช้ถ้อยคำที่พอเหมาะพอสม เป็นคำคมที่ชวนให้คิดสะกิดใจ ให้ตัดความตระหนี่ซึ่งเป็นเนื้อร้ายในใจของเขาออกไปให้ได้ เราจะได้สมปรารถนาในการทำหน้าที่เป็นแสงสว่างแก่โลกกันทุกคน

 

(*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๔)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017500384648641 Mins