จุดมุ่งหมายของกัมมัฏฐาน

วันที่ 13 กค. พ.ศ.2558

 

 

จุดมุ่งหมายของกัมมัฏฐาน

            การทำงานทุกอย่างจะประสบผลสำเร็จได้จำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน การที่บุคคลทำกิจกรรมแบบไม่มีจุดหมายปลายทางก็เหมือนกับการล่องเรือไปในมหาสมุทรโดยไม่มีเข็มทิศและแผนที่ ไม่รู้ จะไปทางไหนดี ไม่ว่าจะมองไปทางใดเห็นแต่น้ำทะเล สุดท้ายก็ต้องล่องเรือวนเวียนอยู่ในท่ามกลาง มหาสมุทรนหมดกำลังสิ้นใจตาย หรือไม่ก็ถูกภัยอื่นๆ เช่น พายุร้ายคุกคาม เป็นต้น แต่ถ้าหากการทำงาน มีการวางจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจนก็จะประสบผลสำเร็จได้ง่าย เหมือนกับการล่องเรือที่มีเข็มทิศและ แผนที่จะทำให้รู้สถานที่ที่กำลังจะไป ถึงแม้จะเป็นการเดินทางไกลก็จะถึงจุดหมายได้ เมื่อกล่าวถึงจุดมุ่งหมาย ของการปฏิบัติกัมมัฏฐานอาจสรุปได้ดังนี้


เพื่อทำให้จิตสงบจากกิเลส

กัมมัฏฐานเป็นหลักปฏิบัติมีไว้เพื่อทำให้จิตสงบจากกิเลส ทำจิตที่เศร้าหมอง ให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลส ที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่ จรมา พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีการอบรมจิต”14)

 

และจิตที่ได้รับการฝึกอบรมดีแล้ว ย่อมนำประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติทั้งในการดำรงชีวิตประจำวัน และในการทำกิจต่างๆ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่”15)


 เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์

กัมมัฏฐานเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ ทำให้รู้เห็นและเข้าใจตามความเป็นจริงในทุกข์ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เห็นและเข้าใจว่าชีวิตของมนุษย์ผู้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ ความทุกข์จะติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ในบางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่ามีความสุข แต่แท้จริง ความสุขที่เราพบนั้น เป็นความสามารถของเราในการที่ดับความทุกข์ลงไปได้ชั่วคราว หรือเป็นเพราะมีทุกข์น้อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แบ่งทุกข์ไว้เป็น 2 ประเภท คือ

 

(1) ทุกข์ประจำ

            หมายถึง ทุกข์ที่มาพร้อมกับชีวิต คือ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความทุกข์แบบนี้ไม่มีใคร หลีกหนีพ้นไปได้ หากพิจารณาให้ดีเราจะพบสภาพธรรมดาของสัตว์ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ตั้งแต่ต้องขด อยู่ในท้อง พอจะคลอดก็ถูกมดลูกบีบรีดดันออกมา ศีรษะถูกผนังช่องคลอดบีบจนกะโหลกเบียดซ้อนเข้าหากัน จากหัวกลมๆ กลายเป็นรูปยาวๆ เจ็บแทบขาดใจ เพราะฉะนั้นทันทีที่คลอดออกมาได้ สิ่งแรกที่เด็กทำ คือร้องจนสุดเสียง เพราะความเจ็บอย่างแสนสาหัสที่เกิดขึ้น และการเกิดนี่เองที่เป็นต้นเหตุ เป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆ ทั้งปวง ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไรก็เลิกทุกข์เมื่อนั้น

            เช่นเดียวกับความแก่ที่กำลังค่อยเกิดขึ้นไปทุกขณะ แต่มนุษย์มักจะเข้าใจผิดว่า ความแก่จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่ออายุ 60-70 ปี แต่ในความเป็นจริง ทันทีที่เราเริ่มเกิด เราก็เริ่มแก่แล้ว ชราทุกข์เริ่มเกิดตั้งแต่ตอนนั้น และค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ในร่างกายเริ่มแก่ตัวไปเรื่อยๆ แต่เพราะความแก่ในวัยเด็ก เกิดขึ้นพร้อม กับความเจริญเติบโต เราจึงไม่ได้มองว่าเราแก่ขึ้น แต่มองว่าเรากำลังโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งถ้าหาก มองให้ดีเราจะพบว่า ในขณะที่เรากำลังโตขึ้นนั้น อายุของเราก็เพิ่มขึ้นและนั่นหมายถึงเราแก่ขึ้นเรื่อยๆ

 

            แม้ความตายก็เป็นที่มาแห่งความทุกข์ ด้วยเหตุที่ว่าเป็นภาวะที่ทุกชีวิตไม่ปรารถนา และ หลายครั้งที่หลายคนต้องทุกข์ยามเมื่อนึกถึงความตาย เพราะวิตกกังวลถึงคติในเบื้องหน้าบ้าง เพราะระลึกถึงคนอันเป็นที่รักที่อยู่เบื้องหลังบ้าง เพราะยังไม่อยากตายบ้าง ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักปฏิเสธเรื่องความตาย และพยายามลืมเรื่องความตายไปจากวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งในความเป็นจริง ความตายก็ยืนอยู่ เบื้องหน้าเรา และใกล้ๆ ตัวเรา หากพิจารณาให้ดีนักศึกษาจะพบว่า ชีวิตของมนุษย์สั้นเพียงแค่ลมหายใจ เข้าออกเท่านั้น หากหายใจเข้า ไม่หายใจออกก็ต้องตาย หายใจออก ไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย ถ้ายิ่งไม่หายใจเข้าและออกพร้อมกันก็ต้องตายแน่นอนความทุกข์ประจำนี้ ย่อมติดตามทุกๆ ชีวิตไปตลอดเวลาที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน สังสารวัฏ เป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ทั้งหลายยังไม่อาจล่วงพ้นไปได้


(2) ทุกข์จร

เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบ ตัวเราได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ 8 ประการ ได้แก่

1.โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ความกระวนกระวาย

2.ปริเทวะ ความคร่ำครวญ ร่ำพิไรรำพัน

3.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย

4.โทมนัสสะ ความน้อยใจ คับแค้นใจ

5.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ ความอาลัยอาวรณ์

6.อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ จากการประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก

7.ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกเมื่อพลัดพรากจากของรัก

8.ยัมปิจฉัง น ลภติ ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้น

 

            นักศึกษาจะเห็นได้ว่า ชีวิตทุกชีวิตเกิดขึ้นดำรงอยู่บนความทุกข์ แล่นไปบนกองทุกข์ เหมือนรถแล่น ไปบนถนน ถนนเปรียบเหมือนความทุกข์ ชีวิตเปรียบเหมือนรถ ล้อรถคือชีวิต หมุนไปบนถนนคือความทุกข์ ในขณะที่หมุนแล่นไป ล้อก็สึกกร่อนไปทุกขณะ น้ำมันก็สิ้นไปทีละน้อย เครื่องก็ทรุดโทรมลง ในที่สุดก็ต้องสลายไป

            ถนนแห่งชีวิตถูกโรยไว้ด้วยหนาม คือ ความทุกข์ ในยามที่คนเดินไปบนถนน เท้าของเขาย่อม ถูกหนามเสียบแทงทุกๆ ครั้งที่ย่างเท้าลงไป จะรู้สึกสบายก็เฉพาะช่วงที่ยกเท้าขึ้นเพื่อจะก้าวลงไปบนหนาม อีกต่อไป แม้หากจะหยุดยืนก็ต้องอยู่บนหนามอีกเช่นกัน

กัมมัฏฐานย่อมทำให้หลุดพ้นจากทุกข์เหล่านี้ได้ เพราะผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานย่อมมีสติ มีปัญญา และรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขที่เกิดขึ้น ย่อมมองโลกและทุกสิ่งตาม ความเป็นจริง สามารถควบคุมใจของตนเองได้ในยามที่จะต้องประสบทุกข์ดังกล่าว ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความเกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความยินดีก็เกิดขึ้น ความยินดีในรูป นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้”16)


เพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่พระนิพพาน

            กัมมัฏฐานเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่พระนิพพาน การทำกุศลชั้นพิเศษในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วิวัฏฏคามินีกุศล (การทำความดีที่ทำให้ออกจากวัฏฏะ) เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางไปสู่ความ หลุดพ้น หมดกิเลส เข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งแตกต่างจากการทำทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานอันนำไปสู่ความสมบูรณ์ในชีวิตของการเวียนว่ายในสังสารวัฏ แต่ยังไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ แต่กัมมัฏฐานเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจและยอมรับ ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เห็นทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นจากชีวิตที่วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ และเข้าใจถึงความเป็นไปแห่งวงจรสังสารวัฏ รู้ต้นเหตุของสังสารวัฏและทำให้ขจัดกิเลส อันเป็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

 

“    นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดีอวิชชาก็ดี บุคคลเหล่าใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส”17)

 

------------------------------------------------------------------------

14) อัจฉราสังฆาตวรรคที่ 6, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่มที่ 32 ข้อ 52-53 หน้า 106.
15) อทันตวรรคที่ 4, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่มที่ 32 ข้อ 41 หน้า 89.
16) สมาธิสูตร, สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค, มก. เล่มที่ 27 ข้อ 27-28 หน้า 37-39.
17) ชฏาสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 24 ข้อ 61 หน้า 128.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01698511838913 Mins