หลักการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2558

หลักการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

            การเจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องทำควบคู่กันไปจึงจะเป็นหนทางเพื่อการหลุดพ้นทุกข์ ละกิเลสอาสวะทั้งหลายได้ โดยใช้สมถะเพื่อทำให้จิตหยุดนิ่งเป็นสมาธิ จนเกิดฌานขั้นต่างๆ และใช้ฌานเพื่อเป็นบาทแห่งวิปัสสนา สมถะจึงถือเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่วิปัสสนา ส่วนการพิจารณาด้วยการใช้ความนึกคิดตรึกตรองเพื่อให้เห็นไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่งต่างๆ นั้น ย่อมเป็นอุปการะต่อการทำสมถะ หรือสมาธิให้เกิดขึ้น คือ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในสรรพสิ่ง ไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย จึงเกิดการปล่อยวางอารมณ์ภายนอกที่ยึดติด และจิตจึงค่อยสงบนิ่ง ตั้งมั่น และเกิดเป็นสมาธิ การพิจารณาอย่างนั้นท่านยังไม่เรียกว่า วิปัสสนา แต่อาจเรียกได้ว่า วิปัสสนึก ดังใน พระธรรมเทศนาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ว่า

 

“    วิปัสสนึก คือนึกตาม ทบทวนตามคำสอน ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตำรับตำราหรือครูบาอาจารย์ เราสอนแล้วเราก็มาพิจารณา มาใคร่ครวญกัน ตามที่เรายินได้ฟังโดยใช้จินตมยปัญญา เกิดความคิด แล้วก็เกิดความรู้สึก เรามักจะเหมาว่าอันนี้คือวิปัสสนา แต่ความจริงยังไม่ใช่ ยังเป็นวิปัสสนึก คือนึกคิดพิจารณาเอา ทบทวนเอาตามสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังได้ศึกษา แต่วิปัสสนาความหมายที่แท้จริงหมายความว่าต้องเห็น เพราะปัสสนาแปลว่าการเห็น และก็ต้องเห็นอย่างวิเศษ แจ่มแจ้ง เห็นได้ทั่วถึงทุกทิศทุกทางทีเดียว”14)

 

การเจริญวิปัสสนาที่ต้องใช้สมถะควบคู่ไปก่อนนี้ตรงกับพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

 

“    ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน”15)

 

            ในพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่ยังไม่ได้ฌาน ย่อมไม่อาจยังปัญญา คือภาวนามยปัญญา หรือวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ เพราะบุคคลที่อยู่ใกล้พระนิพพาน คือ สามารถละกิเลสได้ จำต้องเจริญสมถะเพื่อให้เกิดฌาน และเจริญวิปัสสนาต่อเพื่อให้เกิดปัญญา เช่นนี้บุคคลนั้นก็อาจจะละกิเลส เพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

            นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การรู้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง อันเป็นภาวนา-มยปัญญา จะเกิดขึ้นได้เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ดังพุทธพจน์ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความเกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ…”16)

 

            ในการแสดงพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผลแห่งการปฏิบัติของผู้ฟังธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนคือ ได้ผลคือใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิแล้ว จึงใช้สมถะเป็นบาทเพื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป ดังตัวอย่างของพระยสกุลบุตร

 

“    เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดาได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่ง นั่นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น”17)

 

            จะเห็นได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระยสะ พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระยสะด้วยอนุปุพพีกถา จนกระทั่งจิตปราศจากนิวรณ์แล้ว คือ จิตเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จึงได้แสดงอริยสัจ 4 ซึ่งธรรมะที่ต้องอาศัยวิปัสสนาพิจารณาจึงจะเห็นอริยสัจ 4 ไปตามความเป็นจริง ดังนั้น ลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติจึงเริ่มจากสมถะแล้วต่อด้วยวิปัสสนา

            สมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อนำจิตที่อยู่ในขั้นโลกียะหรือจิตของปุถุชนเพื่อเข้าสู่โลกุตตระหรือจิตของพระอริยเจ้า

 

------------------------------------------------------------------------

14) พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์, วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2540.
15) ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่มที่ 43 ข้อ 35 หน้า 338.
16) สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค, มก. เล่มที่ 27 ข้อ 27 หน้า 37.
17) วินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่มที่ 6 ข้อ 26 หน้า 63.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017723321914673 Mins