วิธีปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2558

 

วิธีปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน

            พระมงคลเทพมุนีอธิบายวิธีการของสมถะว่า ต้องใจหยุด ท่านกล่าวว่า”พอใจหยุดเท่านั้นถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด โลกที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของโลก ธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม”5)

 

(1) หลักการทำสมถะให้เกิดขึ้

ท่านได้อธิบายหลักการของการทำสมถะหรือทำใจให้หยุดไว้ว่า

           ต้องทำให้ใจหยุดก่อน ตรงตามความหมายว่า สงบนิ่ง ใจ ประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความ-คิด ความรู้ รวมกันเป็นจุดเดียว อยู่ที่เบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ความเห็น อยู่ที่ท่ามกลางกาย ความจำ อยู่ที่ท่ามกลาง เนื้อหัวใจ ความคิด อยู่ที่ท่ามกลางดวงจิต ความรู้ อยู่ที่ท่ามกลางดวงวิญญาณ

            4 อย่างนี้รวมเข้าเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ คำที่เรียกว่า ใจ นี่แหละเราต้องบังคับให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็น จำ คิด รู้ สื่อ อย่างนี้ ต้องมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน สะดือทะลุหลังเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้ายเป็นด้ายกลุ่มไป เส้นหนึ่งตึงตรงกัน ตึงทั้ง 2 เส้น ตรงกลางจรดกัน ที่กลางจรดกันนั้นแหละเรียกว่า กลางกั๊ก กลางกั๊ก นั้นแหละ ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ถูกกลางดวงพอดี

 

เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่าง จรดอยู่กลางกั๊กนั้น กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีที่ตั้ง แห่งเดียวเท่านั้น

            ใจ ที่เขาบอกว่า ตั้งใจ เราจะต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้นทีเดียว ถึงจะถูกเป้าหมายใจดำ ที่เขาบอกว่าตั้งใจ ต้องเอาใจไปหยุดตรงกลางนั้น เมื่อเอาใจไปหยุดอยู่กลางนั้นได้แล้ว ก็ใช้สัญญาจำให้มั่น หยุดนิ่งบังคับให้นิ่งเชียว ถ้าไม่นิ่งก็ต้องใช้บริกรรมภาวนาบังคับไว้ บังคับให้ใจหยุด บังคับหนักเข้า หนักเข้า หนักเข้า พอถูกส่วนเข้า ใจหยุดนิ่ง ใจหยุด หยุด พอใจหยุดเท่านั้นแหละถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะล

 

            พระมงคลเทพมุนีได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำใจให้หยุดว่า จะต้องหยุดให้ถูกที่ คือ ต้องหยุดที่ศูนย์กลางกาย จึงจะเป็นสมถะที่แท้ ท่านกล่าวไว้ว่า

“    ใจที่หยุดต้องถูกกลางนะ ถ้าไม่ถูกกลางใช้ไม่ได้ ต้องหยุดเข้าสิบ เข้าศูนย์ เข้าส่วน ถูกสิบ ถูกศูนย์ ถูกส่วน ถ้าหยุดกลางกายเช่นนั้นถูกสิบ พอถูกสิบเท่านั้นไม่ช้าจะเข้าถึงศูนย์ พอถูกสิบแล้วก็จะเข้าถึงศูนย์ทีเดียว โบราณท่านพูดกันว่า เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา เที่ยงแท้แน่นักหนา ตั้งอนิจจา เป็นอาจิณ จุติแล้วปฏิสนธิ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา นี่สิบ ศูนย์นี้เป็นตัวสำคัญนัก”6)

 

(2) วิธีการทำใจหยุด

พระมงคลเทพมุนีท่านสอนวิธีการในการทำใจหยุด หรือทำสมถะเอาไว้ว่า

“    ต้องมีบริกรรมภาวนา กับบริกรรมนิมิตเป็นคู่กัน บริกรรมนิมิตให้กำหนดเครื่องหมายเป็นดวงใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา แล้วให้กำหนดไว้ตามฐานต่างๆ เริ่มต้นจากฐานที่ 1 ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าปากช่องจมูกขวา แล้วให้บริกรรมภาวนาประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า สัมมา อะระหัง แล้วกำหนดบริกรรมนิมิตเลื่อนไปยังฐานที่ 2 ที่เพลาตา หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวา ตรงหัวตาที่มูลตาออก ตามช่องลมหายใจเข้าออกข้างใน แล้วให้บริกรรมประคองเครื่องหมายที่เพลาตานั้นว่า สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง 3 ครั้งแบบเดียวกัน

 

            แล้วเลื่อนเครื่องหมายตรงลำดับเพลาตาเข้าไป กลางกั๊กศีรษะข้างใน ไม่ให้ค่อนซ้ายขวาหน้าหลังล่างบน กลางกั๊กพอดี (นี่เรียกว่าฐานที่ 3) แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่กลางกั๊กศีรษะข้างในว่า สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง 3 ครั้ง ตรงนี้มีลัทธิพิธี ต้องกลับตาไปข้างหลังให้ตาค้างเหมือนคนชัก จะตาย เราหลับตาอยู่ ตาช้อนขึ้นข้างบนเหลือบขึ้นข้างบนเหลือบๆ ไป จนค้างแน่น ให้ความเห็นกลับไปข้างหลัง แล้วค่อยๆ ให้เห็นกลับเข้าข้างใน พอตาเห็นกลับ เข้าข้างใน ก็เลื่อนเครื่องหมาย (ฐานที่ 3) ไปที่ปากช่องเพดาน (ฐานที่ 4) ที่รับประทานอาหารสำลัก อย่าให้ล้ำให้เหลื่อมพอดี แล้วบริกรรม ประคองเครื่องหมาย ที่ปากช่องเพดาน (ฐานที่ 4) ที่รับประทานอาหารสำลักนั้นว่า สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง 3 ครั้ง แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายไปที่ปากช่องคอ (ฐานที่ 5) เหนือลูกกระเดือก เหมือนกลางกั๊กปากถ้วยแก้ว ตั้งไว้ปากช่องคอ บริกรรมประคองเครื่องหมายที่ปากช่องคอนั้นว่า สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง 3 ครั้ง

 

            แล้วเลื่อนไปกลางตัว (ฐานที่ 6) สุดลมหายใจเข้าออก สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กพอดี แล้วบริกรรมที่กลางตัวนั้นว่าสัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมา อะระหัง 3 ครั้ง แล้วเลื่อนเครื่องหมายถอยหลัง (จากฐานที่ 6) มาที่เหนือกลางตัวเรานี้ขึ้นไป 2 นิ้วมือ (ฐานที่ 7) ฐานที่ 7 นั้นมีศูนย์ 5 ศูนย์ ศูนย์กลาง ศูนย์ข้างหน้า ศูนย์ข้างขวา ศูนย์ข้างหลัง ศูนย์ข้างซ้าย ศูนย์กลาง คือ อากาศธาตุ ศูนย์ข้างหน้า คือ ธาตุน้ำ ศูนย์ข้างขวา คือ ธาตุดิน ศูนย์ข้างหลัง คือ ธาตุไฟ ศูนย์ข้างซ้าย คือ ธาตุลม เครื่องหมายใสสะอาดตรงช่องอากาศขาดกลางตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์

            เราก็ต้องทำใจของเราให้นิ่ง ให้หยุด ทำใจให้หยุดอยู่ศูนย์กลาง ทำใจให้หยุด หยุดก็เข้ากลางหยุด กลางของกลาง ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน นอกใน ไม่ไป กลางของกลาง กลางของกลาง นิ่ง”

 

------------------------------------------------------------------------

5) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 272-273.
6) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 274.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014379501342773 Mins