ผลของวิปัสสนา

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2558

 

 

ผลของวิปัสสนา

            วิปัสสนา ในแนวทางการปฏิบัติ เมื่อสิ้นเส้นทางของสมถะ ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงพระธรรมกายโคตรภู ซึ่งนั่นถือว่า เป็นการเริ่มต้นวิปัสสนา และจบลงที่กายธรรมพระอรหัต ตามคำของพระมงคลเทพมุนีที่ว่า ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด จนกระทั่งถึงกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียดนี้ ขั้นวิปัสสนา ตั้งแต่กายธรรมโคตรภู เมื่อถึงพระอรหัตนี้แล้ว หลุดจากกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเหลือเลย เสร็จกิจในพระพุทธศาสนา ทั้งสมถวิปัสสนา ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังคำที่ท่านกล่าวว่า

 

“    นี่ต้องนับว่าวิชชาวัดปากน้ำ วิชชาสมถวิปัสสนาเดินให้ถูกแนวนั้นทีเดียว เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เข้าถึงธรรมกายเป็นลำดับไป ยิ่งใหญ่ไพศาลนับประมาณไม่ได้ จะไปพบพระพุทธเจ้า พระนิพพาน พระอรหันต์ ก็จะรู้ตัวทีเดียว ว่า อ้อ! เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักของจริง เห็นของจริงอย่างนี้ ไม่เสียทีที่พ่อแม่อาบน้ำป้อนข้าวมา อุ้มท้องมาไม่หนักเปล่า แม้บุคคลที่จะทูนไว้ ด้วยเศียรเกล้าก็ไม่เมื่อยเปล่า ไม่หนักเปล่า”14)

 

(1) การพิจารณาไตรลักษณ์

            การพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ของพระมงคลเทพมุนี เป็นการเห็นด้วยธรรมจักขุ หรือตาของ พระธรรมกาย รู้ด้วยญาณของพระธรรมกาย คือ ใช้ธรรมจักขุและญาณของพระธรรมกายพิจารณาดู ขันธ์ 5ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งพระมงคลเทพมุนีอธิบายลักษณะของการเห็น ที่เกิดขึ้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า ขันธ์ 5

            รูป จะกล่าวในที่นี้ เฉพาะรูปหยาบๆ คือสิ่งซึ่งธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้า รวมกันเป็นก้อนเป็นชิ้น เห็นด้วยตา เช่น ร่างกายมนุษย์ และสัตว์ ที่เรียกว่ารูป เพราะเหตุว่า เป็นของที่จะต้อง แตกสลายไปด้วยเหตุต่างๆ มีหนาวและร้อนเป็นต้น หนาวจัด เย็นจัด จนเกินขีด หรือถูกร้อนจนเกินขีด ย่อมแตกสลายไป พิจารณาละเอียดเข้า จนเห็นชัดว่านี่มิใช่ตัวตน เรา เขา สักแต่ว่าธาตุประชุมตั้งขึ้นแล้วก็ดับไป

 

            ตาธรรมกายนั้นเห็นชัดเจน เห็นเกิดเห็นดับติดกันไป คือ เห็นเกิดดับๆ เกิดดับๆ คู่กันไป ที่เห็นว่า เกิดดับๆ นั้นเหมือนฟองน้ำ ที่เมื่อเราเอาของฝาด เช่น เปลือกนุ่นมาต้มแล้วรินใส่อ่างไว้ เบื้องต้นจะเห็นเป็น น้ำเปล่าๆ ต่อมาเมื่อเอามือแกว่งเร็วๆ จนน้ำแตกออก เกิดเป็นฟองน้ำ จะเห็นในฟองนั้น เป็นเม็ดเล็กๆ จำนวนมากติดต่อกันเป็นพืด เมื่อเราดูต่อไป จะเห็นว่าเม็ดเล็กๆ นั้น พอตั้งขึ้นแล้วก็แตกย่อยไปเรื่อยๆ ไม่อยู่นานเลย การเห็นเช่นนี้ จึงจะเป็นเหตุให้สามารถปล่อยอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นได้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอีก 4 กองนั้นก็ทำนองเดียวกัน

            ทุกข์เป็นของมีและขึ้นประจำกับขันธ์ 5 เป็นของธรรมดา แต่ที่เราเดือดร้อนก็เป็นเพราะไป ขืนธรรมดาของมันเข้า ขันธ์ 5 เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ย่อมแปรผันไปตามธรรมดาของมัน เกิดแล้ว มันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อมันถึงคราวแก่ เราไม่อยากจะแก่หรือไม่ยอมแก่ อาการของมันที่แสดงออกมามีผมหงอก เป็นต้น ถ้าเราขืนขันธ์ 5 ตะเกียกตะกายหายามาย้อมมันไว้ จึงต้องเป็นทุกข์ ลำบาก ถ้าเราปล่อยตามเรื่องของมัน ก็ไม่มีอะไรมาเป็นทุกข์อีกต่อไป สิ่งไม่เที่ยงจะให้เที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนก็ยังขืนยึดว่าเป็นตัวตน เหตุที่ให้ขืนธรรมดาของขันธ์ 5 นี้เรียกว่า อุปาทาน ถ้าปล่อยอุปาทานได้ การขืนธรรมดาก็ไม่มี

 

            ยกตัวอย่าง พระปัญจวัคคีย์ตอบคำถามของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสถามว่า เมื่อขันธ์ 5 มีอาการแปรผันไปเป็นธรรมดา แก่ เจ็บ ตาย เช่นนี้แล้ว ขันธ์ 5 นี้ จะเรียกว่าเป็นของเที่ยงไหม

  • ตอบว่าไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้ว เป็นทุกข์หรือเป็นสุข
  • ตอบว่าเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

ถ้าเช่นนั้นควรละหรือจะยึดเป็นตัวตน

  • ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า

อะไรเล่าเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน

ตัณหานั่นเอง ได้แก่ กามตัณหา ความทะยานอยากเกี่ยวด้วยอารมณ์ 6 มีรูป เป็นต้น

ภวตัณหา ความทะยานอยากเป็นไปในอารมณ์ 6 ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ ถือว่าเที่ยงถาวร

วิภวตัณหา ความทะยานอยากเป็นไปในอารมณ์ 6 ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ถือว่าขาดสูญ เมื่อละตัณหาได้ อุปาทานก็ไม่มี

            แต่ลำพังขันธ์ 5 อย่างเดียว ไม่ใช่ตัวทุกข์ ได้ในคำว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา รวมความก็ว่า ปล่อยอุปาทานไม่ได้ เป็นทุกข์ ปล่อยได้ หมดทุกข์ ถอดกายทิพย์ออกเสียจากมนุษย์ กายมนุษย์ก็ไม่มีเรื่อง จะมีใครเป็นทุกข์ และในที่สุดจะต้อง ปล่อยอุปาทานให้หมดทั้งในกายทิพย์ กายรูปพรหม และอรูปพรหม คงเหลือแต่ธรรมกายเท่านั้น นี่เป็นตัวอย่างการเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ 5

 

(2) การบรรลุมรรคผล

            เมื่อได้เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ใช้ตาของพระธรรมกายพิจารณาอริยสัจ 4 ในกายมนุษย์ ทั้งหยาบและละเอียดให้เห็นจริงว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์เป็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง ไม่คงทนอยู่ที่เปลี่ยนแปรผันไป เห็นว่าขันธ์ เราจะบังคับให้เป็นสุข ไม่ให้เป็นทุกข์บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในบัญชา ของใคร การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยตาของพระธรรมกาย รู้ด้วยญาณ เมื่อเห็นด้วยตาธรรมกายว่า กายมนุษย์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ก็รู้เห็นเหตุให้เกิด คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เห็นเหตุเกิด และเหตุดับ รู้เห็นถึงนิโรธ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับได้ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณของธรรมกาย ถูกส่วนธรรมกายโคตรภู จะกลับเป็นพระโสดา

            เมื่อตาธรรมกายพระโสดา ญาณธรรมกายของพระโสดาเห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ในกายทิพย์ เห็นทุกข์ เห็นเหตุเกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในกายทิพย์ละเอียดเข้าแล้ว ถึงขนาดเข้า จะกลับจากพระโสดาเป็น พระสกทาคา

 

            ตาธรรมกายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด ตามความเป็นจริง ถูกลักษณะเข้า กลับเป็นพระอนาคา

            เมื่อตาของพระอนาคา ญาณของพระอนาคาเห็นรู้ ทุกข์สัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียดหนักเข้า เห็นตามความจริงเข้า ถูกหลักถูกส่วนเข้าจริงๆ ถึงขนาด ก็จะกลับจากพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด เป็นพระอรหัต เมื่อถึงพระอรหัตแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มี อาสวะสิ้นแล้ว กิจที่จะต้องทำ ไม่ต้องทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก15)

            การพิจารณาเช่นนี้ท่านเรียกว่า เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่า นิพพานก็ได้ คือ การพิจารณาอริยสัจ 4 ในกายต่างๆ จนบรรลุอรหัตผล

 

------------------------------------------------------------------------

14) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 432.
15) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 6.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012067786852519 Mins