แนวทางการเลือกอาจารย์สอนกัมมัฏฐาน

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2558

 

แนวทางการเลือกอาจารย์สอนกัมมัฏฐาน

            ในการหาครูบาอาจารย์ที่มีลักษณะดังที่ได้กล่าวแล้ว อาจจะต้องอาศัยเวลาและการพิจารณา อย่างมาก พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ให้แนวทางในการเลือกพระอาจารย์ หรือสำนักในการ ปฏิบัติธรรม พอเป็นหลักง่ายๆ ไว้ว่า

“    ก่อนที่จะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ดีควรจะหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติต่อไปในวันข้างหน้า และเป็นหลักในการเลือกสำนักด้วย เพราะว่าพระไตรปิฎกนั้น ได้รวบรวมคำสอนภาคทฤษฎีเอาไว้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อมีความรู้ขั้นพื้นฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว จากนั้นจึงค่อยไปเลือกสำนักปฏิบัติ

 

            คราวนี้ ในการเลือกสำนักปฏิบัตินั้น ก็มีวิธีเลือกง่ายๆ ให้ดูเจ้าสำนักเป็นเกณฑ์ว่า เจ้าสำนักนั้น มีความประพฤติ มีข้อปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกที่เราเรียนมาหรือไม่ ถ้าท่านมีความประพฤติมีการปฏิบัติเรียบร้อยบริบูรณ์ดีงาม สมกับที่เราได้อ่านมาจากพระไตรปิฎกแล้วก็เลือกสำนักนั้นแหละเป็นสำนักที่เราควรจะมอบกายถวายชีวิต ให้ท่านอบรมเป็นกัลยาณมิตรเคี่ยวเข็ญกันต่อไป

            อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่เราจะได้เข้าไปสนทนา ได้เข้าไปใกล้ชิดกับเจ้าสำนักต่างๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะยิ่งเป็นสำนักใหญ่ เจ้าสำนักท่านก็มีงานมีภาระรับผิดชอบมาก หลวงพ่อขอแนะนำวิธีเลือกสำนักอีกวิธีหนึ่ง คือ ลองศึกษาความประพฤติ การปฏิบัติจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน จะเป็นพระหรือฆราวาสก็ตาม ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ 6 ประการนี้แล้ว ก็มอบกายถวายชีวิตเข้าไปเป็นลูกศิษย์ได้เลย

 

คุณสมบัติ 6 ประการ ซึ่งสำนักที่ได้มาตรฐานจริงๆ จะต้องมี คือ

1.เจ้าสำนักเองรวมทั้งลูกศิษย์ในสำนักนั้น ไม่มีนิสัยชอบว่าร้ายหรือโจมตีการปฏิบัติธรรมของสำนักอื่น ถ้าท่านยังมีนิสัยชอบว่าร้ายอยู่ แสดงว่า คุณธรรมของท่านก็ยังไม่พอ แล้วท่านจะมาสอนเราได้อย่างไร

 

2.ท่านจะต้องไม่มีนิสัยชอบในลักษณะที่เรียกว่า นักเลง หรือชอบข่มขู่คนอื่น อะไรทำนองนั้น ท่านควรจะมีวิธีการสอนประเภทที่เรียกว่า ชี้แจงเหตุแสดงผลได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่ใช่บังคับให้เชื่อ หรือขู่ให้เชื่อ

 

3.สังเกตดูด้วยว่าศีลของท่าน มารยาทของท่านงามดีไหม สมกับที่จะมาเป็นพระอาจารย์สอนเรา ได้หรือยัง การจะดูว่ามารยาทงามหรือไม่งาม ศีลงามหรือไม่งามนั้น เราเทียบจากพระวินัยในพระไตรปิฎกที่เราเรียนมา อย่าไปถือเอาความถูกใจเราเป็นเกณฑ์ ต้องเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์จึงจะใช้ได้

 

4.เจาะลึกไปถึงเรื่องอาหารการขบฉันของท่าน คือ ต้องดูว่าวัดนี้ สำนักนี้ จุกจิกจู้จี้ในเรื่องอาหาร บ้างหรือเปล่า หรือบริโภคกันฟุ่มเฟือยสุดโต่ง เช่น ต้องสั่งจากภัตตาคารมาประเคน ถ้าอย่างนั้นถอย ออกมาดีกว่า

 

5.ดูสถานที่การปฏิบัติธรรมของเขาจริงๆ ว่าออกในลักษณะไหน ถ้าออกในลักษณะโอ่อ่าเกินไป เดี๋ยวจะเกิดนิสัยฟุ้งเฟ้อกลับมา แต่ว่าถ้าซอมซ่อเกินไปปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอย่างนั้นก็ไม่สมควร เพราะในพระศาสนานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคร่งครัดในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ ตลอดจนกระทั่ง ความร่มรื่นของสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย เราจึงต้องดู

 

6.เจ้าสำนักเอง ท่านรักการฝึกสมาธิมากแค่ไหน ถ้าฝึกสมาธิกันแค่วันละชั่วโมง สองชั่วโมง หรือว่าฝึกกันไปตามมีตามเกิด คุณอย่าไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านเลย ถ้าเป็นสำนักที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันอย่าง จริงๆ จังๆ ก็ใช้ได้ ถ้าเป็นสำนักที่ไม่ตั้งใจฝึกสมาธิกันอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถที่จะรักษาคุณธรรมที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นทั้ง 5 ประการได้สมบูรณ์หรอก

 

            คุณสมบัติข้อที่ 6 นี้เป็นข้อที่สำคัญมากที่สุด ที่จะยืนยันว่าสำนักที่เราจะไปปฏิบัตินั้น ต้องมีการฝึกการสอน มีการอบรมสมาธิอย่างจริงจัง เจ้าสำนักเอง ก็ทุ่มเทฝึกสมาธิด้วย เป็นผู้นำในการฝึก และ สมาธินั้นก็เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา ถ้าไปพบสำนักใดมีคุณธรรม 6 ประการนี้อยู่ครบบริบูรณ์แล้วละก็ เข้าไปสมัครเป็นลูกศิษย์ในสำนักนั้นได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน”

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010854005813599 Mins