คู่แห่งจริต

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2558

 

คู่แห่งจริต

ในจริตทั้ง 6 อย่าง ท่านสงเคราะห์ด้วยความเสมอภาคกันได้เป็น 3 คู่ คือ

  • ราคจริต กับ สัทธาจริต
  • โทสจริต กับ พุทธิจริต
  • โมหจริต กับ วิตกจริต

 

ราคจริต กับ สัทธาจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ ราคะเป็นหัวหน้าในฝ่ายอกุศลสัทธาก็เป็นหัวหน้าเหมือนกัน แต่เป็นหัวหน้าทางฝ่ายกุศล ราคะย่อมแสวงหาในทางกามคุณ สัทธาก็แสวงหาเหมือนกัน แต่แสวงหาบุญ คือ กุศลกรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ราคะติดใจในสิ่งที่ไร้สาระไร้ประโยชน์ฉันใด สัทธาก็เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ฉันนั้น

 

โทสจริต กับ พุทธิจริต (หรือปัญญาจริต) ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ โทสะมีการเบื่อหน่าย แต่เป็นการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าสิ่งใดยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่าย ส่วนปัญญา มีการเบื่อหน่ายเหมือนกัน คือ เบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ว่าเลือกเบื่อหน่ายบ้าง ไม่เบื่อหน่ายบ้างเหมือนอย่างโทสะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โทสจริต เบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งโมหะ ซึ่งเป็นทางให้ถึงอบาย ส่วนพุทธิจริตนั้น ก็เบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่ว่าเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งปัญญาซึ่งเป็นทางให้ถึงสวรรค์ ตลอดจนถึงพระนิพพานก็ได้ นี่เป็นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง โทสะเป็นธรรมที่เกิดเร็ว ดุจไฟไหม้ฟางลุกโพลงขึ้นในทันใด ฝ่ายปัญญาก็เป็นธรรมที่เกิดเร็วเหมือนโทสะ คือ เกิดสว่างจ้ารู้แจ้งขึ้นมาในทันใดนั้นเหมือนกัน

 

โมหจริต กับ วิตกจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ โมหะมีอาการสงสัย ลังเลใจอยู่ ส่วนวิตกก็คิดแล้วคิดอีก อันเป็นอาการที่คล้ายกับลังเลไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่ง โมหะมีอาการฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ส่วนวิตกก็คิดอย่างนี้ อย่างนั้น หรืออย่างโน้น อันเป็นอาการคิดพล่านไปเช่นเดียวกัน ดังนี้จึงว่ามีความเสมอภาคกัน

 

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016164342562358 Mins