ดื่มสุราเป็นอาจิณผิดกฏแห่งกรรม

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2558

 

 

ดื่มสุราเป็นอาจิณผิดกฏแห่งกรรม


                “ สุรา ” น้ำเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนจากคนดีเป็นคนเลว เปลี่ยนจากคนรวยให้กลายเป็นคนจน ทั้งยังทำให้สุขภาพเสื่อม และเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ แต่ถึงแม้จะรู้กันอย่างนี้คนไม่น้อยก็ยังดื่มสุรากัน


เรื่องราวความเป็นมาของ “ สุรา ” 
                เรื่องราวความเป็นมาของ “ สุรา ” มีการระบุไว้ในคัมภีร์ว่าในสมัยที่พระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี มีพรานป่านายหนึ่งชื่อ สุระ เขาดั้นด้นเข้าไปจับสัตว์ในป่าลึก แล้วไปพบโพรงไม้ใหญ่แห่งหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายโอ่ง เผอิญมีผลไม้ที่สุกงอมในบริเวณใกล้ๆ ตกลงมาในโพรงไม้นั้นพอดี เมื่อมีฝนตกน้ำก็ตกลงมาขังอยู่ในแอ่งนี้ด้วย และมีละอองยีสต์ปลิวมาตกลงไป พอแสงอาทิตย์ส่องมาก็เกิดการหมักตัวของน้ำผลไม้ และพันธุ์พืชต่างๆ จนกลายเป็นน้ำสีแดงๆ คงมีลักษณะคล้ายไวน์ในปัจจุบัน
                 พรานสุระสังเกตเห็นพวกนกมาจิบน้ำกินแล้วทำท่าทางประหลาดเต้นไปเต้นมาก็แปลกใจ จึงตัดสินใจลองชิมน้ำนั้นดูรู้สึกว่าอร่อย เมื่อจิบชิมมากเข้าก็เกิดอาการมึนเมาแล้วหลับผล็อยไปพอตื่นมารู้สึกอารมณ์ดี ครึ้มอกครึ้มใจก็จิบชิมอีกเรื่อยๆ จนติด ต่อมาพรานสุระออกเดินหาของป่าในที่ไม่ไกลออกไปนักก็พบดาบสชื่อ วรุณะบำเพ็ญพรตอยู่ จึงชวนให้มาลองชิมน้ำนี้ด้วยกัน


                ดาบสวรุณะติดใจในรสของน้ำ สุดท้ายทั้งสองคนร่วมมือกันสังเกต และจดจำส่วนประกอบของน้ำนั้นแล้วทดลองปรุงขึ้นเองปรากฏว่าได้ผล จึงนำน้าที่ปรุงขึ้นมาใหม่เข้าเมืองไปถวายพระราชาพอพระราชาได้ชิมก็ชื่นชอบ รับสั่งให้ผลิตขึ้นมาเป็นการใหญ่ เมื่อชาวเมืองเห็นว่าพระราชาทรงชื่นชอบน้ำนี้มากจึงดื่มกินกันตามพระราชากันอย่างเอิกเกริก ปรากฏว่าเหตุการณ์ ครั้งนี้ทำให้บ้านเมืองล่มสลาย เพราะชาวเมืองไม่ประกอบอาชีพเอาแต่ดื่มเหล้าเมายาแล้วเรียกน้ำนี้ว่าสุรา เนื่องจากผู้นำเข้ามาคือนายสุระ
                “ สุระ ” แปลว่า “ กล้า ” แต่ถ้าจะเปรียบเทียบว่าดื่มน้ำนี้แล้วกล้า ก็คงจะหมายถึงพอเมาแล้วก็กล้าแสดงกิริยาที่ปกติไม่กล้าทำ เช่น กล้าลงไปคลานกับพื้น กล้าแก้ผ้าแก้ผ่อน กล้าเอะอะโวยวาย แล้วมีความรู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่กลัวอะไรทั้งนั้นเพราะขาดสติไปแล้ว


            เมื่อเมืองหนึ่งเกิดจลาจลล่มสลาย นายพรานสุระกับดาบสวรุณะ ก็นำสุราไปขายเมืองอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายทั้งสองเดินทางมาถึงเมือง สาวัตถี พบกับพระราชาคือพระเจ้าสัพพมิตต์ จึงนำสุราไปถวาย เมื่อพระราชาได้ชิมก็สั่งให้ผลิตสุรา 500 โอ่ง พอหมักได้ที่มันก็พองตัวน้ำสุราในโอ่งจึงล้นออกมา เผอิญมีแมวแถวนั้นไปกินน้ำสุราที่ล้นออกมา จึงเมาแล้วนอนสลบไป ทหารที่เฝ้าดูอยู่จึงเข้ากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชามีความระแวงอยู่แล้วนึกสงสัยว่า คนทั้งสองมาปรุงยาพิษเพื่อลอบปลงพระชนม์พระองค์ จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตทันที นายพรานสุระกับดาบสวรุณะจึงถึงแก่ความตาย ไม่นานนักแมวที่หลับไปก็ฟื้นขึ้นมาวิ่งได้เหมือนเดิม พระราชาจึงทดลองดื่มน้ำนั้นแล้วเตรียมแจกจ่ายเป็นการใหญ่ แต่พระอินทร์ทรงแปลงกายลงมาห้ามไว้ได้ทัน พระเจ้าสัพพมิตต์คิดได้ กรุงสาวัตถีจึงรอดพ้นจากความพินาศอย่างหวุดหวิด ถึงแม้นายพรานสุระกับดาบสวรุณะจะตายไปแล้วแต่ก็ยังมีคนมากมายที่ติดในสุรา ศึกษากระบวนการผลิต แล้วผลิตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ มีทั้งเบียร์ ไวน์ กระแช่ เหล้าขาว เหล้าสี สารพัดรูปแบบ


ศีล 5 กับสามัญสำนึกของมนุษย์
                ศีล 5 มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล มีอยู่คู่โลกพร้อมๆกับสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ
ศีลข้อ 1
                ศีลข้อ 1 คือ มนุษย์ไม่ควรไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ต้องเคารพในสิทธิชีวิตของคนอื่นเขา ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดถ้ามีสำนึกของความเป็นมนุษย์อยู่ก็จะไม่อยากฆ่าผู้อื่น ไม่อยากพรากชีวิตใคร สมมติว่าเราไปทัศนศึกษาในสมัยที่ยังมีการประหารด้วยการยิงเป้าโดยใช้ปืนเอ็ม 16 ในฐานะที่เรามาเยี่ยมชมคุก ให้เราเหนี่ยวไกประหารนักโทษโดยไม่มีความผิดจะกล้าไหม ร้อยละ 99.99 ไม่กล้า ต่อให้เราไม่มีโทษที่ฆ่าเขาเลยก็ยังไม่กล้า คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้เพราะขัดต่อสามัญสำนึกของมนุษย์


ศีลข้อ 2
                ศีลข้อ 2 คือ มนุษย์ควรเคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ลักขโมยของเขา ยกตัวอย่างเรากำลังกินข้าวอยู่ในโรงอาหาร เหลือบไปเห็นจานข้าวของเพื่อนอยู่ข้างๆ มีกับข้าวพูนจานน่าอร่อย คนทั่วไปคงไม่มีใครคิดจะเอาช้อนไปตักกับข้าวจากจานเพื่อนมากิน
                การกระทำอย่างนี้คนไม่ทำแต่สัตว์ทำ ใครเลี้ยงสุนัขเลี้ยงไก่จะเคยเห็นว่า ถ้ามีสุนัขสองตัวเราเอาข้าวให้มันสองจานมันก็แย่งกันกินอยู่ดี กินของตัวเองยังไม่หมดก็มาแย่งกินของตัวอื่นแล้ว เพราะสัตว์ไม่มีสามัญสำนึกเรื่องสิทธิทรัพย์สินของผู้อื่น มันถือว่ามีกำลังก็จะแย่งชิงเอาเป็นของตน ถ้าเห็นสัตว์ตัวใดรู้จักเคารพสิทธิของตัวอื่น ไม่แย่งกันกินแสดงว่าใกล้จะหมดกรรมมาเกิดเป็นคนแล้ว


ศีลข้อ 3 
                ศีลข้อ 3 คือ สามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่า ไม่ละเมิดสิทธิในตัวบุคคล ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ทำลายน้ำใจใครด้วยการแย่งชิงลูกเมียเขา คนเราแตกต่างจากสัตว์เพราะสัตว์ไม่มีสามัญสำนึกในเรื่องนี้ เมื่อไรที่มีความต้องการทางเพศ ถึงฤดูผสมพันธุ์ก็กัดกันแย่งชิงกัน กวางขวิดกันตายเพื่อแย่งตัวเมีย สุนัขก็กัดกันเพื่อแย่งตัวเมีย ช่วงฤดูผสมพันธุ์บางทีสุนัขตัวผู้หนีออกจากบ้านไปจากบ้านหิวโซเป็นเดือนๆ ข้าวปลาไม่กินเพราะจะไปตามหาสุนัขตัวเมีย โซซัดโซเซไปตามอำนาจกิเลส แต่มนุษย์ต้องไม่เป็นอย่างสัตว์ ต้องรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และมีความยับยั้งชั่งใจ


ศีลข้อ 4 
                ศีลข้อ 4 คือสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยคำพูด ยกตัวอย่าง สุนัขที่อยู่ในบ้านมีรั้วรอบขอบชิด พอสุนัขตัวอื่นผ่านมามันเห่าเลย มันคำรามใส่กันเพื่อแสดงอำนาจ แต่คนเราพออยู่ในบ้านของตัวเองมีคนเดินผ่านหน้าบ้านเราไม่ด่าเขา เขาเดินไปของเขาส่วนเราก็อยู่ของเรา เพราะสามัญสำนึกสั่งว่าไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยคำพูด


ศีลข้อ 5 
                ศีลข้อ 5 คือมนุษย์ควรมีสติ ไม่ดื่มสุรายาเสพติดทั้งหลายที่จะเป็นเครื่องบั่นทอนสติของเรา ตัวอย่างทั้งหมดทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นถูกคุมอยู่ได้ด้วยสติ แล้วสตินี่ก็แปลกถึงคราวจะทนก็ทนได้อย่าไม่น่าเชื่อ อดข้าวเป็นวันๆ สติก็ยังดี ทำงานเหนื่อยอดหลับอดนอนสติก็ยังดี แต่ว่าถึงคราวสติจะขาดผึงก็ขาดได้ง่ายๆ เพียงเพราะน้ำเมาเข้าปากไม่กี่แก้วสติก็หลุดลอยไปแล้ว   จากคนที่เคยสุภาพเรียบร้อยกลับแสดงกิริยาที่น่าละอายแก้ผ้าแก้ผ่อน คลานไปกับพื้น อาเจียนเสร็จแล้วกินเข้าไปใหม่ก็ยังได้ อะไรที่คนทั่วไปไม่กล้าทำแต่พอเมาทำได้หมด ปกติเคยสุภาพเรียบร้อย พอเมาได้ที่กลับอาละวาดหาเรื่องชกต่อย เพื่อนฝูงพากันตั้งวงพอดื่มเหล้าเข้าไปคนละแก้วสองแก้ว เผลอแผล็บเดียวเอาขวดเหล้าไล่ตีหัวกัน เสียบกันแทงกันแล้ว ถ้าสติขาดแล้วศีลข้อไหนๆ ก็ขาดได้หมดทั้งนั้น


                ศีล 5 มีมาก่อนพระพุทธศาสนา เกิดมาพร้อมกับสามัญสำนึกของมนุษย์ ว่าสิ่งใดที่เราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้รัดกุมว่า องค์แห่งศีลแต่ละข้อมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงผิดศีล และมีกรณีใดที่ทำแล้วไม่ผิดศีล เช่นเราไม่รู้ว่าเดินไปเหยียบมดตาย ในกรณีนี้ศีลยังไม่ขาดเพราะเราไม่มีเจตนา เป็นต้น เราจึงควรรักษาศีล 5 ให้บริบูรณ์ โดยเฉพาะไม่ดื่มสุราซึ่งจะเป็นเหตุให้เราผิดศีลได้ทั้ง 5 ข้อ

 

---------------------------------------------------------------

หนังสือ " รู้ทันชีวิต " 
ธรรมะขัดเกลานิสัย สร้างสุขภาพที่ดี ให้ร่างกายพร้อมสร้างบารมีต่อไป
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0028297821680705 Mins