บารมีที่ถึงพร้อม

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2558

 

บารมีที่ถึงพร้อม


ข้าฯ ขอประณตน้อม        ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุณ-            ญ ภาพนั้นนิรันดร ฯ


            ก่อนพระองค์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต เสด็จลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อจะมาตรัสรู้ธรรม พระองค์จะตรวจดูปัญจมหาวิโลกนะ หนึ่งในนั้นก็คือ ตรวจการลเวลา เวลาที่เหมาะสมที่พระองค์จะมาตรัสรู้ธรรม มนุษย์ต้องมีอายุเฉลี่ยอย่างน้อย ๑๐๐ ปีขึ้นไป อย่างครั้งพุทธกาลมนุษย์มีอายุ ๑๐๐ ปี พอถึงยุคปัจจุบันผ่านมา ๒๕๐๐ ปี อายุมนุษย์ลดลงโดยทุกๆ ๑๐๐ ปี อายุมนุษย์ลดลง ๑ ปี ปัจจุบันจึงมีอายุเฉลี่ ๗๕ ปี โดยสรีระ แต่ถ้าไปอยู่ในดินแดนที่ไม่เจริญ มีโรคภัยไข้เจ็บมาก ก็มีสิทธิ์ตายก่อนอายุตั้งมากมาย ทำไมมนุษย์อายุถึงลดลง ตอบว่า ก็เพราะกิเลสมันมาก ทำให้สอนยาก ขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มาเกิด


            ดังนั้น เราอยู่ในยุคนี้ยังมีพระพุทธศาสนา แต่อายุขัยของมนุษย์ก็ลดลง เราพึงรู้เถิดว่า เราอยู่ในยุคที่มนุษย์มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ อย่าเผลอไปทำอย่างชาวบ้านเขา มาบวชได้ถือว่าเป็นบุญมหาศาล ใช้โอกาสนี้ทำความดีให้เต็มที่เถิด และให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ผู้คนทั้งหลายมีกิเลสมากกว่าครั้งพุทธกาลมาก ความคิดเลยผิดๆไป เห็นใครทำความดีมากๆ ทนไม่ได้ รับไม่ได้ รู้สึกไม่ถูก รู้สึกนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ เห็นคนตั้งใจรักษาศีลก็บอกว่าเคร่งเกินไป สบายๆ ก็พอ เหล้าเบียร์ดื่มนิดหน่อย ไม่เมาไม่เป็นไร เห็นคนนั่งสมาธิก็บอกว่าอย่าไปนั่งมากเดี๋ยวเป็นบ้า ทั้งๆที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แต่ความคิดคนมันเพี้ยนไปเพราะกิเลสหนาปัญญาหยาบ


            เราเกิดมาสร้างบารมีในชาตินี้ มันท้าทายมาก เพราะถือว่าเกิดในยุคมนุษย์อายุ ๗๕ ปี สร้างบารมียากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คนพาลเยอะ โอกาสพลาดได้ง่าย แต่ถ้าเราชนะชาตินี้ จากนี้ไปชนะทุกชาติ เพราะชาติที่ยากมากๆ เรายังชนะได้ แล้วยุคต่อไปเราลงมาเกิดสร้างบารมีช่วงที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ยพันปีหมื่นปีก็จะสามารถสร้างบารมีได้อย่างสบายๆ สมัยพระกัสสปพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ยุคนั้นมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย ๑๐,๐๐๐ ปี สิ่งแวดล้อมสบายๆ กิเลสคนไม่ค่อยมากเท่าไร สอนง่ายสร้างบารมีแบบเย็นๆ ชาตินี้ยากมาก ถ้าชนะได้ก็จะชนะไปทุกชาติ เหมือนมวยถ้าเราสามารถน็อคแชมป์เฮฟวี่เวทมาแล้ว มาเจอรุ่นฟลายเวทสบายมาก ก็เฮฟวี่เวทยังชนะมาแล้ว เพียงแต่อย่าประมาทการที่หลวงพ่อตามพวกเรามาบวช เปลืองบุญหลวงพ่อมาก บางคนคิดว่าการที่เรามาวัดมาบวชได้เหมือนบังเอิญ จริงๆ ไม่มีความบังเอิญ เป็นเพราะท่านทุ่มบุญไปตามเรามา ดังนั้นให้ตั้งใจบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดี จะได้สมกับความเมตตาที่ท่านมีต่อเรา ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้คิดไตร่ตรองให้ดีว่า จะทำสิ่งใดเพื่อสนองงานพระพุทธศาสนา เป็นการบูชาธรรมให้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ อย่าเป็นเถาวัลย์หรือต้นตำลึง ให้เป็นไม้มีแก่น ทำอะไรทำจริง บวชจริง ศึกษาธรรมะก็จริง ปฏิบัติจริง ถ้าเป็นอย่างนี้ความสว่างไสวจะรออยู่ข้างหน้า นี่คือเรื่องพื้นฐานที่น่ารู้ของการสร้างบารมี


            บารมี คือ บุญที่ควบแน่น พระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทฺสโร ) ท่านดูจากในเชิงปฏิบัติ เมื่อสร้างบุญจนมีดวงบุญที่ศูนย์กลางกายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้วาหนึ่ง พอกลั่นควบแน่นเป็นดวงบารมีจะได้ดวงบารมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ถ้าขยายในเชิงปฏิบัติในแง่ที่มาของบุญบารมี ก็ต้องบอกว่า บารมี คือ นิสัยที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี แบ่งบารมีออกเป็น ๓ ขั้นคือ
๑.    บารมี คือ การสร้างบุญแบบเข้มข้น
๒.    อุปบารมี คือ การทุ่มเทสร้างบุญระดับยอมเอาอวัยวะเป็นเดิมพัน ยอมสละอวัยวะเป็นทาน
๓.    ปรมัตถบารมี คือ การสร้างบุญระดับสูงสุด คือ พร้อมจะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เหมือนกรณีที่ดาบสกระโดดให้แม่เสือกิน เพื่อช่วยชีวิตลูกเสือ 
ถ้าดูในดวงบุญที่ศูนย์กลางกาย ดวงบุญขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ วา ควบเป็นดวงบารมีได้เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ พอสร้างบารมีได้มากๆ ไปอีกจนได้เป็นดวงอุปบารมี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ วา ควบแน่นเป็นดวงปรมัตถบารมี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบนั่นเอง


            เราอาจเคยได้ยินว่า บารมี ๓๐ ทัศ บางท่านสงสัยว่าต่างจากบารมี ๑๐ ทัศอย่างไร คือ ทานบารมี ก็จะแยกเป็น ทานบารมี ทานอุปบารมี และทานปรมัตถบารมี ศีลบารมี ก็จะแยกเป็น ศีลบารมี ศีลอุปบารมี และศีลปรมัตถบารมี เป็นอย่างนี้บารมีละ ๑๐ ทัศ แต่ละข้อแยกออกได้เป็น ๓ รวมเป็นบารมี ๓๐ ทัศ พอดี
บารมี ๑๐ ทัศ ได้แก่
๑.    ทานบารมี คือ การให้และการเสียสละ คนทั่วไปหวงไม่ยอมให้เพราะเสียดายทรัพย์ แต่พระบรมโพธิสัตว์ยอมตายไม่ยอมหวง พร้อมที่จะให้แม้แต่ชีวิตตัวเอง ความต่างมันอยู่ตรงนี้ถ้าไม่มีหัวใจอย่างนี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องพร้อมที่จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย จะต้องสร้างบารมียาวนานมากๆ หัวใจที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ต้องไม่ตระหนี่ ต้องไม่ขี้เหนียว ไม่โลภ พร้อมที่จะแบ่งปันให้กับทุกคน ถ้าไม่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีความคิดที่เอื้อเฟื้อพร้อมที่จะช่วยทุกคน อย่างนี้ จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร ถ้ามีความคิดให้ทานแบบธรรมดาๆ อย่างมากก็ได้เป็นพระอรหันต์ คือ ฟังธรรมแล้วตรัสรู้หมดกิเลส เอาตัวรอดไปเพียงคนเดียว หรือสอนคนอื่นได้ระดับหนึ่งแล้วก็เข้านิพพาน 
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอมที่จะสร้างบารมียาวนาน เปรียบให้เห็นเหมือนหลุมถ่านเพลิงยาวไกลไปหมื่นจักรวาลก็พร้อมเดินลุยไป ไม่ได้กลัวความร้อนเลย มุ่งมั่นเดินไปจนสุดทางให้ได้ด้วยเรี่ยวแรงลูกผู้ชายหรือ เห็นข้างหน้าเป็นน้ำทองแดงเดือดพล่าน ไกลไปหมื่นจักรวาลก็พร้อมที่จะกระโดดลงไป แล้วว่ายไปจนถึงเป้าหมาย อย่างสุดกำลังด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย
คนทั่วไปเห็นน้ำทะเลธรรมดามองไปคิดว่าถ้าจะให้ว่ายไปให้ถึงเกาะระยะทางตั้ง ๑ กิโลเมตร สงสัยไม่ไหว มันไกลเหลือเกินเดี๋ยวจมน้ำกลางทาง แล้วน้ำก็เย็นกลัวหนาว ยิ่งถ้าระยะทางไกลเป็น ๑๐ กิโลเมตร ก็เลิกล้มความตั้งใจ แต่พระบรมโพธิสัตว์เห็นน้ำทองแดงที่เดือดพล่านที่แค่เข้าใกล้ก็รู้สึกร้อน แล้วระยะทางก็ไม่ใช่ใกล้ ตั้งหมื่นจักรวาล แต่ความหวั่นไหวในใจไม่มีเลย ไม่ได้กลัวความลำบากในการสร้างบารมี พร้อมที่จะแหวกว่ายให้ถึงเป้าหมาย ด้วยเรี่ยวแรงลูกผู้ชายเพื่อโปรดสรรพสัตว์เพราะหัวใจไม่เคยหวงอะไรแม้แต่ชีวิตของตัวเอง ดังนั้น การให้ทรัพย์เป็นทานเรื่องเล็ก
สุเมธดาบส คือพระบรมโพธิสัตว์ แล้วได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ว่าดาบสผู้นี้จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอีก ๔ อสงไขยแสนมหากัปข้างหน้า พระนามว่าพระศากยสัมมาสัมพุทธเจ้าสุเมธดาบสเปรียบการสร้างทานบารมีว่า เหมือนกับการคว่ำโอ่งไม่เหลือน้ำ คือไม่ใช่ว่าแบ่งปัน แต่ให้แบบไม่เหลือเลย หัวใจการสร้างทานของพระบรมโพธิสัตว์เป็นไปอย่างนั้น หัวใจท่านมีแต่ความปีติดังกับว่าจะตรัสรู้ในวันพรุ่งนี้ แล้วท่านก็ทบทวนด้วยวิสัยของบัณฑิตว่า ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถตรัสรู้ธรรมตามที่ได้รับพุทธพยากรณ์ แล้วด้วยบุญที่สร้างไว้มากมาย ข้ามภพข้ามชาติมานับอสงไขยกัปไม่ถ้วนนั้น จึงมีปัญญาสอนตัวเองว่า เราต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ เริ่มจากทานบารมี


๒.    ศีลบารมี จะต้องรักษากาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ แบบยอมตายไม่ยอมชั่ว จะให้ไปทำชั่วไม่ยอม ขอตายดีกว่า ให้ไปผิดศีลขอตายดีกว่า ความคิดที่จะไปเบียดเบียนกลั่นแกล้งใคร ไปโหดร้ายหยาบคายต่อใครหมดไปจากใจ ท่านเปรียบเสมือนจามรีรักษาขนหาง จามรีเป็นสัตว์ที่ขนสวยงามมาก นำไปทำเสื้อขนสัตว์หรือ ทำของที่มีราคาแพงเพราะขนของจามรีมีราคามาก แล้วจามรีจะหวงขนมาก ถ้ามันเข้าไปในป่าขนไปติดอะไรเข้าแม้นมีศัตรูไล่มันอยู่ เช่นถูกเสือไล่ สิงโตไล่หรือมีใครไล่กวดทำร้าย มันพยายามหนีแต่ขนไปติดหนามไผ่อะไรอยู่ แทนที่จะกระชากขนขาดเพิ่อเอาชีวิตรอดมันจะหยุดปลดให้ขนหลุดออกก่อนแล้วค่อยวิ่งต่อไป 
ถ้าเรารักษาศีลเหมือนจามรีรักษาขน ชีวิตพร้อมสละยอมตาย ไม่ยอมชั่ว รักษาศีลอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้ ศีลเราจะบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าเข้าห้องน้ำเห็นแมลงลอยอยู่ในคอห่าน ก็สัพเพสัพตาแล้วตักน้ำราดลงไปเลยเราไม่มักง่ายดูชีวิตสัตว์อื่นไร้ค่า ต้องไม่พรากสัตว์จากชีวิต แม้เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ตาม 


๓.    เนกขัมมบารมี คือ การหลีกออกจากกามแล้วออกบวช ยอมตายไม่ยอมเป็นทาสของกาม สุเมธดาบสเปรียบการสร้างเนกขัมมบารมีเหมือนกับนักโทษที่ออกจากเรือนจำแล้วไม่อยากกลับเข้าไปในเรือนจำอีก
ภพที่เราอาศัยอยู่นี้ เรียกว่า กามภพ คลุมตั้งแต่มนุษย์ไปจนถึงสัตว์ต่างๆ ในโลก เปรต อสูรกาย สัตว์นรก เทวดา นางฟ้า ล้วนยังวนเวียนในเรื่องกาม แล้วกามคุณที่ขังสัตว์ไว้ มันเป็นคุกที่หลวมดูไม่ชัด คนแต่งงาน มีคู่ครอง มีลูกจริงๆแล้วมันคือคุกอย่างหนึ่ง คนเราถ้าโดนมัดให้แน่นๆ ก็จะพยายามดิ้นให้หลุด แต่กามคุณเหมือนถูกมัดหลวมๆ โดยที่คนถูกมัดไม่รู้ตัวเลยไม่คิดจะพาตัวเองให้รอดจากคุก อย่างที่คุณยายเคยสอน ว่าคนที่ยังเป็นโสด ทำงานได้เงินมา ๑๐๐ บาท ถ้าเกิดมีศรัทธาแล้วทำบุญ ๕๐ บาท ยังทำได้ ไม่ได้คิดอะไรมากมาย แต่พอมีครอบครัวมีลูก มีเงิน ๑๐๐ บาท ทำบุญได้สัก ๕ บาทก็เก่งแล้ว จะห่วงหน้าพะวงหลังสารพัด มาวัดฟังเทศน์ก็ลำบาก
เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อตอนมหาดเล็กมากราบทูลว่าพระโอรสประสูติแล้วทรงอุทานว่า “ ราหุล ชาตัง ” แปลว่า “ ห่วงเกิดแล้ว ” ราหุลแปลว่าห่วง ทำให้เจ้าชายน้อยได้ชื่อว่าเจ้าชายราหุล กลับเข้าวังเห็นพระนางพิมพาบรรทมอยู่แล้วมีพระโอรสน่ารักนอนอยู่ข้างๆ เห็นแล้วความรักก็เกิดท่วมหัวใจ แต่ตัดใจไม่ยอมอุ้มเพราะถ้าอุ้มความรักก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น จะตัดใจไม่ลง แล้วเป้าหมายแห่งการตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทะเจ้า จะเบี่ยงเบนไป เพราะพระองค์มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ตรัสรู้แล้วจะได้ให้สมบัติที่มีค่ายิ่งกว่าแก่พระนางพิมพาและพระโอรส ในคืนที่พระโอรสประสูตินั่นเอง พระองค์จึงตัดใจขึ้นม้ากัณฐกะ ออกบวชโดยมีนายฉันนะตามเสด็จ ออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ๖ ปีเต็ม จึงตรัสรู้ธรรม แล้วในที่สุดก็ได้มาโปรดพระนางพิมพาจนเป็นอรหันตเถรี ส่วนเจ้าชายราหุลก็ได้ออกบวชเป็นสามเณร แล้วก็เป็นสามเณรอรหันต์ พระองค์ได้ให้สิ่งมีค่าสูงสุดเป็นโลกุตรสมบัติให้กับพระชายาเดิมและพระโอรส
ขนาดเจ้าชายสิทธัตถะรู้ว่าพระโอรสเกิดยังอุทาน “ ราหุล ชาตัง ” “ ห่วงเกิดแล้ว ” กามนี้เองเป็นคุกที่จองจำหมู่สัตว์ทั้งหลาย ให้ติดอยู่ในคุกใหญ่นี้โดยที่เราไม่รู้ตัว


๔.    ปัญญาบารมี คือ การหาความรู้ด้วยความเคารพ ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพ พูดง่ายๆ ว่า สร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมโง่ พยายามแสวงหาความรู้อย่างเต็มที่ สุเมธดาบสเปรียบการสร้างปัญญาบารมีเหมือนพระภิกษุออกบิณฑบาต ตามลำดับตรอกโดยไม่เลือกชั้นวรรณะไม่เลือกตระกูล ใครรอใส่บาตรท่านก็รับทั้งนั้น การแสวงหาปัญญาเราต้องมีใจพร้อมที่จะน้อมรับความรู้จากทุกคน โดยไม่ถือทิฐิมานะ ปัญญาจะเพิ่มพูนขึ้น บางคนมีอายุมาก ถ้าครูที่มาสอนมีอายุน้อยกว่า จะรู้สึกว่ารับไม่ได้ เสียหน้าเสียศักดิ์ศรี แต่ผู้ที่มีปัญญาจะไม่มีทิฐิมานะ จะเป็นใครก็ตามที่ให้ความรู้กับเราได้รีบน้อมรับจากเขาอย่างเต็มที่ ปัญญาก็จะเพิ่มพูนขึ้น


๕.    วิริยะบารมี คือ การกล้าที่จะทำความดี สร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมแพ้ กล้าหาญยืนหยัดที่จะทำความดีต่อไป จะทำความดีต้องมีความกล้า เพราะจะมีสิ่งต่างๆ มาขู่ให้เรากลัวเช่น พอจะให้ทานก็มีคนมาว่าเดี๋ยวจะหมดตัว นั่งสมาธินานๆ ก็มีคนบอกว่าระวังจะเป็นบ้า บวชนานๆ เขาก็ว่าเสียงานเสียการ บวชแค่ ๗วันตามธรรมเนียมก็พอ คนที่มีวิริยะบารมีจะไม่กลัวสามารถยืนหยัดสร้างความดีตลอดไปไม่เลิกรากลางคัน ท่านเปรียบเสมือนราชสีห์ที่ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถ (ราชสีห์ไม่ใช่สิงโต ถ้าจะเปรียบกับราชสีห์สิงโตเท่ากับลูกแมว ราชสีห์จับช้างกิน แค่ยืนคำรามที่เรียกว่าบันลือสีหนาทออกไป เสือสิงห์กระทิงแรดสลบกันเป็นแถว นั่นคือศักดานุภาพของราชสีห์ตัวจริงนั่นเอง) ถึงเวลานอนมันจะกำหนดอิริยาบถคือ จำท่านอนก่อนแล้วพอตื่นมามันจะไม่ลุกทันทีจะสำรวจก่อนว่ายังคงอยู่ท่าเดิมหรือไม่ ยังเหมือนตอนก่อนจะนอนหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนมีการขยับตัวระหว่างนอนเกิดขึ้นมันจะยังไม่ยอมลุกแม้จะหิวก็ตาม จะนอนใหม่จนกว่าตื่นแล้วสำรวจท่าตนเองว่าไม่มีการขยับในระหว่างนอน จึงจะยอมลุกขึ้น ราชสีห์ยังมีความสม่ำเสมอในท่านอนขนาดนี้ ท่านจึงบอกว่าให้สร้างความเพียรอย่างสม่ำเสมอ เหมือนราชสีห์ที่ไม่ย่อท้อในอิริยาบถ
เหมือนคุณยายเล่าเรื่องหลวงปู่ ( พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร ) ว่า บางคนพอหลวงปู่ท่านดุกระทุ้งหน่อยก็ตั้งใจนั่งสมาธิ พอหลวงปู่ไม่กระทุ้งก็ทำเหยาะๆ แหยะๆ นั่งบ้างไม่นั่งบ้าง หลวงปู่ท่านจะเรียกพวกนี้ว่า “ ไอ้ขี้ไต้ ” คือ สมัยก่อนถ้าจะก่อไฟก็ต้องผ่าฟืนให้เป็นชิ้นเล็กๆ จุดขี้ไต้เป็นเชื้อไฟแล้วก็พัดๆมันก็ค่อยลุกติดไฟ เวลาจะไปข้างนอกก็ต้องใช้ขี้ไต้ให้ความสว่างเพราะไม่มีไฟฉาย เวลาถูกลมขี้ไต้มันจะลุกโพลง แต่พอลมไม่มีไฟจะหรี่ๆ คุณยายจะไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุนี้ธรรมะคุณยายจึงก้าวหน้าทำให้หลวงปู่ชมว่า “ หนึ่งไม่มีสอง ”


๖.    ขันติบารมี คือ สร้างบารมีโดยยอมตายไม่ยอมแพ้ วิริยะบารมีเป็นความเพียรที่จะบุกไปข้างหน้า แต่ขันติบารมีเป็นตัวติดตามให้ทำไปได้สม่ำเสมอหนักแน่น สุเมธดาบสเปรียบขันติเหมือนกับแผ่นดินที่อดกลั้นในสิ่งที่เขาทิ้งลงมา จะสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินก็ไม่โวยวาย มันอดกลั้นต่อสิ่งที่มันได้รับ ผู้ที่มีขันติบารมีจะต้องอดกลั้นต่อสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้างที่คนอื่นเขามากระทบเราได้ ไม่เฉพาะเรื่องไม่ดีอย่างเดียว แม้แต่เรื่องดีเขามาชื่นชม ยกย่องก็ต้องทนให้ได้ อย่าไปหลงเพลินกับคำยอ ต้องทนได้ทั้งเรื่องของสะอาดและของไม่สะอาดด้วย โบราณบอกว่า “ เขาด่าไม่โกรธนี่ว่ายากแล้ว แต่เขาชมแล้วไม่ยิ้มนี่ยากกว่า ” แต่ถ้ายิ้มแล้วเหลิงจะเสียคนเพราะฉะนั้น ต้องมีขันติบารมีทนได้ทุกระดับ


๗.    สัจจะบารมี คือ การสร้างบารมีแบบยอมตายไม่ยอมคด เป็นคนตรง ตั้งสัจจะต่อสิ่งใดแล้วตรงต่อเป้าหมายนั้นไม่เบี่ยงเบนไปเลย ท่านเปรียบเหมือนดาวประกายพรึกที่เปลี่ยนตำแหน่งแต่ไม่เปลี่ยนวงโคจร เปลี่ยนตำแหน่ง เพราะว่าเราอยู่บนโลกซึ่งในแต่ละฤดูกาลโลกมีการหมุนองศาไม่เท่ากัน ทิศทางแดดจึงมีการเปลี่ยนแปลง แต่ดาวประกายพรึก เส้นทางวงโคจรไม่เคยเปลี่ยนคงอยู่กับที่ เราต้องมีสัจจะบารมีอย่างนั้น ตั้งสัจจะสิ่งใดต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้ มีแต่จะต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ จะถอยหลังกลับไม่มี


๘.    อธิษฐานบารมี คือ ตั้งผังชีวิต กำหนดทิศทางแผนผังชีวิตไว้เสร็จสรรพ แล้วสร้างบารมีแบบยอมตายไม่ยอมเปลี่ยนใจ เหมือนพระบรมโพธิสัตว์เมื่อตั้งจิตอธิษฐานว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต อย่าว่าแต่ยอมตายชาติเดียวเลย ต่อให้ต้องตายกี่ชาติก็ไม่ยอมเปลี่ยนผัง กว่าที่พระองค์จะตรัสรู้ได้ ศีรษะที่พระองค์ตัดออกให้เป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ขนาดนั้นยังไม่เปลี่ยนใจ ท่านเปรียบอธิษฐานบารมีเหมือนกับภูเขาที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเพราะแรงลมหรือสิ่งใด ๆ อยู่นิ่งสนิทกับที่ ตราบใดภูเขาใหญ่ยังไม่ย้ายที่ ข้าพเจ้าจะยังไม่เปลี่ยนใจ


๙.    เมตตาบารมี คือ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อทุกๆชีวิต ยอมตายไม่ยอมไร้น้ำใจ พร้อมจะมีน้ำใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกๆคน เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ให้ความชุ่มเย็นชำระล้างให้กับคนดีและคนไม่ดีเสมอกัน ไม่ได้เลือกที่รักผลักที่ชัง เช่นเดียวกับพระองค์ฉันนั้น อย่างคนที่ร้ายกับพระองค์เช่น พระเทวทัต พระองค์ยังทรงมีเมตตา ต่อพระเทวทัตเสมอกับพระอานนท์ ซึ่งเป็นอุปัฏฐากดูแลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด ความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อพระเทวทัตไม่ได้มีความผูกโกรธเลย มีเมตตาเหมือนเดิมเสมอกับที่พระองค์มีต่พระอานนท์


๑๐.    อุเบกขาบารมี คือ การวางใจเป็นกลาง ยอมตายไม่ยอมหวั่นไหวต่อสิ่งใดๆ ใจนิ่งเป็นอุเบกขา ไม่ลำเอียง ใจนิ่งแน่วอยู่อย่างนั้น ข้อนี้จะเป็นตัวคุม ๙ ข้อข้างต้น ให้ไปได้อย่างสม่ำเสมอ ท่านเปรียบเหมือนกับแผ่นดิน วางเฉยทั้งในสิ่งสะอาดและไม่สะอาด ขันติบารมีเหมือนกับแผ่นดินที่อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี แต่พอถึงข้ออุเบกขา คือเฉยๆ ไม่ต้องทน แม้ความรู้สึกว่าต้องอดทนก็ไม่มี รักษาอุเบกขาจิตไว้ให้ได้ เหมือนกับสำนวนกระบี่อยู่ในใจ คือใจนิ่งไปเลยจุดที่จะทนได้หรือไม่ได้นั้นไป ไม่มีความรู้สึกว่าต้องทนเลย ใจจะนิ่งสนิท


            สร้างบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วน สุดท้ายต้องตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นได้ว่า กว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมมาสอนเราได้นั้นแสนยาก ผ่านความลำบากนานับประการ แต่พระองค์ก็สู้สร้างบารมีอย่างไม่ย่อท้อจนตรัสรู้ธรรมในที่สุด เพราะมุ่งหวังจะสอนชาวโลก แต่ให้เราพิจารณาให้ดี เพราะพระองค์อุตส่าห์สร้างบารมีมายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปกว่าจะตรัสรู้ธรรม แต่ตรัสรู้แล้วมีเวลาเผยแผ่สั่งสอนชาวโลกอยู่เพียง ๔๕ ปีเท่านั้นเอง เหมือนเราเรียนหนังสือมา ๒๐ ปี แต่มีเวลาใช้งานแค่ ๑ วัน ดูเหมือนไม่คุ้มกันเลย พวกเราสามารถจะช่วยให้ความคุ้มเพิ่มขึ้นได้ โดยเราตั้งใจศึกษาธรรมะ และช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้ขยายกว้างไกลออกไปให้เต็มแผ่นดินให้คลุมไปทั้งโลก ให้ชาวโลกทั้งหลายได้ศึกษาพุทธธรรมอย่างจริงจังนี่คือการปฏิบัติทดแทนพระคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างดีที่สุด ตั้งใจปฏิบัติบูชาและเผยแผ่ธรรมไปทั้งโลก ให้ธรรมะไปสู่ชาวโลกให้มากที่สุด สมตามเจตนารมณ์ที่พระองค์ตั้งไว้แต่ต้น ให้สัจธรรมคำสอนของพระองค์อยู่ยั่งยืนนานให้กว้างขวางไปทั้งโลก นี้คือสิ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายควรทำ ชาวพุทธทุกคนต้องมีจิตสำนึกแล้วทำอย่างเต็มกำลัง เหมือนอย่างที่ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ทำเป็นตัวอย่างให้เราเห็น สร้างวัดสร้างบารมี เผยแผ่ธรรมะอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อุปสรรคมีท่วมฟ้าไม่เคยหวั่นไหว ธรรมทายาททุกรูปมีครูบาอาจารย์ ที่ทำเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วต้องตั้งใจปฏิบัติตามให้ดี ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายก็เช่นกัน เราโชคดีเกิดมาเป็นมนุษย์ในยุคที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ อยู่ในดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง และได้มาพบครูบาอาจารย์ที่ท่านสร้างบารมีอย่างอาชีวิตเป็นเดิมพันเป็นต้นแบบให้เราได้เห็นในยุคปัจจุบัน ก็ต้องใช้โอกาสนี้ศึกษาธรรมะ ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ อุปถัมป์บำรุงพระพุทธศาสนา และตั้งเป้าหมายช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กว้างไกลไปทั่วโลก รักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยั่งยืนนาน เป็นแสงสว่างส่องนำทางชีวิตแก่ชาวโลกทั้งปวงไปนานแสนนาน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี มีความกตัญญูต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีสุขสำเร็จทั้งในภพนี้ ภพหน้า จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม 

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไป เป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ”


ปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

-----------------------------------------------------------------------------------

เส้นทางพระบรมโพธิสัตว์

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D.,Ph.D

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020622173945109 Mins