เคล็ดลับสู่ความสุข ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

 

เคล็ดลับสู่ความสุข ความสำเร็จอย่างยั่งยืน


ทุกคนอยากมีความสุข
ทุกคนอยากมีความสำเร็จ
มิใช่เพียงแค่ในหน้าที่การงาน แต่ในทุกด้านของชีวิต
มิใช่เพียงความสุขชั่วครู่ หรือความสำเร็จชั่วคราว
แต่เป็นความสุขและความสำเร็จที่มั่นคงยั่งยืน แล้วเหตุใดโลกทุกวันนี้ จึงมีน้อยคนนักที่สมปรารถนา


การที่ชีวิตคนเรายังไม่อาจประสบความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืน น่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง คนเราทุกคนต่างก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เราเองก็ยังไม่สมบูรณ์ยังมีข้อบกพร่อง คนอื่นก็ยังมีข้อบกพร่อง เราลองถามตัวเองหรือถามคนรอบข้างดูสิว่า ใครคิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ ไม่มีข้อบกพร่องเลยบ้าง ซึ่งเราจะพบว่า ไม่มีเลย แล้วถ้าหากมีใครสักคนบอกว่าตนเองนี่แหละสมบูรณ์แบบ ทุกคนคงจะอึ้ง แล้วมองว่าคนผู้นั้นเป็นคนที่หลงตัวเองอย่างหนักก็เป็นได้
ประการที่สอง คนเราทุกคนย่อมมีทิฐิมานะ คือความถือตัวถือตนว่าเราทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว หรืออยู่ในสถานะที่ดีแล้วใครทำอะไรที่มากระทบศักดิ์ศรีของเราเข้าหน่อยเป็นต้องมีเรื่องขัดใจกัน 
ประการที่สาม คนเรามักลืมความดีของผู้อื่น เวลาที่มีเรื่องไม่ชอบใจ 


ทั้งสามประการนี้เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้คนเราประสบความสุขความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดกระบวนการบั่นทอนศักยภาพของแต่ละบุคคลอีกด้วย โดยมีขั้นตอนการเกิดขึ้นดังนี้ 


             เมื่อคนเราทำงานร่วมกัน หรือใช้ชีวิตร่วมกันแม้จะเข้ากันได้ดีมีความสุข แต่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็คงต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง เนื่องจากคนแต่ละคนล้วนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เมื่อไรข้อบกพร่องมากระทบกันเข้าก็มักจะเกิดเรื่อง ประกอบกับแต่ละคนก็มีทิฐิมานะถือตัวเราเป็นฝ่ายถูก เขาเป็นฝ่ายผิด เรื่องราวจึงบานปลาย ยิ่งมาบวกกับเป็นคนขี้ลืม คือลืมความดีของอีกฝ่าย เพราะมัวแต่นึกถึงข้อบกพร่องของเขา ทั้งที่ส่วนดีของเขาก็มีอยู่ไม่น้อย เคยช่วยเหลือกันมาก็มาก แต่กลับนึกไม่ออก เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันจึงไม่มีใครยอมใคร เราก็จะรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี ยิ่งคิดยิ่งหงุดหงิด ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจ ยิ่งคิดยิ่งแค้น ทำไมเขาถึงทำกับเราอย่างนี้ จะมีแต่คำว่าทำไม...ทำไม อยู่ในใจ
สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดความคิดที่ว่า เราสู้อุตส่าห์ทุ่มเททำงานมาขนาดนี้ ทำไมถึงไม่เห็นความสำคัญของเราไม่ให้เกียรติเรา เมื่อคิดอย่างนี้ เวลาทำงานก็จะเริ่มเกิดอาการเฉื่อยชา ทำอะไรก็ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่อยากทำ ด้วยหมดกำลังใจ พร้อมๆกับเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาในใจอีกว่า ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก จึงลดฝีมือการทำงาน ลดความทุ่มเทในงาน และบางคนถึงกับลาออกจากงาน เพื่อจะให้ผู้อื่นเห็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีฉัน ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง


             คนที่มีความคิดว่า  “ ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก ” นั้นสุดท้ายคนที่รู้สึกเดือดร้อนมากที่สุดก็คือตัว ” ฉัน ” ที่ยึดมั่นถือมั่นถือตนถือตัวนั่นเอง ดังนั้น ผู้ปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องไม่มีความคิดที่ว่า “ ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก ” เกิดขึ้นมาในใจโดยเด็ดขาด
การแก้ปัญหาโดยเอากิเลสมาข่มกันไม่เคยเกิดผลดีเอาชนะคะคานกันด้วยทิฐิมานะ ล้วนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งการหนีปัญหาก็ไม่ใช่ทางออกของชีวิต เพราะคงต้องหนีไปเรื่อยๆ ตราบใดที่สาเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือ เมื่อรู้ว่าเราเองมีอาการขี้ลืม ก็ให้รู้จักทบทวนควงามดีของผู้อื่น ทบทวนให้มากให้ตรงตามความเป็นจริง เขามีข้อดีตรงไหนบางอย่างเป็นความดีที่เขาทำกับเราโดยตรงบางอย่างเป็นสิ่งที่เขาทำให้เกิดผลดีต่อหมู่คณะ ต่อองค์กร เราก็จะเห็นความดีที่เขามีอยู่


            อย่างไรก็ตามถ้าคิดถึงความดีของผู้อื่นไม่ออก หรือไม่อยากจะคิด เพราะความโกรธ ความหงุดหงิด ความน้อยใจ ขอแนะนำว่าให้ใช้วิธีเขียน เพราะการเขียนจะช่วยจัดระเบียบความคิดให้เป็นขั้นเป็นตอน เมื่อเราได้ค่อยๆคิดพิจารณาทบทวนไป ความทรงจำถึงความดีนั้นก็จะค่อยๆคืนมา เมื่อเห็นถึงความดีของผู้อื่นใจเราก็จะสบายสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น การบริหารจัดการในหมู่คณะก็จะราบรื่น ประสานกันได้ดี ขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับมาดูข้อบกพร่องของตัวเราเอง ว่าตัวเรามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง เพราะเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการกระทบกระทั่งนั้น เราเองก็มีส่วนอยู่ด้วยเช่นกัน เมื่อได้ลองพิจารณาดูข้อบกพร่องของตัวเองบ่อยๆ ดูความดีของคนอื่นเขาบ่อยๆ เช่นนี้แล้ว เราก็จะปรับสมดุลได้ โรคขี้ลืมจะเริ่มหายทิฐิมานะก็จะเบาบาง เพราะพบว่าเราเองก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ ข้อบกพร่องก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว เมื่อตระหนักอย่างนี้ก็พอจะยอมรับกันและกันได้ ความขุ่นมัวก็จะคลายใจจะเริ่มใสขึ้น เริ่มเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง รู้ว่าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าตัวเรามีสติอีกสักนิดทำอะไรให้รอบคอบรัดกุมอีกสักหน่อยก็คงจะไม่เกิดเรื่องใจที่เปิดแล้วจะทำให้เราแก้ปัญหาได้ง่าย โดยแก้ที่ตัวเราเองก่อนถ้าเป็นอย่างนี้แล้วชีวิตเราเองก็จะก้าวหน้า เพราะได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
นักทำงานคนไหนที่คิดได้อย่างนี้ เมื่อมีเรื่องมากระทบก็จะไม่หงุดหงิด ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะถูกผู้ใหญ่ว่ากล่าว ตำหนิเพราะความเข้าใจผิด ก็จะไม่น้อยอกน้อยใจ เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกเหล่านั้นมีแต่จะบั่นทอนตัวเอง ดังนั้นเมื่อมีเหตุมากระทบ ขอแนะนำให้ทำใจนิ่งๆ แล้วก็ทำความดีต่อไปอย่างไม่ลดละ ด้วยความสุขุมรอบคอบ ด้วยสติและด้วยปัญญา สักวันความจริงก็จะปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และเมื่อนั้น คุณค่าในตัวเราที่ได้ตั้งใจทำงานด้วยความหนักแน่น ก็จะทำให้เราได้รับความเชื่อถือไว้วางใจยิ่งๆขึ้นไป 


             ดังนั้นเมื่อตัดสินใจทำอะไรจึงต้องมองให้ไกล อย่าไปติดใจแค่ประเด็นเฉพาะหน้า อย่าปล่อยให้ความคิดลบมาบั่นทอนศักยภาพ และอย่าหนีปัญหา จนตัดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิต ตรงข้ามถ้าเราหนักแน่นมั่นคง เดินหน้าพัฒนาศักยภาพ ทำงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น ความดีที่ทำจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้
ในด้านอื่นๆของชีวิตก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาการสร้างครอบครัวหรือการสร้างบารมี หากเราได้นำหลักการเหล่านี้ไปประคองชีวิต เราก็จะสามารถสั่งสมคุณค่าในตนเองจนสามารถพบกับความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ จากการสังเกตเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้พบว่าชนเผ่าเร่ร่อนเป็นกลุ่มชนที่ยากจะสร้างอารยธรรมที่รุ่งเรืองได้เช่นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย เมื่อเร่ร่อนไปพบว่าพื้นที่ตรงไหนมีแอ่งน้ำ ทุ่งหญ้า ก็จะต้อนฝูงสัตว์ไปกินหญ้า กินน้ำ ตรงนั้น พอหญ้าหมดน้ำหมด ก็ย้ายไปที่ใหม่แสวงหาไปเรื่อยๆ การดำรงชีวิตเช่นนี้ดูเผินๆเหมือนชีวิตที่สบายไม่ต้องปลูกหญ้า อาศัยธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องเร่ร่อนไปเรื่อยๆ เช่นนี้จึงทำให้ไม่มีความคิดที่จะตั้งหลักแหล่งสร้างบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรงถาวร กรณีของคนที่ทำไร่เลื่อนลอยก็เช่นกัน ใช้วิธีการเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูก เมื่อปลูกพืชไปจนดินหมดสภาพก็จะย้ายที่ไปเผาป่าที่อื่นต่ออีกจึงไม่ได้พัฒนาความรู้ในการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่สามารถลงหลักปักฐานหรือคิดสร้างสรรค์อะไรที่ยั่งยืนได้เลย


            ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่อากาศหนาวเย็น โดยส่วนใหญ่จะมีความเจริญทางอารยธรรมมากกว่าเขตร้อนเพราะถูกบีบคั้นจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศขณะที่กลุ่มชนในเขตร้อนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายกว่าอากาศไม่หนาวเกินไปไม่ร้อนเกินไป นอนใต้ต้นไม้ก็ยังอยู่ได้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หาเช้ากินค่ำก็อยู่ได้ไม่อดตาย เมื่อธรรมชาติไม่ค่อยบีบคั้นจึงดำเนินชีวิตไปได้แบบสบายๆ 
ส่วนในเขตเมืองหนาว ถ้าคิดทำงานแค่หาเช้ากินค่ำจะไม่สามารถรอดได้ เพราะจะอดตายในฤดูหนาว ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนซึ่งพอจะแสวงหาอาหารได้ จึงต้องเตรียมเสบียงไว้สำหรับฤดูหนาว นอกจากนี้การจะรับภัยหนาวได้นั้นจะต้องสร้างบ้านเรือนอย่างมั่นคงก่อด้วยอิฐหินอย่างแน่นหนา เรียกว่าธรรมชาติบังคับ ทำให้คนรู้จักต่อสู้กับอุปสรรครู้จักวางแผนระยะยาว อย่างน้อยก็ต้องปีชนปี เพราะความอดทนยืนหยัดสู้เช่นนี้ จึงสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้ตรงกันข้าม ถ้าพบอุปสรรคแล้วหนีไปเรื่อยๆ อพยพเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ไปหาที่สบายกว่าดีกว่า ย่อมไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าได้


            ชีวิตของเราก็เช่นกัน ไม่ว่าจะทำงานที่ใด ย่อมมีอุปสรรคทั้งนั้น ถ้ามีอุปสรรคแล้วน้อยใจลาออก ย้ายที่หนีไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้ายืนหยัดสู้ ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเอง ไม่หนีปัญหาสุดท้ายเราจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืน

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0040303349494934 Mins