สวมบทแม่

วันที่ 23 กย. พ.ศ.2558

 

สวมบทแม่


ที่มาของวันแม่แห่งชาติ
            จากการผลักดันของคุณครูชาวอเมริกันแห่งรัฐฟิลาเดลเฟีย แอนนา เอ็ม จาร์วิส ซึ่งใช้ความพยายามถึง 2 ปี จึงประสบความสำเร็จ ในการเรียกร้องให้มีวันแม่แห่งชาติของชาวอเมริกันขึ้นทุกๆวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม และมีดอกคาร์เนชัน เป็นดอกไม้ประจำวันแม่ของชาวอเมริกันอีกด้วย
            ในประเทศไทยจัดงานวันแม่ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ปีต่อมาจึงต้องงดไปโดยปริยาย หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสงครามไปแล้ว หลายหน่วยงานได้พยายามรื้อฟื้นให้มีวันแม่ขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการวันแม่ไปแล้วหลายครั้ง


            จนกระทั่งปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้ชัดเจน จึงกำหนดวันขึ้นใหม่โดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
            สำหรับเหตุผลที่ใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่เนื่องจากดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและนาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดปี เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย 
ประวัติความเป็นมาของวันแม่นั้นยาวนานมาก และความรักของแม่ที่มีต่อลูกยิ่งใหญ่เหลือเกิน นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติเป็นประจำทุกปีอีกด้วย ในวันแม่ลูกๆส่วนใหญ่จะนำดอกมะลิมอบให้แม่โดยทางโรงเรียนต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสพาแม่มาโรงเรียนแล้วทำกิจกรรมร่วมกันในวันแม่นั่นเอง


แนวทางการดำเนินชีวิตของแม่
            ปัจจุบันมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่เกิดขึ้นคือ แม่ยังเด็กและมีลูกทั้งที่ยังไม่พร้อม กลับกลายเป็นปัญหาสังคมซึ่งนอกจากจะทำให้ครอบครัวแตกแยกแล้วปัญหายังตกไปอยู่ที่เด็กอีกด้วย 
            ปัจจุบันเด็กกำพร้ามีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาพวิกฤติของสังคม และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ส่งผลให้เกิดครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น เกิดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว รวมทั้งปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ คู่แต่งงานที่มีบุตรโดยไม่พร้อมเพราะพ่อแม่ยังเป็นวัยรุ่น น่าเป็นห่วงมากที่มีปัญหาสังคมเหล่านี้เกิดขึ้นมาในปัจจุบันแต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เรายังพบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือ เกิดปัญหาพ่อแม่ชรากำพร้าลูก สาเหตุเป็นเพราะปัจจุบันมีแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของคนวัยชรา โดยเฉพาะผู้สูงอายุในสังคมไทย ซึ่งตอนนี้มีตัวเลขมากถึง 9.9ล้านคน

 

            เราได้รับการปลูกฝังว่า ลูกต้องมีความกตัญญูรู้คุณแม่ เดือนสิงหาคมมีวันสำคัญวันหนึ่งให้เราทุกคน โดยเฉพาะลูกๆได้รำลึกอยู่ทุกๆปีนั่นคือวันแม่แห่งชาติ ซึ่งหลายคนคงจะได้เห็นภาพบรรยากาศต่างๆ ทั้งก่อนหน้าวันแม่และหลังจากวันแม่ บางครอบครัวที่มีความอบอุ่นก็จะได้เห็นความยิ้มแย้มแจ่มใส ความชื่นมื่นถ้วนหน้ากันภายในครอบครัว
            แม้แต่บางครั้งเราอาจจะได้เห็นอีกด้านหนึ่งของครอบครัวที่ไม่ประสบความสำเร็จ บางครั้งพ่อแม่ลูกอาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน และบทบาทของแม่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะถูกสังคมบีบคั้น หรือเป็นปัญหาสังคมตามมา การที่เราจะทำตัวเป็นแม่ที่ดีให้กับลูก ให้ลูกเคารพรักและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีปัญหามากมายที่รุมเร้าเหลือเกิน เราผู้เป็นแม่ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรถึงเรียกได้ว่าเป็นแม่ที่ดี


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงหน้าที่ของแม่ที่มีต่อลูกไว้ 5 ข้อคือ
1.    กันลูกจากความชั่ว
2.    ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี
3.    ให้ลูกได้รับการศึกษาเล่าเรียน
4.    ให้ลูกได้แต่งงานกับคนดี
5.    มอบทรัพมรดกให้แก่ลูกเมื่อถึงกาลอันควร


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปหน้าที่พ่อแม่กับลูกไว้ทั้งหมด 5 ข้อหลักๆ ว่า ทำอย่างไรถึงจะกีดกันลูกจากความชั่ว และปลูกฝังลูกในทางที่ดีได้ ส่วนใหญ่เวลาแม่มองลูก เรามักจะเพ่งไปที่ลูกเลย แต่จริงๆแล้ว เราควรเริ่มต้นมองตนเองก่อน เพราะแม่คือแบบอย่าของลูก ดังนั้นถ้าต้องการกีดกันลูกจากความชั่ว เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างไร เราต้องไม่ทำอย่างนั้นก่อน
หากแม่อยากทำให้ลูกเชื่อใจ แม่จะต้องปูพื้นฐานปลูกฝังลูกตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการทำตนเองให้ดีจนลูกมีความเคารพรัก เกรงใจและเชื่อฟัง จนน้ำหนักของแม่ในใจลูกมีท่วมท้น แม่ได้เปรียบตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว เพราะแม่มีต้นทุนที่คนอื่นสู้ได้ยาก ทุกคนรับรู้ได้ว่าแม่หวังดีกับเรา ส่วนคนอื่นนั้นยังไม่อาจแน่ใจได้ วันนี้ดี พรุ่งนี้เขาอาจจะเปลี่ยนใจ แต่ความเป็นแม่ลูกกันนั้นมีความหวังดีต่อกันไปตลอดชีวิต
            แม่หวังดีกับลูกเสมอ โดยภาพรวมคือความได้เปรียบ ความเชื่อมั่นในความจริงใจของแม่นั้นไม่ต้องพิสูจน์ดังนั้นแม่ควรเริ่มมองที่ตนเองก่อน แล้วจึงมองลูกว่า เขามีพฤติกรรมสะท้อนกลับอย่างไร ถ้าแม่ใช้วิธีการบังคับลูกให้ไปทางที่ตนเองต้องการนั้นย่อมไม่ได้ผล แต่ให้เราใช้วิธีการโน้มน้าวใจลูก ย่อมจะได้ผลดีกว่า หากแม่ต้องการกีดกันลูกจากความชั่ว ก็ควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดยแม่ต้องทำตนเองให้ดีด้วย แล้วค่อยๆสอนลูก อย่าไปคิดว่าลูกยังเด็กไม่รู้เรื่อง รอให้เขาโตก่อนแล้วค่อยสอนนั้นช้าเกินไป


            อาตมภาพเคยเจอหลายๆครอบครัว ที่แม่มีความตั้งใจจริงกีดกันลูกจากความชั่วจนสำเร็จ ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งลูกไปติดยา จนกระทั่งถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย มองไปทางไหนก็ไม่เห็นทางออกแต่ด้วยความอดทนของแม่จึงค่อยๆ ดึงลูกเข้าวัด อาศัยพระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจเขา จนสุดท้ายลูกกลายเป็นลูกที่ดี และเป็นความหวังของครอบครัวได้ในที่สุด พ่อแม่ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นเราเป็นแม่อย่ายอมแพ้ อย่าท้อแท้ไปก่อน อุปสรรคปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้เสมอ 
              พอเรารู้หน้าที่ของแม่อย่างนี้แล้ว ก็ชี้ให้เห็นได้โดยปริยายว่าแม่มือใหม่ต้องทำอย่างไร ทิ้งความหนักใจทั้งหลาย แล้วเข้าวัดเริ่มต้นปฏิบัติธรรม ทำความดีให้สม่ำเสมอในใจของเราก่อน แล้วจึงทำหน้าที่หลักที่สำคัญคือ กีดกันลูกจากความชั่ว ปลูกฝังเขาในทางที่ดี เรื่องอื่นๆที่ตามมาก็จะสำเร็จได้โดยง่าย

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052241325378418 Mins