ชีวประวัติพระผู้ปราบมาร1

วันที่ 27 กย. พ.ศ.2558

 

ชีวประวัติพระผู้ปราบมาร 1

 

ชีวประวัติ

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร 1

                                        
                                   
     ชาติภูมิ 

              พระมงคลเทพมุนี (สด) ท่านเกิดวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี บ้านตำบลนี้อยู่ฝั่งใต้ ตรงกันข้ามกับวัดสองพี่น้อง  เป็นบุตร นายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย สกุลของท่านทำการค้าขาย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน คือ 
๑. นางดา เจริญเรือง
๒. เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด มีแก้วน้อย)
๓. นายใส มีแก้วน้อย
๔. นายผูก มีแก้วน้อย
๕. นายสำรวย มีแก้วน้อย

                                       การอาชีพ
        ชาติภูมิเดิมเป็นพ่อค้า เข้าตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหมู่เหนือของวัดสองพี่น้องคือทิศใต้ของวัดแต่ต่างฝั่งกับวัด วัดอยู่ตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านอยู่ตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองกั้นเป็นระหว่างวัดกับบ้าน ค้าขายมาตั้งแต่อายุ14ปีเศษๆนับตั้งแต่บิดาล่วงไปก็เป็นพ่อค้าแทนบิดาจนถึงอายุ ๑๙ ปี ตรงนี้ได้ปฏิญาณตัวบวชจนตาย 

                                 การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
            เรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้ว ได้มาศึกษาอักขรสมัย ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ เพราะชาติภูมิของบิดาอยู่ที่บางปลา ปรากฏว่าหลวงพ่อ เรียนได้ดีสมสมัย และการศึกษาขั้นสุดท้ายของเด็กวัดในสมัยนั้น ก็คือเขียนอ่านหนังสือขอมได้คล่องแคล่ว อ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมเป็นบทเรียนขั้นสุดท้าย อ่านกันไปคนละหลาย ๆ จบ จนกว่าจะออกจากวัด ซึ่งจะเรียกกันสมัยนี้ว่าจบหลักสูตรการศึกษาก็ได้ การศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ในลักษณะนี้ ท่านมีนิสัยจริงมาแต่เล็ก ๆ คือตั้งใจเรียนจริง ๆ ไม่ยอมอยู่หลังใคร 

                                 เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

อุปสมบท
            เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท เวลานั้นอายุย่างเข้า ๒๒ ปี บวช ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า “จนฺทสโร” 

พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ 
พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

            คู่สวด อยู่วัดเดียวกัน คือวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้ว เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป 

                               ศึกษา พระปริยัติธรรม 
              การศึกษาของภิกษุสามเณรสมัยนั้น การเรียนบาลีต้องท่องสูตรก่อน เมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มจับเรียนมูล เริ่มแต่เรียนสนธิขึ้นไป หลวงพ่อวัดปากน้ำเริ่มต้นโดยวิธีนี้แล้ว เรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์ จับแต่พระธรรมบทไป ท่านเรียนธรรมบทจบทั้ง ๒ บั้น เมื่อจบ ๒ บั้นแล้วกลับขึ้นต้นใหม่ เรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะคามความนิยมของสมัย จนชำนาญและเข้าใจและสอนผู้อื่นได้ 

            หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจตามหลักสูตรนั้น ๆ แต่ไม่ได้แปลในสนามหลวง แม้การสอบเปลี่ยนจากแปลด้วยปากมาเป็นสอบด้วยการเขียนตอบ ท่านก็ไม่ได้สอบ เพราะการเขียนของท่านไม่ถนัดมากนักและอีกประการหนึ่งท่านไม่ปรารถนาด้วย แต่สำหรับผู้อื่นแล้วท่านส่งเสริมและให้กำลังใจ โดยพูดเสมอว่า “การศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดี จะได้อะไรก็ดีกว่าปราณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิใช้ไม่หมด” 

                           การศึกษา ด้านวิปัสสนาธุระ
            ต่อมาหลวงพ่อได้มุ่งธรรมปฏิบัติ เบื้องต้นศึกษาจากการอ่านตำราก่อนโดยมากใช้คัมภีร์ปกรณ์พิเศษวิสุทธิมรรค ศึกษาตามแบบแผนเพื่อจับเอาหลักให้ได้ก่อน ประกอบกับการศึกษาทางปฏิบัติกับอาจารย์ ท่านได้แสวงหาความรู้ในด้านวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมและคุณวุฒิทางด้านวิปัสสนาในสำนักต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น 
๑. พระมงคลทิพยมุนี วัดจักวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร 
๒. พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
๓. พระอาจารย์โหน่ง อินทสุวณโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี 
๔. พระอาจารย์เนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี 
๕. พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร 
๖. พระครูญาณวิรัติ ( โป๊ะ ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร 
๗. พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ กรุงเทพมหานคร 
๘. พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

             อาจารย์ที่ไหนดีหลวงพ่อพยายามเข้าศึกษาโดยตลอด หลวงพ่อเคยเล่าว่า “ได้ดวงใสประมาณเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ศูนย์กลางกายของท่าน” เป็นอันได้ผลตามแบบของพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็รับรองว่าได้ตามแบบของท่านแล้ว และได้มอบให้ท่านเป็นอาจารย์สอนผู้อื่นต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อยังไม่อิ่มใจด้วยธรรมเพยงเท่านี้ จึงแสวงหาหนทางเพื่อปฏิบัติตามแนววิปัสสนาธุระต่อไป 

              ในพรรษาที่ ๑๒ ปี พ.ศ ๒๔๖๐ ได้ย้ายจำพรรษาจาก วัดพระเชตุพน ฯ มาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) อำเภอบางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี แต่พอได้กึ่งพรรษาก็มาหวนระลึกขึ้นว่า ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆในการบวชจำเดิมอายุ ๑๙ เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตายขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษา ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุยังไม่รู้ไม่เห็นสมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจังเมื่อตกลงใจ ได้ดังนี้แล้ว 

                วันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัจจาธิษฐานแน่นอนลงไปว่า 
"ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการเป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต" 

เมื่อตั้งจิตมั่งลงไป ท่านตั้งสัตยาธิษฐานแด่พระพุทธเจ้าว่า 
              "“ขอพระองค์ได้ทรงพระ กรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุด แลง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้วขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ตลอดชีวิต"

          แต่พอตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จแล้ว ก็เริ่มปรารถนาเข้าที่นั่งสมาธิต่อไป มานึกถึง มดคี่ ที่ตามช่องของแผ่นหินที่ยาวๆ แลบนแผ่นหินบ้าง ไต่ไปมาอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก จึงหยิบเอาขวดน้ำมันก๊าดมา เอานิ้วจุกเข้าที่ปากขวด แล้วตะแคงขวดให้เปียกนิ้วเข้า แล้วเอามาลากเป็นทางให้รอบตัวจะได้กันไม่ให้มาทำอันตรายในเวลานั่งลงไปแล้ว แต่พอทางนิ้วที่เปียกน้ำมันนั้นไม่ทันถึงครึ่งของวงตัวที่นั่ง ความคิดอันหนึ่งเกิดขึ้นว่าชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัว มดคี่ อยู่เล่า ก็นึกอายตัวเองขึ้นมาเลย วางขวดน้ำมันเข้าที่เลยในเดี่ยวนั้น ในคืนนั้นหลวงพ่อจึงได้เห็นธรรมอันเป็นของจริงของแท้ อันเป็นทางบรรลุธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

                                เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
         สมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในยุคนั้นวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้นว่างเจ้าอาวาสลง พระคุณท่านหวังจะอนุเคราะห์หลวงพ่อวัดปากน้ำให้มีที่อยู่เป็นหลักฐาน หวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้วัดปากน้ำ เพื่อไม่ให้เร่ร่อนไปโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ครั้งแรกท่านได้พยายามปัดไม่ยอมรับหน้าที่ แต่ครั้นแล้วก็จำต้องยอมรับด้วยเหตุผล 

       ก่อนจะส่งไปนั้น สมเด็จพระวันรัตตั้งข้อแม้ให้หลายข้อ เช่นห้ามแสดงอภินิหารและทำการเกินหน้าพระคณาธิการวัดใกล้เคียง ให้เคารพการปกครองตามลำดับ ให้อดทนเพื่อความสงบและไม่ให้ใช้อำนาจอย่างรุนแรง ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010913451512655 Mins