ธัมมัญูสูตร คืออะไร

วันที่ 29 กย. พ.ศ.2558

ธัมมัญูสูตร คืออะไร

ธัมมัญูสูตร คืออะไร


ธัมมัญูสูตร คือ พระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เหล่าพระภิกษุ โดยกล่าวถึงวิธีการฝึกฝนอบรมตนเองไปตามลำดับ 7 ขั้นตอน คือ
1. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักธรรม เรียกว่า "ธัมมัญญู"
2. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักอรรถ หรือเนื้อความของธรรมนั้น เรียกว่า "อัตถัญญู"
3. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักตน หรือประเมินคุณธรรมในตนเองเป็น เรียกว่า "อัตตัญญู"
4. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับปัจจัย 4 เรียกว่า "มัตตัญญู"
5. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักกาล เรียกว่า "กาลัญญู"
6. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักบริษัทหรือประชุมชนต่างๆ เรียกว่า "ปริสัญญู"
7. การฝึกให้เป็นผู้รู้จักแยกแยะบุคคล เรียกว่า "ปุคคลปโรปรัญญู"

 

อานิสงส์ที่ได้จากการฝึกตามธัมมัญูสูตร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้ว่า หากพระภิกษุฝึกตามวิธีการที่เป็นขั้นเป็นตอนเหล่านี้ได้ ก็จะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ 5 ประการ คือ
1. เป็นผู้ควรของคำนับ
2. เป็นผู้ควรของต้อนรับ
3. เป็นผู้ควรของทำบุญ
4. เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี
5. เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า"
สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ในตอนต้นพระสูตรว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 7 ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าธรรม 7 ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นธัมมัญู รู้จักธรรม 1 อัตถัญู รู้จักอรรถ 1 อัตตัญู รู้จักตน 1 มัตตัญูรู้จักประมาณ 1 กาลัญู รู้จักกาล 1 ปริสัญู รู้จักบริษัท 1 ปุคคลปโรปรัญูรู้จักเลือกคบคน 1"

 

จากอานิสงส์ทั้ง 5 นั้น มีความหมายดังนี้ คือ
1. เป็นผู้ควรของคำนับ (อาหุเนยโย) หมายถึง พระภิกษุผู้ฝึกตามธัมมัญูสูตรได้ ย่อมเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพสักการะ ดังนั้นหากใครได้พบท่าน ณ ที่ไหน ก็ควรรีบได้นำจตุปัจจัยที่ประณีตเหมาะสมมาสักการะ คือถวายบำรุงท่านให้ได้รับความสุขความสะดวกพอสมควร เพื่อที่ท่านจะได้เมตตาชี้แนะอบรมสั่งสอนให้


2. เป็นผู้ควรของต้อนรับ (ปาหุเนยโย) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรต้อนรับยิ่งกว่าแขกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ที่นั่ง ข้าว น้ำ อาหาร และความสะดวกสบายใดๆ ที่ควรแก่ท่าน ก็ต้องรีบจัดหามาต้อนรับเพราะถือว่าเป็นโอกาสำคัญที่จะได้บุญใหญ่ และเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรมจากท่านด้วย3. เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ (ทักขิเณยโย) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรอย่างยิ่งที่จะรับของที่เราเตรียมไว้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะท่านเป็นแหล่งแห่งบุญ เป็นบุคคลที่เต็มเปียมไปด้วยคุณธรรมความดีงาม จึงควรแก่การทำบุญทั้งปวง


4. เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี (อัญชลีกรณีโย) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรกราบไหว้อย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้กราบท่านด้วยความเต็มใจ ย่อมเป็นการเปิดใจตนเองให้พร้อมน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนที่อุดมไปด้วยอมตธรรม จนสามารถน้อมนำใจให้บรรลุธรรมได้ง่าย หรือถ้าไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยให้แก่ตนเอง


5. เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสะ) หมายถึง ท่านเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศในโลก เพราะท่านเป็นผู้ฝึกปฏิบัติจน กาย วาจา ใจ ใสะอาดบริสุทธิ์ เป็นแหล่งแห่งบุญอันยิ่งใหญ่ ที่หากใครได้มีโอกาสทำบุญกับท่าน ย่อมจะได้รับผลอันไพบูลย์ หากอุปมาว่าบุญเหมือนพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งต้องหว่านต้องปลูกจึงจะบังเกิดขึ้นได้ ใครทำบุญกับท่าน ก็เหมือนกับการหว่านพืชพันธุ์ลงไปในผืนนาอันอุดม ซึ่งจะได้ผลผลิต คือ บุญอันไม่มีประมาณ

 

ความสำคัญของอานิสงส์ทั้ง 5 ประการ
อานิสงส์ทั้ง 5 ประการที่ทรงตรัสไว้นั้น หากดูแต่ผิวเผินก็คงไม่สำคัญอะไร แต่แท้ที่จริงมีความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกอานิสงส์เหล่านี้ไว้ว่า เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของพระอริยบุคคล ดังที่พระองค์ตรัสว่า


"สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ 4 บุรุษบุคคล8 นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า"


จึงหมายความว่า กว่าที่จะได้รับอานิสงส์ทั้ง 5 ประการมา พระภิกษุจะต้องปฏิบัติดังนี้ คือ
1. เป็นผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ไม่ถึงกับตึงหรือหย่อนจนเกินไป


2. เป็นผู้ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) คือขั้นต้นก็ปฏิบัติเพื่อกำจัดความคดโกงนอกลู่นอกทาง ทั้งทางกาย วาจา และใจ จากนั้นก็มุ่งตรงต่อพระนิพพานเรื่อยไป ไม่มีเปลี่ยนใจไปในทางอื่นๆ อีกเลย

 

3. เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม (ญายปฏิปันโน) คือท่านตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้รู้เห็นธรรมสำหรับจะนำพาตัวท่านให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ และความทุกข์ทั้งปวง


4. เป็นผู้ปฏิบัติชอบ (สามีจิปฏิปันโน) คือท่านเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเหมาะสม ดีเลิศในธรรมวินัยทั้งน้อยใหญ่ และยอมทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในธรรมที่ปฏิบัติได้โดยยากและเพราะการปฏิบัติอย่างนั้น ผลคือทำให้ท่านได้บรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งก็คือบุคคลที่พระองค์ตรัสเรียกว่า "อริยบุคคล 4 คู่ 8 จำพวก" อันได้แก่ผู้เข้าถึง (1) ธรรมกายโสดาปัตติมรรค (2) ธรรมกายโสดาปัตติผล (3) ธรรมกายสกทาคามิมรรค (4) ธรรมกายสกทาคามิผล (5) ธรรมกายอนาคามิมรรค (6)ธรรมกายอนาคามิผล (7) ธรรมกายอรหัตตมรรค (8) ธรรมกายอรหัตตผล


ดังนั้น ผู้ที่สมควรแก่การได้รับอานิสงส์สำคัญทั้ง 5 ประการ ก็คือพระอริยเจ้าในระดับต่างๆ นั่นเองแต่เพราะเหตุใด พระภิกษุผู้ปฏิบัติตามธัมมัญูสูตรได้ จึงได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกัน คำตอบสำหรับข้อนี้นั้นน่าจะเป็นเพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ


1. หากพระภิกษุได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง 7 จากธัมมัญูสูตรได้อย่างสมบูรณ์ ย่อมจะทำให้ กายวาจา ใจ ของท่านใสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าระดับใดระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะเหตุนั้น จึงทำให้ท่านเป็นผู้ควรได้รับอานิสงส์สำคัญทั้ง 5 ประการนั้นด้วย


2. แม้พระภิกษุจะไม่ได้บรรลุธรรมใดๆ แต่เพราะได้ฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ในธัมมัญูสูตรมาอย่างเคร่งครัด ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อญายธรรม และปฏิบัติชอบ ไปโดยปริยาย เพราะสามารถทำตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง และเพราะเหตุที่ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติไปในทางเดียวกันกับพระอริยเจ้าเช่นนี้ พระองค์จึงทรงยกย่องสรรเสริญให้ท่านเป็นผู้ที่ควรแก่อานิสงส์ทั้ง 5 เช่นกัน

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0059573173522949 Mins