:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 30 สนทนาธรรมตามกาล

 

มงคล ที่ ๓๐  สนทนาธรรมตามกาล

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้วยจิตเมตตา

เป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิชาการทางโลกฉันใด

การสนทนาธรรมตามกาลด้วยความเคารพในธรรม

ก็ย่อมนำมาซึ่งสติปัญญา

อันเป็นหนทางเพื่อความพ้นทุกข์ฉันนั้น

 

ทำไมจึงต้องสนทนาธรรมตามกาล ?

“ปญฺญา นรานํ รตนํ

ปัญญาเป็นรัตนะของคน”

สํ. ส. ๑๕/๑๕๙/๕๐

            นี่คือพุทธวจนะที่แสดงให้เห็นคุณค่าของปัญญา เพราะชีวิตคนนั้นมีปัญหามาก ปัญหาเหล่านั้นล้วนต้องแก้ด้วยปัญญา ใครมีปัญญามากก็เหมือนมีแก้วสารพัดนึกไว้ในตัว ย่อมสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้โดยง่าย

            ปัญญาเกิดได้จาก ๒ เหตุใหญ่ คือ

            ๑.        จากการฟังธรรมของกัลยาณมิตร ผู้มีปัญญารู้จริง

            ๒.        จากการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย

            วิธีลัดที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว คือการสนทนาธรรมตามกาล ซึ่งเป็นการบังคับให้ตนเองต้องทั้งฟังทั้งพูด ต้องเป็นนักฟังที่ดี ฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายตามไปทันที สงสัยอะไรก็สามารถซักถามได้ นอกจากนั้นถ้าตนเองมีความรู้ในธรรมะเรื่องใดก็นำมาพูดเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย

            แต่ทั้งหมดนี้จะต้องทำอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

มงคล ที่ 30 สนทนาธรรมตามกาล มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

สนทนาธรรมตามกาล คือ อะไร ?

            การสนทนาธรรมตามกาล  คือการพูดคุยซักถามธรรมะซึ่งกันและกันระหว่างคน ๒ คนขึ้นไป  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดปัญญา  โดยรู้จักเลือกและแบ่งเวลาให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้รับความเบิกบานใจ มีความสุขความเจริญและบุญกุศลไปในตัวด้วย

            ในพระพุทธศาสนา คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างๆ อยู่ ๒                       ประการ คือ

            ๑.        ธรรม หมายถึง ความจริงตามธรรมชาติ เช่น คนเราต้องเกิด              ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  นี่เป็นธรรมะคือความเป็นจริงตามธรรมชาติ

            ๒.        ธรรม หมายถึง ความดีความถูกต้อง เช่น การให้ทานเป็นความดี การรักษาศีล มีเมตตากรุณา เป็นความดี ความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เป็นความดี  ใครปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้เรียกว่า ปฏิบัติธรรม

            การสนทนาธรรมที่ถูกต้อง จึงหมายถึง การสนทนาให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศลธรรมความชั่ว จะได้ละเว้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลธรรมความดี จะได้ตั้งใจทำให้มาก และสิ่งใดเป็นอัพยากตธรรม คือความจริงตามธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็รู้เท่าทันทุกประการ จะได้ไม่หลงเข้าใจผิดให้เกิดทุกข์

 

ความยากในการสนทนาธรรม

            การสนทนาธรรม หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า คุยธรรมะ นั้นดูเผินๆ ก็ไม่น่ายาก ก็เหมือนคนมาคุยกันตามธรรมดานั่นแหละ เราก็คุยกันออกบ่อยไปเพียงแต่เรื่องที่คุยเป็นเรื่องธรรมะเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ดูเบาในการสนทนาธรรม พูดคุยธรรมะกันได้ไม่นาน ก็มักมีเรื่องวงแตกกันอยู่บ่อยๆ   พ่อลูกนั่งดื่มเหล้าคุยธรรมะกัน พ่อบอกกินยาถ่ายพยาธิไม่บาป เพราะไม่เจตนาฆ่า ลูกบอกบาปเพราะรู้ว่ามันจะต้องตายก็ยังไปกินยาถ่าย เถียงกันไปเถียงกันมาไม่กี่คำ พ่อคว้าปืนลูกซองไล่ยิงเสียรอบบ้าน อย่างนี้ก็มี นี่ก็เพราะดูเบาในการสนทนาธรรม  ความยากในการสนทนาธรรมนั้นเป็นเพราะ

            ๑.        คู่สนทนาต้องพูดธรรมะเป็น คือเมื่อเข้าใจอย่างไรแล้วก็สามารถ ถ่ายทอดเป็นคำพูดให้เขาเข้าใจตามนั้นได้ด้วย  โดยยึดหลักการพูดในมงคลที่ ๑๐  มีวาจาสุภาษิตเป็นบรรทัดฐาน จะได้ไม่เกิดการแตกร้าวเข้าใจผิดแก่ผู้ฟัง คือ

            ๑.๑      เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง

            ๑.๒     ต้องพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ

            ๑.๓     เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องมีประโยชน์

            ๑.๔     ต้องพูดด้วยจิตเมตตา

            ๑.๕     ต้องพูดถูกกาลเทศะ

            การพูดธรรมะนั้นจะต้องยึดเอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่พูดเอาความถูกใจ คนส่วนมากในโลกนี้ชอบให้เขาชม แต่ว่าสนทนาธรรมกันแล้วมัวไปนั่งชมอยู่อย่างเดียว “คุณก็เก่ง ฉันก็เก่ง” เดี๋ยวก็ได้บ้ากันทั้งคู่ แต่ก็ไม่ใช่มานั่งติอย่างเดียว “คุณนิสัยอันโน้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี” คนเรายังไม่หมดกิเลส เดี๋ยวก็ทนกันไม่ได้ ยิ่งถ้าแถมมีการยกตนข่มท่านเข้าไปอีก หรือไม่ก็ยกสำนักมาอวดกัน  “ถึงฉันไม่เก่ง อาจารย์ฉันก็เก่งนะ”  อะไรทำนองนี้  เดี๋ยวก็ผูกใจเจ็บกัน สนทนาธรรมไปได้ ๒-๓ คำจะกลายเป็นสนทนากรรมไป  จะต้องมีความพอเหมาะพอดี  รู้จักใช้วาจาสุภาษิต

            ๒.        คู่สนทนาต้องฟังธรรมเป็น การฟังธรรมนี่ดูเผินๆ เหมือนจะง่าย ถึงเวลาก็แค่ไปนั่งฟังไม่เห็นจะมีอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฟังธรรมะที่ถูกต้อง คือฟังด้วยความพิจารณา รู้จักควบคุมใจให้พิจารณาตามธรรม หยิบยกเอาประโยชน์จากการฟังนั้นยาก ยากกว่าการพูดธรรมะให้คนอื่นฟังหลายเท่า  ที่ว่ายากนั้นก็เป็นเพราะ

            ๒.๑     ยากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรม เพราะการฟังธรรมนั้นไม่สนุกเหมือนการไปฟังละคร ฟังเพลง ถ้าไม่รู้จักควบคุมตนเอง ฟังไปได้สักนิดหนังตาก็เริ่มหนักพาลจะหลับเอา หรือไม่อย่างนั้นก็นั่งใจลอย คิดไปถึงเรื่องอื่น มีผู้เปรียบว่าการควบคุมใจให้อยากฟังธรรมะนั้น ยังยากกว่าคุมลิงให้นั่งนิ่งๆ  เสียอีก

            ๒.๒     ยากที่จะยอมรับธรรมะที่ได้ยินนั้นเข้าไปสู่ใจ  ทั้งนี้ก็เพราะกิเลสต่างๆ ในตัวเรา เช่น ความหัวดื้อ ความถือตัว ความเห็นผิด ฯลฯ มันคอย  ต่อต้านธรรมะไว้ พอเรื่องธรรมะที่ได้ฟังขัดกับความเคยชินประจำตัว เช่น ฟังว่าต้องมีวินัยให้ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ฟังแล้วก็เริ่มขัดใจ เพราะมันขัดกันกับความเคยชินของตัวเอง ขัดกับกิเลสในตัวเลยไม่ค่อยจะยอมรับ มันนึกค้านในใจ

            ผู้ที่จะฟังธรรมเป็นนั้น  จะต้องหมั่นฟังธรรมบ่อยๆ จนเคยชิน  ฝึกเป็นคนมีความเคารพ มองคนอื่นในแง่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัว มีความสันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม รู้จักพอรู้จักประมาณ และมีความกตัญญูรู้อุปการคุณ ที่ท่านทำแล้วแก่ตน จะทำให้มีอัธยาศัยใฝ่ธรรมฟังธรรมเป็น สามารถรองรับธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้นได้

            ๓.        คู่สนทนาต้องสนทนาธรรมเป็น  คือต้องทั้งฟังด้วย  และพูดด้วยในเวลาเดียวกัน เขาพูดเราฟัง เราพูดเขาฟัง บางอย่างเราไม่อยากจะฟัง แต่เมื่อเขาพูดเราก็จำต้องฟัง บางอย่างเราอยากจะพูด แต่ไม่มีจังหวะที่จะพูดก็  จำต้องระงับใจไว้ไม่พูด เมื่อตอนสอนคนอื่นเขาไม่มีใครค้านสักคำ นิ่งฟังยอมเราหมด  แต่ตอนสนทนาธรรม  เราจะต้องลดตัวลงมาอยู่ในฐานะเป็นทั้งคนพูด ทั้งคนฟัง ถ้าพูดถูกเขาก็ชม พูดผิดเขาก็ค้าน อาจถูกติ ถูกขัด ถูกแขวะ ถูกชม  ถูกค้าน ได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แหละที่ยั่วกิเลสนักหนา ถ้าไม่ควบคุมใจให้ดี กิเลสมันก็คอยจะออกมาจุ้นจ้านให้ได้  ขึ้นต้นคนกับคนคุยธรรมะกัน  ไปได้ไม่กี่น้ำ  กิเลสกับกิเลสมันออกมาโต้กันให้ยุ่งไปหมด

            ผู้ที่จะสนทนาธรรมได้  จึงต้องฝึกขันติจนมีความอดทนต่อการถูกติเป็นเลิศ  ทนคำพูดที่ไม่ชอบใจได้ทั้งจากคนที่สูงกว่าและต่ำกว่า  มีความว่าง่าย สอนง่ายในตัว และต้องเลือกคู่สนทนาเป็น คือต้องเป็นคนประเภทสมณะใฝ่สงบด้วยกัน

            มีผู้อุปมาไว้ว่า การพูดธรรมะให้คนอื่นฟังก็เหมือนชกลม ชกจนหมดแรงเราก็ไม่เจ็บสักนิด ลมมันแพ้เราทุกที ทีนี้การฟังธรรมที่คนอื่นพูด เหมือนการชกกระสอบทราย คือชกไปก็รู้สึกเจ็บมือมาบ้าง ฟังเขาพูดก็เหมือนกันใจเราสะเทือนบ้าง แต่การสนทนาธรรมนั้นเหมือนการขึ้นชกบนเวทีจริงๆ เราชกเขาเขาชกเรา ชกกันไปชกกันมา ถูกล่อถูกหลอก ถูกกวนใจตลอดเวลา ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจทนไม่ได้โกรธขึ้นมา  ตนเองกลายเป็นคนพาลไป

 

ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม

            ๑.        ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน  ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องรักษาศีล ๕ ให้ บริสุทธิ์ หรือถ้ารักษาศีล ๘ มาล่วงหน้าสัก ๗ วัน ก่อนสนทนาได้ยิ่งดี  ไม่ใช่เพิ่งสร่างเมาแล้วมาคุยธรรมะกัน  หรือว่ากินเหล้าไปก็คุยธรรมะไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้

            ๒.        ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสนทนาธรรมถ้าได้ทำสมาธิก่อนจะดีมาก เพราะใจจะผ่องใสดี ทำสมาธิจนรู้สึกเหมือนอย่างกับว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราเป็นก้อนธรรมทั้งก้อน ให้ตัวเป็นธรรมใจเป็นธรรมเสียก่อนแล้วจึงมาสนทนาธรรมกัน

            ๓.        แต่งกายสุภาพ ทีแรกที่เราชำระศีลให้บริสุทธิ์นั้น กายกับวาจาเป็นธรรมแล้ว  พอเราทำสมาธิบ่อยๆ เข้า  ใจของเราก็เป็นธรรมด้วย  ถึงเวลาจะสนทนาก็ต้องแต่งกายให้สุภาพ สะอาดตา ยิ่งถ้าเป็นชุดขาวได้ยิ่งดีมาก ไม่ควรใช้เสื้อผ้าสีบาดตา  ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องประกอบกายของเราก็เป็นธรรมด้วย        

           ๔.        กิริยาสุภาพ จะยืนจะเดินจะนั่งให้เรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม สำรวม มีกิริยาเป็นธรรม ไม่ให้กิริยาของเราทำให้ผู้อื่นขุ่นใจ เช่น เดินลงส้นเท้ามาปังๆ

            ๕.        วาจาสุภาพ  คือมีวาจาสุภาษิตดังได้กล่าวมาแล้ว  ไม่พูดเสียงดัง ไม่สรวลเสเฮฮา ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่รู้บอกว่าไม่รู้ ควรชมก็ชม ควรติก็ติ แต่ไม่ด่า

           ๖.        ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์ เพราะพุทธพจน์คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อรรถกถาหรือฎีกา เกือบทั้งหมดก็ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่าสติปัญญาของเรามีพอจะไตร่ตรองตามท่านหรือไม่  ถ้าเราไปกล่าวค้านหรือปฏิเสธโดยเด็ดขาดไว้แล้ว  ประการแรก ก็ไม่รู้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐานประการที่ ๒ หากคู่สนทนาอธิบายหรือชี้แจงถึงเหตุผลให้เราฟัง แม้เราจะเข้าใจก็อาจไม่ยอมรับ เพราะกลัวเสียหน้า มีทิฏฐิ ทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางใจกันได้  ดังนั้นสำหรับอรรถกถาหรือฎีกา  เมื่อไม่เห็นด้วยก็ควรแสดงเพียงแต่ว่ารู้สึกสงสัย หรือแสดงความเห็นของตนว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่า  พร้อมกับขอความเห็นจากคู่สนทนา

            ๗.        ไม่พูดวาจาที่ทำให้เกิดความแตกร้าว ไม่ใช้คำพูดก้าวร้าวรุนแรง แต่ใช้วาจาที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ประสานน้ำใจ

       ๘.        ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกขัดแย้ง เราพูดอะไรไปถ้าเขาแย้งมาอย่าเพิ่งโกรธ ให้พิจารณาไตร่ตรองดูโดยแยบคาย เพราะบางทีเราอาจมองข้ามอะไรบางอย่างไป เรื่องบางเรื่องอาจถูกในที่หนึ่ง แต่ผิดในอีกที่หนึ่ง ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ถ้าเราด่วนโกรธเสียก่อน ความคิดที่จะไตร่ตรองตามก็ไม่มี ปัญญาของเราจะถูกความโกรธปิดบังหมด

            ๙.        ไม่ปรารถนาลามก คิดที่จะให้ตนมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง  ตั้งใจจะฉีกหน้าผู้อื่นเพื่อให้ตนดัง ถ้าวันไหนจะไปสนทนาธรรมแล้วเกิดมีความรู้สึกอยากจะไปฉีกหน้าใคร วันนั้นนอนอยู่บ้านดีกว่า มันไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมเลย

            ๑๐.      ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา จะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้คนอื่นเขามา  ไม่ใช่ไปเพื่ออวดรู้  แต่จะไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน

            ๑๑.      ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ตั้งประเด็นไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอวดดีหรือนินทาคนอื่นไป เช่น พูดเรื่องบาป พูดไปพูดมากลายเป็นว่า “ฉันน่ะไปทำทานไว้ที่นั่นที่นี่” กลายเป็นอวดว่าฉันใจบุญนะ หรือพูดเรื่องทาน พูดไปพูดมากลายเป็นว่า “อุ๊ย!แม่คนนั้นน่ะขี้เหนียว อีตาเศรษฐีคนนั้นก็ขี้เหนียว” ถามว่าใครดี “ฉัน...ฉัน” อย่างนี้ใช้ไม่ได้

            ๑๒.     ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ รู้จักกาลเทศะ เรื่องบางเรื่องแม้น่าฟังแต่ถ้าพูดนานไปมากไป ผลที่ได้กลับจะน้อยลงกว่าพูดพอดีๆ เหมือนคนรับประทานอาหาร แม้เป็นอาหารดีรสอร่อย ถ้ารับประทานอิ่มไปจนจุกท้องเฟ้อ  ทีหลังก็จะพาลขยาดไม่อยากจะรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ

 

วิธีสนทนาธรรม

            โดยสรุป หลักในการสนทนาธรรมรวมได้เป็น ๓ ประการ คือ

            ๑.        สนทนาในธรรม คือเรื่องที่จะสนทนากันต้องเป็นเรื่องธรรมะ ให้อยู่ในวงธรรมะ อย่าออกนอกวง เช่น ถ้าพูดถึงการทำความดีก็ให้สุดแค่ทำดี อย่าให้เลยไปถึงอวดดี  ถ้าจะพูดถึงเรื่องการป้องกันไม่ให้ทำความชั่ว  ก็ให้สุดแค่ป้องกันการทำชั่ว  อย่าให้เลยไปถึงนินทาคนอื่น

            ๒.        สนทนาด้วยธรรม คือผู้ที่สนทนากันจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดธรรมะ เช่น ทางกายก็มีการเคารพกันโดยฐานานุรูป ควรไหว้ก็ไหว้ ควรกราบก็กราบ อย่าคิดทะนงตัวด้วยเหตุคิดว่ามีความรู้มากกว่าเขา ในทางวาจา ก็ใช้ถ้อยคำสุภาพเรียบร้อย เป็นวาจาสุภาษิต ถ้าฝ่ายหนึ่งถูกก็ชม ถ้าอีกฝ่ายผิดก็ทักโดยสุภาพ  ไม่กล่าววาจาเหน็บแนมล่วงเกิน  และถ้าพลาดพลั้งก็ขอโทษ  ไม่ใช่สนทนากันด้วยกิเลส  หรือปล่อยกิเลสออกมาโต้กันดังได้กล่าวมาแล้ว

            ๓.        สนทนาเพื่อธรรม คือผู้สนทนาต้องตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในใจของตนให้แน่นอนว่า  เราจะหาความรู้ความเข้าใจในธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  ไม่ใช่จะ อวดรู้หรืออวดธรรมะ แม้บางจังหวะเราเป็นผู้แสดงความรู้ออกไป ก็คิดว่าเราจะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้ของผู้อื่นเข้ามา  มิใช่จะเพื่ออวดรู้

 

วิธีเลือกคู่สนทนาธรรม

            หลักในการเลือกคู่สนทนาธรรมมีอยู่ ๒ ประการ คือ

            ๑.        คู่สนทนาต้องมีอัธยาศัยใฝ่ธรรมและสงบเสงี่ยมเยี่ยงสมณะ แม้เป็นฆราวาสก็เป็นคนรักสงบ  ไม่เป็นคนชอบอวดภูมิ  ไม่ชอบโม้

            ๒.        เรื่องที่จะสนทนาต้องเหมาะกับบุคคลนั้นๆ เช่น คุยเรื่องพระวินัยกับผู้เชี่ยวชาญพระวินัย คุยเรื่องชาดกกับผู้เชี่ยวชาญชาดก จะสนทนาเรื่องสมาธิก็เลือกสนทนากับผู้ที่เขาฝึกสมาธิมาแล้วอย่างจริงจัง เป็นต้น

           

การสนทนาธรรมในครอบครัว

            ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาในครอบครัวไทยก็มีการสนทนาธรรมกันอยู่เป็นประจำแล้ว  เช่น กลางวันพ่อแม่ออกไปทำนา ทำสวน ทำงานอื่น ๆ ผู้เฒ่า ปู่ย่าตายายที่อยู่           บ้านก็ทำงานสานกระบุงสานตะกร้าไปบ้าง  ทำงานอื่น ๆ บ้าง  เด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ๆ สักพักปู่ย่าตายายก็เรียกมาล้อมวงเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งก็ไม่พ้นนิทานธรรมะ เรื่องชาดกบ้าง  เรื่องอื่นๆ บ้าง  เด็กๆ ฟังแล้วสงสัยสิ่งใดก็ซักถามกัน  ทำบ่อยๆ เข้า  เด็กก็ซึมซาบธรรมะไปในตัว  หรือตกเย็นตอนรับประทานอาหารก็อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา รับประทานอาหารเสร็จแล้วพ่อแม่ก็หยิบยกเรื่องธรรมะมาคุยกันบ้าง เล่าให้ลูกฟังบ้าง เป็นการสนทนาธรรมกันในครอบครัว ขณะเดียวกันก็คอยสังเกตลูก ๆ ด้วย  เพราะโดยธรรมชาติของตัวเด็กเองก็พอจะทราบอยู่บ้างว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าในวันนั้นเขาไปทำอะไรผิดมา จะมีพิรุธอยู่ในตัว ถ้าพ่อแม่สังเกตก็จะเห็น แล้วก็จะได้ตักเตือนสั่งสอนกัน แต่ถ้าเด็กทำผิดถึง  ๓ ครั้ง แล้วยังจับไม่ได้ ก็จะไม่มีพิรุธให้เห็นอีก  เพราะเด็กจะเกิดความเคยชิน  และถึงจะจับได้ภายหลังก็แก้ยาก  เพราะความเคยชินจนติดเป็นนิสัยแล้ว

            ปัจจุบันโอกาสที่จะสนทนาธรรมกันในครอบครัวมีน้อยลง  ส่วนใหญ่พอตกเย็นหลังจากรับประทานอาหารแล้ว พ่อแม่ลูกก็นั่งล้อมวงดูทีวี  ดูวีดีโอ หรือต่างคนต่างทำกิจกรรมของตน ไม่มีโอกาสได้พูดคุยธรรมะกัน ซึ่งอันนี้เป็นข้อบกพร่อง จะทำให้พวกเราพลาดไป ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากได้ลูกดี เป็นลูกแก้ว นำชื่อเสียงความเจริญมาสู่ตระกูล อยากให้ครอบครัวร่มเย็น อย่ามองข้ามเรื่องนี้ไป  ให้รื้อฟื้นการสนทนาธรรมในครอบครัวขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นประเภทอาหารเย็นพ่อไปงานเลี้ยงที่หนึ่ง แม่ไปธุระอีกที่หนึ่ง  ให้ลูก ๆ รับประทานอาหารกันเองหรืออยู่กับพี่เลี้ยง  นั่นพลาดแล้ว ควรจัดเวลาให้ทุกคนในครอบครัวได้สวดมนต์นั่งสมาธิ  สนทนาธรรมร่วมกันเป็นประจำ

            พ่อแม่ที่มัวแต่คิดจะหาเงินให้ลูก แต่ลืมนึกถึงการปลูกฝังธรรมะให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก  โอกาสที่ลูกจะเสียคนมีมากเหลือเกิน

 

อานิสงส์การสนทนาธรรมตามกาล

            ๑.        ทำให้จิตเป็นกุศล

            ๒.        ทำให้มีไหวพริบปฏิภาณดี

            ๓.        ทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

            ๔.        ทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมที่ตนยังไม่ได้ฟัง

            ๕.        ธรรมที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัด  ย่อมเข้าใจชัดขึ้น

            ๖.        ทำให้บรรเทาความสงสัยเสียได้

            ๗.        เป็นการทำความเห็นของตนให้ตรง     

            ๘.        เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

            ๙.        เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของพระอริยเจ้าไว้

            ๑๐.      ชื่อว่าได้ดำเนินตามปฏิปทาอันเป็นวงศ์ของนักปราชญ์

ฯลฯ

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล