:มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

ลำดับเรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

มงคลชีวิต 38 ประการ มงคล ที่ 36 จิตไม่โศก

 

มงคล ที่ ๓๖ จิตไม่โศก มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า มงคลชีวิต พม.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

มงคล ที่ ๓๖ จิตไม่โศก

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

สัตว์ทั้งหลายแม้พญาราชสีห์

หากติดบ่วงนายพราน ก็ย่อมสิ้นกำลังและอำนาจ

ได้รับแต่ความทุกข์ทรมานฉันใด

คนทั้งหลายแม้มีฤทธิ์อำนาจมากเพียงใด

หากติดบ่วงสิเน่หา ก็ย่อมสิ้นฤทธิ์หมดอำนาจ

มีจิตโศก เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานฉันนั้น

 

จิตโศก คือ อะไร ?

                 คำว่า โศก มาจากภาษาบาลีว่า โสกะ แปลว่า แห้ง

            จิตโศก จึงหมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง ใบไม้แห้งหมดความชุ่มชื่น เนื่องจากไม่สมหวังในความรัก ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งหม่นไหม้ โหยหาขึ้นในใจ  ใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงาน

“เปมโต ชายตี โสโก

ความโศกเกิดจากความรัก”

ขุ. ธ. ๒๕/๒๖/๔๓

 

            จะเป็นรักคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ทำให้เกิดความโศกได้ทั้งนั้น แต่ที่หนักก็มักจะเป็นเรื่องคน  โดยเฉพาะความรักของชายหนุ่มหญิงสาว

            ปกติใจของคนเราซนเหมือนลิง ชอบคิดโน่นคิดนี่ รับอารมณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะฟังเพลงเพราะๆ เดี๋ยวไม่เอาอีกแล้วกินขนมดีกว่า กินอิ่มแล้ว ไม่เอานอนดีกว่า เดี๋ยวเที่ยวดีกว่า  เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่อยู่ในอารมณ์ใดนานๆ

            แต่แปลก พอใจของเราไปเจออารมณ์รักเข้าเท่านั้นแหละ มันไม่เปลี่ยน ติดหนับเลยเหมือนลิงติดตังเลย

            พูดถึงลิงติดตัง บางท่านอาจไม่เข้าใจ ตังก็คือยางไม้ที่เขาเอาไปเคี่ยวจนเหนียวหนับ แล้วเอาไปป้ายไว้ตามต้นไม้ ตามที่ต่างๆ ไว้ดักนก ดักสัตว์เวลาสัตว์มาเกาะติดเข้าจะดิ้นไม่หลุด

            ลิงเวลามาเจอตังเข้า มันจะใช้ขาข้างหนึ่งแหย่ดูตามประสาซน พอติดหนับดึงไม่ขึ้น ก็จะใช้ขาอีกข้างจะมาช่วยยัน ขาข้างนั้นก็ติดหนับเข้าอีก จะใช้ขาอีก ๒ ข้างมาช่วย  ก็ติดตังหมดทั้ง ๔ ขา  ใช้ปากช่วยดัน  ปากก็ติดตังอีก ตกลงทั้ง ๔ ขา และปากติดตังแน่นอยู่อย่างนั้น   ดิ้นไม่หลุดรอให้คนมาจับไป นี่ลิงติดตัง

            คนเราก็เหมือนกัน ลงได้รักละก็ หนุ่มรักสาวสาวรักหนุ่มก็ตาม ทีแรก ก็บอกว่าจีบไปอย่างนั้นเอง พักเดียวถอนตัวไม่ออก ร้อง “ไม่เห็นหน้าเจ้า กินข้าวบ่ลงกันเชียวละ”

            คำว่า เสน่ห์ ในภาษาไทยเราแปลว่า ความน่ารัก แต่คำคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า สิเนหะ แปลว่า ยางเหนียว ตรงตัวเลย  ถ้าใครมาบอกเราว่า แม่คนนั้นเสน่ห์แรงจัง  ให้รู้ตัวไว้เลยว่าแม่นั่นน่ะยางเหนียวหนับเลย  อย่าไปเข้าใกล้นะ  เดี๋ยวติดยางเหนียวเข้าเป็นลิงติดตัง  แล้วจะดิ้นไม่หลุด

            ตอนรักเขายังไม่เท่าไร แต่ว่ารักเขาแล้วเขาไม่รักเราสิ หรือเมื่อความรักกลายเป็นอื่นเข้า หรือเขาตายจากเราไปก็ตาม ใจมันจะแห้งผากขึ้นมาทีเดียว แต่ก่อนเคยชอบรับอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้  พอถึงตอนนี้ใครจะมาร้องเพลงให้ฟังก็รำคาญ จะชวนไปเที่ยวดูหนังก็รำคาญ จะร้อง จะรำ จะเล่นอะไร รำคาญ  ไปหมด ข้าวยังไม่อยากจะกิน ใจมันแห้งผาก ซึมเซารับอารมณ์ไม่ไหว คืออาการที่เรียกว่า จิตโศก

            บางคนอาจนึกว่า ก็แล้วถ้าความรักสมหวัง ก็คงไม่เป็นไร จิตไม่โศก         ละซี แต่ในความเป็นจริงน่ะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นลงว่าใครได้รักอะไรเข้าละก็ ไม่ว่าจะเป็นคน     สัตว์    หรือสิ่งของ ก็ให้เตรียมตัวโศกเอาไว้ได้ ถ้ารักมากก็โศกมาก รักน้อยก็โศกน้อย     รักหลายๆ อย่าง  ก็โศกถี่หน่อย  นี่เป็นอย่างนี้  โบราณท่านสรุปเตือนสติไว้ว่า

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๑๐๐    ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๑๐๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๙๐      ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๙๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๘๐      ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๘๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๔๐      ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๔๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๒๐      ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๒๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๑๐       ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๑๐

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๕         ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๕

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๔         ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๔

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๓         ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๓

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๒         ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๒

            ผู้ใดมีความรักถึง         ๑         ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง        ๑

 

            ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้น ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลสธุลี ไม่มีอุปายาส คือความตรอมใจ ความกลุ้มใจ

ขุ. อ. ๒๕/๑๗๖/๒๒๕

โบราณท่านสรุปเป็นข้อเตือนใจไว้ว่า

“มากรักก็มากน้ำตา  หมดรักก็หมดน้ำตา

มากรักก็มากทุกข์  หมดรักก็หมดทุกข์”

 

ข้อควรปฏิบัติ

            ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว  ขณะที่ใจท่านจรดอยู่ในพระนิพพาน ความรักเข้าไปรบกวนท่านไม่ได้  ตัดรักได้  ใจท่านจึงไม่แห้ง  ไม่มีโศก

            พวกเราปุถุชนทั่วไป แม้ยังไม่สามารถตัดรักได้เด็ดขาด แต่ถ้าหมั่นทำ สมาธิ เจริญมรณานุสติเป็นประจำ ก็จะทำให้ความรักมามีอิทธิพลเหนือใจเราไม่ได้มาก มีสติดี มีความเด็ดเดี่ยว ก็จะมีจิตโศกน้อยกว่าคนทั่วไป อาการ    ไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะนึกถึงความตายแล้วทำให้ใจคลายออกจากรัก ซึ่งเป็นต้นทางของความโศก พอคิดว่าเราเองก็ต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เท่านี้ก็เริ่มจะได้คิด  ความโศกความรักเริ่มหมดไปจากใจ  มีสติมาพิจารณาตนเอง  ไม่ประมาท  ขวนขวายในการสร้างความดี  จากนั้นตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเต็มที่ ก็จะสามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ และตัดความรัก ตัดความโศกออกจากใจได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด

 

ข้อเตือนใจ

            ”ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ อันมากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก  ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก

            เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์  เหล่านี้ย่อมไม่มี

            ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ  ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข  ปราศจากความโศก

            เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว  ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารใดในโลกไหนๆ ให้เป็นที่รักเลย”

ขุ. อุ. ๒๕/๑๗๖/๒๒๕-๒๒๖

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

มงคลชีวิต 38 ประการทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล