วิธีฝึกฝนอบรมตนเองของฆราวาสเพื่อการเป็นอัตถัญญู

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2558

วิธีฝึกฝนอบรมตนเองของฆราวาสเพื่อการเป็นอัตถัญญู


            วิธีการฝึกฝนอบรมตนเองของฆราวาส เพื่อการเป็นอัตถัญญู ก็จะมีส่วนคล้ายกับของพระภิกษุแต่ความเข้มข้นจะแตกต่างออกไป ดังที่จะได้กล่าวในลำดับต่อไป


การเข้าใจนัยได้อย่างถูกต้อง
            โดยธรรมชาติแล้ว การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าใจในนัย หรือความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งเป็นไปได้ยากมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ผู้ซึ่งได้ศึกษาธรรมะมามาก ฝึกฝนตนเองมามาก มาเป็นผู้คอยแนะนำ ซึ่งบุคคลผู้นั้นก็คือ ครูผู้สอนธรรมะ หรือพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้เข้าใจนัยหรือความหมายในธรรมะให้มากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องเข้าวัดเป็นประจำ หมั่นฟังธรรมบ่อยๆ และเมื่อเกิดความสงสัย ก็ต้องเข้าไปสอบถามจากท่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันต้องลงมือปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนเองไปด้วย

            การจะเข้าใจนัยได้ดีและรวดเร็วที่สุด ก็โดยการนำไปปฏิบัติ เพราะเราจะพบกับประสบการณ์จริงเมื่อเกิดข้อสงสัยก็สอบถามกับครูผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม หรือพระอาจารย์ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ซึ่งการหมั่นเข้าหาสอบถาม พร้อมกับการฝึกปฏิบัติ จะทำให้เข้าใจได้อย่างแตกฉานลึกซึ้ง และมองเห็นภาพการฝึกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับฆราวาสนั้น หากจะกล่าวถึงเป้าหมายชีวิตสูงสุดแล้วก็คงเหมือนกันกับพระภิกษุ คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ด้วยสถานภาพที่แตกต่างกัน วิธีการที่จะปฏิบัติไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด จึงอาจแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของทุกคนก็คือต้องละกิเลสให้ได้ ซึ่งก็คือกิเลสใหญ่ 3 ตระกูลได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะวิธีละกิเลสสำหรับฆราวาสง่ายที่สุดคือแก้ในสิ่งตรงข้ามกันกับกิเลสทั้ง 3 ตระกูล คือ แก้โลภะด้วยการให้ทาน แก้โทสะด้วยการรักษาศีล เพื่อควบคุมกาย วาจา แก้โมหะ ความไม่รู้ ด้วยการนั่งสมาธิเจริญภาวนาเพื่อให้ได้ปัญญาทาน หมายถึง การให้ ได้แก่ การเสีย ละสิ่งของต่างๆ ของตน หรือการให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น การให้นั้นจะให้ผลดีเต็มที่ เมื่อผู้ให้สามารถเอาชนะใจตนเองได้ ด้วยการขจัดความตระหนี่หวงแหนออกไปจากใจ คือให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ ขอเพียงให้ได้บุญกุศล และความสบายใจเท่านั้นศีล แปลว่า ปกติ ผู้ที่มีศีล จึงหมายถึง ผู้ที่เป็นคนปกติ เป็นมนุษย์ที่ปกติ ความปกติเป็นพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เมื่อใดที่เกิดความไม่ปกติขึ้น ความยุ่งยาก ความเดือดร้อน หรือความเสียหายย่อมเกิดขึ้นตามมา เช่น ในฤดูฝน ปกติฝนจะต้องตก การทำเกษตรกรรมจึงจะสามารถทำไปได้อย่างเต็มที่ แต่หากปีใดที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปีนั้นก็กลายเป็นปีที่ผิดปกติไป ผลที่เกิดตามมา คือ ข้าวยากหมากแพง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรเดือดร้อนกันไปถ้วนหน้า เป็นต้นสมาธิ คือ การฝึกจิต หรือการฝึกฝนอบรมจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ด้วยการทำใจให้สงบจากนิวรณ์และจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย

 

ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง
            เมื่อนักศึกษาทราบแล้วว่า การละหรือกำจัดกิเลส 3 ตระกูลของฆราวาสต้องอาศัยทาน ศีล ภาวนาซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพหรือหน้าที่การงานในทางโลก เพื่อให้กิเลสนั้นบรรเทาเบาบางลงไปให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะหมดกิเลสบรรลุมรรคผลนิพพานได้ตามเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาทุกวัน โดยยึดหลักที่ว่า
1. เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งรับประทานข้าว
2. วันใดยังไม่ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน
3. คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งนอน

 

            ต้องอดทนฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งใด มีอุปสรรคเพียงไหนก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ทำความดีเรื่อยไป ให้สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า"แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใดธีรชน (ชนผู้มีปัญญา)สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น"จากข้อความข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ทาน ศีล ภาวนา เป็นสิ่งที่ไม่ควรขาด และจำเป็นต้องทำเป็นประจำทุกวันในวิถีชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ หลายประการด้วยกัน ได้แก่

1. การทำทาน เป็นการให้หรือแบ่งปันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเนื่องจากในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ซึ่งอาจจะอยู่ในภาวะหรือสถานภาพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยนักเรียน นักศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุวัยเกษียณสิ่งที่ให้ก็จะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ถ้าเป็นเด็กก็อาจจะมีขนม อุปกรณ์เครื่องเขียนหรือของเล่นไปฝากเพื่อนๆส่วนผู้ใหญ่ก็อาจทำอาหารพิเศษแล้วนำไปแบ่งปันให้คนข้างบ้าน หรือเอาไปฝากคนที่ทำงาน เป็นต้น แม้การช่วยเหลือด้วยกำลังกาย เวลาที่สมาชิกในบ้าน เพื่อนบ้าน หรือที่ทำงานขอแรงให้ช่วย ก็ยินดีช่วยด้วยความเต็มใจ รวมทั้งการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ การให้ความรู้ในด้านต่างๆและความรู้ทางธรรมแก่ญาติมิตรเพื่อนฝูงด้วยความปรารถนาดี ตลอดจนการให้อภัยต่อญาติมิตรเพื่อนฝูงอยู่เสมอ หรือให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน การปล่อยสัตว์ปล่อยปลา เป็นต้น

            สำหรับการทำทานกับพระภิกษุสงฆ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีคุณธรรมสูง ก็จะมีอานิสงส์มาก และเป็นทานที่ทำได้ไม่ยากสามารถทำได้ทุกวัน เช่น การตักบาตร อาจคอยใส่กับพระภิกษุหรือสามเณรที่เดินบิณฑบาตในละแวกบ้านหรือที่ทำงาน หรือหากไม่สะดวกอาจนำเงินมาหยอดกระปุก เมื่อครบสัปดาห์ก็นำเอาข้าวปลาอาหารพร้อมกับเงินที่เราทำบุญสั่งสมรายวันนั้น ไปถวายกับพระภิกษุสามเณรที่วัดก็ได้ส่วนการถวายสังฆทาน คือการถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรหาโอกาสนำไปถวายที่วัดหรือจะนิมนต์คณะสงฆ์มารับที่บ้านในโอกาสพิเศษในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันพระ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่วันคล้ายวันเกิด เป็นต้น

 

2. การรักษาศีล ก็ทำได้ไม่ยากเลย เช่น การให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต โดยไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น โดยไม่ลักไม่ขโมย ให้ความปลอดภัยแก่ครอบครัวของผู้อื่น โดยไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสามี ภรรยาของผู้อื่น หรือบุคคลผู้มีเจ้าของหวงแหน ให้วาจาที่อ่อนหวาน ให้คำพูด ที่ไพเราะ ให้คำพูดที่เป็นกำลังใจ เป็นปิยวาจา และดำรงความเป็นผู้มี สติอยู่เสมอ โดยไม่ดื่มของมึนเมาหรือเสพยาเสพติด เป็นต้น

 

3. การเจริญภาวนาสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ทุกวัน ตั้งแต่เราตื่นนอนก็นั่งหลับตาทำใจนิ่งๆ โดยไม่คิดอะไร พร้อมกับแผ่เมตตาสักครู่หนึ่ง ช่วงพักกลางวันก็อาจแบ่งมานั่งพักหลับตาสัก 5 ถึง 10 นาที หรือมากกว่านั้นถ้ามีเวลา ก่อนเข้านอนก็จัด สรรเวลาอีกสักช่วงหนึ่งให้กับตัวเอง ที่สำคัญเราควรทำให้ สม่ำเสมอไม่ขาด ฝึกทำให้เป็นนิสัย จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันส่วนวันหยุดจากการทำงานประจำ ควรเข้าวัดไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมให้นานขึ้น หรือหากมีโอกาสหาเวลาว่างสัก 3 ถึง 5 วัน เพื่อจะได้มีเวลานั่งได้ต่อเนื่องยาวนาน ผลของการปฏิบัติธรรมจะได้ก้าวหน้ามั่นคงดังนั้น การทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา จึงทำได้ทุกวัน โดยเฉพาะบางวันอาจจะทำความดีเป็นพิเศษ เช่น ทำทานด้วยการถวายภัตตาหารแด่พระทั้งวัด หรืออาจนั่งสมาธินานๆ ด้วย           การนั่งเนสัชชิกังคังหรือบางวันอาจจะรักษาอุโบสถศีล เป็นต้นสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะให้เบาบางลงกาย วาจา ใจก็จะยิ่งบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นไปทุกวัน


            เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว การฝึกฝนอบรมตนเองจะเกิดการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับๆ นั่นคือ เกิดการพัฒนา
จากธัมมัญญูกลายเป็นอัตถัญญู พร้อมกับคุณธรรมภายในที่เพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความแก่รอบของความเป็นธัมมัญญู และอัตถัญญูจะยิ่งมากขึ้นเมื่อฝึกมากเข้าๆ ยิ่งศึกษาเรียนรู้ในหัวข้อธรรมอื่นๆ และนำมาปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง คุณธรรมก็จะถูกพันาให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ธรรมะภายในก็จะ สว่างไสว บุคลิกภายนอกก็จะดู สงบ สง่างาม เป็นบุคคลที่น่าคบหา น่าเข้าใกล้เป็นที่เคารพเกรงใจแก่ผู้พบเห็น

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016531284650167 Mins