ปัจจัย 4 กับวิถีชีวิตของฆราวาส

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

ปัจจัย 4 กับวิถีชีวิตของฆราวาส


          จากการศึกษาเรื่องมัตตัญญูที่ผ่านมา แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติเรื่องปัจจัย 4 ให้แก่พระภิกษุไว้อย่างรัดกุม จนดูเหมือนว่ายากเกินกว่าที่ฆราวาส จะนำมาฝึกปฏิบัติตามได้ แต่ในความเป็นจริงฆราวาส อาจนำหลักการและวิธีการที่ได้ศึกษา มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้ในหลายด้าน คือ

ทัศนคติเรื่องปัจจัย 4 กับการใช้ชีวิต
            ประโยชน์ประการแรกที่ฆราวาสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองได้ คือการนำความรู้เรื่องทัศนคติเกี่ยวกับปัจจัย 4 มาใช้ในชีวิตของตนเอง ดังนี้
1. ทัศนคติที่ว่า "ปัจจัย 4 เป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต" ด้วยแนวคิดนี้ จะช่วยให้ฆราวาสได้ปรับวิธีใช้ ปัจจัย 4 ของตนเองใหม่ มาเป็นการใช้ด้วยความแยบคาย โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้ให้มากที่สุด
2. ทัศนคติในด้าน "การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ" จะช่วยให้ฆราวาส คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ปัจจัย 4 มากยิ่งขึ้น เมื่อคำนึงถึงความคุ้มค่า ก็จะต้องมาคำนึงถึงปริมาณในการใช้ เพื่อให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าไปน้อยที่สุด
3. ทัศนคติที่ว่า "ปัจจัย 4 เป็นเครื่องสร้างนิสัย" ด้วยแนวความคิดนี้ จะช่วยให้ฆราวาส ใช้ปัจจัย 4ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เพราะทราบว่าการตอกย้ำในการ คิด พูด และทำ ในปัจจัย 4 จะมีผลต่อนิสัยทั้งที่ดีและไม่ดีของตนเอง

 

ปัจจัย 4 กับวิถีชีวิตของฆราวาส
          จากทัศนคติที่กล่าวมา ฆราวาส อาจนำปัจจัย 4 มาปรับพิจารณาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองดังนี้
1. เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ควรมุ่งใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ โดยรักษาเสื้อผ้าของตนให้สะอาด นุ่งห่มแล้วสุภาพเรียบร้อย คล่องตัว ดูแลรักษาได้ง่าย เลือกซื้อชนิดที่มีคุณภาพดีสามารถใช้งานได้ยาวนาน ราคาไม่แพงมากเกินไป สีสันไม่ฉูดฉาด และควรเลือกซื้อเสื้อผ้าที่สามารถใช้ได้ในหลายโอกาสหรือหลายสถานการณ์เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องมีเสื้อผ้ามากเกินความจำเป็น เป็นต้น


2. อาหาร ควรเน้นที่ความครบถ้วนทางโภชนาการ มากกว่ารับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ตามชอบใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะแพงเกินจริง ทำให้ติดนิสัยสุรุ่ยสุร่าย ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสียไป อาหารที่รับประทานต้องสะอาด และฝึกให้รับประทานแต่พอดี คือไม่ให้อิ่มมากเกินไป โดยอาศัยหลักที่ว่า อีก 4  5 คำจะอิ่มก็ให้ดื่มน้ำตามไป ไม่ซื้ออาหารมามากเกินความจำเป็นจนเหลือ และหมั่นฝึกรับประทานอาหารให้เป็นเวลาเป็นต้น


3. ที่อยู่อาศัย ควรอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เป็นสัปปายะ เช่น อยู่ใกล้วัด ใกล้แหล่งอาหาร และผู้คนในบริเวณที่อาศัยเป็นคนดี มีศีลธรรม ขนาดของที่อยู่อาศัยก็ไม่ควรใหญ่เกินไป จนกระทั่งดูแลได้ลำบากต้องเสียเวลากับการทำความสะอาด หรือบำรุงซ่อมแซมมากเกินไป เป็นต้น            

                         

4. ยารักษาโรค ในที่นี้หมายถึงต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ต้องหมั่นออกกำลังกายเป็น
ประจำ หรือตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น


            การนำความรู้เรื่องมัตตัญญูมาปรับใช้ ก็เพื่อเกื้อกูลต่อการใช้ชีวิตในทางโลก และเกื้อกูลต่อการฝึกฝน
อบรมตนเองให้เพียบพร้อมด้วยคุณงามความดีในทางธรรม ทั้งยังจะทำให้ได้นิสัยดีๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้การ
สร้างบารมีด้วย ทาน ศีล ภาวนา ของฆราวาส ก้าวหน้าดียิ่งขึ้นไป ทั้งนี้เพราะใจจะไม่เกาะติดกับปัจจัย 4 ที่เป็นสิ่งนอกตัวมากนัก เช่นเรื่องเสื้อผ้า ก็จะหันมาคำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับสีสันความสวยงาม หรือปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ชีวิตก็จะมีความเรียบง่าย ความรู้สึกอยากได้ก็ลดน้อยลงไป
ผู้ที่มีนิสัยเช่นนี้ เวลาทำทานมักสามารถตัดใจได้โดยง่าย ไม่มีความตระหนี่หวงแหน เมื่อรักษาศีลก็ทำได้ง่าย
เพราะได้นิสัยมีความละเอียดรอบคอบและระมัดระวัง มีสติสัมปชัญญะที่ดี การระมัดระวังกายและวาจาไม่ให้ไปทำความชั่วก็จะทำได้ดีขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้ การเจริญสมาธิภาวนาจะก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป คุณธรรมภายในก็จะเพิ่มพูนเรื่อยไปทุกๆ วัน

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012932499249776 Mins