รู้จักปุคคลปโรปรัญญู

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2558

รู้จักปุคคลปโรปรัญญู


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสหลักการดูคนเป็นไว้แล้ว ในเรื่องปุคคลปโรปรัญญู มีรายละเอียด ดังนี้ "ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน 2 คือ บุคคล2 จำพวก 
1) พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆบุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี 2 จำพวก
2) พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี 2 จำพวก 
3) พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรมพวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี 2 จำพวก
4) พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆบุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี 2 จำพวก 
5) พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี 2 จำพวก
6) พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆบุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี 2 จำพวก 
7) พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแยกประเภทคน แบ่งตามพฤติกรรมไว้ 7 ลักษณะโดยค่อยๆ แบ่งลักษณะคนออกไปทีละ 2ส่วนตามลำดับ คือ
1. ต้องการเห็นพระ หรือไม่ต้องการเห็นพระ
2. ต้องการฟังธรรม หรือไม่ต้องการฟังธรรม
3. ตั้งใจฟังธรรม หรือไม่ตั้งใจฟังธรรม
4. ตั้งใจทรงจำธรรม หรือไม่ทรงจำธรรม
5. พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้ หรือไม่พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้
6. ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมที่พิจารณาแล้ว หรือไม่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม
7. ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่นด้วย


ลักษณะทั้ง 7 ประการนี้เอง เป็นเครื่องช่วยบอกพื้นฐานความรู้และ ภาพใจของคนฟังแก่พระภิกษุผู้เข้าไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร แนะนำธรรมะให้ กล่าวคือ
(1) บรรดาบุคคลทั้งหลายนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2ส่วน คือ บุคคลผู้อยากเห็นพระ หรืออยากพบพระ กับบุคคลผู้ไม่อยากเห็นพระ ในบุคคลผู้อยากพบพระนั้น อย่างน้อยเขาย่อมพอมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนามาบ้างว่า ชีวิตพระกับชีวิตฆราวาสนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวัน การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความความสำเร็จในหน้าที่และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ในใจจึงพอจะมีความศรัทธาอยากจะเข้ามาพบพระอยู่มากกว่าประเภทที่ไม่อยากเห็นพระ
(2) บรรดาผู้ที่อยากเห็นพระยังแบ่งออกได้ 2ส่วนอีก คือ อยากฟังธรรมะและไม่อยากฟังธรรมะบุคคลที่อยากฟังธรรมะ อย่างน้อยๆ เพราะมีความรู้มากขึ้นว่า ชีวิตพระในแต่ละวันนั้น ท่านศึกษาปฏิบัติตัวเองตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ และรู้ว่าธรรมะที่ท่านจะแนะนำและเทศน์สอนนั้น จะก่อประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะเหตุนั้น จึงอยากจะเข้ามาฟังธรรม อยากจะเรียนรู้ส่วนบุคคลประเภทอยากเห็นพระ แต่ไม่อยากฟังธรรมะ เช่น อยากพบพระเพราะคิดว่าจะทำให้ตนประสบโชคลาภมาพบพระ เพราะเชื่อโชคลาง มาเพื่อผูกดวงสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ใจไม่ ว่างเพียงพอ มีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อยไป จึงไม่พร้อมที่จะรับฟังธรรมะ
(3) บรรดาผู้ที่อยากฟังธรรมะ ก็แบ่งได้อีก 2ส่วน คือ ตั้งใจฟังและไม่ตั้งใจฟัง เพราะรู้ว่าธรรมะนั้นมีคุณค่ายิ่งกับตนเอง จึงตั้งใจฟัง ไม่ปล่อยให้ใจเลื่อนลอย นใจในเนื้อหาและถ้อยคำที่พระภิกษุแนะนำส่วนบุคคลผู้ไม่ตั้งใจฟังธรรม แม้จะอยากฟัง แต่ก็จะไม่ได้เนื้อหาสาระแต่อย่างใด เพราะไม่ใส่ใจ หรือบางครั้งขณะฟังก็นั่งหลับ นั่งคุยกัน เป็นต้น

(4) บรรดาผู้ตั้งใจฟังธรรมะ ยังแบ่งได้อีก 2ส่วน คือ ตั้งใจจำและไม่ตั้งใจจำ ธรรมะที่ฟังจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับตัวเอง หากจำธรรมะนั้นได้ เช่น รู้ว่าอบายมุขเป็นต้นทางแห่งความเสื่อม เป็นเหตุแห่งการสูญเสียทรัพย์ แต่จำไม่ได้ว่า มีกี่อย่าง ประกอบด้วยอะไรบ้าง ธรรมะที่ตั้งใจฟังแต่ไม่ตั้งใจจำจึงไม่เกิดประโยชน์มากนัก จึงกล่าวได้ว่า บุคคลผู้ตั้งใจจำธรรมะจึงมีพื้นฐานความรู้มากกว่าผู้ไม่ตั้งใจจำธรรมะ
(5) บรรดาผู้ตั้งใจจดจำธรรมะนั้น แบ่งออกได้อีก 2ส่วน คือ นำมาพิจารณาและไม่นำมาพิจารณาใคร่ครวญ ธรรมะที่ทรงจำเมื่อได้นำมาใคร่ครวญ พิจารณาตรองหาเหตุผล ย่อมเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมะนั้นๆ การใคร่ครวญธรรมะนี้จึงถือเป็นการพัฒนาความรู้และปัญญา ทำให้กลายเป็นผู้แตกฉาน และมีพื้นฐานความรู้มากขึ้นกว่าผู้ที่ทรงจำแต่ไม่นำมาพิจารณา
(6) บรรดาผู้พิจารณาธรรมะ แบ่งออกได้อีก 2ส่วน คือ นำมาปฏิบัติและไม่นำมาปฏิบัติ ความรู้ทางธรรมะที่ได้นำมาใคร่ครวญแล้ว จะเกิดเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตัวเองส่วนผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับว่านำมาใช้ปฏิบัติมากหรือน้อยในชีวิตจริง แต่บุคคลผู้มีความรู้ธรรมะแล้วไม่นำมาปฏิบัติ ย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งยังมีโอกาสก่อกรรมชั่วได้อีกด้วย กล่าวคือ นำความรู้ธรรมะที่ตนมีมาจ้องจับผิดผู้อื่น หรือมีใจไม่บริสุทธิ์ ใช้ความรู้ของตนเพื่อมุ่งทำลายผู้อื่น เป็นต้น
(7) บรรดาผู้รู้ธรรมะแล้วนำไปปฏิบัตินั้น ก็แบ่งเป็น 2ส่วนอีก คือ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งของตนและของผู้อื่น บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตน แต่ไม่หวังประโยชน์เพื่อบุคคลอื่น ก็คือผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตัวเองได้ จึงกลายเป็นคนดีเฉพาะตัว แต่ไม่ได้ช่วยให้คนอื่นเป็นคนดีตามตัวเองไปด้วยส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่น คือ บุคคลผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวตามธรรมะนั้น และยังชักชวนให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในธรรมะ ตั้งอยู่ในความดีงาม ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอรหันตสาวกผู้ฝึกฝนตัวเอง จนเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น พื้นฐานใจของบุคคลประเภทนี้จึงประกอบด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี มากกว่าบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตนเองฝ่ายเดียวหลักการดูคนเป็น ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พระภิกษุในการแนะนำธรรมะ กล่าวคือ จะได้ทราบว่าควรแนะนำธรรมะเท่าที่บุคคลนั้นจะเข้าใจ และที่เขาสามารถจะรองรับความรู้ คำแนะนำนั้นได้อย่างเหมาะสม

 

            ดังนั้น การดูคนเป็นอาศัยหลักจากปุคคลปโรปรัญญู จึงเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแก่ผู้อื่นอย่างมาก เพราะช่วยจัดลำดับความสำคัญตามประเภทคนออกได้ กล่าวคือ บุคคลใดที่มีความพร้อมในการฟังธรรมะ รองรับธรรมะได้มาก พระภิกษุก็จะมุ่งความสำคัญไปยังบุคคลนั้นก่อน โดยหวังประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับเป็นสำคัญส่วนบุคคลที่มีความพร้อมน้อยกว่า ก็จะแสดงธรรมให้ความสำคัญลดหลั่นลงมาไปตามความเหมาะสม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงกระทำเช่นนี้เหมือนกัน ดังได้ตรัสไว้ใน "เทศนาสูตร" ว่า

"ดูก่อนนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นาของคฤหบดีชาวนาในโลกนี้มีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็นนาเลว มีดินแข็ง เค็ม พื้นดินเลว ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช จะพึงหว่านในนาไหนก่อนเล่า"


"คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช พึงหว่านพืชในนาดีก่อน ครั้นหว่านในนานั้นแล้ว พึงหว่านในนาปานกลาง ครั้นหว่านในนาปานกลางนั้นแล้วในนาเลว มีดินแข็ง เค็ม พื้นดินเลว พึงหว่านบ้างไม่หว่านบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่สุดจักเป็นอาหารโค"


"ดูก่อนนายคามณี เปรียบเหมือนนาดีฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้นก่อนฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่ดูก่อนนายคามณี นาเลว มีดินแข็ง เค็มพื้นดินเลวฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่อัญญเดียรถีย์สมณะพราหมณ์และปริพาชกของเราเหล่านั้นในที่สุดฉันนั้น"


            การแสดงธรรมอาศัยหลักการดูคนเป็นทั้ง 7 ลักษณะนั้น ย่อมช่วยให้พระภิกษุแสดงธรรมได้อย่างพอเหมาะพอดีแก่ผู้ฟัง เช่น หากรู้ว่า ผู้ฟังธรรมอยู่นี้เป็นประเภทอยากมาพบพระ ไม่อยากฟังธรรม การที่พระภิกษุจะแสดงธรรมที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน กล่าวถึงโลกนี้ โลกหน้า การให้ผลของวิบากกรรม เป็นต้น ย่อมไม่เหมาะสมกับผู้ฟัง แต่หากทำเพียงทักทาย ให้ข้อคิดสะกิดใจเพียงเล็กน้อย ย่อมเหมาะสมกว่า เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังธรรมอยู่แล้ว ยิ่งพระภิกษุดูคนไม่เป็น ไม่เข้าใจผู้ฟังกล่าวแสดงธรรมให้ยืดเยื้อ ใช้เวลานาน
ออกไป นอกจากจะทำให้ผู้ฟังดูแคลนในธรรมะ คือ ไม่สนใจฟังธรรม อาจพาลไม่พอใจที่จะมาพบพระอีกกลายเป็นการปิดโอกาสที่จะได้ฟังธรรม หรือที่จะพัฒนาคุณธรรมให้เจริญขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พระภิกษุต้องให้ความสำคัญ ดังจะอธิบายรายละเอียดต่อไป

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091176350911458 Mins