ฤาษีผู้รักบุญยิ่งกว่ารักชีวิต

วันที่ 28 พย. พ.ศ.2558

ฤาษีผู้รักบุญยิ่งกว่ารักชีวิต

    สาเหตุที่ตรัสชาดก อุบาสกในกรุงสาวัตถีถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ ณ พระวิหารเชตวันตลอด 7 วัน พระทศพลทรงกระทำอนุโมทนาแล้วตรัสถึงทานว่าเป็นวงศ์ของหมู่บัณฑิตในกาลก่อนเมื่ออุบาสกกราบทูลอาราธนา พระองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้..ในอดีต มีชายผู้หนึ่งนามอกิตติ เที่ยวร่ำเรียนวิชาความรู้เจนจบสรรพศาสตร์ด้วยวัยเพียง16 ปี ต่อมาบิดามารดาพลันตายลง เมื่อเปิดประตูคลัง เห็นสมบัติมากมายกองทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเกิดสลดใจยิ่งนักว่า..


    "พ่อแม่จากไป ไม่อาจเอาทรัพย์ที่อุตส่าห์หามาด้วยความลำบากยิ่งไปได้เลย มาทิ้งไว้ให้เกลื่อนกล่นหมดค่าต่อตัวท่านเอง ตัวเรานี้ก็ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเสียนาน มัวทำงานหาทรัพย์อยู่ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ช่างเป็นการสิ้นเปลืองเวลาแท้ๆ กว่าเราจะรู้ตัว พญามัจจุราชก็จะมาพาเราไปตามชอบใจเสีย ความชรานี้เองเป็นโจรปล้นเวลาและปล้นจิตวิญญาณเราไปอย่างไม่ปราณี"อกิตติมาณพคิดได้ดังนี้ จึงไม่รีรอให้มัจจุราชมาฉุดคร่าไป ได้เปิดประตูบ้านและคลังสมบัติที่บิดามารดาทิ้งไว้ให้ ประกาศแก่ผู้คนผ่านไปมาว่า..

 

    "ท่านทั้งหลาย! ทรัพย์นี้เราสละให้แล้ว ใครอยากได้โปรดมาเอาไปทีเถิด"ผู้คนหมุนเวียนกันมารับทรัพย์จนผ่านไป 7 วันแล้ว ทรัพย์ก็ยังไม่หมด ชายหนุ่มนั่งรอแจกทรัพย์อยู่นานจนเกิดสะดุ้งกลัวว่า.."ความตายจะมาเมื่อใดก็ไม่รู้ มัวมารออยู่อย่างนี้ เสียเวลาไปเปล่าๆ เราเองยังมิได้หาความสุขสำราญใจอย่างแท้จริงเลย พอกันทีกับสมบัติเหล่านี้ จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด!"

    ว่าแล้วก็รีบเข้าป่าออกบวชทันที อกิตติฤษีนั่งสมาธิในป่าอันแสนรื่นรมย์ มีเสียงนกพงไพรร้องสดใสก้องด้วยเสียงน้ำไหล ช่างยังใจให้เบิกบานโดยแท้ พระฤษีกำลังนั่งเข้าฌาน ใจเปียมปีติเป็นสุขล้นพ้น ไม่ต้องกังวลผูกพันกับสิ่งใดอีก อุทานในใจว่า "สุขจริงหนอๆ"โลกนี้..นอกจากมีคนประเภทชอบหาความสุขแล้ว ยังมีประเภทชอบเสาะหาคนมีสุขอีกด้วยดังนั้นจึงมีผู้คนพบเห็นอกิตติฤษีในป่าลึกนี้ แล้วเล่าลือต่อๆ กันไป คนผู้เลื่อมใสพากันมาแน่นขนัดป่าที่เคยเงียบ สงบเห็นไกลๆ คล้ายมรกต บัดนี้แปรเปลี่ยนเป็นเสียงเจื้อยแจ้ว แต่มิใช่จากนกพงไพรกลับเป็นเสียงวาจามนุษย์ที่คุยกัน กระทั่งป่าก็เปลี่ยนสีไปแล้ว เป็นสีสันหลากหลายของเสื้อผ้าอาภรณ์คล้ายดังอยู่ในตลาดสด ผู้คนมาขอแบ่งปันความสุขจากฤาษีบ้าง ฤาษีไม่รังเกียจที่จะแบ่งปัน
ความสุขให้ผู้คน ทั้งมิได้รังเกียจคน แต่รังเกียจลาภสักการะ เกลียดการสรรเสริญ เนื่องเพราะท่านต้องมัวเสียเวลาหมดเปลืองไปกับการจัดเก็บดูแลลาภผลและนั่งรับสักการะทั้งวัน ทั้งยังต้องมารับฟังคำสรรเสริญจากผู้คนจนไม่มีเวลาเข้าฌานแสวงหาทางหลุดพ้นได้อีกแล้ว!

 

    ความจริงท่านชอบเป็นผู้ให้มากเสียกว่าจะเป็นผู้รับลาภสักการะและคำสรรเสริญเยินยอดังนั้น เมื่อชาวบ้านกลับไปกันหมด ท่านจึงเหาะหนีหายสาบสูญไปจากป่าทันที แล้วเหาะลงที่เกาะหมากเม่า ที่เกาะแห่งนี้มีแต่ต้นหมากเม่าซึ่งมีแต่ใบหมากเม่า ท่านสร้างอาศรมพักผ่อนอยู่อย่างสงบสุข ฤาษีพอใจความสุข ความสุขเยี่ยงนี้เพียงพอที่จะให้ฤาษีมักน้อยสันโดษได้ดียิ่ง ท่านพอใจฉันแต่ใบหมากเม่านึ่งทุกวัน รสชาติไม่ได้อยู่ที่ใบ แต่รสชาติอยู่ที่ใจแล้ว แต่ใจคนกลับผิดแผกกันขณะที่คนหนึ่งสุขกลับทำให้อีกผู้หนึ่งทุกข์ ซึ่งฤาษีไม่มีวันคาดคิดได้เลยว่า ท้าวสักกะทุกข์ใจยิ่งแล้วเดชแห่งศีลของฤาษีที่มักน้อยอย่างยิ่งเช่นนี้ ถึงกับกระเทือนไปถึงบัลลังก์ของท้าวสักกเทวราชบัลลังก์ นั่นหวั่นไหว ท้าวสักกะรีบตรวจตราดู รำพึงว่า..

 

    "ฤาษีท่านนี้มีศีลมาก อยากมาแทนตำแหน่งเราหรือกระไร"ท้าวสักกะหายวับไปจากสวรรค์ ทันใดนั้นมีชายชราคนหนึ่งมายืนขออาหารอยู่หน้าอาศรมฤษีฤาษีเห็นชายชราก็ดีใจยิ่งนัก เห็นเป็นโอกาสดีที่ตนมาอยู่เกาะก็ยังมีโอกาสทำทาน จึงรีบเข้าไปเอาใบหมากเม่านึ่งซึ่งเตรียมไว้ฉันในวันนี้ มามอบให้ชายชราจนหมดสิ้น ชายชรารับแล้วก็จากไป ฤาษีก็มิได้นึ่งใหม่อีก เพราะถือว่าอาหารส่วนของตนได้ให้ไปแล้ว จากนั้นได้เข้าไปนั่งสมาธินึกถึงทานบารมีดื่มกินปีติเป็นภักษาหารแทน ขอเพียงอิ่มใจอาจไม่จำเป็นต้องอิ่มท้องก็ได้ ฤาษีแม้อิ่มใจแต่ก็ยังเป็นมนุษย์ มนุษย์ย่อมต้องหิว และหิวอย่างยิ่ง เพราะไม่มีอะไรลงท้องตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เช้านี้ฤาษีต้ม
ใบหมากเม่าอีกครา ชายชราก็ปรากฏอีกครั้ง มาขออาหาร คนในโลกบางพวกโมโหหิว ถึงให้ทานไปแล้วครั้งหนึ่งแต่อีกครั้งย่อมผิดกัน เพราะครั้งแรกยังไม่หิวเท่าใดนัก ยังหักใจทนทานได้แต่ครั้งต่อมาย่อมมิใช่แล้ว กระทั่งยังคิดชิงชังผู้ขอ แต่ฤาษีมิใช่บรรดาคนพวกนั้น แม้หิวเพียงใดท่านกลับคิดว่า..

 

    "โชคดีอีกแล้วๆ นับว่าเป็นบารมีที่ทับทวียิ่งกว่าครั้งก่อน!"ท่านรีบเดินเข้าไปเอาใบหมากเม่าที่เพิ่งนึ่งเสร็จร้อนๆ มาให้ชายชราทันที ท่วงท่าฤาษีแม้รีบเดินแต่กลับดูอ่อนล้าอย่างยิ่ง ชายชรารับแล้วก็จากไปดังเช่นเคย ฤาษีเข้าอาศรมไปนั่งสมาธินึกถึงทานบารมีเพื่อข่มความหิว ปีติก็พลันเกิดขึ้นชำแรกผิวหนังออกมาทุกขุมขน มากกว่าคราวแรกมากมายเพราะครั้งนี้แม้เป็นอาหารชนิดเดิมแต่เป็นให้ได้ยากกว่า ทานจึงผิดกัน เพราะใจผิดกัน บารมีก็ย่อมผิดกันไป ดังนั้นวันนี้เป็นทานอุกฤษฏ์! กำลังมหาทานวันนี้ ทำให้ฤษีดื่มด่ำอยู่ในปีติสุขได้อีกครั้ง
บททดสอบบางครั้งก็ต้องทนทุกข์เพื่อแลกมา วันนี้ชายชรามาขออีกเป็นวันที่ 3 แต่ฤาษีอดอาหารจนแทบสิ้นเรี่ยวแรงแล้ว กายภายในก็ร้อนผ่าวแต่ใจกลับเยือกเย็นยิ่งนัก เมื่อพบเห็นชายชรามาอีกครั้งมิทันให้ใจได้ท้อแท้ กลับพลิกใจให้โสมนัสยิ่งขึ้นว่าวันนี้จะได้สละชีวิตเสียเลย คิดว่า..

 

    "โอ้! ช่างโชคดีอะไรปานนี้ เพียงแค่ใบหมากเม่า เราก็ทำให้เกิดบุญบารมีใหญ่นับไม่ไหวทีเดียว" พลางหยิบใบหมากเม่าที่เพิ่งนึ่งเสร็จให้ชายชราอีกครั้ง ชายชรารับแล้วก็จากไป..เที่ยงคืนแล้ว ท่านฤาษียังนอนไม่หลับ เนื่องเพราะมิอาจข่มความปีติที่ท่วมท้นล้นใจ แม้หิวเพียงไหนจนคล้ายจะหน้ามืดตาลาย แต่เมื่อไม่แยแสสนใจก็นับว่าพอทนทานได้ คืนนี้ท่านออกมานั่งหน้าอาศรมอยู่ใต้แสงจันทร์ รำพึงรำพันถึงทานบารมีด้วยร่างกายอิดโรยอย่างเหลือเกิน..

    "โอ..น่าปลื้มๆ ช่างน่าปลื้มใจแท้ นี่หากเราได้ทักขิไณยบุคคลสักหน่อย เราจะให้แบบนี้สักเดือนสองเดือนทีเดียว"ท้าวสักกะเฝ้าดูอยู่ กระทั่งล่วงรู้ใจพระฤาษี พระองค์มิคาดว่าพระฤาษีจะไม่ยอเลิกราถึงเพียงนี้ เช่นนี้ก็ป่วยการที่จะมาอีกในวันต่อๆ ไป พระองค์ทรงรำพึงว่า.."พระฤษีนี้มีความคิดไม่โลเล จิตตระหนี่ที่พุ่งขึ้นแม้นิดเดียวก็ไม่มีเลยตลอด 3 วัน ไฉนอิดโรยถึงปานนี้แล้วยังยินดีจะให้ทานอยู่ร่ำไป"พระทัยแปรเปลี่ยนเป็นความเลื่อมใสทันที ตอนนี้พระองค์ทรงดำริจะให้บ้างแล้ว จึงตรัสว่า .."กระผมขอถวายพรพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใด โปรดบอกมาเถิด"พระฤาษีทูลว่า.."ถ้ามหาบพิตรให้ได้ อาตมาจะขอว่า เมื่ออาตมาได้สิ่งใดมาแล้วความโลภอย่าได้มีในอาตมาเมื่อเสียสิ่งใดไปความโกรธได้อย่ามีในอาตมา ขออย่าได้เห็นได้ยินคนพาล อย่าให้อยู่ร่วมกับคนพาลและจะไม่ขอเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลยตลอดกาล""คนพาลนั้นทำอะไรให้ท่านรึ ทำไมท่านไม่อยากเห็นคนพาลปานนี้" ท้าวสักกะตรัสถามด้วยฉงน"คนพาล มีปัญญาทราม ชอบให้ทำตามในสิ่งที่ไม่ควร มักชักชวนให้เสียเวลา การแนะนำชั่วถือเป็นความดีของเขา คนพาลถึงเราจะเตือนดีๆ ก็โกรธ ไม่เห็นโทษในการผิดระเบียบวินัย กระทั่งใครๆก็ไม่สามารถจะแนะนำได้ การไม่เห็นคนพาลซะเลยนั่นแหละ! เป็นความดีอย่างยิ่ง อาตมาขอเห็นนักปราชญ์ ขอฟังนักปราชญ์ ขอได้อยู่ร่วมกับปราชญ์ เพราะนักปราชญ์แนะนำแต่สิ่งที่ควร ชักชวนแต่สิ่งที่ดี ไม่ชมชอบความโกรธ และรักระเบียบวินัยเป็นที่ยิ่ง" ฤาษีตอบ

 

          "ถ้อยคำประเสริฐ กล่าว มควรแล้วๆ โยมขอถวายพระพรอีก" ท้าวสักกะตรัส"ถ้ามหาบพิตรจะประทานพรอีก ขออาหารทิพย์จงบังเกิดมี และผู้มีศีลจงรีบมาขออาตมาเมื่ออาตมาให้ทาน ศรัทธาอย่าเสื่อมสิ้น อย่าคิดแม้เสียดาย อย่าคลายความเลื่อมใสให้มีปีติอย่าขาดช่วงและล่วงจากนี้ไป ขอมหาบพิตร อย่าได้เข้ามาหาอาตมาภาพอีกเลย" ฤาษีกล่าว"ผู้คนนับไม่ถ้วนล้วนปรารถนาจะพบเห็นโยม ไฉนการเห็นโยมเป็นภัยแก่ท่าน" ท้าวสักกะตรัสถามด้วยฉงนพระทัยยิ่งนัก"เทวดามีทุกอย่างพร้อม หากว่าอาตมาภาพเกิดประมาทคิดปรารถนาตำแหน่งของท่านความคิดนั้นจะเป็นภัยแห่งพระบารมีของอาตมา" ฤาษีกล่าว"ดีแล้วๆ พระคุณเจ้า โยมขอถวายพรตามที่ท่านมีใจปรารถนา"ท้าวสักกะบังคมลาพระฤาษี ไม่กล้ากลับมาอีกเลย พระฤาษีมีสุขยิ่งล้น เที่ยวนั่งสมาธิตามไพรสณฑ์จนได้ผลสมาบัติสว่างไสวอยู่ในป่าป่าที่สว่างไสวไม่น้อยไปกว่าใจของพระฤษีผู้ที่มีแต่ให้..

 

ประชุมชาดก
              พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกะครั้งนั้นมาเป็นพระอนุรุทธะส่วนอกิตติฤษีคือตถาคตแลท้าวสักกะอดมิได้ เข้าไปถามพระฤาษี.."พระคุณเจ้ามาอยู่ในป่านี้บำเพ็ญตบะเพื่ออะไรหรือขอรับ""อาตมาภาพปรารถนาพระสัพพัญุตญาณ จึงบำเพ็ญตบะเพื่อพระบารมี" ฤาษีตอบท้าวสักกะ เมื่อรู้ว่าพระฤาษีมิได้มาแย่งชิงตำแหน่งของตนก็โล่งพระทัยอย่างยิ่ง ความกังวล

              จากชาดกเรื่องนี้ ฤาษีต้องอดอาหารโดยไม่คำนึงถึงความตาย แม้หาอาหารใหม่ได้ก็ไม่ยอมผ่อนปรนให้ตนเอง เห็นศีลเป็นแก่นสารของร่างกายมากกว่าอาหาร ทำให้ทานบารมีของตนบริสุทธิ์การให้ทานลักษณะนี้ แต่ละครั้งเท่ากับสละเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน ต้องใช้กำลังใจที่ต่อเนื่องมากกว่าการทุ่มชีวิตเพียงคราวเดียว หากกำลังใจไม่มากพอก็ทำไม่ได้ทุกครั้ง หากฝึกนิสัยได้ถึงระดับนี้ก็เป็นที่ป้องกันตลอดการเวียนว่ายตาย เกิดมาสร้างบารมีว่าความตระหนี่จะมาเกาะกุมใจได้ยากยิ่งเสบียงในวันหน้าจะพอหล่อเลี้ยงการสร้างบารมีอื่นๆ ให้สะดวกไปตลอดเส้นทาง เพราะเหตุให้เกิดเสบียงฝังอยู่ในใจแนบแน่นแล้ว"นิสัยรักการให้แน่นแฟ้นโดยไม่เห็นแก่กิน ไม่เห็นแก่ชีวิต และให้ทานได้ต่อเนื่องโดยกำลังใจไม่ตก" จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในทานบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022021134694417 Mins